JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่
|
|
ผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและรายใหญ่เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ว่าจะจากการที่ต้องปิดธุรกิจชั่วคราว การต้องปรับเลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจการเพื่อให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ในช่วงนี้ รวมถึงจากการที่ประชาชนทั่วไปลดการออกจากบ้านเพื่อจับจ่ายใช้สอย จนทำให้สภาพคล่องในการดำเนินกิจการนั้นลดลง
ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือฝั่งผู้ประกอบการในการลดภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้ยังดำเนินกิจการต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน สินเชื่อ ภาษี และอื่น ๆ
สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงิน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี
- วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท
- คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี
- ระยะเวลา 2 ปี
พักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้
พักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) มีมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้และเงื่อนไขการรับประกันในด้านต่าง ๆ เช่น การพักชำระหนี้เงินต้น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และการผ่อนคลายเงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน นอกจากนี้ SFIs บางแห่งยังมีมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงมีโครงการ Refinance หนี้บัตรเครดิตในอัตราดอกเบี้ยต่ำลง
มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อให้สถาบันการเงินและบริษัทลูกในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่ให้สินเชื่อที่มิใช่สถาบันการเงิน เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในเชิงรุกอย่างทันเหตุการณ์ เช่น ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อปกติ เพิ่มความยืดหยุ่นในการอนุมัติเงินกู้ เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจหรือดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปได้
มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม
สำนักงานประกันสังคมจะร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้แก่สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ยังคงสามารถจ้างลูกจ้างต่อไปได้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของไวรัส COVID-19
เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจของ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่ เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท สามารถรับคำขอสินเชื่อถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2563
- วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท
- คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก
- ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี
สำหรับมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภายใต้มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัส COVID -19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 นั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้นำหลักในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว เพื่อประคองให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดในภาวะเช่นนี้
มาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ
โดยลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากอัตราร้อยละ 3 เหลืออัตราร้อยละ 1.5 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 และลดเหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามข้อกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ที่จ่ายผ่านระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax)
มาตรการภาษีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่เข้าร่วมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และมีการจัดทำบัญชีเดียว สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
ให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างของเดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ให้แก่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยต้องคงการจ้างงานในช่วงดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่าจำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ณ วันสุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562
มาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ
พิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่ดี กรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ทางอินเทอร์เน็ตจะได้รับคืนภายใน 15 วัน และกรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาจะได้รับคืนภายใน 45 วัน
มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล
เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้
- รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563
- รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 50 ประมาณ 120,000 ล้านบาท และจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท
มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี
เลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการนำส่ง และชำระภาษีทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่
- ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข
- ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เฉพาะที่มีเหตุอันสมควรให้เลื่อนเวลาออกไป โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณา เป็นรายกรณี เพื่อเป็นการลดภาระในการจัดทำเอกสารและการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและ ผลิตภัณฑ์น้ำมัน
เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้เสียภาษีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาด ไวรัส COVID กรมสรรพสามิตให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ดำเนินการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)
มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้ประกอบกิจการสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากการให้ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นการชั่วคราว กรมสรรพสามิตขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการ ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา และสถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด ตลอดจนกิจการเสี่ยงโชคประเภทสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ ให้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563
มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
โดยยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มากขึ้น
มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
- ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้
- ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
- ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ที่จำนองเป็นประกันหนี้ของเจ้าหนี้ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยลูกหนี้ต้องนำเงินนั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระหรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกันหนี้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดี
- ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ
- ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุง โครงสร้างหนี้ตามกรณีที่กำหนด ซึ่งกรมที่ดินจะดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว ร้อยละ 0.01 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
มาตรการบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ
รัฐวิสาหกิจ กระทรวงเจ้าสังกัดที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานกำกับ (Regulator) บรรเทาภาระโดยพิจารณาถึงแนวทางการลดและเลื่อนการชำระค่าน้ำและค่าไฟ หรือแนวทางที่เหมาะสม เช่น คืนค่าประกันการใช้ไฟบางส่วน ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19
มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง
ลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2533 จากอัตราร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 0.1 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเงินสมทบของรัฐบาลให้คงอัตราเดิมที่ร้อยละ 2.75 ของค่าจ้าง พร้อมทั้งปรับลดจำนวนเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และรัฐจ่ายเงินสมทบในจำนวนเท่าเดิม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตนในการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในช่วงที่ภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจลดหรือชะลอหรือเลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่าราชพัสดุ ค่าตอบแทนในการให้บริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19
สำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ดูมาตรการดูแลและเยียวยาได้ ที่นี่
|
|
JobThai เปิด Official Group แล้ว
ถ้ากำลังหางาน หาคน หรืออยากพูดคุยทุกเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน มา Join กับเราเลย