ปฏิเสธไม่ได้ว่า Connection เป็นใบเบิกทางไปสู่โอกาสต่าง ๆ มากมายในชีวิต รวมถึงชีวิตการทำงานที่นอกจากมีทักษะและความสามารถแล้ว การรู้จักคนที่หลากหลายก็อาจจะทำให้เราสามารถต่อยอดการทำงานหรือได้รับโอกาสดี ๆ หลายอย่างได้
การเข้าไปทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ ๆ อาจเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่สำหรับชาว Introvert มันกลับเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้าง Connection ด้วยการทำความรู้จักคนผ่านงานเลี้ยงหรืองานสังคมต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยคนมากหน้าหลายตาที่ไม่รู้จักหรือเคยเจอมาก่อน แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปที่เหล่า Introvert จะสร้าง Connection ในงานสังคมกับเขาบ้าง วันนี้ JobThai เลยจะมาแนะนำเทคนิคการสร้าง Connection ในงานสังคมสำหรับชาว Introvert โดยเฉพาะ
ก่อนไปที่งาน เราอาจเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเอาไว้ในใจก่อนว่าเราอยากรู้จักใคร หรือคนที่ทำงานด้านไหนเพิ่ม เราอยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเกี่ยวกับธุรกิจหรือตำแหน่งงานที่สนใจ โดยเวลาที่เราสร้าง Connection เราควรทำความรู้จักคนอย่างมีคุณภาพ ไม่จำเป็นว่าต้องรู้จักเพิ่มทีละหลายคน เน้นทำความรู้จักคนดี ๆ ดีกว่าการเน้นรู้จักเยอะ ๆ แต่ไม่ลึกพอ
เมื่อมีเป้าหมายในใจแล้ว เราสามารถเดินเข้าไปหาคนที่เราอยากคุยพร้อมกับเป้าหมายนั้น ๆ โดยต้องไม่ใช่การแสร้งทำว่าอยากรู้จัก การที่เรามีเป้าหมายไปด้วยเป็นเพียงตัวช่วยที่จะทำให้บทสนทนาที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างมีทิศทาง ยังไงเราก็ควรทำความรู้จักคนคนนึงเพราะเราอยากรู้จักเขาจริง ๆ ความจริงใจในการทำความรู้จักยังต้องเป็นของจริงอยู่
มันไม่ผิดถ้าเราจะทำการบ้านสักเล็กน้อย ถ้าเป็นไปได้ ลองหาข้อมูลดูล่วงหน้าว่าในงานน่าจะมีใครไปบ้าง เพื่อที่เราจะได้พอนึกภาพคนในงานออก หลังจากนั้นก็ลองซ้อมแนะนำตัวเอง เพราะบางคนอาจเป็นคนไม่ชินเวลาต้องพูดเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง โดยลองซ้อมเล่าคร่าว ๆ ว่าตัวเองเป็นใคร ทำงานเกี่ยวกับอะไร และเรื่องพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพูดแน่นอนเวลาที่เราทำความรู้จักคนใหม่ และถ้าใครเป็นคนที่ชวนคุยไม่ค่อยเก่งก็อาจจะทำลิสต์คำถามกันตายเอาไว้ โดยอาจเป็นคำถามสำหรับทำความรู้จักกันแบบพื้นฐาน หรือคำถามอื่น ๆ ที่สามารถใช้ได้เสมอเมื่อเกิดช่วงที่บทสนทนาไปต่อไม่ได้หรือช่วงเดดแอร์
ถ้าปกติเราเป็นคนที่รู้สึกประหม่ามาก ๆ เวลาที่ต้องเข้าไปทำความรู้จักกับคนคนนึง หรือกลุ่มคนกลุ่มนึง เราก็อาจจะต้องชวนใครสักคนที่เรารู้จักหรือสนิทหน่อยไปด้วยกัน เพื่อช่วยให้เรารู้สึกสบายใจขึ้น โดยอาจเป็นเพื่อนที่ถนัดในการพูดคุย เข้าหาคน และสามารถซัปพอร์ตเราได้เมื่อเรารู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ถูก การมีเพื่อนไปด้วยแบบนี้ก็จะช่วยให้เรารู้สึกสบายใจขึ้น และกล้าแนะนำตัวเองมากขึ้น กล้าพูดมากขึ้น เพราะอย่างน้อยเราก็ได้พูดต่อหน้าคนที่เราคุ้นเคยด้วย
เมื่อเรารู้ว่างานนั้นจะจัดที่ไหน จัดช่วงกลางวันหรือกลางคืน เราอาจเสิร์ชดูภาพสถานที่และลองประเมินบรรยากาศภายในงาน และเมื่อไปถึงที่งานก็ให้ทำความคุ้นเคยกับสถานที่จัดงานดูว่าเราต้องพบปะผู้คนในสถานที่แบบไหน ห้องใหญ่หรือเล็ก เป็นงานที่จัดเป็นโต๊ะค็อกเทลให้ทุกคนเน้นยืนคุย หรือเป็นงานที่มีโต๊ะให้นั่ง เพราะเป็นเรื่องปกติที่ชาว Introvert จะรู้สึกเหนื่อยล้าหรือหมดแรงเมื่อต้องใช้พลังในการเข้าสังคม เพราะฉะนั้นการรู้จักสถานที่จะทำให้เราสามารถเตรียมแผน “หลบหนีชั่วครู่” เอาไว้ได้ เมื่อเผื่อว่าตัวเองจะรู้สึกเหนื่อยกลางงาน โดยเราอาจออกไปพักสูดอากาศข้างนอกสักครู่ หรือถ้าเป็นงานที่จัดตอนกลางวันในห้องประชุมก็อาจออกไปดื่มกาแฟสักแป๊บ โดยแผนหลบหนีนี้ก็มีไว้เพื่อเป็นการรีชาร์จให้ตัวเองพร้อมจะกลับไปร่วมงานต่อแบบสดชื่นขึ้นนั่นเอง
แน่นอนว่างานสังคมแบบนี้เต็มไปด้วยคนมากมาย และเราต้องไม่ใช่ Introvert คนเดียวในงานนี้แน่ ๆ ดังนั้นเราสามารถสังเกตดูได้ว่าใครที่ดูมีคุณสมบัติที่น่าจะเป็น Introvert เหมือนกับเรา และใช้ความเหมือนในด้านคุณสมบัติในการเข้าหาเขา อาจเป็นการทำความรู้จักเพื่อสร้าง Connection ด้วย และการทำความรู้จักเพื่อจับคู่พากันไปทำความรู้จักคนอื่น ๆ ก็ได้
การที่เราเป็น Introvert มีข้อดีอย่างนึงตรงที่ เราจะเก็ตว่าการทำความรู้จักคนที่เป็น Introvert ด้วยกัน ควรเข้าหาแบบไหน แบบไหนที่จะทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย แบบไหนที่จะทำให้เขาเริ่มรู้สึกวิตก โดยเมื่อเราทำความรู้จักเขาไปได้ในระดับนึงแล้วก็อาจจะถามคำถามที่ลึกขึ้น เกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้อีกฝายพูดมากขึ้น และเรียนรู้ว่าคนคนนี้มีมุมมองยังไงบ้าง
เมื่อได้ทำความรู้จักกับใครสักคนและได้พูดคุยกันแล้ว เราควรตั้งอกตั้งใจฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด แสดงความสนใจต่อผู้อื่นอย่างจริงใจ การตั้งใจฟังจะช่วยให้เรารู้จักเขาดีขึ้น เราฟังรู้เรื่อง มองเห็นภาพจากสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อสาร และอีกฝ่ายก็ยังพอใจที่เราเป็นผู้ฟังที่ดี
การที่ต้องพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นตัวเองไม่ได้ แต่อาจจะต้องวางตัวให้อยู่ในโหมดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และเมื่อหัวข้อสนทนาเวียนไปในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เราก็สามารถใช้จังหวะแบบนี้ในการเล่าเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวได้อีกด้วย ซึ่งในระหว่างที่พูดคุยกันเราจำเป็นที่จะต้องตระหนักรู้ในตัวเองเสมอ โดยสำรวจความรู้สึกตัวเองและรับรู้ท่าทีของตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ในระหว่างการสนทนา
บทสนทนาเดินต่อไปได้ยากเมื่อคำถามส่วนใหญ่เป็นคำถามปลายปิดที่ได้คำตอบแค่เพียง “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เราอาจเตรียมลิสต์คำถามปลายเปิดดี ๆ หรือคำถามที่ชวนให้คิดต่อเอาไว้ด้วย หลัก ๆ เพื่อเป็นการให้อีกฝ่ายเป็นคนพูดแสดงความคิดเห็นและมุมมองต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการช่วยผ่อนความกดดันออกไปจากตัวเราได้บ้าง เพราะเราจะไม่ต้องเป็นฝ่ายที่พยายามชวนคุยตลอดเวลา
ถ้ารู้สึกโอเคกับคนที่เราได้รู้จักมาก ๆ และได้แลกนามบัตร เบอร์โทรศัพท์ อีเมล หรือติดตามโซเชียลมีเดียของกันและกันเอาไว้แล้ว นั่นก็ถือว่าเราได้ Connect กับคนใหม่ ๆ แล้ว แต่มันยังไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อได้ Connection มาแล้ว เราต้องไม่ปล่อยให้คนดี ๆ หลุดมือไป เพราะฉะนั้นอย่าลืมที่จะติดตามเช็กอัปคนคนนั้นอยู่เรื่อย ๆ พูดคุยแลกเปลี่ยน หรือทักทายกันผ่านโซเชียลมีเดียเสมอ ๆ เพื่อรักษาความคุ้นเคยเอาไว้ หรืออาจจะชวนกันไปนั่งดื่มกาแฟเพื่อพูดคุยก็ได้เหมือนกัน
งานสังคมอาจเป็นอะไรที่น่ากลัวสำหรับ Introvert แต่มองในแง่ดีว่าเราอาจจะยอมเหนื่อยหรือทำอะไรที่อยู่นอก Comfort Zone ของตัวเองสักไม่กี่ชั่วโมงเพื่อโอกาสดี ๆ ที่อาจมีผลในระยะยาว หรือถ้าใครยังไม่ถนัดกับงานสังคมที่ต้องเจอกันแบบตัวเป็น ๆ เราอาจเปลี่ยนมาใช้โซเชียลมีเดียหรือ Facebook Group ที่รวมคนในสายงานเดียวกันกับเราเอาไว้เป็น Community ที่เราสามารถทำความรู้จักคนใหม่ ๆ ได้
เข้าร่วม JobThai Official Group กลุ่ม Community ของคนทำงานและคนหางานได้ ที่นี่
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา
indeed.com
inhersight.com