Oh My Job! Podcast EP.10 การจ้างงานในธุรกิจอสังหาฯ เป็นยังไง ในยุคโควิด จากศุภาลัย

09/02/21   |   5.9k   |  

 

 

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้น หลายธุรกิจก็ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและวิธีการจ้างงาน ซึ่งรายการ Oh my Job! Podcast ก็ได้พาทุกคนไปพูดคุยกับองค์กรในหลากหลายธุรกิจกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลเอเจนซี่ อีเวนต์ Food & Beverage หรือ Telecom แต่ในช่วงที่คนทำงานหลายคนต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) Episode 10 นี้เลยจะขอพามาพูดคุยถึงภาพรวมการจ้างงานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กันบ้าง

 

JobThai เลยนำเนื้อหาน่าสนใจจากคุณโก้ คุณพลวัฒน์ โชติถิรดา ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ในเรื่องความท้าทายของการหาคน วิธีการสัมภาษณ์งานออนไลน์ พร้อมแชร์การปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบ Agile มาฝากคนทำงานกัน

 

 

ภาพรวมธุรกิจด้านอสังหาในยุคที่คนต้องกักตัวและใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น

หลายธุรกิจชะลอตัว ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ก็มีส่วนได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดยเฉพาะคอนโดมีเนียมจะได้รับผลกระทบเยอะนิดหนึ่ง แต่อสังหาริมทรัพย์แนวราบอย่างโครงการหมู่บ้าน ลูกค้าตอบรับค่อนข้างดี ซึ่งศุภาลัยก็ค่อนข้างโชคดีที่มีสถานะทางการเงิน และกระบวนการบริหารจัดการภายในที่ค่อนข้างดี ทั้งในเรื่องของการปรับแผนงาน การควบคุมต้นทุนสินค้า รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าที่ค่อนข้างตอบรับกับความต้องการของผู้อยู่อาศัย เลยได้รับการตอบรับดีและไม่ได้รับผลกระทบมาก 

 

ความเปลี่ยนแปลงของการจ้างงาน ก่อน-หลังสถานการณ์ COVID-19 

ศุภาลัยไม่ได้เลิกจ้างหรือลดเงินเดือนพนักงานเลย บริษัทมีพนักงานประจำประมาณ 1,300 คน ไม่รวมผู้รับจ้างที่เป็นดีไซนเนอร์หรือ Outsource ในปี 2563 ก็ยังมีการจ้างงานต่อเนื่อง โดยมีการเปิดตัวโครงการทั่วประเทศ ไปทั้งหมด 28 โครงการ ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ที่สำคัญคือมีการเปิดตัวโครงการใหม่ในจังหวัดใหม่คือที่อยุธยาและพิษณุโลก

 

ส่วนในปี 2564 ก็ยังมีแผนการรับคนอยู่ เพราะมีแผนเปิดโครงการใหม่กว่า 31 โครงการ แต่อัตราการจ้างงานหรือความต้องการกำลังคนอาจจะไม่สูงมากเท่าปีก่อน ๆ เนื่องจากทางศุภาลัยมีการพัฒนาตัวระบบเทคโนโลยี รวมทั้งมีการใช้เรื่องของ ERP (Enterprise Resource Planning) เข้ามาทำงานในระบบขององค์กรมากขึ้น และได้พัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อช่วยบริการลูกค้าและพนักงาน สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการทำงานซ้ำซ้อน และงานบางประเภทก็จะลดลงไป 

 

2 ความท้าทายในการสรรหาคนยุค COVID-19

ความท้าทายในการสรรหาคนแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 Short Term เป็นเรื่องของการตอบสนองต่อการจ้างงานในภาวะ COVID-19 ที่ศุภาลัยต้องคอยดูแล ทั้งเรื่องผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่อาจมีการชะลอตัวในบางส่วน รวมไปถึงมาตรการ Social Distancing ซึ่งก็มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยในเรื่องของ Social Distancing ก็มีการใช้เครื่องมือและช่องทาง Online มาช่วยในการคัดเลือกและการจ้างงานมากขึ้น อย่างที่บอกว่าศุภาลัยค่อนข้างโชคดีในเรื่องของความมั่นคงทางการเงิน มีการขยายงานอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสื่อสารไปถึงผู้สมัครงาน ให้เขาเข้าใจถึงความมั่นคง การเติบโต และความก้าวหน้าที่ศุภาลัย เพราะผู้สมัครบางคนอาจชะลอการเปลี่ยนงาน เพราะเขารู้สึกว่าการเปลี่ยนงานยังไม่ปลอดภัยในช่วงนี้ ก็เป็นหัวใจของความท้าทายในเรื่อง Short Term

 

เรื่องที่ 2 Long Term เป็นเรื่องของ Digital Disruption รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ เรื่อง ทางศุภาลัยก็มีการมองภาพของ Work Force Planning  ในระยะยาวอยู่เหมือนกัน ซึ่งก็มีการพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงและมีการวางแผนงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ้างคนในช่วงที่ความต้องการของคนทำงานเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ทั้งมุมมอง พฤติกรรม และ Value ต่าง ๆ ที่เขาให้กับงาน โดยเฉพาะคนทำงานที่เป็น Gen Z อีกหนึ่งเรื่องสำคัญเป็นเรื่องของ New Skill ที่ศุภาลัยให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งก็มีการพูดคุยกันอยู่ว่าจะบริหารคนที่มีอยู่ยังไง การจ้างงานจะต้องเติมเต็มส่วนไหน รวมไปถึงรูปแบบการจ้างงานและวิธีการทำงานใหม่ ๆ ในอนาคต อันนี้ก็เป็นเรื่องของกลยุทธ์ที่วางแผนและอยู่ในระหว่างการศึกษา หรือบางส่วนก็มีการหารือกับผู้บริหารไว้แล้ว

 

การปรับตัวของ HR เมื่อต้องหันมาสัมภาษณ์งานออนไลน์

พนักงานของศุภาลัย 70% เป็นพนักงานประจำโครงการ ซึ่งก็จะกระจายไปตามโครงการต่าง ๆ อยู่แล้ว ด้วยลักษณะงานที่เป็นโครงการ บางตำแหน่งก็ต้องสัมภาษณ์หลายขั้นตอน เพื่อให้ผู้สมัครได้รู้จักกับสภาพแวดล้อมหรือโครงการจริง รวมทั้งมีโอกาสเข้ามาเจอหัวหน้างานโดยตรง ก็อาจต้องเข้ามาสัมภาษณ์หลายครั้ง 

 

หัวใจสำคัญที่จะทำให้เขาหันมาใช้กระบวนการสัมภาษณ์งานใหม่ ๆ คือการสื่อสารให้คนหางานเข้าใจว่ามันไม่ได้ยากจากความคุ้นชินเดิม และทำให้เขาเห็นถึงประโยชน์ที่เขาได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสะดวก ความรวดเร็วในการสัมภาษณ์ เมื่อมีการนำออนไลน์มาใช้ก็จะเห็นภาพว่ามันสามารถเข้าร่วมกันได้ง่าย ลดขั้นตอนไปได้เยอะ รวมถึงความสะดวกต่อผู้สัมภาษณ์และ Line Manager 

 

อุปสรรคและวิธีแก้ปัญหาระหว่างการสัมภาษณ์

ในช่วงแรกเป็นเรื่องของความคุ้นชิน ก็มีหลากหลายรูปแบบ อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่พร้อม ซึ่งทาง HR ก็มีการสื่อสาร และเตรียมการตั้งแต่การแนะนำผู้สัมภาษณ์และแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าศุภาลัยมีการสัมภาษณ์แบบออนไลน์ มีรายละเอียดยังไง สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ต้องเตรียมมีอะไรบ้าง ก่อนสัมภาษณ์งาน ทาง HR ก็จะมีการเตรียมความพร้อมเรื่องอุปกรณ์สถานที่ รวมไปถึงเช็กอินกับผู้สัมภาษณ์ว่าเป็นยังไงบ้าง 

 

ในระหว่างการสัมภาษณ์ทาง HR ก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในห้องสัมภาษณ์ เพราะบางครั้ง Line Managerหรือผู้สัมภาษณ์อาจยังไม่คุ้น ก็ทำให้บรรยากาศการสัมภาษณ์มันราบรื่น รวมไปถึงกรณีที่ต้องใช้แผนสำรองอย่างการติดขัดของอินเทอร์เน็ต ทาง HR ก็อาจจะปรับการสัมภาษณ์ให้เหลือเพียงแต่เสียง หรือลดคุณภาพของภาพลง เพื่อให้แบนด์วิธ (Bandwidth) ดีขึ้นและสามารถดำเนินการสัมภาษณ์ต่อไปได้

 

การสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์และออฟไลน์ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตำแหน่งงาน

การสัมภาษณ์งานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ค่อนข้างใกล้เคียงกันแล้วแต่รูปแบบและลักษณะงาน บางลักษณะงานอย่างงานขาย ก็อาจต้องมี Presentation มี Role Play บางส่วน ทำให้การพูดคุยแบบ Face to Face ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เห็นคาแรคเตอร์และบุคลิกภาพของผู้สมัคร ส่วนบางตำแหน่งก็อาจไม่มีความจำเป็นที่ต้องสัมภาษณ์แบบออฟไลน์อีกต่อไป ยกตัวอย่างการสัมภาษณ์งาน HR ก็จะเน้นในเรื่องความเข้ากับตำแหน่งงาน (Job Fit) และความเข้ากับองค์กร จึงสามารถสัมภาษณ์แบบออนไลน์ และสามารถดูโปรไฟล์หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ทำให้บางตำแหน่งสัมภาษณ์ออนไลน์ดีกว่าในขณะที่บางตำแหน่งออฟไลน์ก็ดีกว่า ซึ่งก็ต้องปรับให้เหมาะสมตามแต่ละสถานการณ์ด้วย

 

เคล็ดลับการสัมภาษณ์งานออนไลน์จาก HR ถึงผู้สมัคร

หัวใจสำคัญของการสัมภาษณ์คือบรรยากาศของการพูดคุย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้สมัครสามารถทำงานในส่วนที่บริษัทคาดหวังได้ รวมไปถึงความพร้อมในการแนะนำตัวหรือการเตรียมตัวก็เป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์แบบออนไลน์หรือออฟไลน์ ซึ่งสุดท้ายแล้วเป็นเรื่องของการมองเห็นซึ่งกันและกันมากกว่า เพราะเวลาเพียงแค่ 5-10 นาทีแรกที่ได้คุยกัน HR ก็รู้ได้เลยว่าอยากไปต่อกับผู้สมัครคนนั้นไหม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความพร้อมและความสามารถในการสร้างความน่าเชื่อถือของตัวผู้สมัครเอง

 

ตำแหน่งงานหลัก ๆ ในบริษัทอสังหาริมทรัพย์

หากเป็น Supply Chain ตัวแกนกลางหลักของศุภาลัยก็จะมีหน่วยงานซื้อที่ดินเพื่อคอยดูแลและสรรหาที่ดินเข้ามา ฝ่ายสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทีมสถาปนิก ทีมงานการตลาด จัดซื้อ ก่อสร้าง และทีมขาย สุดท้ายก็จะเป็นเรื่องของการบริหารชุมชน ทีมเหล่านี้ก็จะเป็นทีมหลัก ๆ ของศุภาลัย โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิศวกรค่อนข้างเยอะ 400-500 คน ที่อยู่ในส่วนก่อสร้าง และทีมขายที่อยู่ประมาณ 200-250 คน ทำให้รากฐานใหญ่ ๆ ของศุภาลัยเป็นวิศวกรและพนักงานขายที่ดูแลหน้าโครงการ

 

ร่วมงานกับ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ได้ ที่นี่

 

การบริหารทรัพยากรมนุษย์หลายเจนเนอเรชัน

อายุงานเฉลี่ยของพนักงานในศุภาลัยจะอยู่ที่ 30 ต้น ๆ ถ้าเป็นความต้องการในตำแหน่งหัวหน้างานหรือตำแหน่งสำคัญ ศุภาลัยจะให้นโยบายในเรื่องของ Internal Job Opportunity (การสรรหาบุคคลภายใน) ก่อน แต่การจ้างงานที่เป็นการจ้างงานภายนอก โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กจบใหม่ หรือเป็นน้อง ๆ Gen Y ถึง Gen Z อยู่แล้ว กลุ่มนี้ก็จะเป็นพนักงานที่เราต้องจ้างในปัจจุบัน 

 

เพราะฉะนั้นเรื่องของ Diversity Management ศุภาลัยก็พยายามจะบริหารจัดการ และมีการปรับองค์กรมากขึ้น มีการทำหลาย ๆ เรื่อง ทั้ง HR ทั้งการพัฒนาองค์กร อย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน การให้พนักงานได้มีส่วนร่วมกับการทำโครงการ Innovation การปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน รวมไปถึงกิจกรรม Employee Engagement เพื่อทำให้พนักงานหลากหลายคนได้มีส่วนร่วมกันมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ศุภาลัยทำอย่างต่อเนื่องและเป็นกลยุทธ์หลักที่ HR โฟกัส 

 

แชร์ประสบการณ์การนำ Agile Team เข้ามาใช้ของศุภาลัย

ศุภาลัยได้นำการทำงานแบบ Agile เข้ามาใช้ใน 2 ปีที่ผ่านมา เพราะต้องการให้พนักงานทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อีกเรื่องคือเราต้องการให้ไม่มีกำแพงระหว่างฝ่ายและระดับตำแหน่ง เพราะปัจจุบันผู้บริหารที่ดูแลโครงการต่าง ๆ คงไม่สามารถไปสั่งการได้ด้วยตัวเองทุกอย่าง เลยต้องให้พนักงานที่อยู่หน้างานร่วมเป็น Self Organization Team เพื่อทำงานร่วมกันและช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งทาง HR ก็ได้รับนโยบายที่ท้าทายมาว่าใน 6 เดือนแรกของปีนี้จะทำยังไงให้ภาพเหล่านี้เป็นรูปธรรมมากขึ้นอย่างชัดเจน

 

ยกตัวอย่างโครงการของศุภาลัยที่ได้นำการทำงานแบบ Agile เข้ามาใช้คือ โครงการพัฒนาโครงการ “Supalai Premier สี่พระยา สามย่าน” เมื่อปีที่แล้วที่ COVID-19 ยังแพร่ระบาด ซึ่งโครงการนี้ผู้บริหารเพียงแค่ให้กรอกนโยบายแนะนำทีมงานว่าหากเราจะพัฒนาโครงการนี้ควรทำยังไง ทีมงานก็จะไปร่วมทำงานด้วยกันตั้งแต่ฝ่ายการตลาด ฝ่ายสร้างสรรค์ ทีมสถาปนิก หรือทีมงานอื่น ๆ ก็จะไปศึกษาโครงการ ภาพรวมความต้องการของตลาด ลูกค้า แนวทางการออกแบบ คอนเซปต์ และทำยังไงให้โครงการสามารถเดินหน้าและดำเนินการต่อไปได้ในสถานการณ์ COVID-19 ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและเป็นอีกหนึ่ง Success Case ของศุภาลัย

 

ความยาก-ง่าย ในการนำรูปแบบการทำงานแบบ Agile มาปรับใช้กับคนทำงานหลากหลายเจนเนอเรชัน

สำหรับเรื่องความยาก-ง่ายในการทำงานแบบ Agile นั้น คุณโก้บอกว่าช่วงแรกไม่ยากเพราะอยู่ในช่วงทดลองและคุณไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการของศุภาลัย เป็นคนเริ่มต้นการทำ Agile Teams ด้วยตัวเอง เพื่อเป็น Role Model ให้ทุกคนเห็นภาพว่าทางผู้บริหารเปิดรับและส่งเสริมอย่างจริงจัง เพราะอยากให้ทุกคนได้มีโอกาสทำจริง ๆ ให้ไกด์ไลน์นโยบาย และเปิดโอกาสให้กับทุกคนได้ทำงานอย่างอิสระ และสามารถมาอัปเดตงานโดยตรงกับทางผู้บริหารได้

 

แต่ ณ ปัจจุบัน ความยากอีกขั้นตอนหนึ่งคือ ต้องทำยังไงให้พนักงานหลายคนที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง Project Management หรือ Cross Functional Team ได้มีส่วนร่วมหรือทำออกมาจากความรู้สึก โดยเฉพาะโครงการที่ยังไม่เคยดำเนินการ มีลักษณะงานที่แตกต่างไป ก็เป็นอีกความท้าทายของ HR ที่จะสื่อสารไปยังคนทั่วองค์กรทั้ง 1,300 คน ให้เข้าใจ

 

 3+4 วัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้ศุภาลัยเป็นองค์กรที่เติบโตและแข็งแรง

วัฒนธรรมองค์กรหรือ DNA ในการทำงานที่ช่วยให้ศุภาลัยแข็งแรง มี 3 ตัวหลัก ๆ คือ SPL ซึ่ง S (Superiority) การเน้นความเป็นเลิศที่จะส่งมอบสินค้า บริการ และการบริหารจัดการที่ดี ตัวต่อมา คือ P (Profitability) การทำงานที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน ผู้รับเหมา ทุก ๆ คนที่มาทำงานกับศุภาลัยต้องได้สิ่งที่ดีกลับไป และ L (Longevity) การประกอบธุรกิจที่มองถึงความยั่งยืนและมั่นคง อันนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ศุภาลัยเน้นย้ำและปลูกฝังมาเสมอ

 

นอกจากนั้นยังมี Core Value ที่ศุภาลัยกำลังส่งเสริมให้ตอบรับกับโลกการทำงานยุคปัจจุบันมากขึ้น และสอดคล้องกับการทำงานแบบ Agile Transformation ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 เรื่อง Growth Mindset, Customer Centric, Innovation และ Flexible ซึ่งศุภาลัยยังคงมี 3 ตัวหลักขององค์กร และเสริม 4 ตัวใหม่เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้นในปัจจุบัน

 

สวัสดิการของพนักงานที่ศุภาลัย คือส่วนลดในการซื้อที่อยู่อาศัย

ศุภาลัยกำลังพยายามปรับองค์กรในเรื่องของความยืดหยุ่น อย่างเรื่องเวลาการมาทำงาน ถ้าเป็นที่สำนักงานใหญ่พนักงานสามารถเลือกเข้างานตั้งแต่ 8 โมงถึง 9 โมงครึ่ง

 

นอกจากนั้นก็ยังมีสวัสดิการพนักงานที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดการซื้อที่อยู่อาศัยของบริษัททั้งบ้านและคอนโด อยู่ที่ 10-12% แต่ถ้าซื้อร่วมกัน 2 คน ในกรณีที่พนักงานเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นคุณพ่อ-คุณแม่ หรือเป็นพี่น้อง ก็จะได้สิทธิสูงสุดถึง 20% ก็ถือว่าถูกมากหากเทียบกับราคาตลาด และราคาในยุคปัจจุบัน รวมถึงมีฟิตเนสสำหรับพนักงาน มีกิจกรรม Employee Engagement รวมไปถึงสิทธิการใช้สวัสดิการพักผ่อนที่โรงแรมหรือห้องพักในเครือของศุภาลัยที่เปิดให้กับพนักงาน

 

T Shape Skill เป็นทักษะที่คนทำงานยุคนี้ควรมี

ทักษะที่คนหางานหรือคนทำงานยุคนี้ควรมีนั้นเป็น T Shape Model ควรมีทักษะในเรื่อง Technical Skill และ Soft Skill หากพูดเป็นตัว T ในแนวตั้งคือความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญในงานที่ตัวเองทำ ในแนวขวางคือเรื่องของความเข้าใจในธุรกิจ ความรู้เกี่ยวกับงานของเพื่อนร่วมงานที่เราต้องไปผสานงานด้วย เพราะคนทำงานไม่สามารถที่จะมีความรู้ในเชิงแนวดิ่งได้อย่างเดียว หากคนทำงานมีความรู้ในแนวดิ่ง และความเชี่ยวชาญในแนวขวาง ก็จะช่วยทำให้ Profile ของตัวเองมีความน่าสนใจ เป็นที่ต้องการของทั้งศุภาลัยและตลาดแรงงานอย่างแน่นอน

 

Oh My Job! Podcast ออนไลน์ทุกวันอังคาร ติดตามได้ในช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

 

ติดตามบทความอื่น ๆ จากรายการ Oh My Job! Podcast ได้ที่นี่

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย สมัครงานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

 
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
Public group · 92,500 members
Join Group
 

 

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, ศุภาลัย, supalai, oh my job, omg podcast, omj, podcast, เด็กจบใหม่, นักศึกษาจบใหม่, careervisa, oh my job!



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม