- สิทธิประกันสังคมคืออะไร และเหตุผลในการหักเงินสูงสุดถึงเดือนละ 750 บาทในทุกเดือน
- ประโยชน์ของประกันสังคมที่ครอบคลุมตั้งแต่เริ่มทำงาน เกษียณ จนเสียชีวิต
- เงื่อนไขระยะเวลาในการจ่ายประกันสังคมก่อนได้รับสิทธินั้น ๆ ว่าต้องจ่ายกี่เดือน
|
|
JobThai Mobile Application หางานง่าย สมัครงานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย
|
|
การ “หักเงินประกันสังคม” สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ ๆ มีรายได้ที่ไม่มากนักอยู่แล้ว ยังต้องโดนหักสูงสุดถึงเดือนละ 750 บาทอีก จากที่เคยพูดคุยกับหลาย ๆ คนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ มักได้คำตอบว่า “ไม่อยากให้มี” หรือ “เอาเงินไปทำอย่างอื่นเองคงจะดีกว่า” แต่จริง ๆ แล้วสิทธิประกันสังคมมีข้อดีอีกมากที่หลายคนอาจจะยังไม่ได้ตระหนักถึง หรือยังไม่รู้ เพราะนอกจากเรื่องพื้นฐานอย่างการการขูดหินปูน เบิกค่ารักษาพยาบาลแล้วก็ยังได้สิทธิอีกมากมายที่เราควรรู้ไว้
JobThai จะมาบอกเรื่องสิทธิของประกันสังคมให้เด็กจบใหม่ และคนที่ยังไม่รู้ว่าประกันสังคมมีสิทธิอะไรบ้าง เพื่อจะไม่ต้องเสียสิทธิของตัวเองไปเปล่า ๆ อย่างเช่น “การเบิกเงินกรณีว่างงานหรือตกงาน” ก็เป็นอีกหนึ่งสิทธิที่คนทำงานต้องรู้ก่อนลาออก นอกจากนี้ยังมีสิทธิมากมายที่ครอบคลุมตั้งแต่เริ่มทำงาน 1 เดือน ไปจนถึงวัยเกษียณที่ไม่อยากให้มองข้าม
1. จ่ายประกันสังคม 1 เดือนขึ้นไป: ค่าทำศพ
การเสียชีวิตอาจจะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้นึกถึง แต่ก็ควรรู้สิทธินี้ไว้เพราะอาจเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวของเราก็ได้ สิทธิในข้อนี้คือเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ผู้จัดการศพจะสามารถเบิกค่าทำศพจากกองทุนประกันสังคมได้เป็นจำนวน 50,000 บาท หากผู้เสียชีวิตมีประกันสังคมอยู่ผู้จัดการศพก็ควรรู้ไว้จะได้ไม่เสียสิทธิในการเบิกค่าทำศพ เพราะค่าใช้จ่ายในการทำศพแต่ละครั้งไม่น้อยเลยถ้าเบิกได้ก็คงจะดีกว่า
*ผู้มีสิทธิรับต้องมีชื่อระบุอยู่ในหนังสือเท่านั้น หากไม่มีหนังสือระบุจะเฉลี่ยให้คนในครอบครัวแทน
2. จ่ายประกันสังคม 3 เดือนขึ้นไป: เบิกค่ารักษาพยาบาล
หลาย ๆ คนคงรู้กันอยู่แล้วว่าเราสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่สถานพยาบาลที่เราเคยเลือกไว้แต่แรก แต่นอกจากสถานพยาบาลที่เราเลือก ก็ยังมีสถานพยาบาลอื่นที่สามารถใช้สิทธิได้อยู่เช่นกันหากเกิดกรณีฉุกเฉินและจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน จากนั้นสามารถเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมได้ตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ ส่วนไฮไลท์ของสิทธินี้ก็คงเป็นสิทธิที่เราได้ยินกันมาบ่อย ๆ คือการทำฟันนั่นเอง
3. จ่ายประกันสังคม 3 เดือนขึ้นไป: ประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ (โดยไม่ได้เกิดจากการทำงาน)
ทุพพลภาพคือ การสูญเสียอวัยวะ สมรรถภาพของอวัยวะ หรือภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงถึงขนาดไม่อาจประกอบอาชีพตามปกติได้ ทุพพลภาพเกิดขึ้นได้จากหลายกรณีเช่น เป็นโรคเบาหวานจนทำให้ตาบอดส่งผลให้ไม่สามารถประกอบอาชีพที่ต้องใช้ดวงตาได้ เกิดอุบัติเหตุจนทำให้พิการ หรือเกิดเรื่องร้ายแรงจนสูญเสียภาวะปกติของจิตใจ ทั้งนี้ต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ด้วย
*กรณีทุพพลภาพรุนแรง ได้รับเงินทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิต หากไม่รุนแรง จะได้รับเงินทดแทนตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามกำหนดแทน
4. จ่ายประกันสังคม 5 เดือนขึ้นไป: ค่าคลอดบุตร / ลาคลอด
คุณแม่หรือคุณพ่อสามารถใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาท ต่อการคลอด 1 ครั้ง แต่ไม่สามารถใช้สิทธิพร้อมกัน 2 คนได้
คุณแม่จะได้รับเงินจากการลาคลอด โดยเหมาจ่ายในอัตรา 50% ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น)
5. จ่ายประกันสังคม 6 เดือนขึ้นไป: ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน / ตกงาน
หัวข้อนี้มีหลาย ๆ คนเสียสิทธิของตัวเอง โดยไม่รู้ว่าเราสามารถเบิกค่าชดเชยขณะที่เราว่างงานได้ กรณีหมดสัญญาจ้าง หรือลาออก เราสามารถลงทะเบียนและรายงานตัวว่างงาน และจะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงาน 30% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน (3 เดือน) สูงสุดไม่เกินเดือนละ 4,500 บาท (คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 x 30%)
หากถูกเลิกจ้างโดยไม่ใช่ความผิดในกรณีทุจริตต่อหน้าที่หรือทำผิดกฎหมายร้ายแรง จะได้รับเงินชดเชยขณะที่ว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 180 วัน (6 เดือน) สูงสุดไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท (คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 x 50%)
6. จ่ายประกันสังคม 12 เดือนขึ้นไป: เงินสงเคราะห์บุตร (ไม่เกิน3คน)
ผู้มีสิทธินี้ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ต้องไม่ใช่บุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาท ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ (800 บาท x 72 เดือน เป็นเงิน 57,600 บาท) ถ้าเกิดเรามีบุตรแล้วลืมสิทธิข้อนี้เราอาจทิ้งเงินจำนวนกว่า 5 หมื่น ไปฟรี ๆ โดยไม่รู้ตัว
7. เกษียณ
จ่ายประกันสังคมน้อยกว่า 180 เดือน: บำเหน็จ
จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 180 เดือน (15 ปี) จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด (ผลประโยชน์ตอบแทนแต่ละปีจะไม่เท่ากัน)
* หากยังจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน จะได้รับเงินสมทบเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนจ่าย ร้อยละ 3% ต่อเดือนเท่านั้น
จ่ายประกันสังคม 180 เดือน (15 ปี) ขึ้นไป: บำนาญ
จ่ายเงินสมทบมาแล้วมากกว่า 180 เดือนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (5 ปี) ก่อนจะเกษียณ ไปตลอดชีวิต
* หากผู้รับเงินเสียชีวิตภายใน 5 ปี หลักเกษียณจะได้เงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่า ของเงินบำนาญรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้าย
นอกจากประกันสังคม บางบริษัทก็ยังมีสวัสดิการอื่น ๆ น่าสนใจอีกมากมาย
|
|
เราจะสังเกตได้ว่ายิ่งเราทำงานและสะสมกองทุนประกันสังคมนานเท่าไหร่ สิทธิประโยชน์ของเราก็จะยิ่งมีมากขึ้น และถึงจะเกษียณก็ยังได้รับเงินไว้ใช้อีกด้วย 7 หัวข้อนี้ก็คือสิทธิที่เราได้จากการจ่ายเงินเพียงเดือนละ 750 บาท เพื่อแลกกับประโยชน์มากมายที่เราจะได้รับ ทั้งนี้ แต่ละสิทธิก็จะมีเงื่อนไขที่เยอะกว่านี้ หากเราต้องการยื่นเรื่องใช้สิทธิต่าง ๆ เช่นในกรณีว่างงานหรือตกงาน เราต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม โดยสามารถอ่านรายละเอียดเอกสาร หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ได้ที่ sso.go.th
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 27 สิงหาคม 2019
และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai วันที่ 17 กรกฎาคม 2023
ที่มา:
flowaccount.com
sso.go.th