หลังผ่านพ้นช่วงเศรษฐกิจซบเซาลงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตอนนี้ธุรกิจหลาย ๆ กลุ่มได้ฟื้นตัวและมีการเปิดรับคนมากขึ้น ทำให้ตลาดแรงงานกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์ม JobThai จำนวนมาก ทั้งฝั่งคนทำงานที่เข้ามาหางานและฝั่งองค์กรที่เข้ามาลงประกาศรับสมัครบุคลากรออนไลน์ เราจึงรวบรวมข้อมูลการสมัครงานจากแพลตฟอร์มในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2566 มาสรุปเป็นสถิติและประเด็นที่น่าสนใจให้ได้อ่านกันในบทความนี้
ในเดือนมกราคม – กันยายนของปี 2566 มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม JobThai จำนวน 17.2 ล้านคนและมีการสมัครงานทั้งหมด 14.7 ล้านครั้ง เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 แล้ว ยอดผู้ใช้งานในปีนี้เพิ่มขึ้น 4.72% ส่วนยอดการสมัครงานเพิ่มขึ้นจากเดิม 2.44% โดยช่วงเดือนมิถุนายนเป็นช่วงที่ผู้หางานตื่นตัวมากเป็นพิเศษ เพราะมีการสมัครงานสูงถึง 2 ล้านครั้ง แต่ก็ไม่ใช่แค่ฝั่งคนทำงานเท่านั้นที่คึกคัก เพราะทางองค์กรเองก็มีการเปิดรับพนักงานมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยปี 2566 มีการเปิดรับคนรวมทั้งหมด 1,746,346 อัตรา เพิ่มขึ้น 10.80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
มาเจาะลึกที่ช่วงอายุและภูมิหลังด้านการศึกษาของกลุ่มผู้หางานกันบ้าง จากการรวบรวมสถิติของผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม JobThai พบว่ากลุ่มผู้ใช้งานหลักคือคนทำงานอายุ 25 – 34 ปี คิดเป็น 30.27% ของผู้ใช้งานทั้งหมด รองลงมาเป็นช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป คิดเป็น 25.09% อันดับถัดมาคือช่วงอายุ 35 – 44 ปี คิดเป็น 23.45% และอายุ 18-24 ปี คิดเป็น 21.19% ส่วนระดับการศึกษาของผู้ใช้งาน จากสถิติพบว่าผู้ใช้งานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 69.69% ระดับปวส. คิดเป็น 14.22% ระดับปริญญาโท คิดเป็น 4% และในระดับการศึกษาอื่น ๆ รวมกันอยู่ที่ 12.09% หรือถ้าแยกตามสาขาวิชาที่จบของผู้หางานจะเรียงลำดับได้ดังนี้
-
อันดับ 1 บัญชี/การเงิน/การธนาคาร (10.88%)
-
อันดับ 2 การบริหาร/การจัดการ/บุคคล (9.66%)
-
อันดับ 3 เลขา/ประชาสัมพันธ์/ธุรการ/คอมพิวเตอร์ธุรกิจ (7.91%)
-
อันดับ 4 ช่างอิเล็กทรอนิกส์/ช่างไฟฟ้า/ช่างคอมพิวเตอร์ (6.28%)
-
อันดับ 5 อักษรศาสตร์/ศิลปศาสตร์/มนุษยศาสตร์ (5.53%)
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักและหดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากมีการประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง รวมถึงมีการรณรงค์ให้คนอยู่บ้าน ไม่ออกไปข้างนอกและงดเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลเพื่อลดการแพร่เชื้อ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติลดลง ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมจึงปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ มาตรการต่าง ๆ ได้ถูกยกเลิกไปและคนเริ่มออกมาใช้ชีวิตข้างนอกกันตามเดิม ความต้องการในการท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจนี้ฟื้นตัวและมีการเปิดรับคนเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว โดย 3 ธุรกิจที่มีอัตราการรับคนเติบโตมากที่สุด ได้แก่
นอกจากกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมที่เติบโตและเปิดรับคนมากขึ้นแล้ว ธุรกิจอื่น ๆ ก็ขยายตัวและมีความต้องการคนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดย 5 ธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุดในปี 2566 ได้แก่
-
ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เปิดรับรวม 167,261 อัตรา
เมื่อการเดินทางท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก อุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัว ผู้บริโภคก็มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เห็นได้จากการใช้จ่ายในหมวดภัตตาคารและโรงแรมที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 (ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยังคงมีการจ้างงานสูงเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค
-
ธุรกิจค้าปลีก เปิดรับรวม 137,421 อัตรา
การขายปลีกยังคงขยายตัวเรื่อย ๆ ด้วยปัจจัยจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี (ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ตรงตามการประเมินของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ที่ได้วิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยปี 2566 เอาไว้ว่าจะเติบโตต่อด้วยกิจกรรมเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคที่กลับมาฟื้นตัว รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทำให้ยอดค้าปลีกสูงขึ้นในครึ่งแรกของปี เช่น ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน
-
ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดรับรวม 119,609 อัตรา
อีกธุรกิจที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2566 คืออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่งและการลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ นอกจากนี้นโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐที่มีมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ภาครัฐให้เงินอุดหนุนคันละ 70,000-150,000 บาท ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ ทำให้ธุรกิจนี้ขยายตัวและมีการจ้างงานมากขึ้น
-
ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เปิดรับรวม 108,491 อัตรา
ธุรกิจนี้ยังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากการก่อสร้างของภาครัฐในโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ดำเนินการต่อมาจากอดีต รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ และการขยายตัวต่อเนื่องของการก่อสร้างภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยใหม่หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ (ที่มา: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC))
-
ธุรกิจบริการ เปิดรับรวม 106,143 อัตรา
เนื่องจากการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านกันมากขึ้น ธุรกิจบริการซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับอานิสงค์จากภาคการท่องเที่ยวจึงได้มีการขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
หลังจากที่ได้รู้ TOP 5 ธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดกันไปแล้ว เรามาดูแบบแยกตามสายงานกันบ้างว่าในปี 2566 สายงานไหนที่องค์กรเปิดรับสมัครมากที่สุด คนสมัครเยอะที่สุด และมีอัตราการแข่งขันสูงที่สุด
5 สายงานที่องค์กรเปิดรับมากที่สุด
-
อันดับ 1 งานขาย คิดเป็น 21.43% ของอัตราการเปิดรับในแต่ละเดือนรวมกัน
-
อันดับ 2 งานช่างเทคนิค คิดเป็น 9.37% ของอัตราการเปิดรับในแต่ละเดือนรวมกัน
-
อันดับ 3 งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 7.09% ของอัตราการเปิดรับในแต่ละเดือนรวมกัน
-
อันดับ 4 งานธุรการ/งานจัดซื้อ คิดเป็น 6.26% ของอัตราการเปิดรับในแต่ละเดือนรวมกัน
-
อันดับ 5 งานวิศวกรรม คิดเป็น 5.87% ของอัตราการเปิดรับในแต่ละเดือนรวมกัน
5 สายงานที่มีผู้สมัครมากที่สุด
5 สายงานที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่สุด
เมื่อการหางานมีการแข่งขันที่สูงขึ้น คนทำงานก็ต้องพยายามพัฒนาทักษะและคุณสมบัติของตัวเองมากขึ้นด้วยเพื่อจะได้เป็นแคนดิเดตที่เข้าตาบริษัท คำถามคือตอนนี้องค์กรกำลังมองหาคนทำงานแบบไหนอยู่? จากสถิติที่เรารวบรวมมา ในปี 2566 องค์กรมีการค้นหาประวัติผู้หางานโดยค้นหาจากช่วงประสบการณ์การทำงานเพิ่มขึ้น 31% โดยมีการค้นหาผู้ที่มีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป คิดเป็น 19.19% ของทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่าองค์กรมีการค้นหาผู้สมัครงานจากทักษะและความสามารถในการใช้โปรแกรมหรือเครื่องมือต่าง ๆ ด้วย โดยแบ่งกลุ่มทักษะออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
-
กลุ่มที่ 2 ทักษะที่เกี่ยวข้องกับสายงานไอที โดยมีการค้นหาทักษะด้านภาษาคอมพิวเตอร์และการใช้เครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ได้แก่ C#, JAVA, .NET, ANGULAR, PHP, SQL, GOLANG, และ PYTHON ตามลำดับ
-
กลุ่มที่ 3 โปรแกรมและเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ได้แก่ SAP (System Application Products) และ ERP (Enterprise Resource Planning) ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับการวางแผนการจัดการขององค์กร, EXPRESS โปรแกรมทางด้านบัญชี และ TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารสินค้าและบริการยอดนิยมขององค์กรในปัจจุบัน
ไม่ใช่แค่เรื่องของสถิติการสมัครงานหรือจำนวนคนหางานเท่านั้นที่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ปัญหาในโลกของการทำงานก็มีประเด็นใหม่ ๆ ที่น่าสนใจด้วยเหมือนกัน จากการสำรวจประเด็นต่าง ๆ ที่คนทำงานได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันใน Facebook Group “JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน”ซึ่งมีสมาชิกภายในกลุ่มกว่า 1.1 ล้านคน พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
-
คนทำงานอายุเยอะหางานยากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
-
งานในต่างจังหวัดมีฐานเงินเดือนน้อยกว่างานในกรุงเทพฯ
-
เด็กจบใหม่มีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารในการทำงาน
-
ปัญหาด้านเวลาในการทำงาน เช่น การต้องทำงานนอกเหนือเวลางาน หรือตอบข้อความหลังเวลางาน
ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนเป็นสิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญและหาทางปรับตัวให้ตอบโจทย์คนทำงาน จะได้ดึงดูดให้คนอยากเข้ามาร่วมงานด้วย รวมถึงรักษาพนักงานเดิมให้อยู่กับองค์กรนาน ๆ โดยองค์กรควรมีนโยบายส่งเสริมสุขภาวะที่ดี (Well-being) ให้กับพนักงานในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพกาย สุขภาพด้านจิตใจ สภาพแวดล้อมในการทำงาน ตลอดจนการส่งเสริมศักยภาพของพนักงานโดยให้พื้นที่ในการแสดงความสามารถและมีการสนับสนุนให้พนักงานเรียนรู้ตลอดเวลา
ไม่ใช่แค่ฝั่งองค์กรเท่านั้น แต่คนทำงานเองก็ต้องปรับตัวอยู่เสมอ สำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มหางานควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอตัวเอง ทำเนื้อหาในเรซูเม่และพอร์ตโฟลิโอให้ตรงกับตำแหน่งงานที่สมัครและเตรียมตัวสัมภาษณ์งานให้พร้อม เช่น ฝึกซ้อมตอบคำถามสัมภาษณ์งานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองและสร้างความประทับใจกับผู้สัมภาษณ์งาน ก็จะช่วยให้มีโอกาสได้งานมากขึ้น
ส่วนคนทำงานที่มีประสบการณ์แล้วต้องแสดงศักยภาพให้องค์กรเห็นว่าสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาประยุกต์ใช้กับการทำงานเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับองค์กร ตลอดจนต้องพัฒนาทักษะให้ทันกับความการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอยู่เสมอ
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน