ปัจจุบันมีคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์หรือเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “The Great Resignation” ปรากฏการณ์การลาออกครั้งยิ่งใหญ่ หรือ “Quiet Quitting” การทำงานแบบคนหมดใจ แค่ทำตามหน้าที่ให้งานเสร็จไปวัน ๆ ซึ่งคำเหล่านี้ก็มีเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนมาถึงคิวของ “Rage Applying” หรือเทรนด์การสมัครงานด้วยความโกรธแค้นที่ก่อตัวขึ้นในหมู่คนทำงานอายุน้อยอย่างกลุ่ม Gen Z ว่าแต่การสมัครงานด้วยความโกรธเป็นยังไง แล้วเราใช้วิธีนี้หางานได้จริงหรือเปล่า วันนี้ JobThai จะมาแชร์ให้ได้รู้กัน
Rage Applying คือคำที่ใช้เรียกเทรนด์การร่อนใบสมัครงานแบบรัว ๆ โดยไม่สนใจว่าตำแหน่งงานที่สมัครไปจะเป็นตำแหน่งอะไรหรือต้องทำงานแบบไหนบ้างเนื่องจากโกรธแค้นที่ถูกองค์กรมองข้าม โดนเอาเปรียบหรือปฏิบัติด้วยแบบไม่เป็นธรรม ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือน องค์กรเป็น Toxic Workplace ทำให้ไม่แฮปปี้กับการทำงานอีกต่อไป
โดยเทรนด์นี้มีที่มาจากผู้ใช้งาน TikTok บัญชีหนึ่งที่ออกมาโพสต์วิดีโอแชร์เรื่องราวของตัวเองให้ฟังว่าเธอไม่พอใจองค์กรก็เลยหว่านใบสมัครงานไปหาบริษัทอื่นถึง 15 บริษัท ซึ่งก็ทำให้เธอได้งานที่มีค่าตอบแทนมากขึ้นถึง 25,000 ดอลลาร์ และแนะนำคนอื่น ๆ ให้ลองสมัครงานแบบ Rage Applying ดู เพราะอาจช่วยให้ได้งานที่เงินเดือนสูงกว่าเดิมหลายเท่าแบบเธอก็ได้ ซึ่งหลังจากที่เธอโพสต์คลิปนี้ได้ไม่นาน วิดีโอของเธอก็กลายเป็นไวรัลที่มียอดคนดูกว่า 2 ล้านครั้ง และมีคนอื่น ๆ เข้ามาคอมเมนต์แชร์ประสบการณ์ Rage Applying ในคลิปวิดีโอของเธอว่าลองแล้วได้เงินเพิ่มขึ้นจริง ๆ เท่านั้นไม่พอ ยังมีผู้ใช้งาน TikTok คนอื่น ๆ ที่ออกมาแจมด้วยการโพสต์คลิปแชร์เรื่องราวการสมัครงานแบบ Rage Applying ด้วย ทำให้แฮชแท็ก #RageApply มียอดชมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในปัจจุบันยอดเข้าชมก็พุ่งสูงถึง 16 ล้านครั้ง เรียกได้ว่ากลายเป็นเทรนด์หว่านใบสมัครโหดด้วยความโกรธบริษัทที่มาแรงสุด ๆ
ถึงแม้การหว่านใบสมัครงานจะเป็นสิ่งที่มีมาแต่ไหนแต่ไร เนื่องจากคนหางานหลาย ๆ คนก็ใช้วิธีนี้กันมานานแล้ว แต่ Rage Applying นั้นเป็นการหว่านใบสมัครแบบมีความโกรธแค้นและความต้องการไปจากองค์กรที่ทำงานอยู่เป็นแรงกระตุ้น ทำให้ต่างจากการหว่านใบสมัครทั่ว ๆ ไปที่อาจจะทำเพราะมองว่าเป็นการเพิ่มโอกาสได้งานเฉย ๆ นั่นเอง โดยเทรนด์นี้กลายเป็นกระแสในหมู่คนทำงานวัย Gen Z ก็เพราะคนกลุ่มนี้มีตัวเลือกในการทำงานมากขึ้นและต้องการทำงานที่ทำให้พวกเขารู้สึกมีความหมาย ได้ค่าตอบแทนที่ดี ถ้าพวกเขามองว่าตัวเองไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีจากองค์กร ถูกมองข้าม ไม่มีใครเห็นคุณค่า หรือค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับความพยายาม พวกเขาก็เลือกที่จะมองหางานใหม่ที่เติมเต็มความต้องการของพวกเขาได้มากกว่า
การสมัครงานแบบ Rage Applying นั้นเป็นการสมัครงานที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้สึก “อยากหนีออกมาจากจุดที่ตัวเองอยู่” มากกว่า “วิ่งไปหาจุดที่ตัวเองต้องการ” หรือเรียกง่าย ๆ ว่าแค่อยากหลุดพ้นออกจากองค์กรเดิมให้เร็วที่สุดโดยไม่แคร์ว่าตัวเองจะย้ายไปอยู่ที่ไหน ทำงานอะไร ซึ่งการสมัครงานด้วยความโกรธแบบนี้แม้จะช่วยให้เราหลุดออกมาจากบริษัท Toxic หรือสถานการณ์ที่ไม่แฟร์ได้ก็จริง แต่ก็อาจทำให้เรามองข้ามความต้องการจริง ๆ ของตัวเอง ไม่ได้พิจารณาเนื้องานใหม่ให้ถี่ถ้วนพอ รวมถึงไม่ได้ไตร่ตรององค์กรใหม่ให้ดีว่าเป็นองค์กรแบบไหน ทำธุรกิจอะไร และการทำงานใหม่นั้นจะส่งผลยังไงกับ Career Growth ของเราบ้าง ถึงจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวก็อาจทำให้เราไม่มีความสุขกับการทำงานและต้องลงเอยด้วยการมองหางานใหม่อีกอยู่ดี
ดังนั้นแม้เราจะโมโหหรือไม่พอใจบริษัทยังไง ก็อยากให้ลองทบทวนดูก่อนว่าสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นร้ายแรงถึงขั้นต้องร่อนใบสมัครงานแบบ Rage Applying จริง ๆ ไหม มีวิธีอื่นที่ช่วยแก้สถานการณ์ได้หรือเปล่า ก่อนจะตัดสินใจยื่นใบสมัครควรรอให้อารมณ์เย็นลงก่อน มองหาต้นตอของปัญหาว่าเกิดจากอะไร อย่าเพิ่งใช้อารมณ์โกรธเพียงชั่ววูบนี้มาขับเคลื่อนตัวเอง เพราะสุดท้ายเราอาจไปเจองานใหม่ที่แย่กว่าเดิม และทำให้เราผิดหวังกับการตัดสินใจของตัวเองเอาได้
แม้เทรนด์หว่านใบสมัครงานด้วยความโกรธแค้นอย่าง Rage Applying จะกลายเป็นกระแสที่ฮิตในหมู่คน Gen Z เนื่องจากช่วยให้ได้งานใหม่ที่ค่าตอบแทนสูงขึ้นจริง หรือหลุดพ้นจากองค์กรที่ทำให้เราไม่แฮปปี้ได้ แต่ในระยะยาว วิธีการสมัครงานแบบนี้ก็อาจไม่ได้เวิร์กเสมอไป ดังนั้นเราจึงไม่ควรปล่อยให้ความโกรธแค้นเป็นแรงกระตุ้นในการหางาน และพิจารณามองหางานด้วยความใจเย็น รอบคอบและมีสติ
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา:
time.com, forbes.com, dailymail.co.uk, firstpost.com, worklife.news, theskimm.com, themuse.com, biospace.com
tags :
jobthai, career & tips, rage applying, rage apply, งาน, หางาน, สมัครงาน, คนทำงาน, หว่านใบสมัคร, เทรนด์หางาน, เทรนด์สมัครงาน, เทรนด์คนทำงาน, คนหางาน, ปัญหาในการทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, gen z