ในยุคดิจิทัลที่มีช่องทางในการสร้างรายได้ออนไลน์มากมาย การหารายได้เสริมผ่านช่องทางนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Affiliate Marketing ผ่านหูมาบ้าง แต่ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ว่าคืออะไร และจะเริ่มต้นสร้างรายได้จากช่องทางนี้ได้อย่างไร บทความนี้ JobThai จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Affiliate Marketing แบบเข้าใจง่าย ชี้ให้เห็นโอกาส และแนะนำแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจอยากมีรายได้เพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง
Affiliate Marketing คือ รูปแบบการทำการตลาดออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป หรือ "ผู้เผยแพร่ (Affiliate)" สามารถสร้างรายได้ด้วยการโปรโมตสินค้าหรือบริการของ "ผู้ขาย (Merchant)" ผ่านช่องทางของตนเอง เช่น เว็บไซต์ บล็อก หรือโซเชียลมีเดีย เมื่อมีการซื้อสินค้าหรือบริการ หรือเกิดการกระทำบางอย่างตามที่ตกลงกันไว้ เช่น การสมัครสมาชิก การคลิกผ่านลิงก์ ผู้เผยแพร่ก็จะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่น
เพื่อให้เห็นภาพรวมของ Affiliate Marketing ชัดเจนยิ่งขึ้น เรามาทำความรู้จักกับ 3 องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ระบบนี้ขับเคลื่อนไปได้กัน
1. ผู้ขาย (Merchant)
ผู้ขาย หรือ Merchant คือ เจ้าของสินค้าหรือบริการที่ต้องการเพิ่มยอดขายหรือขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ จึงได้สร้างระบบ Affiliate Marketing ขึ้นมา เพื่อให้บุคคลอื่นนำสินค้าหรือบริการไปช่วยโปรโมตให้ โดยผู้ขายจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น รูปแบบการจ่ายค่าคอมมิชชั่น อัตราค่าคอมมิชชั่น และจัดเตรียมเครื่องมือที่จำเป็น เช่น ลิงก์ Affiliate แบนเนอร์โฆษณา ให้กับผู้เผยแพร่ นับเป็นผู้เริ่มต้นวงจรของระบบนี้
2. ผู้เผยแพร่ (Affiliate)
ผู้เผยแพร่ หรือ Affiliate (บางครั้งเรียกว่า Publisher) คือ บุคคลที่มีช่องทางออนไลน์เป็นของตัวเอง เช่น Blogger, YouTuber, Influencer หรือเจ้าของเว็บไซต์ ที่เข้าร่วมการทำ Affiliate Marketing ของผู้ขาย โดยผู้เผยแพร่จะต้องนำลิงก์หรือสื่อโฆษณาที่ได้รับจากผู้ขายไปโปรโมตในช่องทางของตนเอง หากสามารถทำให้ผู้บริโภคคลิกลิงก์นั้นไปซื้อสินค้าหรือบริการ หรือทำตามเงื่อนไขอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ได้ ผู้เผยแพร่ก็จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเป็นผลตอบแทน
3. ผู้บริโภค (Consumer)
ผู้บริโภค หรือ Consumer คือ กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าที่เห็นโฆษณาหรือคอนเทนต์ที่ผู้เผยแพร่สร้างขึ้น และตัดสินใจคลิกลิงก์ Affiliate เพื่อเข้าไปดูรายละเอียดสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์ของผู้ขาย หากผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหรือดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น กรอกฟอร์มหรือสมัครสมาชิก ก็จะส่งผลให้ผู้เผยแพร่ได้รับค่าคอมมิชชั่น นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดธุรกรรมในระบบ Affiliate Marketing

ค่าตอบแทนหรือคอมมิชชั่นในระบบ Affiliate Marketing นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ขายและผู้เผยแพร่ โดยรูปแบบที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปมีดังนี้
Pay Per Sale (PPS)
Pay Per Sale หรือ PPS เป็นรูปแบบการจ่ายค่าคอมมิชชั่นที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้เผยแพร่ (Affiliate) จะได้รับค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อผู้บริโภคคลิกลิงก์ Affiliate ของผู้เผยแพร่ และทำการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากเว็บไซต์ของผู้ขาย (Merchant) จนสำเร็จเรียบร้อย โดยค่าคอมมิชชั่นมักจะคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย หรือเป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้ต่อการขายแต่ละครั้ง PPS ถือเป็นรูปแบบที่ผู้ขายส่วนใหญ่นิยมเพราะจ่ายเมื่อเกิดยอดขายจริง
Pay Per Lead (PPL)
Pay Per Lead หรือ PPL เป็นรูปแบบที่ผู้เผยแพร่จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเมื่อสามารถชักจูงให้ผู้บริโภคกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผู้ขายกำหนดไว้ ซึ่งนำไปสู่การได้ข้อมูลของ "ผู้ที่อาจเป็นลูกค้าในอนาคต (Lead)" เช่น การกรอกแบบฟอร์มเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม การสมัครรับจดหมายข่าว หรือการลงทะเบียนทดลองใช้บริการ ผู้ขายมักใช้การจ่ายค่าคอมมิชชั่นรูปแบบนี้เพื่อสร้างฐานข้อมูลลูกค้าเป้าหมาย แม้ยังไม่เกิดการซื้อขายในทันทีก็ไม่เป็นไร
Pay Per Click (PPC)
Pay Per Click หรือ PPC เป็นรูปแบบการจ่ายค่าคอมมิชชั่นที่ผู้เผยแพร่จะได้รับค่าตอบแทนทุกครั้งที่มีผู้บริโภคคลิกลิงก์ Affiliate หรือแบนเนอร์โฆษณาที่ติดตั้งไว้ไปยังเว็บไซต์ของผู้ขาย โดยไม่จำเป็นต้องมีการซื้อขายหรือการกระทำอื่นใดตามมา คอมมิชชั่นในรูปแบบนี้อาจให้ค่าตอบแทนต่อคลิกที่ไม่สูงนัก แต่ก็เป็นวิธีที่ช่วยสร้างรายได้จากการที่มีผู้เข้าชมช่องทางของผู้เผยแพร่จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาจพบค่อนข้างน้อยในระบบ Affiliate Marketing ทั่วไป
Pay Per Install (PPI)
Pay Per Install หรือ PPI เป็นรูปแบบที่มักใช้กับธุรกิจประเภทแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือหรือซอฟต์แวร์ ผู้เผยแพร่จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเมื่อผู้บริโภคคลิกลิงก์ Affiliate และทำการติดตั้งแอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์นั้น ๆ ลงบนอุปกรณ์ของตนเองสำเร็จเรียบร้อย อัตราค่าตอบแทนจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน (ผู้ขาย) และผู้เผยแพร่ PPI นับเป็นอีกวิธีในการทำ Affiliate Marketing ที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์
สำหรับผู้ที่สนใจอยากเริ่มต้นสร้างรายได้ผ่าน Affiliate Marketing สามารถทำตามขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
-
ค้นหาความสนใจและเลือก Niche (เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม) เลือกกลุ่มสินค้าหรือบริการที่คุณมีความรู้ ความสนใจ หรือสามารถสร้างคอนเทนต์ได้ดี
-
ศึกษาและเลือก Affiliate Program ที่สนใจ ค้นหาระบบ Affiliate Marketing จากแบรนด์หรือแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือและตรงกับ Niche ของคุณ
-
สร้างช่องทางเผยแพร่คอนเทนต์ อาจเป็นเว็บไซต์ส่วนตัว บล็อก หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
-
สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รีวิวอย่างตรงไปตรงมา หรือสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย
-
โปรโมตลิงก์ Affiliate อย่างถูกวิธี สอดแทรกลิงก์ Affiliate ในคอนเทนต์อย่างเป็นธรรมชาติและเปิดเผย
-
ติดตามผลลัพธ์และปรับปรุง ใช้เครื่องมือวิเคราะห์เพื่อดูผลตอบรับและปรับกลยุทธ์ให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม Affiliate Marketing มากมายที่ช่วยให้คุณเริ่มต้นได้ง่ายขึ้น ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น
-
Shopee Affiliate Program เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการโปรโมตสินค้าหลากหลายบนแพลตฟอร์ม E-Commerce ยอดนิยม
-
Lazada Affiliate Program อีกหนึ่งแพลตฟอร์ม E-Commerce ขนาดใหญ่ที่มีระบบ Affiliate สำหรับนักโปรโมต
-
TikTok Affiliate Program เป็นช่องทางสำหรับครีเอเตอร์ในการสร้างรายได้จากการโปรโมตสินค้าผ่านวิดีโอสั้นหรือไลฟ์บน TikTok Shop ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง
-
ACCESSTRADE เป็น Affiliate Network ที่รวบรวมแคมเปญจากแบรนด์ชั้นนำมากมายในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
-
ECOMOBI แพลตฟอร์มสำหรับ Influencer และ Content Creator ในการสร้างรายได้กับแบรนด์ต่าง ๆ
-
Amazon Associates ระบบ Affiliate ระดับโลกสำหรับผู้ที่ต้องการโปรโมตสินค้าจาก Amazon (อาจเหมาะกับผู้ที่มีกลุ่มเป้าหมายต่างชาติ)
-
Affiliate Program เฉพาะของแบรนด์ หลาย ๆ แบรนด์ก็มีระบบ Affiliate ของตนเองโดยตรง
Affiliate Marketing เป็นช่องทางสร้างรายได้ที่เปิดกว้างและเหมาะกับบุคคลหลากหลายกลุ่ม เช่น
-
ผู้ที่มีเว็บไซต์ บล็อก หรือช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง มีผู้ติดตามจำนวนหนึ่งและต้องการสร้างรายได้จากช่องทางของตน
-
Content Creators และ Influencers ที่สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์รีวิวหรือแนะนำสินค้า/บริการได้อย่างน่าสนใจ
-
ผู้ที่ต้องการสร้างรายได้เสริม โดยใช้เวลาว่างและความสามารถในการนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์
-
ผู้ที่ชื่นชอบการรีวิวสินค้าหรือบริการ และต้องการแบ่งปันประสบการณ์พร้อมสร้างรายได้
-
ผู้ที่มีความเข้าใจพื้นฐานด้านการตลาดออนไลน์ และต้องการนำความรู้มาประยุกต์ใช้
การทำ Affiliate Marketing มีข้อดีหลายประการที่น่าสนใจ ดังนี้
-
เริ่มต้นง่าย ต้นทุนต่ำ ส่วนใหญ่สามารถสมัครเข้าร่วม Affiliate Program ได้ฟรี
-
ความยืดหยุ่นสูง สามารถทำงานจากที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้ตามความสะดวก
-
โอกาสสร้างรายได้แบบ Passive Income คอนเทนต์ที่สร้างไว้อาจสร้างรายได้ให้คุณได้อย่างต่อเนื่อง
-
มีสินค้า/บริการให้เลือกโปรโมตหลากหลาย สามารถเลือกได้ตามความสนใจและความถนัด
-
วัดผลและปรับปรุงได้ แพลตฟอร์มส่วนใหญ่มีระบบติดตามผล ทำให้เห็นประสิทธิภาพและนำไปปรับกลยุทธ์ได้
-
เพิ่มทักษะด้านการตลาดดิจิทัล ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการสร้างคอนเทนต์ SEO และการตลาดออนไลน์
เพื่อให้การเริ่มต้นทำ Affiliate Marketing เป็นไปอย่างราบรื่น ควรหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่มือใหม่มักทำกัน เช่น
-
เลือกสินค้า/บริการไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย โปรโมตสินค้าที่ไม่สอดคล้องกับความสนใจของผู้ติดตาม
-
เน้นขายมากเกินไป สร้างคอนเทนต์ที่ดูเป็นการขายของอย่างโจ่งแจ้ง นำเสนอสินค้าหรือบริการดีเกินความเป็นจริงจนขาดความน่าเชื่อถือ
-
ไม่เปิดเผยว่าเป็นลิงก์ Affiliate อาจทำให้ผู้ติดตามรู้สึกไม่ไว้วางใจ และบางแพลตฟอร์มมีข้อกำหนดให้เปิดเผย
-
คาดหวังผลลัพธ์เร็วเกินไป Affiliate Marketing ต้องใช้เวลาในการสร้างความน่าเชื่อถือและฐานผู้ติดตาม
-
ไม่ศึกษาเงื่อนไขของระบบ Affiliate ให้ดี อาจทำให้เสียสิทธิ์หรือทำผิดกฎที่แบรนด์หรือแพลตฟอร์มระบุไว้โดยไม่ตั้งใจ
-
ไม่ติดตามผลและปรับปรุงกลยุทธ์ ทำให้ไม่รู้ว่าคอนเทนต์ในการโปรโมตของตัวเองได้ผลหรือไม่ได้ผล ทำให้คนกดลิงก์ Affiliate ได้จริงไหม

Affiliate Marketing คืออีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจในการสร้างรายได้เสริมในยุคดิจิทัล ด้วยความยืดหยุ่นและโอกาสในการเริ่มต้นที่ไม่ซับซ้อน ไม่ว่าคุณจะเป็น Content Creator เจ้าของเว็บไซต์ หรือเป็นเพียงผู้ที่สนใจอยากหารายได้เพิ่ม การทำความเข้าใจองค์ประกอบ รูปแบบค่าตอบแทน วิธีการเริ่มต้น รวมถึงประโยชน์และข้อควรระวัง จะช่วยให้คุณก้าวเข้าสู่โลกของ Affiliate Marketing ได้อย่างมั่นใจ เพียงมีความตั้งใจ สร้างสรรค์ และเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ไม่ยากแล้ว
ที่มา:
katalyst.kasikornbank.com, zortout.com, chubb.com