Oh My Job! Podcast EP.4: งานสาย Event ยังมีโอกาสโตไหม ต้องปรับตัวยังไงในยุคโควิด

21/12/20   |   7.5k   |  

 

 

 

 

ถ้าพูดถึงธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากในช่วง COVID-19 ธุรกิจอีเวนต์คงจะเป็นหนึ่งธุรกิจที่หลายคนนึกถึง เพราะอีเวนต์ต่าง ๆ ถูกระงับและเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนด จากการ Lockdown และมาตรการ Social Distancing ซึ่ง Oh My Job! Podcast EP.4 ได้ไปพูดคุยกับคุณบาส เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ CEO ของ Zaap Party Co., Ltd. ผู้ที่เห็นโอกาสทางธุรกิจในช่วงวิกฤติแบบนี้ ว่าเขาต้องเจอกับสถานการณ์อะไรบ้าง มีการปรับตัวยังไง พร้อมทั้งคำแนะนำสำหรับคนที่อยากทำงานสายอีเวนต์

 

COVID-19 ส่งผลกระทบกับ Zaap Party ทั้งเรื่องรายได้และการปรับโครงสร้างองค์กร

COVID-19 ส่งผลกระทบกับทาง Zaap Party ทั้งในเรื่องรายได้ที่ลดลงค่อนข้างมาก จึงต้องมีการลดรายจ่าย และปรับโครงสร้างองค์กร โดยแบ่งออกเป็น 2 ทีม คือ ทีมระยะสั้น คือทีมที่ทำงานอะไรได้ในช่วงนี้ก็ทำเลย เป็นทีมที่ต้องคิดงานได้เร็ว ทำงานได้เร็ว สร้างงานได้เร็ว และ ทีมระยะยาว สำหรับงานใหญ่ ๆ ที่จะกลับมา แต่ต้องเริ่มดำเนินการต่าง ๆ ตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่วันหนึ่งสามารถกลับมาจัดงานได้งานก็จะได้เดินหน้าต่อแบบไม่เสียเวลา ซึ่งมันทำให้ Zaap Party ยังได้งานทั้งปัจจุบันและอนาคต

 

นอกจากนั้นรูปแบบงานที่ทำก็หลากหลายขึ้น ขยายตลาดของผู้ว่าจ้าง จากเดิมที่เน้นคอนเสิร์ต ปาร์ตี้ Music Festival ตอนนี้ก็หลากหลายมากขึ้น ทำงานอื่นที่ใช้สกิลเดิมไปทำงานได้ อะไรที่เป็นไลฟ์สไตล์ที่คนสนใจก็เอามาเป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องคิดงาน

 

Zapp Party ยืนหยัดโฟกัสที่ Offline Event เพราะเชื่อว่าการทำสิ่งที่ถนัดนั้นดีกว่า

หลายบริษัทหันไปทำ Online Event กัน แต่ Zapp Party ค่อนข้างที่จะแตกต่างจากคนอื่น คุณบาสเชื่อว่าการทำในสิ่งที่เราถนัดนั้นดีกว่า เคยลองทำ Online Event เหมือนกันแต่ด้วยพฤติกรรมของคนและธุรกิจ Entertainment สุดท้ายแล้ว Offline Event ก็ยังดีกว่า เลยกลับมาโฟกัสที่ Offline Event ทุกคนที่เปลี่ยนตัวเองในช่วง COVID-19 ก็อาจจะตกม้าตายตรงนี้ได้ บางคนอาจเจอเซอร์ไพร์สดี ๆ แต่มันเสี่ยงไป และสิ่งที่จะเสียมากที่สุดคือการเสียเวลา คุณบาสก็เลยเลือกที่จะทำ Offline Event ให้มันดีที่สุด และมันอาจจะเป็นตัวกระเพื่อมให้กับวงการ Event Organizer ได้ เพราะถ้าคนหนีไปทำออนไลน์หมดออฟไลน์จะไม่มีใครทำ Zaap Party ก็เลยเสี่ยงลองทำไปก่อน ซึ่งผลตอบรับก็ออกมาดี

 

โดย Zaap Party สร้างงานทุกอย่างเป็นแบบ Social Distancing ช่วงแรก ๆ จึงเกิดงานที่เป็น Social Distancing ขึ้น เช่น Tuk Tuk Festival, Hotel Fest, Social This Camping ซึ่ง 3 งานนี้ก็เกิดจากการที่เอา Social Distancing ตั้งแล้วสร้างงานตามข้อกำหนดต่าง ๆ ทำการบ้านอย่างหนักเพื่อตอบโจทย์ทุก ๆ ฝ่าย รวมถึงความปลอดภัยของผู้ที่มาใช้บริการ โดยมีกรมอนามัยเขามาตรวจด้วย ซึ่งทาง Zaap Party ก็ต้องทำให้ได้คะแนนประเมินที่ดีเพื่อที่จะได้เดินหน้าต่อได้

 

การดูแลพนักงานของ Zaap Party เน้นที่การให้โอกาส และสนับสนุนให้ทำในสิ่งที่ชอบ

การดูแลพนักงานของ Zaap Party นั้นอาจจะไม่ได้มีการให้สวัสดิการที่เป็นตัวเงินมากมาย แต่เน้นไปที่การให้โอกาสพนักงานมากกว่า เมื่อก่อนจะพาทีมไปดูงานเมืองนอก เน้นเรื่องการสัมผัสประสบการณ์จริงและได้เรียนรู้ ได้ดูงานจริง ๆ นอกจากนั้นคุณบาสก็พยายามที่จะหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้พนักงาน ใครอยากทำอะไร หรืออยากเปิดบริษัทก็จะช่วยเพื่อให้พนักงานมีโอกาสในอนาคตไม่ใช่แค่รับเงินเดือนจากที่นี่อย่างเดียว เช่น ใครอยากออกร้านอาหาร ก็ให้มาเปิดบูธอาหารในอีเวนต์ที่จัด

 

นอกจากนั้นก็พยายามที่จะให้พนักงานได้ทำในสิ่งที่เขาถนัดหรือชอบ เช่น Zaap Party เคยต้องจัดงานหมอลำ ก็เอายามของออฟฟิศมาเป็น Head Project เพราะไม่มีใครฟังหมอลำ และคิดว่าคนที่น่าจะฟังก็คือเขา เมื่อไปถามเขาสามารถตอบได้หมดเลย พอเห็นโอกาสก็จับแมทช์ได้เลย

 

Zaap Party จะถามพนักงานของบริษัทสองคำถามเสมอก็คือ อยากทำงานตำแหน่งอะไร และ อยากทำอะไร อันแรกจะเป็น Work by Duty ทำงานตามหน้าที่เท่านั้น ใครก็ทำได้ แต่ Zaap Party อยากให้ Work by Passion ด้วย ทีมงานทุกคนจะได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ บางคนเดินมาบอกว่าอยากทำงานเกม ก็ให้ไปทำงานเกม บางคนอยู่ Zaap on Sale อยากมาดูแลศิลปิน ก็ได้ มันคือโอกาส และคุณบาสมองว่าถ้าไม่เห็นโอกาสก็ไม่สนุก ทำงานแค่เอาเงินเดือน ถ้า Work by Duty อย่างเดียวคนก็จะทำงานแค่พอผ่าน แต่ถ้า Work by Passion ด้วยก็จะส่งผลให้งานแรกออกมาดีด้วยเหมือนกัน

 

อีเวนต์ของ Zaap Party เกิดขึ้นได้จากหลัก 3C คือ Creativity, Collaboration และ Consumer Insights

Zaap Party มีอีเวนต์ที่น่าสนใจและประสบความสำเร็จหลายงาน ซึ่งคุณบาสก็ได้แชร์ว่าเขามีหลักการ 3C ในการสร้างงาน

  1. Creativity: เมื่อก่อนมักจะคิดอะไรใหม่ ๆ ที่คนไม่เคยทำ ก็เปลี่ยนใหม่ Creativity ยุค COVID-19 คือการเอาสิ่งที่เคยทำแล้วทั่วโลกมาประยุกต์ เช่น Drive In หรือ Camping

  2. Collaboration: เราต้องทำงานที่มีการร่วมมือกับคนอื่น ๆ เช่น Hotel Fest ไม่มีเงินจ้างศิลปิน เราไปร่วมมือกับค่าย Muzik Move ซึ่งเขาอยากทำ จากนั้นพอติดต่อโรงแรมปรากฏว่าไม่มีใครให้จัดเลย เลยไปขอพรีเซนต์กับเพจ Sneak out หนีเที่ยว ที่เป็น Influencer สายท่องเที่ยว พอเขาตกลงก็กลายเป็นเขาไปดีลกับโรงแรมได้ เลยได้จัดงานนี้

  3. Consumer Insights: คือเราต้องคิดว่าผู้บริโภคในยุคนี้อยากทำอะไร เราต้องซัพพอร์ตเขาให้ได้

นอกจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ Zaap Party ต้องเจอ และรูปแบบการทำงานและการดูแลพนักงานของเขาแล้ว คุณบาสก็ยังได้แชร์มุมมองและคำแนะนำดี ๆ สำหรับคนที่สนใจงานสายอีเวนต์ด้วย

 

Virtual Event ทำให้เข้าถึงคนได้ทั่วโลก แต่ Offline Event ทำให้เสน่ห์ของงานอีเวนต์ยังคงอยู่

เมื่อถามถึงเรื่องข้อดีข้อเสียระหว่าง Virtual Event กับ Offline Event คุณบาสมองว่า Virtual Event นั้นคนเข้าถึงได้ทั่วโลก ศิลปินอาจจะมีแฟนคลับทั่วประเทศหรือทั่วโลก แฟนคลับก็ไม่ต้องเดินทาง รวมถึงการดีไซน์หลาย ๆ อย่างที่ในออนไลน์ทำได้ แต่ชีวิตจริงทำไม่ได้ก็มีเยอะ เช่น กราฟิก Visual ต่าง ๆ หรือการดีไซน์เวที แต่สิ่งที่หายไปก็คือเสน่ห์ของอีเวนต์ เพราะพื้นฐานธุรกิจอีเวนต์คือออฟไลน์ การทำแบบออนไลน์ทำให้ไม่ได้เจอกัน ไม่ได้เจอผู้คน คนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งมันเป็นโจทย์ใหญ่ คุณบาสคิดว่าการจัดแบบออฟไลน์ ถึงคนจะน้อยลง แต่ก็สามารถจัดงานได้ มันแค่ลดสเกลลง แต่ข้อดีของ Offline Event ก็ยังมีอยู่ดี ยิ่งคนอัดอั้นจากการไม่ได้ออกจากบ้าน ไปเที่ยว อยู่แต่ในออนไลน์ที่เหมือนดูหน้าจอทีวีหรือจอคอมพิวเตอร์ พอมีโอกาสคนก็อยากออกมา

 

การจัดอีเวนต์ในรูปแบบเดิมก่อน COVID-19 ยังคงเป็นไปได้ยาก

สำหรับการจัดอีเวนต์รูปแบบเดิมเหมือนปกติก่อนจะเกิด COVID-19 นั้นคุณบาสบอกว่าคงยาก และเชื่อว่า New Normal จะอยู่กับเราไปอีกนาน ตอนนี้ทุกคนปรับหมด ไม่ว่าจะเป็นสเกลงาน จากงานปกติจัดได้เป็นหมื่นอาจจะเหลือหลักพัน ลดเรื่องจำนวนเงินลงทุน การทำทุกอย่างต้องมีการรับผิดชอบต่อผู้ชม มีหลักการตรวจวัดอุณหภูมิ มีหลาย ๆ ขั้นตอน ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมแน่ ๆ ตอนนี้ Event Organizer หรือ Event Promoter หลาย ๆ เจ้าเริ่มปรับตัวได้แล้ว ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ดี มีทิศทางที่ทำให้ใจชื้นมากขึ้น แต่ก็ยังประมาทไม่ได้

 

โอกาสในการทำงานสายอีเวนต์ยังมีอยู่ แต่ต้องมีการปรับตัว และทุกคนต้องทำมากกว่าเดิม

โอกาสในการทำงานสายนี้มันมีอยู่แล้ว แต่ว่าในปัจจุบันอาจจะต้องมีการปรับตัว เช่น จากพนักงานประจำอาจจะเปลี่ยนเป็นฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ไม่มีพนักงานประจำเลย และคนที่เปลี่ยนถ่ายกันอยู่ในวงการอีเวนต์ก็มาจากช่วง COVID-19 ช่วงนี้ก็คือโอกาสของบริษัทอื่น ๆ ที่จะได้คนดี ๆ เหมือนกัน และสุดท้ายแล้วถ้ามันกลับมาปกติบริษัทต่าง ๆ ก็ต้องหาพนักงานประจำอยู่ดี

 

คนที่อยากทำงานในวงการนี้ต้องวิ่งหาโอกาสด้วยตัวเอง เช่น ติดต่อเข้าไปเสนอตัวลองทำก่อน ต้อง Give before Take ทุกคนต้องให้คนอื่นก่อนถึงจะได้ ในยุคนี้ที่ Zaap Party รอดได้ก็เพราะคิดถึงคนอื่นก่อน คิดถึงผู้ประกอบการโรงแรม คิดถึงตุ๊กตุ๊ก Zaap Party ถึงสร้างงานได้ หลาย ๆ องค์กรที่ยังอยู่ได้ในปัจจุบัน เขาก็ต้องการคนที่เข้ามาเพื่อช่วยเขา

 

วันนี้ทุกคนต้องทำมากกว่าเดิม ไม่มีทางทำเหมือนเดิมหรือน้อยลงกว่าเดิมได้แน่ ๆ ถ้าเราอยากทำงานไม่ว่าจะเป็นสายไหนก็ตามไม่เฉพาะอีเวนต์ เราต้องเตรียมล่วงหน้า แล้วเวลาที่โอกาสมันมาหาเราหรือเราไปหาโอกาสเจอพอดี เราจะได้ใช้มัน

 

คนทำงานสายอีเวนต์ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ แต่ต้องเป็นคนที่อัปเดต พร้อมเปลี่ยนแปลง เปิดกว้าง และรู้จักประยุกต์ใช้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว

คนที่จะทำงานสายนี้อาจไม่ต้องมีประสบการณ์ในการทำงานเสมอไป แต่ต้องมีความรู้รอบตัว อัปเดตตลอดเวลาและพร้อมเปลี่ยนแปลง การอัปเดตตลอดเวลามันทำให้เห็นว่าคนนั้นเขาสนใจโลกที่พัฒนาในปัจจุบัน ซึ่งสำคัญมาก ๆ กับคนทำงานในธุรกิจอีเวนต์ เพราะอีเวนต์มันแข่งขันกันสูง วันนี้เราไม่สามารถทำอีเวนต์เหมือนเดิมได้แล้ว การทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น งาน Tuk Tuk Fest ก็เกิดจากการเห็นอีเวนต์ Drive In ที่ต่างประเทศ เลยเอามาประยุกต์ใช้เป็นรถตุ๊กตุ๊ก หรือ Hotel Fest ก็เกิดจากการที่เห็นคนอิตาลีร้องเพลงกันอยู่ตามระเบียง เลยเอามาประยุกต์ใช้เป็นผู้ชมอยู่ตรงระเบียง ทุกอย่างมันเกิดจากการที่เราเห็นในโลกออนไลน์แล้วเอามาใช้ ทักษะการทำงานที่เป็นความรู้เฉพาะทางต่าง ๆ ใครก็สอนได้ แต่การที่เอาความรู้ประสบการณ์ที่มีหรือที่เห็นมาไปปรับใช้ได้ต่างหากที่สำคัญ อย่าเพียงแค่เสพสื่อ แต่ต้องเอาสื่อมาต่อยอดด้วย

 

นอกจากนั้นก็ต้องเป็นคนที่มี People Skill มีทักษะในการใช้ชีวิตกับคนอื่นในสังคม เพราะการทำงานอีเวนต์ต้องทำงานกับคน เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนไปที่ไหนก็มีแต่คนรัก เปิดกว้างรับฟังคนอื่น ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว เพราะใคร ๆ ก็ชอบการพูดคุยที่แชร์และรับฟังกัน ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่แค่คนทำงานสายอีเวนต์ แต่ทุกสายงานต้องมี

 

คนที่อยากทำงานสายอีเวนต์ต้องเตรียมรับมือกับความท้าทาย และรู้สิ่งที่ตัวเองอยากทำให้ลึกขึ้น

ความท้ายทายเป็นสิ่งที่คนทำงานสายอีเวนต์ต้องเจอแน่ ๆ ซึ่งต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี และต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าการเข้ามาวงการอีเวนต์จริง ๆ แล้วต้องการทำอะไร จะรู้แค่กว้าง ๆ ว่าอยากทำอีเวนต์ไม่ได้แล้ว ต้องคิดให้ลึกกว่าเดิม อยากทำอีเวนต์ด้านไหน อยากทำอะไรในอีเวนต์ สมมติอยากทำ Creative ก็ต้องตอบได้ว่าแบบไหน เช่น คอนเสิร์ต หรืองาน Exhibition เพราะทุกวันนี้การที่องค์กรจะจ้างพนักงานหนึ่งคนต้องแม่นมาก ๆ ว่าคนนั้นเชี่ยวชาญด้านไหน เราต้องทำให้บริษัทเห็นว่าเขาใช้ประโยชน์จากเราในด้านไหนได้

 

แม้อีเวนต์จะเป็นสายงานหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่น้อย แต่สำหรับใครที่อยากทำงานสายนี้ก็อย่าเพิ่งท้อ เพราะคุณบาสบอกเอาไว้แล้วว่ายังมีโอกาสอยู่เสมอ ลองเอาคำแนะนำจากคุณบาสไปปรับใช้ แล้วมองหาโอกาสของตัวเองกัน

 

Oh My Job! Podcast ออนไลน์ทุกวันอังคาร ติดตามได้ในช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

 

ติดตามบทความอื่น ๆ จากรายการ Oh My Job! Podcast ได้ที่นี่

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

 
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
Public group · 42,947 members
Join Group
 

 

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, oh my job, omj, podcast, งาน event, งานอีเวนต์, นักศึกษาจบใหม่, freshgrad, คนหางาน, oh my job!



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม