“กลัวอ่ะ…ไม่กล้าทำ”
เคยเป็นไหมเวลาได้รับมอบหมายให้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แล้วรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ หรือเวลาต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ คุณจะลังเลและกลัวว่าถ้าตัดสินใจผิดพลาด ชีวิตต้องจบเห่แน่ ๆ จนทำให้คุณไม่กล้าออกจาก Comfort Zone หรือจุดที่คุณคุ้นเคย จุดที่คุณรู้สึกว่าสบายกายและใจ เพราะคุณจะมีความคิดที่ว่าจะออกไปเสี่ยงเพื่ออะไร ในเมื่อที่เป็นอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ถ้าเคยก็มาไขข้อข้องใจถึงสาเหตุของความกลัวและปรับเปลี่ยนความคิดนี้ไปพร้อม ๆ กัน
Comfort Zone คือพื้นที่ปลอดภัย หรือจุดที่คุณรู้สึกสบายไม่ต้องกังวลอะไรนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องการดำเนินชีวิต มันเป็นสิ่งที่คุณถนัดหรือคุ้นเคย บางทีก็อาจจะชำนาญถึงขั้นหลับตาทำก็ยังได้ ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แค่ทำแบบเดิม ๆ ก็จะได้ในสิ่งที่คุณเคยได้และพอใจอยู่แล้ว
เวลาคุณไม่กล้าทำอะไรแล้วอ้างว่าทำไม่เป็น ไม่เคยทำ หรือไม่รู้ บางทีเหตุผลอาจเป็นเพราะคุณกลัวตัวเองจะทำไม่สำเร็จ กลัวว่าทุกอย่างที่สร้างมาจะพังลง หรือกลัวตัวเองจะเสียสิ่งที่เคยมีอยู่ใน Comfort Zone ปัจจุบันไป และถ้าเหตุผลคือความกลัวที่บอกไป นั่นแสดงว่าคุณกำลังอยู่ใน Fear Zone หรือจุดที่กลัวว่าจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในอนาคต
คนที่ไม่กล้าออกจาก Comfort Zone อาจจะมีความเชื่อลึก ๆ ว่าตัวเองรับมือกับสิ่งใหม่ ๆ ความเครียด และความกังวลที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ เลยเลือกที่จะอยู่ในโลกใบเดิม ไม่เสี่ยง มั่นคง ชีวิตราบเรียบเป็น Routine ที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัยและรับมือได้ แต่รู้ไหมว่าการเชื่อแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อาจเกิดผลเสียที่ตามมา ดังนี้
สร้างนิสัยแห่งความสบาย ขี้เกียจมากขึ้น: เคยได้ยินไหม “You are what you DO” “คุณทำอย่างไร คุณก็เป็นอย่างนั้น” ถ้าคุณขี้เกียจ สมองคุณก็จะขี้เกียจ หยุดอยู่กับที่แบบไม่พัฒนา แล้วมันก็จะเริ่มสร้างนิสัยแห่งความสบายและความขี้เกียจมากขึ้นเรื่อย ๆ จนวันนึงคุณอาจตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองอายุ 60 แล้วแต่ยังไม่มีไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย
ย่ำอยู่กับที่ ไม่ก้าวหน้า: Comfort Zone น่ากลัวตรงที่มันทำให้คุณรู้สึกสบาย แล้วเวลาที่สบายอยู่แล้ว มีใครบ้างที่อยากจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ซึ่งนั่นทำให้คุณเริ่มห่างไกลจากความสำเร็จในด้านการงานและชีวิตส่วนตัวออกไปเรื่อย ๆ เพราะคุณมัวแต่อยากสบายเลยไม่คิดจะลงมือทำอะไรใหม่ ๆ ที่ท้าทายให้สำเร็จเลย
ไม่เข้มแข็งและขาดความมั่นใจ: ชุดความคิดของคุณมีผลต่อการตัดสินใจของตัวเองเสมอ ถ้าเอาแต่คิดว่าตัวเองทำไม่ได้ และไม่ก้าวออกมาจากจุดเดิม มันก็จะส่งผลทำให้คุณกลายเป็นคนที่ขี้กลัว อ่อนแอ และไม่มีความมั่นใจที่จะทำอะไรเลยสักอย่าง แต่ถ้ามีชุดความคิดที่ว่าไม่มีอะไรที่คุณทำไม่ได้ คุณก็จะพยายามจนสุดความสามารถแล้วทำมันจนสำเร็จ
ไม่ทำอะไรผิดแปลกไปจากเดิม ความคิดสร้างสรรค์ลดลง: คนที่มองหาประสบการณ์แปลกใหม่อยู่เสมอ มักมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าคนที่ทำแบบเดิมซ้ำ ๆ เพราะการที่คุณทำอะไรซ้ำ ๆ ก็ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรม และทำได้แค่สิ่งที่ถูกป้อนข้อมูลเท่านั้น สมองคุณจะไม่เกิดการพัฒนา เพราะไม่ได้ใช้สมองคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ เลย
Mindset เป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดการตัดสินใจในการใช้ชีวิตของคนเรา เพราะ Mindset คือ ความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม เช่น หากคุณเชื่อว่าตัวเองไม่เก่งพอจะทำอะไรที่ท้าทายได้ คุณก็อาจจะเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง หรือไม่กล้าโชว์ความสามารถ แต่ Mindset เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนได้ ซึ่งจะใช้แรงและเวลาแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่า Mindset นั้นฝังในหัวคุณแน่นแค่ไหน รวมถึงคุณพยายามจะเปลี่ยนมันมากแค่ไหน ซึ่งถ้าคุณกำลังรู้สึกว่าตอนนี้คุณมี Mindset ที่ทำให้ไม่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ หรือออกจาก Comfort Zone และอยากจะเริ่มเปลี่ยนความคิดของตัวเอง ก็มาดูวิธีง่าย ๆ ที่จะพาคุณออกจาก Comfort Zone ของตัวเองกัน
1. เรียนรู้จากเคสที่ออกจาก Comfort Zone แล้วประสบความสำเร็จ
ความกลัวทำให้หลายคนไม่กล้าเริ่มทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ไม่กล้าออกไปใช้ชีวิต แต่หากคุณต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลองเริ่มจากการมองคนที่ประสบความสำเร็จจากความกล้าและพยายามทำสิ่งใหม่ของพวกเขา เรียนรู้ว่าพวกเขามีวิธีคิดอย่างไร รับมือกับความเครียดอย่างไร และจัดการความกลัวตัวเองแบบไหนให้ผ่านอุปสรรคไปได้ นำคนเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจ และพวกเขาก็เป็นหลักฐานอย่างดีที่ลบความเชื่อที่ว่าการเสี่ยงในโลกที่ไม่รู้จักนั้นน่ากลัว
2. ทำสิ่งเดิมแต่เปลี่ยนวิธีการ
ทำสิ่งเดิมที่ตัวเองเคยทำปกติ แต่เปลี่ยนวิธีการ เช่น เปลี่ยนเส้นทางการเดินทางไปทำงาน คุณอาจจะเจอเส้นทางที่ทำให้ประหยัดเวลาได้มากกว่า หรือได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็น หรือจากเดิมที่ทำงานตัวคนเดียวและแก้ปัญหาด้วยตัวเองมาตลอด ลองเปลี่ยนมาปรึกษาหรือหาไอเดียจากคนอื่นให้พวกเขาช่วยคุณดู วิธีการนี้นอกจากจะทำให้คุณสนุกไปกับการออกแบบวิธีใหม่ ๆ ให้กับ Routine เดิม ๆ แล้ว ยังทำให้คุณคุ้นเคยกับการลองทำสิ่งใหม่ ๆ เริ่มทำสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น และอาจทำให้คุณค้นพบวิธีทำสิ่งเดิมให้ง่ายและเร็วขึ้นก็ได้
3. รับโอกาสที่ท้าทายขึ้น
ข้อดีของการทำสิ่งที่ไม่เคยทำคือสิ่งเหล่านั้นจะบีบให้คุณพัฒนา จะกดดันให้คุณต้องทำให้ได้และพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต รวมถึงการรับมือด้านจิตใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความวิตกกังวล ความล้มเหลว ความเสียใจ เมื่อคุณกล้ารับโอกาสที่ท้าทายขึ้นแล้วทำออกมาดี คุณจะเริ่มสนุก มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และเมื่อคุณทำสิ่งนั้นได้คล่อง คุณจะเริ่มมองหาความท้าทายมากขึ้นไปอีก และสิ่งนี้แหละที่จะทำลายความกลัวไปทีละน้อย
4. ตั้งความกลัวขึ้นมาเป็นเป้าหมาย
การไม่ออกจาก Comfort Zone อาจเป็นเพราะคุณกลัว แต่การที่คุณเอาแต่หนีความกลัว มันอาจทำให้คุณมองไม่เห็นสิ่งดี ๆ ที่จะตามมาได้ ดังนั้นหยุดหนี ลองทำความเข้าใจกับความกลัวของตัวเองให้มากขึ้น และพยายามก้าวผ่านความกลัวไปให้ได้ ซึ่งนี่คือ 3 ขั้นตอนที่ช่วยคุณได้
-
ตั้งโจทย์เป้าหมายที่อยากทำแต่ความกลัวมากั้นไว้ แล้วแจกแจงว่าความกลัวของคุณคืออะไร มีวิธีที่จะป้องกันได้ยังไงบ้าง และวิธีแก้ปัญหาถ้าสิ่งที่กลัวเป็นจริง เช่น
-
เป้าหมาย: อยากย้ายที่ทำงานใหม่
-
ความกลัวที่ซ่อนอยู่: กลัวจะทำงานที่ใหม่ได้ไม่ดี
-
วิธีป้องกัน: สอบถามความรับผิดชอบให้ชัดเจนระหว่างสัมภาษณ์งาน เพื่อเอามาพิจารณาว่าคุณมีความสามารถที่เหมาะกับงานนั้นจริง ๆ ไหม
-
วิธีแก้ไขปัญหาในกรณีสิ่งที่กลัวเกิดขึ้นจริง: หาความรู้และพัฒนาทักษะที่คุณยังขาดเพิ่มเติม
-
จินตนาการดูว่าถ้าคุณผ่านมันไปได้ จะเป็นยังไง เช่น ถ้าได้ทำงานที่ใหม่แล้วทุกอย่างราบรื่น คุณจะมีความสุขมากแค่ไหน จะเติบโตไปจากเดิมยังไง และเป้าหมายที่ดีจะต้องทำให้หัวใจคุณตื่นตัวที่จะลงมือทำ
-
จินตนาการว่าถ้าคุณไม่ได้ลงมือทำ จะเป็นยังไง เช่น ถ้าคุณไม่ย้ายงานแต่ทนทำอยู่ที่เดิม คุณจะเบื่อมากไหม จะเสียใจแค่ไหน หรือมีอะไรที่ต้องเสียไปบ้าง
นักเขียนชาวออสเตรเลียชื่อ John Marsden เคยกล่าวไว้ว่า “การไม่เสี่ยงอะไรเลยคือความเสี่ยงที่สุด” เพราะในชีวิตจริงไม่มีอะไรมารับประกันว่าคุณจะมั่นคง โลกมันหมุนเร็วขึ้นเรื่อย ๆ มีคนที่เก่งกว่าและพร้อมจะเข้ามาแทนที่คุณได้ทุกเวลา การที่คุณกลัวและติดอยู่กับความสบายใน Comfort Zone ของตัวเองจะทำให้สุดท้ายแล้วคุณจะไม่ก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือชีวิตส่วนตัว เพราะฉะนั้นก้าวออกมาจาก Comfort Zone และจำไว้เสมอว่าชีวิตที่ไร้ซึ่งความท้าทายก็เท่ากับชีวิตที่ไร้ซึ่งการเติบโต
ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่
|
|
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน |
Public group · 42,947 members |
|
|
|
ที่มา:
news.se-ed.com
techsauce.co
bypichawee.co
medium.com
pantip.com