ทำความรู้จักตัวอย่างธุรกิจ Social Enterprise ที่น่าสนใจในเมืองไทย

25/07/18   |   54.3k   |  

“ถ้าอยากจะทำงานที่ได้ช่วยเหลือสังคมด้วย ก็ลองไปศึกษาเรื่อง Social Enterprise ดูไหม”

วรกรให้คำแนะนำรุ่นน้องคนหนึ่งที่เพิ่งเรียนจบและเริ่มทำงานได้ไม่นาน หลังจากที่ได้รับฟังรุ่นน้องคนนั้นบอกว่ามีความฝันอยากจะทำงานอะไรสักอย่างที่ได้เป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม

 

กระแสการเปลี่ยนจากการทำงานเป็นพนักงานในองค์กรทั่วไปแล้วผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจในบ้านเรา นอกจาก Startup ในแวดวงต่าง ๆ เช่น กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีแล้ว ธุรกิจอีกหนึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันก็คือ Social Enterprise หรือ ธุรกิจที่แสวงหาผลกำไรไปพร้อมกับการช่วยเหลือสังคม

 

เพื่อเป็นไอเดียให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่และคนทั่วไปที่อยากรู้ว่าคนในวงการนี้เขาทำงาน หรือมีวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาสังคมกันอย่างไร ก่อนจะก่อตั้งเป็นธุรกิจอย่างจริง ๆ จัง ๆ เรามาดูกันว่า Social Enterprise ในเมืองไทยที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง

 

 

  • Local Alike: Social Enterprise ที่จัดการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีการคิดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาให้สอดคล้องกับจุดเด่นของชุมชน โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนมากเกินไป และยังเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือชาวบ้านในการบริหารการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนนี้ด้วย
  • CareerVisa Thailand: Social Enterprise ที่จะช่วยให้เด็กไทยได้ค้นหาและรู้จักตัวเอง รวมถึงได้ทำงานที่เหมาะสมกับคุณสมบัติและทักษะของตัวเองจริง ๆ ผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น จัดหลักสูตรพัฒนาความเป็นมืออาชีพนอกห้องเรียน หรือกิจกรรมที่จะได้ฟังประสบการณ์ตรงจากคนที่มาจากหลากหลายอาชีพ เพื่อทำความรู้จักอาชีพที่ตัวเองสนใจได้อย่างลงลึกมากขึ้น
  • Social Giver: แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปลี่ยนการช้อปปิ้งรูปแบบเดิม ๆ ให้กลายเป็นการส่งมอบสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม โดยการเปลี่ยนเงินที่เราใช้ซื้อสินค้าหรือบริการส่วนหนึ่งให้เป็นเงินบริจาคที่ส่งต่อไปยังกับองค์กรต่าง ๆ

 

social enterprise การทำงาน local alike กิจการเพื่อสังคม

Local Alike กิจการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อความยั่งยืน


Social Enterprise เจ้านี้ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างรายได้ที่ยั่งยืนของคนในชุมชนและประสบการณ์ที่แปลกใหม่ของนักท่องเที่ยว ในขณะที่กิจการของ Local Alike นั้นทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับในรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง พวกเขาก็ไม่ลืมที่จะใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน


โดยรูปแบบการท่องเที่ยวของ Local Alike นั้นดูผิวเผินก็ไม่ต่างจากการท่องเที่ยวโดยทั่วไปนัก เพราะมีทั้งการจัดหาที่พักแบบโฮมสเตย์ การพาชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้าน แต่จุดเด่นของ Local Alike ที่แตกต่างจากการท่องเที่ยวในรูปแบบเดิม ๆ คือ ประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากโปรแกรมทัวร์ที่ไหน เพราะโปรแกรมการท่องเที่ยวแต่ละที่จะถูกคิดขึ้นมาให้สอดคล้องกับจุดเด่นของชุมชนนั้นจริง ๆ


ตัวอย่างเช่น “Fisherman’s Friend Alike” การเที่ยวในชุมชนเกาะยาวน้อย จังหวัดภูเก็ต นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การเป็นชาวประมงที่แท้จริงว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อหาปลา นอนเปลแบบชาวเล เล่นน้ำทะเล รับประทานเมนูอาหารทะเลแบบพื้นบ้าน สำรวจวิถีชีวิตแบบชาวเกาะ ชมสวน ทุ่งนาและป่าชายเลน  หรือ “Local Alike Pioneer” ที่เป็นการท่องเที่ยวลัดเลาะตามเส้นทางธรรมชาติบ้านสวนป่า ชุมชนสี่พันไร่ จังหวัดเชียงราย ที่สามารถเลือกเส้นทางความยากง่ายในการเดินทางได้ด้วยตัวเอง (ขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวว่าเป็นขาลุยหรือชอบเดินป่าแบบสบายๆ คอยซึมซับบรรยากาศ) พร้อมด้วยการตั้งแคมป์ในป่ารวมถึงการทำอาหารรับประทานกันเอง แล้วไปเที่ยวต่อที่ยอดดอยไร่ชา ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้จิบชาท่ามกลางทะเลหมอกยามเช้า และเยี่ยมชมกระบวนการผลิตชาที่โรงงานชาของชาวบ้าน ซึ่งในแต่ละทริป ทาง Local Alike จะเน้นที่คุณภาพของประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับ ไม่ได้เน้นที่ปริมาณคน โดยจะมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนมากเกินไป


นอกจากจุดเด่นเรื่องประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใครแล้ว Local Alike ยังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือชาวบ้านในการบริหารการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนนี้ด้วยคนภายในชุมชนด้วยกันเองอีกด้วย โดยทางทีมงานของ Local Alike ได้ระดมความคิดกันกับคณะกรรมการหมู่บ้านแต่ละที่จนเกิดเป็นโมเดลกองทุนหมู่บ้านขึ้นมาใช้ชื่อว่า “กองทุนการท่องเที่ยวชุมชน” โดยอาศัยรายได้จากทั้ง Local Alike และ จากชุมชนเองอีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้มีเงินมาหมุนเวียนในกองทุนและสามารถกระจายออกไปสู่ชาวบ้านและชุมชนอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง นอกจากจะเป็นการพัฒนาชุมชน และดูแลด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันแล้วยังสามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมด้านอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย เพราะนอกจากผลกำไรจากการท่องเที่ยวแล้วยังทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น ทำให้วิถีชีวิตชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นยังคงอยู่และได้รับการเผยแพร่ไปสู่สายตานักท่องเที่ยว ทำให้คนในชุมชนโดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวมีรายได้ และไม่ต้องออกไปหางานทำในเมือง ถือเป็นการลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานของชุมชนอีกทางหนึ่ง


 

social enterprise career visa การทำงาน กิจการเพื่อสังคม การศึกษา
 

CareerVisa Thailand ผู้สนับสนุนให้เด็กไทยได้รู้จักศักยภาพของตัวเองก่อนทำงานจริง


CareerVisa Thailand คือกลุ่มคนที่เล็งเห็นถึงปัญหาด้านการศึกษาของบ้านเราจากประสบการณ์ตรง เนื่องจากเด็กไทยหลายๆ คนยังไม่รู้จักตัวเองดีพอ ส่งผลให้เลือกคณะที่เรียนได้ไม่ตรงกับความต้องการของตนเอง เมื่อจบมาแล้ว ก็อาจทำงานไม่ตรงสาย หรือไม่มีความสุขในการทำงานเพราะเลือกคณะหรือสายงานผิด

จากคำถามที่ว่า “อนาคตอยากเป็นอะไร ” “เรียนจบแล้วจะทำงานอะไร” ไปจนถึง “อาชีพนี้จะต้องทำอะไรบ้าง” ข้อสงสัยต่างๆ นานาเกี่ยวกับอาชีพและอนาคตเหล่านี้ทำให้ CareerVisa Thailand เกิดแนวคิดที่อยากจะให้เด็กไทยได้ค้นหาและรู้จักตัวเอง และได้ทำงานที่เหมาะสมกับคุณสมบัติและทักษะของตัวเองจริงๆ CareerVisa Thailand จึงเห็นว่าการจะตอบโจทย์นี้ได้ต้องอาศัยระบบการฝึกงานที่มีคุณภาพ และการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านอาชีพแก่เยาวชนไทยก่อนที่พวกเขาจะได้ทำงานจริง ต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำความรู้จักกับอาชีพที่ตนเองสนใจก่อนตัดสินใจเลือกคณะหรือสาขาที่จะเรียน เมื่อเรียนจบและทำงาน จะได้มีความสุขกับชีวิตการทำงาน 

จากคำถามที่ว่า “อนาคตอยากเป็นอะไร ” “เรียนจบแล้วจะทำงานอะไร” ไปจนถึง “อาชีพนี้จะต้องทำอะไรบ้าง” ข้อสงสัยต่างๆ นานาเกี่ยวกับอาชีพและอนาคตเหล่านี้ทำให้ CareerVisa Thailand เกิดแนวคิดที่อยากจะให้เด็กไทยได้ค้นหาและรู้จักตัวเอง และได้ทำงานที่เหมาะสมกับคุณสมบัติและทักษะของตัวเองจริงๆ CareerVisa Thailand จึงเห็นว่าการจะตอบโจทย์นี้ได้ต้องอาศัยระบบการฝึกงานที่มีคุณภาพ และการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านอาชีพแก่เยาวชนไทยก่อนที่พวกเขาจะได้ทำงานจริง ต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำความรู้จักกับอาชีพที่ตนเองสนใจก่อนตัดสินใจเลือกคณะหรือสาขาที่จะเรียน เมื่อเรียนจบและทำงาน จะได้มีความสุขกับชีวิตการทำงาน

CareerVisa Thailand ได้จัดหลักสูตรพัฒนาความเป็นมืออาชีพนอกห้องเรียนขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้เตรียมตัวตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะมีผู้เชี่ยวชาญตัวจริงมาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงาน ทั้งการเตรียมความพร้อมในการสัมภาษณ์งาน การพัฒนาบุคลิกภาพ การพัฒนาทักษะการสื่อสาร ฝึกทักษะการเป็นผู้นำ โดยบางครั้งจะมีตัวแทนจากนายจ้างมาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็น เพื่อให้น้องๆ นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่หรือกำลังจะจบการศึกษาได้รับทราบข้อมูลและประสบการณ์เชิงลึกที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เมื่อต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทในองค์กรทั่วไป หรือเป็น Startup สร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง พวกเขาก็จะสามารถรับมือและปรับตัวเข้ากับโลกแห่งการทำงานได้เป็นอย่างดี

สำหรับกิจกรรมเด่นๆ ที่เคยจัดมาแล้วของ CareerVisa Thailand ได้แก่ “Passion Decode ถอดรหัสลับ อาชีพที่ใช่” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่น้องๆ จะได้ฟังประสบการณ์ตรงจากพี่ๆ ที่มาจากหลากหลายอาชีพ เช่น สาขาการเงิน การตลาด หรือ แม้แต่อาชีพผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ มากขึ้นก่อนตัดสินใจทำงาน “Career Design” ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาที่เพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ประเมินตัวเอง กำหนดเป้าหมายในอนาคตและวางแผนอาชีพตั้งแต่เนิ่นๆ หรือ Career Ready Bootcamp” กิจกรรม 1 วันเต็มสุดเข้มข้นที่เปรียบเสมือนค่ายฝึกความพร้อมก่อนเข้าสู่การทำงานจริงสำหรับคนที่ต้องการเตรียมตัวเป็นคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีทั้งทักษะความสามารถและความเป็นมืออาชีพ

social giver social enterprise การทำงาน กิจการเพื่อสังคม
 

Social giver social enterprise การทำงาน กิจการเพื่อสังคม

Social Giver ผู้นำเสนอสินค้าและบริการที่จะทำให้คุณได้ช่วยเหลือสังคมในทุกครั้งที่จับจ่าย
Social Giver คือแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จะเปลี่ยนการช้อปปิ้งรูปแบบเดิม ๆ ให้กลายเป็นการส่งมอบสิ่งดีๆให้กับสังคม เพราะทุก ๆ ครั้งที่คุณควักกระเป๋าสตางค์ซื้อสินค้าและบริการจากแบรนด์ชั้นนำ เม็ดเงินเหล่านั้นจะแปรเปลี่ยนเป็นเงินบริจาคให้กับองค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือสังคมทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษาไทย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมอื่นๆ

โมเดลของ Social Giver เริ่มต้นมาจากความคิดที่อยากจะทำให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว อย่างโรงแรมหรือร้านอาหาร ได้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพราะธุรกิจจะต้องสูญเสียรายได้จากห้องพักที่ไม่มีแขก โต๊ะในร้านอาหารที่ไม่มีคนนั่ง  ถึง 1.6 พันล้านบาทในแต่ละวัน Social Giver จึงเห็นช่องทางและติดต่อกับธุรกิจเหล่านั้น เพื่อแบ่งปันแก่ผู้ใช้บริการในราคาพิเศษ เมื่อลูกค้าเสียเงินให้กับบริการดังกล่าว ทาง Social Giver จะหักเงินค่าดำเนินการ 30% ในขณะที่อีก 70% จะส่งไปสนับสนุนองค์กรเพื่อสังคมต่างๆ เรียกได้ว่า มีแต่ได้กับได้ ทั้งภาคธุรกิจที่ไม่ต้องสูญเสียโอกาสและทรัพยากรไปฟรี ๆ องค์กรการกุศลที่ได้รับเงินบริจาค และผู้ใช้บริการที่ได้ใช้งานสินค้าและบริการ แถมยังได้บุญไปพร้อมๆกัน   

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

ที่มา:

socialgiver.com
careervisathailand.com
localalike.com
somchartlee.com/localalike
prachachat.net
minimore.com
bangkokbiznews.com

 

tags : inspiration, social enterprise, social giver, careervisa thailand, local alike, ธุรกิจเพื่อสังคม, งาน, การทำงาน, กิจการเพื่อสังคม, แรงบันดาลใจ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม