วิธีรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทำงาน

01/04/25   |   148   |  

 

 

การออกจากบ้านมาทำงานในแต่ละวัน เราอาจต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือการเจอกับภัยร้ายที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง มักเป็นสถานการณ์ที่ไม่ทันให้เราได้ตั้งตัว เพราะฉะนั้นความรู้ในการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงมีความสำคัญ JobThai ขอแนะนำวิธีรับมือภัยอันตรายหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทำงานทุกคน ไปดูกันว่าภัยรูปแบบไหนเราควรรับมือยังไงบ้าง

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

แผ่นดินไหว

แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ตั้งอยู่บนศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ แต่เราก็อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวรอยเลื่อนที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง เพื่อความไม่ประมาทและความปลอดภัยหากเกิดเหตุขึ้น ควรวิธีปฏิบัติ ดังนี้

 

กรณีอยู่ในอาคาร

  • ให้หาที่หลบกำบังในบริเวณที่ปลอดภัย พร้อมใช้มือกำบัง ศีรษะและลำคอ โดยหมอบบริเวณใต้โต๊ะที่ไม่มีสิ่งของหล่นใส่ หรืออยู่ในจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรงและทนต่อแรงกดทับได้มาก ไม่อยู่ใต้คานหรือใกล้เสา อยู่ให้ห่างจากประตู หน้าต่างที่เป็นกระจก และเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ที่สามารถล้มลงมาได้

  • ห้ามวิ่งหนีออกจากอาคาร โดยใช้ลิฟต์อย่างเด็ดขาด เพราะอาจได้รับอันตรายหากกระแสไฟฟ้าดับและติดค้างอยู่ในลิฟต์ อาจขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตได้

  • เมื่อแผ่นดินไหวหยุดแล้ว ให้รีบออกจากอาคารมาอยู่ในพื้นที่โล่งโดยเร็วที่สุด และไม่กลับเข้าไปในอาคาร เพราะหากเกิด การสั่นไหวซ้ำอีกรอบ อาคารอาจพัง ถล่มลงมาได้ 

 

กรณีกำลังขับรถ 

  • ให้หยุดรถและหาที่จอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย ห้ามหยุดรถบริเวณบนและใต้สะพาน ทางด่วน ป้ายโฆษณา และต้นไม้ขนาดใหญ่

  • รอจนกว่าเหตุแผ่นดินไหวจะสงบลงค่อยขับรถต่อหรือออกมาจากรถ เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากการเคลื่อนที่ของถนน หรือการล้มของสิ่งต่าง ๆ

 

แผ่นดินไหว

 

อัคคีภัย

อัคคีภัยหรือการเกิดไฟไหม้เป็นอันตรายที่ส่งผลร้ายแรงต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อเจอสถานนี้เราควรหาทางออกจากพื้นที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

  • ตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก และประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นว่าเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงแค่ไหน และอยู่ใกล้ตัวมากแค่ไหน 

  • กดสัญญาณเตือนภัย สำนักงานหรือออฟฟิศส่วนใหญ่มักจะติดตั้งปุ่มกดเตือนภัยเอาไว้ หากพบว่ามีประกายไฟหรือเกิดควันที่บ่งบอกว่าเกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่ ควรตะโกนบอกทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นให้ทราบทั่วกัน แล้วให้รีบกดสัญญาณเตือนภัยทันที

  • เริ่มอพยพจากพื้นที่ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก เมื่อพบควันให้หมอบคลานต่ำเพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกายที่อาจจะทำให้หมดสติและเสียชีวิต

  • อย่าเปิดประตูทันที หากเกิดไฟไหม้ข้างนอกและติดอยู่ในห้อง ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู หากไม่ร้อนให้เปิดประตูออกไปช้า ๆ และอพยพตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย แต่หากสัมผัสผนังหรือลูกบิดพบว่ามีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะจะตกอยู่ในวงล้อมของกองเพลิง

  • ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์ ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ แต่ให้ใช้บันไดหนีไฟในการอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากไฟภายในอาคาร จะไม่เข้ามาบริเวณบันไดหนีไฟ เพราะถูกออกแบบและใช้วัสดุกันไฟ มีช่องระบายอากาศ จึงช่วยลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย  และไม่ควรใช้บันไดเลื่อนหรือบันไดที่อยู่ภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดภายในอาคารอาจไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทนกับไฟ ก็อาจเป็นเชื้อเพลิงให้ไฟโหมได้ หรืออาจมีควันไฟและเปลวเพลิงลอยขึ้นมาปกคลุม จึงเสี่ยงต่อการสำลักควันไฟและถูกไฟคลอกเสียชีวิต

 

อุทกภัย

อันตรายที่เกิดจากอุทกภัยหรือน้ำท่วมนั้น ได้แก่ ความเสียหายที่อาจเกิดกับอุปกรณ์สำนักงาน อาคารสามารถถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวพัดพังทลายได้ เส้นทางการคมนาคมอาจถูกตัดขาด และคนอาจจมน้ำได้

 

  • กรณีน้ำท่วมไม่รุนแรงให้ตัดกระแสไฟฟ้าภายในอาคาร และย้ายปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึงและขนย้ายสิ่งของอื่น ๆ ขึ้นที่สูง

  • กรณีน้ำท่วมรุนแรงจนต้องอพยพ ให้ความช่วยเหลือเด็กและคนชราก่อน โดยหนีไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย พ้นจากแนวการไหลของน้ำ

  • หากต้องสัญจรผ่านพื้นที่ที่มีระดับน้ำสูงให้สังเกตทิศทางการไหลของน้ำ หลีกเลี่ยงการเดินข้ามบริเวณที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก เพราะอาจถูกน้ำพัดหรือได้รับอันตรายจากท่อนไม้ เศษวัสดุ หรือก้อนหินที่ลอยตามน้ำมาได้

 

วาตภัย

วาตภัยหรือภัยธรรมชาติที่เกิดจากพายุลมแรงสามารถทำให้เกิดความเสียหายได้ ตั้งแต่ต้นไม้ล้มทับอาคาร ชิ้นส่วนของอาคารที่ไม่แข็งแรงจะปลิวจากแรงลม ไปจนถึงทำให้เสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาด ไฟฟ้าลัดวงจร หรือนำไปสู่เหตุเพลิงไหม้ได้

 

  • หลบในอาคารที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันสิ่งปลูกสร้างล้มทับและแรงลมพัดสิ่งของเข้ามาในตัวอาคารให้ได้รับอันตราย

  • อยู่ให้ห่างจากพื้นที่เสี่ยงอันตราย ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า สิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงเพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับหรือไฟฟ้าดูดทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

  • กรณีจำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่ ให้ไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

  • ไม่ออกไปในที่โล่งแจ้งภายหลังพายุสงบในทันที ควรอยู่ภายในตัวอาคารหรือบริเวณที่ปลอดภัยอย่างน้อย 1 –2 ชั่วโมง

  • ไม่เข้าใกล้บริเวณที่ต้นไม้ล้ม สายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้มเพราะอาจได้รับอันตรายได้

 

ภัยที่เกิดจากฝีมือมนุษย์

นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว สิ่งที่อันตรายไม่แพ้กันคือภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศไหน ก็อาจได้รับความเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมประท้วงที่รุนแรง การจลาจล เหตุความรุนแรงหรือการก่อการร้าย ได้เช่นกัน ไปดูว่าหากหลีกเลี่ยงได้ยาก เราต้องรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ยังไงบ้าง

 

กรณีต้องสัญจรผ่านพื้นที่เสี่ยง

  • สังเกตสถานการณ์ให้ดี ดูว่าสิ่งรอบตัวอาจมีเหตุร้ายเกิดขึ้นจุดใดบ้าง พร้อมระมัดระวังตัว และมีสติเสมอ หากได้ยินเสียงผิดปกติ ให้รีบหาที่หลบกำบังทันที

  • ไม่มุงดูเหตุการณ์ ไม่ขัดขวางผู้ชุมนุมหรือผู้ก่อเหตุ ไม่โต้แย้ง ยั่วยุ ด่าทอ หรือกระทำการใด ๆ ที่ทำให้อีกฝ่ายคิดว่าเราเป็นฝ่ายตรงข้าม พยายามสังเกตหาตำแหน่งของจุดจลาจล เมื่อดูว่าปลอดภัยให้หาทางออกจากที่เกิดเหตุทันที ไม่ควรกังวลเกี่ยวกับทรัพย์สิน และจำไว้ว่า เราจะเคลื่อนที่เมื่อปลอดภัยเท่านั้น 

  • ใช้วิธีการแจ้งตำรวจเมื่อเกิดเหตุจลาจล หมายเลข 191 ในเหตุการณ์ชุลมุน เจ้าหน้าที่อาจแยกไม่ออกว่าเราคือผู้ร่วมก่อการจลาจลด้วยหรือไม่ ดังนั้นการเดินเข้าไปหรือวิ่งเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อเหตุ แนะนำให้โทรแจ้งผ่านโทรศัพท์และรอจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาหาเราที่จุดหลบซ่อน

  • หากไม่สามารถหนีจากจุดเกิดเหตุไปไกล ๆ ได้ ควรเข้าไปหลบในอาคาร หรือชั้นสูงของอาคาร โดยใช้สิ่งกำบังขณะวิ่งหนี เช่น วิ่งลัดเลาะไปตามเสา กำแพง โต๊ะ ใช้สิ่งของต่าง ๆ เป็นที่กำบังอาวุธ พยายามไม่เป็นเป้าสะดุดตา และอยู่ใต้ที่กำบังตลอดเวลา 

 

ภัยที่เกิดจากฝีมือมนุษย์

 

กรณีที่กำลังทำงานอยู่ในอาคารใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ

  • เมื่อได้รับแจ้งให้อพยพออกจากอาคาร ให้หยุดการทำงานทันที ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก และเก็บรวบรวมเอกสารหรือทรัพย์สินที่สำคัญให้เรียบร้อย

  • เดินออกจากอาคารไปยังจุดรวมพล หรือจุดนัดพบที่ได้กำหนดไว้

  • ติดต่อประสานงานขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภานนอก เช่นตำรวจ ทหาร และส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย

  • หากออกจากสถานที่นั้นไม่ได้ ให้หาที่ซ่อนตัวอย่างเงียบที่สุด เช่น หลบในห้องมืด ปิดไฟทุกดวง ปิดเสียงโทรศัพท์ ล็อกประตู หรือหาของหนักมาขวาง ร่วมกับการโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ และรอจนกว่าจะมีผู้มาช่วย พยายามอย่าหนีเข้าห้องน้ำเด็ดขาด เพราะเป็นห้องที่ปิดตายไร้ทางออก ควรเลือกไปยังห้องที่มีหน้าต่าง ที่สามารถปีนออกไปนอกอาคารได้ 

 

สรุป

ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในรูปแบบใดก็ตาม สิ่งที่ทุกคนควรจำให้ขึ้นใจคือการมีสติในการตอบสนองต่อภัยพิบัติเหล่านั้น โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตของเราและบุคคลอื่น ๆ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันเป็นหลัก ไม่ควรห่วงทรัพย์สินจนทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วจึงค่อยกลับมาสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลัง

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

ที่มา: 

disaster.go.th,

tmd.go.th,

pptvhd36,

bangkokbiznews,

mhc4.dmh.go.th,

lampang.tu.ac.th

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, คนทำงาน, ภัยพิบัติ, แผ่นดินไหว, อัคคีภัย, ไฟไหม้, น้ำท่วม, สถานการณ์ฉุกเฉิน, ออฟฟิศ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม