เทคนิคพรีเซนต์ตัวเองให้เก่ง แล้วมาเป็นตัวเต็งในการสมัครงาน

08/07/24   |   38.8k   |  

 

  • การพรีเซนต์ตัวเองแบบ “STAR Technique”จะทำให้เราสามารถเรียบเรียงคำพูดหรือลงรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดีกว่าเดิม โดยการแยกรายละเอียดออกมาเป็น 4 ส่วนก็คือ สถานการณ์ (Situation) หน้าที่ (Task) การลงมือทำ (Action) และผลลัพธ์ (Result)

  • การพรีเซนต์ตัวเองแบบ “Google Resume Technique” จะทำให้ผู้อ่านเรซูเม่หรือผู้สัมภาษณ์มองเห็นภาพกว้างว่าความสำเร็จที่เราได้มาคืออะไร (Accomplish [x]) วัดจากอะไร (as measured by [y]) ผ่านการทำอะไร (by doing [z])

  • ความสำเร็จในการทำงานอาจมาในหลายรูปแบบ เพราะแต่ละตำแหน่งก็จะมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต่างกัน จึงไม่สามารถนำตัวแปรเดียวมาใช้ในการวัดได้ เราก็ต้องเลือกว่าจะใช้ความสำเร็จจากโปรเจกต์ไหนมาพรีเซนต์ตัวเอง เพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับตำแหน่งงานที่เราต้องการมากที่สุด

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

การพรีเซนต์ตัวเอง อีกหนึ่งเรื่องที่คนทำงานและคนหางานหลายคนทำได้ไม่เก่งนัก เพราะเรามักจะรู้สึกเขินอายเวลาที่ต้องพูดถึงความสามารถ ผลงาน หรือความสำเร็จของตัวเอง ซึ่งความเขินอายที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังเขียนเรซูเม่ ก็อาจทำให้เราไม่สามารถเขียนศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ทำให้เรซูเม่ไม่น่าสนใจ และพลาดโอกาสในการถูกเรียกสัมภาษณ์งาน และการพรีเซนต์ตัวเองให้โดดเด่นก็ยังไม่จบอยู่แค่การเขียนเรซูเม่เท่านั้น แต่เรายังต้องพรีเซนต์ตัวเองผ่านการสัมภาษณ์งานเพื่อทำให้ตัวเองเป็นผู้สมัครที่เข้าตา HR ด้วย

 

ใครที่ไม่อยากให้ความประหม่าและความเขินอายในการพรีเซนต์ตัวเองกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการหางาน JobThai ก็อยากมาแนะนำ 2 เทคนิคในการพรีเซนต์ตัวเอง ที่สามารถใช้ได้ในหลายสถานการณ์และหลายโอกาส

 

นักศึกษาจบใหม่หางานยังไงดี ในช่วงที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจาก COVID-19

 

การพรีเซนต์ตัวเองแบบ “STAR Technique”

คนทำงานส่วนมากเวลาประหม่าก็มักจะพูดวนไปวนมา หรือพูดติด ๆ ขัด ๆ นอกจากนี้เมื่อต้องเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานของตัวเองทั้งในเรซูเม่ หรือระหว่างสัมภาษณ์ ก็มักจะพูดถึงแต่หน้าที่และสิ่งที่ลงมือทำ แต่ไม่ได้เล่าถึงรายละเอียดว่าทำไมถึงต้องทำหรือผลลัพธ์คืออะไร ซึ่งการพรีเซนต์ตัวเองแบบ “STAR Technique” จะทำให้เราสามารถเรียบเรียงคำพูดหรือลงรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดีกว่าเดิม โดยเทคนิค STAR นี้ย่อมาจาก

  • (S) Situation:

สถานการณ์ที่เราหรือองค์กรกำลังเผชิญอยู่ตอนนั้นคืออะไรและทำไมถึงต้องมาทำสิ่งนี้ ซึ่งคำตอบในตัวย่อนี้จะแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์และอุปสรรคที่เราเคยเผชิญมา โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งเรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ อย่างอัตราการเข้าชมเว็บไซต์ลดลง เว็บไซต์ช้าลงกว่าเดิม หรือได้รับโปรเจกต์ใหม่มาจากหัวหน้าทีม

  • (T) Task:

หน้าที่ประจำตำแหน่งหรือความรับผิดชอบที่ได้รับ ตรงนี้เราสามารถเล่ารายละเอียดของหน้าที่ที่เราเคยทำมา อย่างเป็นนักการตลาดที่มีหน้าที่หาช่องทางโปรโมตสินค้าตามแฟลตฟอร์ม นักพัฒนาที่คอยศึกษาเครื่องมือใหม่ ๆ มาพัฒนาเว็บไซต์

  • (A) Action:

สิ่งที่เราลงมือทำด้วยตัวเอง เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เราเพิ่งยกตัวอย่างไปเรารับมือด้วยวิธีอะไร ซึ่งหน้าที่หรือสิ่งที่เราได้รับมอบหมาย (Task) อาจไม่ใช่สิ่งที่เราลงมือทำ (Action) เสมอไป เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ เราอาจลงมือทำมากกว่าที่เราได้รับมอบหมายมาก็ได้

  • (R) Result:

ผลลัพธ์ที่ได้จากสิ่งที่เราเล่ามาทั้งหมดคืออะไร หัวข้อสุดท้ายนี้จะเป็นบทสรุปเรื่องราวทั้งหมดที่เราเล่ามา และเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราทำงานนี้ไปเพื่ออะไร สิ่งที่เราทำประสบความสำเร็จขนาดไหน แล้วจะสร้างคุณค่าให้กับองค์กรในอนาคตได้ยังไง ซึ่งผลลัพธ์อาจวัดได้จากหลายตัวแปร และแตกต่างกันไปตามรูปแบบหรือประเภทงาน เช่น มีจำนวนคนเข้าชมเว็บไซต์มากขึ้น สร้างรายได้ให้บริษัทมากขึ้น ไปจนถึงความเร็วของระยะเวลาในการทำโปรเจกต์ที่เสร็จเร็วขึ้นก็เป็นผลลัพธ์เช่นกัน นอกจากนี้การเล่าไปถึงสิ่งที่เราเรียนรู้จากสถานการณ์ครั้งนี้ก็จะทำให้ HR มีความเข้าใจเราได้ดีมากขึ้น 

การพรีเซนต์ตัวเองแบบ “Google Resume Technique”

วิธีการพรีเซนต์ตัวเองวิธีนี้เป็นแนวทางการเขียนเรซูเม่ที่ HR จาก Google แนะนำ โดยเป็นเทคนิคที่เริ่มต้นการพรีเซนต์จากผลลัพธ์ของความสำเร็จก่อนแล้วค่อยย้อนกลับไปที่วิธีทำ ซึ่งข้อดีจากการใช้เทคนิคนี้คือจะทำให้ผู้อ่านเรซูเม่หรือผู้สัมภาษณ์มองเห็นภาพกว้างว่าความสำเร็จที่เราได้มาคืออะไร โดยเทคนิคนี้มี 3 ขั้นตอนที่เราต้องพรีเซนต์

  • Accomplish [x]

ความสำเร็จหรือผลลัพธ์ที่เราได้รับมาคืออะไร การเริ่มต้นด้วยการพูดถึงความสำเร็จก่อน จะทำให้เราสามารถอธิบายในเรซูเม่หรือระหว่างการสัมภาษณ์ให้เห็นภาพรวมของความสำเร็จได้มากขึ้น และแสดงให้เห็นว่าทำไมถึงต้องเลือกเรา

  • as measured by [y]

ความสำเร็จนี้วัดจากอะไร เพราะความสำเร็จสามารถวัดได้หลายรูปแบบ ซึ่งเคล็ดลับอีกอย่างนึงที่ Google แนะนำคือการใส่ตัวเลขลงไปด้วย เพราะจะทำให้เห็นว่าเราต้องแข่งขันหรือเจอกับอุปสรรคที่ยากแค่ไหนอยู่ อย่างสถิติจากไตรมาสที่ผ่านมา เพราะการอธิบายแบบนี้จะทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเรา

  • by doing [z]

เราต้องทำอะไรบ้างถึงประสบความสำเร็จครั้งนี้ได้ ตรงนี้เราต้องอธิบายให้เห็นรายละเอียดและขั้นตอนการทำงาน ว่ากว่าที่เราจะประสบความสำเร็จเราต้องลงมือทำตรงส่วนไหน โดยวิธีอะไร 

 

สุดท้ายความสำเร็จในการทำงานอาจมาในหลายรูปแบบ เพราะแต่ละตำแหน่งก็จะมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต่างกัน จึงไม่สามารถนำตัวแปรเดียวมาใช้ในการวัดได้ อย่างความสำเร็จของโปรเจกต์ระดมทุน ก็อาจต้องวัดจากเงินที่ได้รับมาหรือสถานที่ที่เราเลือกไปทำโปรเจกต์นี้, Web Developer ที่วัดความสำเร็จจากจำนวนคนเข้าชมเว็บไซต์, PR Marketing วัดความสำเร็จการทำ Online Event จากจำนวนคนที่สนใจหรือเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งสุดท้ายเราก็ต้องเลือกว่าจะใช้ความสำเร็จจากโปรเจกต์ไหนมาพรีเซนต์ตัวเอง เพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับตำแหน่งงานที่เราต้องการมากที่สุด 

 

นอกจากนั้นเทคนิคการพรีเซนต์ตัวเองทั้งสองอย่างนี้ก็สามารถนำมาใช้กับการประเมินปลายปีได้เช่นกัน โดยการเล่าถึงผลงานและความสำเร็จที่เราได้ทำมา ซึ่งหากเราสามารถสื่อสารออกมาได้ดี ก็อาจจะทำให้เราได้ขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนขั้นอีกด้วย

เด็กจบใหม่เลือกงานยังไงให้อยู่ได้นาน

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสในการได้งานที่ใช่ แม้ไม่ได้ส่งใบสมัคร

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

Source:

ThaioilGroup

krittin.in.th

brandinside

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, เทคนิคคนทำงาน, สัมภาษณ์งาน, เทคนิคการสัมภาษณ์, พรีเซนต์ตัวเอง, เทคนิคการพรีเซนต์, star technique, google resume technique, สัมภาษณ์



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม