ในสังคมการทำงาน คำว่า Work Smart กับ Work Hard น่าจะเป็นคำที่ทุกคนเคยได้ยินกันมาบ้าง แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจจริง ๆ ว่าแนวทางการทำงานทั้งสองรูปแบบนั้นแตกต่างกันอย่างไร และแบบไหนควรนำมาปรับใช้กับการทำงานของตัวเอง วันนี้ JobThai เลยจะพาทุกคนไปเจาะลึกถึงรูปแบบการทำงานทั้งสองแบบ พร้อมแนะนำ 5 วิธีทำงานแบบ Work Smart ที่จะช่วยให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น
การทำงานหนักหรือ Work Hard และการทำงานอย่างชาญฉลาดหรือ Work Smart มีแนวคิดและวิธีการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยแต่ละแบบก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และคุณภาพชีวิตของผู้ทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ สำหรับใครที่ยังนึกภาพไม่ออก เราจะพามาดูตัวอย่างกันว่าการทำงานทั้งสองแบบนี้ต่างกันอย่างไร
ตัวอย่างการทำงานแบบ Work Hard
- ทำงานเป็นเวลานาน มักมาทำงานแต่เช้า และกลับดึกเป็นประจำ
- รับงานทุกอย่างโดยไม่เกี่ยงงอน แม้จะเกินความสามารถหรือเวลาที่มี
- พยายามทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่กระจายงาน หรือขอความช่วยเหลือ
- ทุ่มเทความพยายามกับงานมากจนอาจใช้เวลานานเกินไปโดยไม่จำเป็น
- ทำงานแบบไม่มีการวางแผน หรือจัดลำดับความสำคัญ
- มักเสียสละเวลาส่วนตัว และชีวิตครอบครัวเพื่อการทำงานจนเกิดอาการ Burn Out
ตัวอย่างการทำงานแบบ Work Smart
- วางแผนและจัดลำดับความสำคัญของงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้เทคโนโลยี และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น
- รู้จักกระจายงานออก และให้ความสำคัญของการทำงานเป็นทีม
- โฟกัสกับงานที่สำคัญ และสร้างผลกระทบสูงให้เสร็จลุล่วงไปก่อน
- หาวิธีการหรือเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่ ๆ ให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- รักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวได้อย่างลงตัว
การทำงานแบบ Work Hard
ข้อดี
- แสดงถึงความทุ่มเทและความมุ่งมั่นในการทำงาน
- อาจได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายจากการทำงาน
ข้อเสีย
- เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout)
- ขาดประสิทธิภาพในการทำงานเนื่องจากไม่มีการวางแผนหรือจัดลำดับความสำคัญ
- อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและชีวิตส่วนตัว
- อาจทำให้คุณภาพงานลดลงเนื่องจากทำงานหนักเกินไป
- ขาดการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
การทำงานแบบ Work Smart
ข้อดี
- เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการวางแผนและจัดลำดับความสำคัญ
- ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
- พัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมและการกระจายงาน
- มุ่งเน้นงานที่สำคัญและสร้างผลกระทบสูง
- มีการพัฒนาทักษะและวิธีการทำงานอย่างต่อเนื่อง
- สามารถรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว
ข้อเสีย
- อาจถูกมองว่าไม่ทุ่มเทเท่ากับการทำงานแบบ Work Hard
- ต้องใช้เวลาเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จึงอาจไม่เหมาะกับทุกคน
เมื่อเปรียบเทียบการทำงานทั้งสองรูปแบบแล้ว จะเห็นได้ว่าการทำงานแบบ Work Smart นั้นส่งผลดีกว่าในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากการทำงานแบบ Work Smart ไม่ได้หมายถึงการทำงานน้อยลง แต่เป็นการทำงานอย่างชาญฉลาดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในเวลาที่มี ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และคุณภาพชีวิตของเราไปพร้อม ๆ กัน และทั้ง 5 วิธีนี้ คือการทำงานแบบ Work Smart ที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กันได้
1. จัดลำดับความสำคัญของงาน
สิ่งแรกที่ควรทำก่อนเริ่มต้นวันทำงาน คือการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละงาน ด้วยการลองแบ่งงานออกเป็นกลุ่มตามความสำคัญ เช่น งานนี้มีกำหนดส่งแบบเร่งด่วน ก็อาจจะเลือกทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จก่อนลำดับแรก ส่วนงานที่ไม่ได้รีบมาก หรือยังพอมีระยะเวลาให้จัดการอยู่ ก็ย้ายไปทำในวันถัด ๆ ไปแทน
2. กำหนดกรอบเวลาทำงานให้ชัดเจน
การมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการทำงานจะช่วยให้เราสามารถเคลียร์งานได้ไวขึ้น เช่น งานชิ้นนี้ควรทำเสร็จภายใน 1-2 ชั่วโมง ก็ตั้งเวลาในการจบงานนั้นให้กับตัวเองไปเลย เพื่อสร้างเป้าหมายให้ตัวเองมีสมาธิกับงาน และทำให้เสร็จลุล่วงตามกำหนด ต่างจากการกำหนดเพียงคร่าว ๆ ว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง แต่ไม่วางกรอบเวลาต่อชิ้นงานให้ชัดเจน
3. ปรับวิธีการทำงานให้เข้ากับสไตล์ของตัวเอง
หากอยากทำงานแบบ Work Smart ลองสังเกตดูว่าเรามีสไตล์การทำงานเป็นแบบไหนแล้วลองปรับใช้กับการทำงานดู เช่น เราถนัดทำงานที่ใช้ความคิดในช่วงบ่าย ก็อาจใช้เวลาในช่วงเช้าจัดการงานอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดมากไปก่อน แล้วค่อยลงมือทำงานที่ต้องใช้สมองทีหลัง วิธีนี้จะช่วยให้เราเคลียร์งานได้เร็วขึ้น
4. แบ่งเวลาพักระหว่างทำงานบ้าง
ความเครียดคือศัตรูในการทำงาน เพราะฉะนั้นไม่ว่างานเราจะหนักหรือเยอะแค่ไหนก็ตาม ต้องไม่ลืมที่จะแบ่งเวลาพักให้กับตัวเองบ้าง โดยเราอาจหาเวลาพักเบรก 5-10 นาทีหลังจากทำงานทุก ๆ 2 ชั่วโมงก็ยังดี เพื่อให้สายตาได้ละจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือกองงานที่วางอยู่ตรงหน้าบ้าง ซึ่งในช่วงที่พัก เราก็อาจจะออกไปหาน้ำดื่มหรือล้างหน้าล้างตาสักหน่อย เพื่อกระตุ้นสมอง และร่างกายให้กลับมาพร้อมทำงานอีกครั้ง
5. โฟกัสกับงานเป็นอย่าง ๆ
หลายคนน่าจะรู้กันดีว่า ปัญหาในการทำงานนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งงานไหนก็ตาม บางครั้งก็มีปัญหาเข้ามาให้แก้ในขณะที่เรากำลังทำงานอื่นอยู่ จนสุดท้ายกลายเป็นทำไม่เสร็จสักงานเพราะมัวแต่แก้ไปแก้มา วิธีที่ถูกต้องคือการทำงานให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป เช่น หากเรากำลังทำงานชิ้นหนึ่งอยู่แล้วมีงานแทรกเข้ามา ก็ลองพิจารณาก่อนว่างานแทรกชิ้นนั้นเป็นงานเร่งด่วนหรือเปล่า ถ้าไม่ได้เร่งมาก สามารถรอได้ เราก็ควรทำงานชิ้นเดิมให้เสร็จก่อน แล้วค่อยโฟกัสงานใหม่ เพราะการสลับชิ้นงานไปมาอาจทำให้เราทำงานไม่เสร็จสักงานได้
ทั้ง 5 วิธีที่กล่าวมาคือแนวทางในการทำงานแบบ Work Smart ที่ทุกคนสามารถเอาไปปรับใช้กันได้หากอยากทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เสียเวลาส่วนตัวมากเกินไปจากการเลิกงานดึก เพราะต้องไม่ลืมว่าสุขภาพก็มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องงาน
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน