เคยมีเพื่อนร่วมงานที่รับบท “ผู้รอบรู้” ไหม เป็นคนแบบที่วางตัวว่ารู้ทุกอย่างและคิดว่าตัวเองเป็นคนที่สามารถช่วยไขปัญหาของทีมให้คลี่คลายได้ แต่เรื่องที่พูดมาเป็นจริงไหม เอาไปปรับใช้ได้มากน้อยแค่ไหนก็อีกเรื่องนึง หรือบางครั้งก็พูดแทรกขึ้นมาระหว่างเรากำลังพรีเซนต์งานสำคัญ ทำให้รู้สึกรำคาญใจเอาซะมาก ๆ
วันนี้ JobThai จะพาดูวิธีรับมือ “มนุษย์รู้ไปหมดทุกอย่าง” ในที่ทำงาน จะต้องทำยังไงลองไปดูกัน
ถึงเราจะมีภาพจำว่าเพื่อนร่วมงานคนนี้เป็นคนที่ชอบทำเหมือนตัวเองรู้ไปหมดทุกอย่าง แต่อยากให้ลองเปิดใจฟังสิ่งที่เขาพูดดูก่อนว่าสิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์กับงานมากน้อยแค่ไหน ไม่แน่ว่ามันอาจจะเป็นไอเดียหรือข้อมูลที่ดีมากก็ได้ แต่ถ้าฟังแล้วรู้สึกว่าเรื่องที่เขาพูดมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวข้อหรือไม่ได้ช่วยนำพาให้งานเดินหน้าต่อไปได้ก็รับฟังประมาณนึงพอ ไม่ต้องถามคำถามอะไรเพิ่มเติมเพื่อถนอมน้ำใจ เพราะเขาก็จะพูดยาวต่อไปอีกทำให้เสียเวลา
ถ้าเราต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานแบบนี้ เวลาที่คุยแบ่งงานก็ลองมองเขาแบบไม่อคติดูว่าเขาเป็นคนที่มีศักยภาพในการทำงานสูงมากแค่ไหนและแบ่งงานระหว่างกันในระดับที่ทั้งเราและเขาโอเคทั้งสองฝ่าย อาจเสนอให้เขารับผิดชอบขอบเขตงานบางอย่างให้ชัดเจนไปเลย เช่น เรื่องสัญญา หรือเรื่องงบประมาณต่าง ๆ ให้ถือว่าเขารับผิดชอบทั้งหมด เพื่อให้คนเหล่านี้รู้ว่างานส่วนไหนคืองานที่อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง เป็นการช่วยลดโอกาสที่เขาจะไปก้าวก่ายกับงานของเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ
บางครั้งเรื่องที่เพื่อนร่วมงานคนนี้พูดมาอาจจะเป็นข้อมูลที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้กับการทำงานได้ แต่เราไม่มั่นใจว่าเขาพูดไปเรื่อยเฉย ๆ รึเปล่า เพราะฉะนั้นเราสามารถลองถามเขาไปได้ว่าข้อมูลนี้มีแหล่งที่มาจากไหนซึ่งคนที่รู้จริงจะตอบได้ว่าเขาได้อ่านมาจากไหน หรือได้ยินมาจากใคร โดยเวลาถามเราก็ควรถามอย่างสุภาพ ถนอมน้ำใจและจริงใจ อย่าถามเพียงเพราะว่าต้องการที่จะหักหน้าเขาต่อหน้าเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ
เวลาที่เราต้องพรีเซนต์หรือขายไอเดียในห้องประชุมที่มีคนเหล่านี้นั่งฟังอยู่และพร้อมจะยิงคำถามใส่เราในระหว่างพรีเซนต์หรือหลังจบพรีเซนต์ เราต้องมีความมั่นใจในข้อมูลที่ตัวเองพูด ดังนั้นก่อนพรีเซนต์ก็ควรจะตรวจเช็กความถูกต้องและแหล่งอ้างอิงของข้อมูลให้ดี ยิ่งถ้าเราเตรียมพร้อมมาดีพอเราก็จะสามารถตอบคำถามคนเหล่านี้ได้แบบทันควัน ไม่มีการเดดแอร์นาน ๆ เพราะเรานึกคำตอบไม่ออก
ส่วนใครถูกคนเหล่านี้ถามขัดจังหวะในระหว่างที่พรีเซนต์แล้วยังไม่สะดวกตอบ ก็สามารถบอกเขาได้ว่า “เดี๋ยวประเด็นนี้จะมีอธิบายรายละเอียดต่อไปในสไลด์หน้าถัด ๆ ไป” หรือ “หลังจบการพรีเซนต์จะมีช่วงที่เปิดให้ถามคำถาม สามารถจดคำถามเอาไว้ก่อนได้” การบอกแบบนี้จะช่วยลดโอกาสไม่ให้เขาถามขัดขึ้นมาในขณะที่เรากำลังพรีเซนต์อยู่อีกเรื่อย ๆ
การร่วมงานการมนุษย์รู้ไปหมดทุกอย่างเป็นอะไรที่ยาก ถ้าเราประเมินสถานการณ์แล้วรู้สึกว่าตัวเองน่าจะพอรับมือไหวก็แนะนำให้ลองรับมือเองไปก่อน โฟกัสแค่ให้งานที่ทำไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็พอ แต่ถ้าถึงจุดที่เพื่อนร่วมงานคนนี้เริ่มสร้างปัญหาที่กระทบไปถึงเนื้องาน และเราพยายามแก้ปัญหาแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ค่อยเดินไปเล่าให้หัวหน้าฟังอย่างตรงไปตรงมาและไร้ความอคติ อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพื่อให้คนเป็นหัวหน้าตัดสินใจว่าควรจะทำยังไงต่อไป
ถ้าเราเป็นหัวหน้า เราสามารถสร้างทัศนคติในการทำงานให้กับทีมว่า “คนเราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างบนโลกก็ได้” อาจใช้วิธีการพูดกับพนักงานในทีมไปเลยว่า “อันนี้ผมเองก็ไม่มั่นใจเหมือนกัน แต่เรามาลองดูไอเดียเพิ่มเติมกัน” การที่คนเป็นหัวหน้ารู้จักที่จะยอมรับตรง ๆ ว่าเราเองก็ “ไม่รู้” และพร้อมที่จะรับฟังก็สามารถช่วยให้คนในทีมสัมผัสได้ถึงความจริงใจและความเป็นคนเปิดรับต่อความคิดเห็นและข้อมูลใหม่ ๆ
เป็นเรื่องปกติของโลกการทำงานที่เราต้องเจอกับคนหลาย ๆ แบบ ซึ่ง “มนุษย์รู้ไปหมดทุกอย่าง” ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่คนทำงานต้องเคยเจอสักครั้ง ยังไงก็ตามลองประเมินสถานการณ์ดูว่าการต้องทำงานกับคนแบบนี้เป็นปัญหาในชีวิตการทำงานของเรามากน้อยแค่ไหน พอรับมือไหวไหม ถ้าพอรับมือได้ก็แค่ใช้วิธีเหล่านี้ดีลกับเขาไป แต่ถ้าทำงานไปเรื่อย ๆ มันเริ่มส่งผลกระทบกับชีวิตการทำงาน ก็อย่าฝืนให้ตัวเองทำงานอย่างไม่มีความสุขต่อไปเลย
|
|
JobThai Official Group |
Public group · 200,000 members |
|
|
|
ที่มา:
forbes.com
monster.com