เมื่อยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนติดตามอ่านข่าวสารต่าง ๆ ผ่านสื่อออนไลน์กันมากขึ้น จึงทำให้เกิดเป็นอาชีพ “Online Writer” หรือนักเขียนออนไลน์ อาชีพที่หลายคนรู้จักกันดี หากคุณกำลังอยากเป็นนักเขียนออนไลน์ หรือสนใจอยากเปลี่ยนมาสายงานนี้ วันนี้ JobThai จะพามาล้วงลึกอาชีพ “Online Writer” กับ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (อ.เกด) เจ้าของเพจ เกตุวดี Marumura ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ “X Career ข้ามสาย Talk Season 2” ของ CareerVisa Thailand
อ.เกด เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 17 ปี ด้วยความเป็นคนชอบเขียน จึงชอบเขียนเล่าเรื่องญี่ปุ่นให้เพื่อน ๆ อ่านเพราะสมัยนั้นญี่ปุ่นยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ตอนอยู่ญี่ปุ่นทำพาร์ทไทม์เยอะมากเป็นทั้งไกด์ ล่าม สอนภาษาไทย ค้นหาตัวเองจนมาพบว่าชอบการสอน สุดท้ายหลังจากจบการศึกษาปริญญาเอกจึงได้มาเป็นอาจารย์สอนการตลาดอยู่ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว
โดยอ.เกด เริ่มงานเขียนจริง ๆ หลังจากกลับไทยมาแล้ว เริ่มจากเขียนลง Facebook จนรุ่นพี่มาชวนไปเขียนในเว็บไซต์ Marumura.com ที่เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับญี่ปุ่น เช่น วัฒนธรรม, การใช้ชีวิต ฯลฯ ยุคที่เว็บไซต์เพิ่งเริ่มโต พอเขียนแล้วคนบอกว่าสนุก ก็ยิ่งทำให้มีพลังมากขึ้น คุณนุช บก.ที่มติชน เจ้าของเพจซากุระดราม่า ก็ติดต่อมาขอรวมบทความที่อ.เกดเขียนในเว็บไซต์ จนได้ออกงานเขียนเล่มแรกในชื่อ “Japan Gossip เมาท์ญี่ปุ่นให้คุณยิ้ม”
สำหรับการเป็นคอลัมนิสต์ อ.เกดได้เป็นนักเขียน The Cloud รุ่นบุกเบิก นอกจากนี้ อ.เกดยังเป็นคอลัมนิสต์ให้ธนาคารกรุงศรี และ THE STANDARD อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันอ.เกด เป็นเจ้าของเพจ “เกตุวดี Marumura” และ มีเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นถึง 8 เล่ม ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจ, การตลาด และการบริหารธุรกิจแบบคนญี่ปุ่น
อ.เกดเป็นทั้งอาจารย์และนักเขียน แต่สำหรับอ.เกดนั้นทั้งสองบทบาทไม่ต่างกัน เพราะทุกงานที่ทำนั้นมีจุดร่วมในการเป็น “นักสื่อสาร” เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความเพื่อสื่อสารเรื่องราวดี ๆ ผ่านตัวอักษร หรือการสื่อสารผ่านคำพูดเวลาสอน ภายใต้สิ่งที่ชอบอย่าง “การตลาด” และ “เรื่องราวดี ๆ ของญี่ปุ่น” นี่จึงเป็นชีวิตการทำงานที่ลงตัว การได้เจองานที่ดี สร้างคุณค่า เปลี่ยนชีวิตคน จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ในการทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารอย่างแท้จริงทั้งในบทบาทของการเป็นนักเขียนและอาจารย์
งานเขียน Online เหมือนอาหารจานด่วน ต้องสั้น กระชับ หาจุดฮุกให้คนหยุดอ่าน ส่วน Offline หมือนโอมากาเสะ ละเมียดละไม ซับซ้อนกว่า ด้วยความยาวที่ต่างกันมาก จะต้องวางโครงสร้าง ค่อย ๆ ปูเรื่องให้คนซึมซับภาษา วิธีการเล่า แต่ละบทต้องร้อยเรียงกัน และมีตัวแปรที่จะใช้เล่าเรื่องในแต่ละหมวด มีการทวน สรุปประเด็น อ่านจบแล้วต้องรู้สึกอิ่ม ฟิน สร้างแรงบันดาลใจ สรุปคืองานเขียน Online ง่ายกว่า เพราะแก้ไขได้ ได้ Feedback เร็ว ทำให้รู้ว่าจะเขียนยังไงให้ถูกจุด ในขณะที่งานเขียน Offline หรือการเขียนหนังสือต้องมีความรับผิดชอบสูง เดาไม่ได้ว่าจะใครอ่าน สิ่งที่เขียนไปก็แก้ไขอะไรไม่ได้ จึงต้องทำอย่างตั้งใจและละมุนที่สุด
ทุกบทความที่เขียนต้องคงความเป็นตัวเองไว้อยู่ แต่สิ่งที่แตกต่างกันในแต่ละแพลตฟอร์มคือการเลือก Material ที่จะเขียนให้ตรงกับสไตล์ของ Publisher นั้น ๆ มากกว่า เช่น เวลายกตัวอย่างบริษัทญี่ปุ่น เราก็จะดูว่าบริษัทนี้เหมาะกับ Online Publisher ไหนมากที่สุด ส่วนภาษาอาจจะมีปรับนิดหน่อยแต่ต้องยังคงเอกลักษณ์เราไว้เหมือนเดิม
การจะเป็นนักเขียนที่ดีได้จะต้องมี “ความประทับใจกับอะไรบางอย่างจนอยากเล่า” และข้อดีของการเขียนคือการได้มีมุมที่แตกต่าง ที่แม้จะเป็นเรื่องเดียวกันแต่สามารถมองได้หลากหลาย ได้เห็นถึงพลังในมุมมองของตัวเองในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งอ.เกดเองก็ค้นพบว่าความเป็นตัวเองคือ “ความดีงาม” และ “ความละเมียดละไม” ที่ปรากฏอยู่ในงานเขียน โดยวิธีการหาตัวตนอาจเริ่มจากหาจุดเด่น สิ่งที่ไม่ค่อยมีใครทำได้ สร้างตัวตนว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหน เช่น ตัวอ.เกด คือ เชี่ยวชาญเรื่องการตลาด ธุรกิจ และรู้ภาษาญี่ปุ่น ทำให้สามารถหาข้อมูลจากสื่อญี่ปุ่นได้
1. เชื่อตัวเองว่าเรามีมุมมองที่สนุก ไม่ต้องกลัวว่าเขียนแบบนี้จะน่าเบื่อรึเปล่า คนจะไม่สนใจรึเปล่า มุมมองที่แตกต่าง หรือมุมมองที่คนอื่นมองไม่เห็น จะเป็นสิ่งทำให้เราพิเศษและเป็นเอกลักษณ์มาก
2. สัมผัสพลังว่าอยากเล่า ถ้ามีพลังที่อยากเล่า มันจะนำไปสู่บทความที่ดี ค้นหาเรื่องที่ทำให้ใจเต้นมาเป็นพลังที่อยากเล่า
3. เชื่อมั่นในพลังของการสื่อสารว่าเปลี่ยนชีวิตคนได้ ถ้าเรากล้าสื่อสารออกมา
อย่างตัวอ.เกดเอง จุดหนึ่งที่ทำให้เขียนหนังสือได้ถึง 8 เล่ม เพราะหนังสือที่เขาเขียนช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงและช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้ พอยิ่งเห็นก็ทำให้ยิ่งอยากเล่ามากขึ้นไปอีก
อ.เกดได้แชร์เทคนิคการเขียนเล่าเรื่องให้สะกดใจคนฟังไว้ ดังนี้
- ตัวตนเราต้องชัด ต้องบอกได้ว่าเราเป็นใคร อะไรคือความเป็นเรา แล้วทำไมต้องเป็นเรา ต้องให้นักอ่านจำภาพเราให้ชัด และเขาจะรู้ว่าเราจะเลือกสิ่งดี ๆ มาให้เขาเสมอ
- เขียนให้ตรงจุด ต้องคิดว่าอยากเล่าอะไรมากที่สุด แล้วหา 1 ประโยคหลักที่จะแสดงความเป็นบทความนั้นออกมา ทุกอย่างที่เขียนต้องวนกลับมาสื่อสารให้คนเข้าใจประโยค Main Idea นั้นให้ได้
- การคิด Topic ให้คิดจาก Main Idea ซึ่งมีหลายวิธี ตั้งแต่ การกระตุ้นให้ชวนสงสัย การอุปมาอุปไมย หรือการเปิดประเด็นที่ตรงข้ามกับความเชื่อทั่วไปของคน ทำให้คนอยากรู้ และสนใจว่ามันทำได้ยังไง
- Material ยิ่งดี ยิ่งอร่อย แม้เราจะเขียนไม่เก่งแต่ถ้า Material ที่เราเลือกมาเล่านั้นน่าตื่นตะลึงอยู่แล้ว คนก็ยังสนใจอยู่ ดังนั้นการเลือกหยิบเรื่องมาเล่าก็สำคัญ
- การเขียนที่ดีต้องใช้ตัวอักษรทำให้คนเห็นภาพ ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับเรา มีน้ำเสียงออกมาจากตัวอักษร การเขียนให้เหมือนเราคุยกับนักอ่าน จะมีความละเมียดละไมมากกว่า และสามารถเล่นกับคนอ่านได้มากกว่า
งานเขียนไม่จำเป็นต้องสู้กับ Content ประเภทอื่น เพราะแต่ละ Format ต่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง สิ่งที่สำคัญคือการเป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด เชื่อในพลังของสื่อประเภทไหนให้ทำสิ่งนั้น แต่สิ่งที่ควรค้นหาคือ Material ที่หามาดีพอมั้ย และความเป็นตัวเรานั้นชัดเจนรึเปล่า เพื่อที่จะหาคำตอบต่อไปว่า ควรทำ Format ไหนที่เป็นตัวเรามากที่สุด แนะนำให้ลองหลาย ๆ รูปแบบ เช่น Facebook, Twitter, Podcast หาสิ่งที่เราคิดว่าชอบที่สุด เพราะแต่ละสื่อนั้นแตกต่างกัน และการเล่าเรื่องตามใจเรามีพลังมากกว่าการเรื่องตามใจคนอื่น
หากเคยโดนว่าว่าไม่รู้จริง เพราะการ Research ที่ไม่ดีพอ ควรใช้จุดนี้เปลี่ยนเป็นพลัง ก่อนที่จะเขียนต้องระวังและต้องหาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง เพื่อให้ผลงานของเราออกมาดีที่สุด สำหรับคนที่มีเพจ ก็ควรสื่อสารกับคนใน Community ของเราด้วยคำพูดที่ดี พวกเขาจะได้แสดงออกแบบเดียวกับเรา
ไม่แปลกที่บางครั้งบทความที่เราเขียนแล้วรู้สึกอินกลับไม่ค่อยมีใครอ่าน บางบทความเขียนแบบรีบ ๆ คนกลับชอบ ขอให้อย่าท้อ ให้คิดว่าผลลัพธ์เป็นแค่ค่าขนม ต่อสู้ด้วยจำนวนและพลังในใจ ก่อนทำต้องคิดทุกครั้งว่างานที่ทำเราแฮปปี้มั้ย อย่าไปยึดติดกับยอดไลค์ ยอดวิวมาก จะทำให้พลังหายไป
หมั่นกลับมาดูและพิจารณางานเขียนของตัวเองว่ามีตรงไหนดี หรือไม่ดี ศึกษานักเขียนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา เช่น สังเกตวิธีการเขียนของเขาว่าทำไมเราถึงชอบ ทุกอย่างคือการฝึกฝน การเขียนก็เช่นกัน ไม่มีใครอยู่ ๆ ก็เขียนเก่งเลย อุปสรรคหลักของนักเขียนคือการไม่กล้าที่จะเขียน ลองเขียนออกมาเยอะ ๆ พอมี Feedback มากขึ้น จะทำให้เห็นทางตัวเองชัดขึ้น แล้วจะรู้ว่าเรื่องแบบไหนที่จับใจตัวเอง และจับใจคนอ่าน
อ.เกดบอกว่าแรงบันดาลใจมีอยู่รอบตัว และทุกคนมีเรื่องราวของตัวเอง เวลาไปไหนมาไหนก็จะมองหาเรื่องราวเสมอ พอได้ไอเดียก็จดลงไปในสมุดเล็ก ๆ หรือในโทรศัพท์มือถือ เมื่อถึงเวลาต้องเขียนแต่อ.เกดคิดไม่ทันก็จะหยิบสมุดขึ้นมาหาเรื่องที่อยากจะเล่า ซึ่งในมุมของอ.เกดนั้น ชอบการจดลงสมุดมากกว่า เพราะเวลาได้ยินเสียงกระดาษกับปากกามันทำให้สงบ และได้ไล่เรียงเนื้อหาของตัวเองด้วย
บางคนอาจจะคิดว่าอาชีพนักเขียนดูไกลตัว ดูยาก ให้คิดว่าเราเป็นนักสื่อสาร เป็นนักสร้างพลังดี ๆ แทนก็ได้ ทุกวันนี้ Social Media ทุกแพลตฟอร์มทำให้พลังที่เราคิดเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น สำหรับใครที่ยังไม่ได้เริ่มตอนนี้ อยากให้ลองเริ่มเลย ขอแค่เชื่อในพลังของตัวอักษร ไม่แน่บางทีมุมมองของเราอาจไปเปลี่ยนชีวิตของคน ๆ นึงไปเลยก็ได้
นี่คือบางส่วนจากไลฟ์เท่านั้น สามารถเข้าไปชมย้อนหลังแบบเต็ม ๆ ได้ ที่นี่
|
|
หางานด้านการเขียนทั้งหมดได้ ที่นี่
|
|
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน |
Public group · 42,947 members |
|
|
|