ลาออกโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับได้ไหม?

ลาออกโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับได้ไหม?
29/01/24   |   37.2k   |  
 
 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

“อย่าเพิ่งลาออกถ้ายังไม่มีงานใหม่รองรับ” คือประโยคเตือนที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ เพราะการลาออกโดยที่ยังไม่ได้งานใหม่จะทำให้สถานะของเรากลายเป็น “คนว่างงาน” ทันที ซึ่งสถานะว่างงานนี้ก็อาจส่งผลให้การสมัครงานครั้งต่อไปของเรายากขึ้น เพราะองค์กรย่อมต้องมีคำถามกับช่วงเวลาที่เราหยุดทำงานไปแน่นอน รวมถึงอาจมองว่าประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลงด้วย

แต่สถานการณ์ของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนอาจมีเหตุผลส่วนตัวหรือความจำเป็นบางอย่างที่ทำให้ต้องลาออกจริง ๆ เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาทางครอบครัว หรือที่ทำงานมีสภาพแวดล้อมที่ Toxic จนส่งผลกระทบกับจิตใจ ทำให้ไม่มีความสุขกับการทำงาน ซึมเศร้าหรือหมดไฟจนอยากหยุดทำงานมาพักก่อน ดังนั้นการลาออกโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับจึงไม่ใช่เรื่องผิดและสามารถทำได้ เพียงแต่ก่อนจะลาออก เราต้องทำความเข้าใจกับความเสี่ยงที่อาจตามมาเสียก่อน JobThai มีแนวทางการพิจารณาและวิธีการเตรียมตัวมาฝาก

 

7 คำถามเรื่องลาออก กับคำตอบที่จะไม่ทำให้แตกหัก

 

ผลกระทบที่อาจตามมา

ก่อนตัดสินใจว่าจะลาออกดีไหม เราควรพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้และดูว่าเราสามารถยอมรับได้หรือเปล่า ถ้ายังไม่พร้อมเผชิญหน้า เราอาจรอจนกว่าจะหางานใหม่ได้เสียก่อนค่อยลาออก

 
  • มีช่วงว่างงานในเรซูเม่

เมื่อเราหยุดพักจนเพียงพอและพร้อมที่จะกลับไปทำงานใหม่อีกครั้ง บริษัทที่เราสมัครงานอาจมองว่าช่วงเวลาว่างงานก่อนหน้านี้ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลง เพราะความรู้และทักษะบางอย่าง เช่น ทักษะด้านภาษาหรือทักษะด้านโปรแกรมมิ่ง เมื่อไม่ได้ใช้นาน ๆ ก็อาจลืมและใช้ได้ไม่คล่องเหมือนแต่ก่อน ซึ่งบริษัทอาจหยิบเอาจุดนี้มาใช้ต่อรองเงินเดือนกับเราได้

 
  • อาจพลาดโอกาสก้าวหน้าในการทำงานที่เดิม

ถ้าในช่วงที่เราลาออก บริษัทกำลังจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายใน ขยายตัว เพิ่มสาขา หรือเริ่มโปรเจกต์ใหม่ เราก็อาจพลาดโอกาสที่จะได้เลื่อนตำแหน่ง โยกย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่น หรือเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ใหม่ที่ทำให้เราได้เก็บประสบการณ์เพิ่มเติม รวมถึงอาจพลาดโอกาสทำความรู้จักและสร้างคอนเน็กชันใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน

 
  • ขาดรายได้ในช่วงที่ว่างงาน

เมื่อลาออก แน่นอนว่าเราย่อมขาดรายได้ตามไปด้วยในกรณีที่เราทำงานประจำเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีรายได้จากช่องทางอื่น เช่น งานเสริม งานพาร์ทไทม์ ธุรกิจส่วนตัว หรือการลงทุน ซึ่งถ้าเราไม่มีเงินเก็บสำรองเผื่อเอาไว้ การลาออกโดยไม่มีงานใหม่รองรับก็อาจสร้างปัญหาทางการเงินให้เราได้

 
  • สถานการณ์ของตลาดแรงงานอาจเปลี่ยนแปลงจนทำให้หางานยากขึ้น

อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ไม่มีอะไรการันตีว่าเมื่อเราพร้อมกลับไปทำงานประจำ ในเวลานั้นสถานการณ์ของตลาดแรงงานจะเป็นยังไง จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้หลาย ๆ บริษัทลดจำนวนพนักงานลงอย่างวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 อีกหรือเปล่า แล้วงานในธุรกิจที่เราสนใจจะหายากขึ้นไหม ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะได้งาน และเมื่อได้งานแล้วจะได้เงินเดือนเท่าเดิมหรือเปล่า

 

Career Insight: ว่างงานนานจะหางานยากหรือไม่

 

ข้อดีของการลาออกโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ

แม้การว่างงานจะทำให้รายได้ลดลงและความมั่นคงน้อยกว่าเดิม แต่ก็มีข้อดีอยู่ด้วยเช่นกัน เพราะสิ่งที่เราได้กลับมาคือเวลานั่นเอง ซึ่งเราสามารถใช้เวลาไปทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย

 
  • ได้พักกายและใจจากการทำงาน

เมื่อลาออกจากงานแล้ว เราสามารถใช้ช่วงเวลาที่ว่างงานนี้ไปกับการพักผ่อน ทำงานอดิเรกที่ชอบ และท่องเที่ยวได้อย่างอิสระ ไม่ต้องรู้สึกเศร้าใจทุกเย็นวันอาทิตย์ว่าวันจันทร์วนกลับมาใหม่อีกแล้ว ถือเป็นการรีเฟรชชีวิตและชาร์จแบตให้ตัวเอง โดยเฉพาะคนที่ซึมเศร้าหรือเครียดสะสมจากการทำงาน จะได้ฟื้นฟูจิตใจได้อย่างเต็มที่

 
  • มีเวลาทบทวนตัวเองและวางแผนเส้นทางในอนาคต

ในกรณีที่เรารู้สึกหมดไฟกับการทำงานที่เดิม ไม่ว่าจะเป็นเพราะเบื่องานรูทีน ตันกับสายงานเดิม อยากมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงานหรือกำลังคิดว่าอยากเปลี่ยนสายงานไปทำอย่างอื่น ช่วงเวลาที่ว่างงานนี้ก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะได้ทบทวนตัวเอง รวมถึงวางแผนเส้นทางชีวิตหลังจากนี้ว่าจะไปทางไหนต่อ

 
  • ได้โอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

นอกจากพักผ่อนและทบทวนตัวเองแล้ว เรายังสามารถใช้เวลานี้เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์กับการทำงานได้อีกด้วย ถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการสมัครงานในอนาคต ถึงแม้ในเรซูเม่จะมีช่วง Gap ที่เราว่างงาน แต่ทักษะที่ได้เรียนรู้ในช่วงนี้ก็อาจช่วยเสริมศักยภาพในการทำงานให้เราได้

 
  • มีเวลาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

เมื่อเราไม่ได้ทำงานประจำ เราก็ไม่จำเป็นต้องลางานเพื่อไปสัมภาษณ์งานใหม่ สามารถตอบรับการนัดหมายสัมภาษณ์ได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงสามารถเริ่มงานได้ทันทีอีกด้วย ซึ่งความยืดหยุ่นตรงนี้ก็อาจทำให้เรากลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับบริษัทที่ต้องการคนด่วน เพิ่มโอกาสในการได้งานมากขึ้น

 

ลาออกยังไงดี? ถ้าทุกวันนี้ต้องทำงาน Work from Home

 

ก่อนลาออกต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง

ถ้าเราชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของการลาออกโดยยังไม่มีงานใหม่รองรับแล้ว และได้ผลสรุปว่าต้องการลาออกจริง ๆ JobThai มีแนวทางการเตรียมตัวก่อนลาออกมาฝากดังนี้

 
  • เช็กเงินสำรองและวางแผนด้านการเงิน

สิ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมตัวก่อนลาออกคือการวางแผนด้านการเงินให้ดี ลองคำนวณดูว่าในแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และถ้าเราจะลาออก เราจะหยุดพักนานเท่าไหร่ เงินสำรองที่มีตอนนี้มากพอหรือยัง พอดีกับจำนวนเดือนที่เราตั้งใจจะหยุดทำงานไหม อย่าลืมเผื่อเงินเอาไว้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้เราต้องใช้เงินเพิ่มด้วย เช่น อุบัติเหตุ ป่วยกะทันหัน ต้องผ่าตัดเร่งด่วน รวมถึงในกรณีที่เราใช้เวลาในการหางานใหม่นานเกินกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้

 
  • ปรึกษาและพูดคุยกับคนรอบข้างให้เรียบร้อย

เงื่อนไขและภาระของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนยังต้องพึ่งพาอาศัยเงินจากพ่อแม่อยู่ หรือบางคนก็ต้องเก็บเงินไว้เลี้ยงดูครอบครัว ดังนั้นก่อนลาออก อย่าลืมเปิดอกพูดคุยกับคนใกล้ชิดให้เข้าใจกัน ว่าทำไมถึงตัดสินใจลาออก จะหยุดพักนานแค่ไหน และจะมีผลกระทบอะไรตามมาบ้าง เช่น รายได้ที่ลดลงของเราจะส่งผลยังไงกับพวกเขา และเรามีแผนจัดการกับสิ่งนี้ยังไงบ้าง พยายามอธิบายและหารือกันให้เรียบร้อย ทุกคนจะได้สบายใจและไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

 
  • ลงทะเบียนว่างงานเพื่อขอรับเงินชดเชย

ในกรณีที่เราจ่ายเงินค่าประกันสังคม 6 เดือนขึ้นไป (ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน) เราสามารถลงทะเบียนว่างงานเพื่อขอรับเงินชดเชยกับกรมจัดหางานได้ โดยเราต้องลงทะเบียนภายใน 30 วันหลังจากลาออก และรายงานตัวออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมจัดหางานทุก 30 วัน ไม่เว้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์

ส่วนจำนวนเงินชดเชยที่จะได้รับจากการว่างงานในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจะอยู่ที่ 30% ของเงินเดือนล่าสุด โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ถ้าได้เงินเดือนมากกว่านี้ก็จะได้รับเงินชดเชยจำนวน 4,500 บาทเท่านั้น (30% ของ 15,000 บาท) และจะได้รับไม่เกินปีละ 90 วันหรือ 3 เดือน

(ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม อัปเดตเมื่อ 1 มีนาคม 2565)

 

แจ้งลาออกล่วงหน้าจำเป็นแค่ไหน มีสิทธิอะไรบ้างที่ควรจะได้

 

  • แจ้งลาออกและอธิบายเหตุผลให้บริษัทเข้าใจ

หลังจากจัดการทุกอย่างเรียบร้อยก็ถึงคราวแจ้งลาออก ซึ่งในการชี้แจงเหตุผล เราควรอธิบายอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา รวมถึงพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อบริษัทเอาไว้ เช่น ถ้าหากเราตัดสินใจลาออกเพราะหมดไฟ ต้องการหยุดพัก ก็ควรชี้ให้เห็นว่าถ้าเรายังฝืนทำงานต่อไป นอกจากจะไม่เป็นผลดีกับตัวเราเองแล้ว ยังส่งผลเสียต่อบริษัทอีกด้วย เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลง คุณภาพงานเองก็แย่ตาม Performance ของบริษัทก็ย่อมไม่ดีด้วยเช่นกัน

หรือถ้าหากเราต้องลาออกด้วยเหตุสุดวิสัยจริง ๆ  เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ ก็ชี้แจงไปตามความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องปิดบัง บริษัทย่อมเข้าใจเหตุผล และถ้าเรากับทางบริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่แน่ว่าทางบริษัทอาจยื่นมือให้ความช่วยเหลือ หรือเราอาจได้ Offer ให้กลับมาทำงานที่บริษัทเดิมอีกครั้งเมื่อพร้อมทำงานก็ได้

 

7 แนวคิดเอาชนะความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นเมื่อต้องลาออก

 

การตัดสินใจว่าจะลาออกดีไหมถ้ายังไม่มีงานใหม่รองรับนั้นไม่มีคำตอบตายตัว เพราะเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่อาจตามมาก็ไม่เท่ากันด้วย ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาโดยอิงจากสถานการณ์ของตัวเองเป็นหลัก ถ้าสามารถรับความเสี่ยงได้ มีเงินเก็บสำรองเพียงพอ และพูดคุยกับคนใกล้ชิดจนเข้าใจกันดีแล้ว การลาออกก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

 

มองหางานใหม่ที่ใช่ ฝากประวัติกับ JobThai ได้ที่นี่เลย

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

cv-library.co.ukindeed.comlinkedin.comngcareerstrategy.comcareersidekick.com

tags : jobthai, career & tips, งาน, หางาน, สมัครงาน, คนทำงาน, ลาออก, ว่างงาน, เคล็ดลับการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม