-
เทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้คุณทำงานดีขึ้น ทั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยพกพาสะดวกและแอปพลิเคชัน ต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยจัดการชีวิตให้คุณ
-
การทำงานอย่างเป็นระบบจะทำให้คุณไม่ตกหล่นงานใดงานนึงไป รู้จักการจัดลำดับความสำคัญและจดจำข้อผิดพลาดจากงานทุก ๆ ชิ้น
-
เลี่ยงการ Multitasking (การทำงานหลายชิ้นในเวลาเดียวกัน) เพราะทำให้ไขว้เขวง่าย ส่งผลกระทบต่อการจัดระเบียบความคิด
-
ทำร่างกายให้รองรับต่อการจดจำ หมั่นออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุงความจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
-
ทำกิจกรรมบริหารสมอง เช่น การเล่นเกมที่ท้าทายทักษะความคิด การลงมือทำในสิ่งที่ ไม่คุ้นชิน หรือจะทำกิจกรรมที่เรียบง่ายแต่ได้ผลดีอย่างการนั่งสมาธิ
-
ความเครียดและความโกรธมีผลต่อสมองส่วนความจำ การได้พูดคุยกับใครสักคนเป็นยาคลายเครียดชั้นดี
|
|
JobThai Mobile Application หางานที่ถูกใจได้เพียงปลายนิ้ว
|
|
ในโลกการทำงาน นอกจากจะต้องมีทักษะและความสามารถแล้ว ความเป๊ะในการทำงานก็เป็นอีกจุดที่จะช่วยให้คุณดูเป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีความใส่ใจต่องานทั้งในสายตาเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย ทุกคนสามารถวางใจได้ว่าคุณจะส่งงานให้เขาได้ทันตามเวลาที่ตกลงกันไว้ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ “ขี้ลืม” ลืมแม้กระทั่งเรื่องที่เพิ่งผ่านมาไม่นานอย่างที่จอดรถเมื่อเช้าก็จำไม่ได้ซะแล้ว คุณจะเอาชนะความขี้ลืมและกลายเป็นคนทำงานเป๊ะปังในสายตาของเพื่อนร่วมงานกับเขาได้บ้างไหมนะ วันนี้ JobThai มีเคล็ดลับที่จะช่วยเปลี่ยนคนขี้ลืมให้กลายเป็นคนทำงานระดับโปรฯ มาแนะนำ
เทคโนโลยี ช่วยได้เยอะ
นอกจากเทคโนโลยีจะให้ความบันเทิงได้แล้ว ยังสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของคุณได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถลงวันเวลาที่มีประชุมหรือวันที่ต้องออกไปดูงานนอกออฟฟิศ ไว้ใน Online Calendar ไม่ว่าจะเป็น Google Calandar, Outlook Calendar หรือ Calendar ของระบบ iOS โดยปฏิทินออนไลน์แบบนี้มีข้อดีตรงที่มีระบบเก็บข้อมูลแบบ Cloud ดังนั้นผู้ใช้สามารถเข้าถึงปฏิทินส่วนตัว เพื่อเช็กตารางงานต่าง ๆ ได้ตลอดเวลาจากทุกอุปกรณ์ที่มีอินเทอร์เน็ต
แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มักลืมเรื่องงานยิบย่อยอยู่บ่อย ๆ สิ่งที่จะช่วยชีวิตคุณได้คือแอปฯ ประเภท Reminder หรือแอปฯ To do list เช่นแอปฯ Tick Tick หรือ Google Task เพียงพิมพ์หัวข้อที่ต้องทำพร้อมระบุวันเวลาที่อยากให้แอปฯ แจ้งเตือน และเมื่อคุณทำงานสำเร็จลุล่วงก็ติ๊กหัวข้อนั้นออกจากรายการ หรือถ้าคุณเป็นคนที่อยู่ ๆ ก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาได้ในระหว่างกินข้าวหรือระหว่างอยู่ในลิฟต์ จะให้จดไอเดียใส่สมุดก็ไม่สะดวกซะด้วย แอปฯ ประเภท Sticky Note ที่เหมือนกับกระดาษ Post-it อย่าง Sticky Widget, StickMe หรือ Google Keep ก็เหมาะให้คุณจดไอเดียเอาไว้กันลืม
สำหรับคนที่ต้องเดินทางไปทำงานตามสถานที่ต่าง ๆ บ่อยจนแทบไม่ได้เข้าออฟฟิศ การมีอุปกรณ์ที่พกพาสะดวก สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างไอแพดหรือแท็บเล็ตก็จะช่วยให้คุณไม่ต้องแบกเอกสารพะรุงพะรังไปทุกที่ ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมเอกสารฉบับไหนตราบที่คุณเก็บไฟล์ไว้ในเครื่องหมดแล้ว หากมีเรื่องที่ต้องจดบันทึกอย่างจริงจัง เช่น จดสรุปการประชุม ก็สามารถใช้อุปกรณ์คู่กับตัวเครื่องอย่าง Stylus Pen ได้อีกด้วย นอกจากนั้นปัจจุบันมีแอปฯ สมุดจดอย่าง Notability ที่ปรับรูปแบบการจดได้ตามใจแถมยังมีฟังก์ชันอัดเสียงระหว่างจด ที่ถ้ากลับมาอ่านสรุปแล้วพบว่าพลาดเนื้อหาการประชุมตรงไหนไปก็กดเล่นไฟล์เสียงฟังไปได้ในตัว
ทำงานให้เป็นระบบ
“หันไปทางซ้ายก็งาน ทางขวาก็งานเหมือนกัน ทำอันไหนก่อนดีเนี่ย?!”
เคยไหมที่งานต่าง ๆ ถาโถมเข้ามาจากทุกทิศทางจนหัวปั่น มัวแต่เร่งทำงานบางชิ้นให้เสร็จจนดันลืมสังเกตไปเลยว่ามีงานชิ้นไหนที่ยังไม่ได้ทำรึเปล่า มารู้ตัวว่าลืมทำก็ตอนเจ้านายทวงถามซะแล้ว ปัญหานี้แก้ไขได้เพียงลองเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อช่วยให้เราไม่หลงลืมงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งไป
เริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญของงานว่าในบรรดางานทั้งหมดที่เรามีอยู่ในมืองานไหนสำคัญมากน้อยกว่ากันและงานไหนด่วนที่สุด จากนั้นก็เริ่มเรียงลำดับว่าควรทำชิ้นไหนก่อนหลัง ตั้งเดดไลน์เอาไว้ให้งานของตัวเองแต่ละชิ้นด้วย คุณจะใช้วิธีการจัดการงานด้วย Eisenhower Box ก็ได้เพราะจะช่วยให้เห็นภาพงานทั้งหมดได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ในกรณีเป็นงานใหญ่ที่ทำร่วมกันทั้งทีม คุณยิ่งต้องคุยกับเพื่อนร่วมทีมให้ชัดเจนว่าคุณจะทำส่วนของคุณเสร็จและส่งต่อให้เพื่อนได้เมื่อไหร่
เมื่อทำงานเสร็จและส่งให้หัวหน้า หัวหน้าอาจมีการคอมเมนต์จุดที่ยังต้องแก้ไข หรือถ้าเป็นงานที่ส่งแล้วส่งเลยคุณสามารถกลับมาทบทวนกับตัวเองได้ว่ามีจุดไหนบ้างที่ยังบกพร่อง หรือมีตรงไหนที่ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร อย่าปล่อยให้ไอเดียเหล่านั้นหลุดลอยไป แนะนำให้เปลี่ยนมันให้กลายเป็นตัวอักษรบันทึกมันเอาไว้ในสมุดโน้ตคู่ใจหรือพิมพ์เก็บเอาไว้ในอุปกรณ์ใกล้ตัวอย่างโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำงาน เท่านี้มันก็อยู่กับเราไปอีกนาน โปรเจกต์ต่อ ๆ ไปในอนาคตก็จะออกมาเพอร์เฟกต์ยิ่งขึ้นเพราะคุณรู้แล้วว่ารอยรั่วจากงานครั้งที่แล้วมีอะไรบ้าง
เลี่ยงการ Multitasking ที่ทำให้คุณไขว้เขว
คุณคงเคยมีโมเมนต์ที่งานรัดตัวมาก ๆ จนแทบจะต้องแยกร่างทำงาน ซึ่งมันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ คนใช้วิธีการ Multitasking เข้าช่วย การ Multitasking คือการทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เช่น การโทรศัพท์คุยงานกับหัวหน้าไปพร้อม ๆ กับการพิมพ์ตอบอีเมลลูกค้า เพราะคิดว่ามันเป็นวิธีการทำงานที่ประหยัดเวลา ช่วยให้งานเสร็จสิ้นทันเดดไลน์ แต่เดี๋ยวก่อน! การ Multitasking ไม่ใช่อะไรที่เหมาะกับทุกคน คนที่ทำงานหลายอย่างพร้อมกันแล้วมีประสิทธิภาพสูงนั้น มีส่วนมาจากนิสัยพื้นฐาน การถูกฝึกและปรับสมองให้รองรับกับการทำงานแบบนี้ และยังต้องเป็นคนที่จัดลำดับความสำคัญเก่งอีกด้วย
แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ขี้ลืมมาก ๆ อยู่แล้ว แถมคุณสมบัติข้างต้นก็ไม่ได้ตรงกับตัวคุณเท่าไหร่นัก การทำงานวิธีนี้คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับคุณ เนื่องจากมีผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford ที่ระบุว่า การ Multitasking อาจทำให้คุณภาพของงานที่ออกมาลดลงเพราะเป็นการโฟกัสหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน คุณอาจพลาดรายละเอียดบางอย่างและหลงลืมมันไปในที่สุด และอาจมีผลกระทบต่อการจัดระเบียบความคิดของคุณอีกด้วย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดหรอก เพราะการ Multitasking สามารถทำให้ระดับ IQ (Intelligence quotient) หรือความฉลาดทางเชาว์ปัญญาลดลงไปได้ถึง 15 จุด ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็เปรียบเสมือนกับการอดนอนมาทั้งคืน เพราะฉะนั้นการทำงานโดยโฟกัสเป็นอย่าง ๆ นับว่าเป็นทางออกที่ดีกว่าสำหรับคนขี้ลืม
ความจำจะดีได้ ร่างกายต้องพร้อม
ถ้าอยากมีความจำที่ดีร่างกายก็ต้องอยู่ในภาวะที่รองรับต่อการจดจำด้วย ถามว่าทำได้ยังไงบ้าง? คำตอบอาจฟังดูจำเจแต่มันคือสิ่งที่ได้ผลจริง อย่างแรกก็คือการออกกำลังกาย เพราะจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้นและมีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมองมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการสร้างสารเคมีที่เรียกว่า BDNF (Brain-Derived Neurotrophic Factor) ที่มีผลต่อการเติบโตของเซลล์ประสาทโดยเฉพาะในสมองส่วนความจำ
ต่อมาก็คือเรื่องของอาหารการกิน ปัจจุบันมีวัตถุดิบมากมายที่มีผลดีต่อสมองและความจำ อย่างเช่น ข้าวกล้องงอก อาหารจำพวกธัญพืช เนื้อปลา ไปจนถึงผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถเข้าไปทำลายเนื้อสมองส่วนความจำและการเรียนรู้ได้
สุดท้ายคือการนอนให้เพียงพอ สมาคมระบบประสาทวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่าสมองของมนุษย์ซึมซับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเรียกขึ้นมาประมวลซ้ำในระหว่างที่เรานอนหลับซึ่งส่งผลต่อความทรงจำของเรา โดยผู้ใหญ่วัยทำงานส่วนมากควรนอนให้ได้ประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าคุณนอนหลับไม่เพียงพอกระบวนการดังกล่าวจะถูกขัดขวาง ยิ่งบ่อยครั้งสมองของคุณก็จะเริ่มลืมเลือนสิ่งที่เคยทำหรือสิ่งที่คุณตั้งใจว่าจะทำ เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามความสำคัญของการพักผ่อนร่างกายเป็นอันขาด
กิจกรรมบริหารสมอง ลับคมความจำ
หลังจากดูแลบริหารร่างกายแล้วก็ถึงเวลาของการบริหารสมอง เดี๋ยวนี้มีเกมและกิจกรรมมากมายที่นอกจากความสนุกแล้วยังท้าทายต่อทักษะความคิดของคุณอีกด้วย เกมฝึกไอคิวบางเกมถูกดัดแปลงให้ออกมาอยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชันที่คุณสามารถโหลดมาเล่นในโทรศัพท์ได้ ยกตัวอย่างเช่น เกมทายคำ เกมต่อคำศัพท์ ซูโดกุ หรือถ้าไม่สะดวกเล่นบนโทรศัพท์คุณจะใช้วิธีเล่นเกมกระดานของจริงกับเพื่อนสนิทก็ยังได้
นอกจากนี้คุณสามารถท้าทายการทำงานของสมองได้ด้วยการลงมือทำในสิ่งที่ไม่คุ้นชิน เช่น การเปลี่ยนเส้นทางขับรถจากที่ทำงานกลับบ้านหรือจะเป็นการเปลี่ยนที่วางของที่ใช้เป็นประจำเพื่อให้สมองได้ประมวลผลกับข้อมูลใหม่ ๆ แต่หากคุณชอบความสงบและไม่ได้ชอบกิจกรรมทีบอกไป การนั่งสมาธิ ก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้จิตใจของคุณได้จอจ่อ ไม่วอกแวก และเมื่อคุณมีสมาธิที่ดีขึ้นคุณก็สามารถโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
อย่าเครียดจนเกินไป คุยกับใครสักคน
หลายคนมักมองข้ามปัญหาความเครียดหรือความโกรธที่อยู่ในจิตใจ การเอาตัวเองไปจมกับความรู้สึกเหล่านี้นาน ๆ นอกจากจะทำให้จิตใจห่อเหี่ยวแล้วยังมีผลต่อสมองด้วย เพราะสามารถกระตุ้นสารเคมีความเครียดอย่าง Cortisol ให้ออกมาเล่นงานสมองส่วนความจำของคุณได้ ดังนั้นเมื่อทำงานแล้วเริ่มรู้สึกหนักหัวและตึงเครียดก็ให้เวลาตัวเองได้พักเบรกสักครู่ ไปเมาท์กับเพื่อนร่วมงานสักแป๊บหรือโทรหาคนที่บ้านหรือเพื่อนสนิทหลังเลิกงานให้ได้รู้สึกผ่อนคลายลงไปบ้าง เพราะการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมโดยเฉพาะคนที่คุณรู้สึกสนิทใจเปรียบเสมือนยาบรรเทาความเครียดที่คุณไม่ต้องเสียเงินซื้อแม้แต่บาทเดียว
การเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ทำได้ในชั่วข้ามคืน ทุกอย่างต้องใช้เวลาเรียนรู้และค่อยเป็นค่อยไป เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนจาก “คนขี้ลืม” ให้กลายเป็นคนทำงานที่เป๊ะก็ต้องใช้เวลาเป็นธรรมดา ช่วงแรก ๆ คุณอาจยังคงลืมอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง ขอให้คุณใจเย็นกับตัวเอง ความตั้งใจจะทำให้คุณกลายเป็นคนใหม่ได้ในที่สุด แค่คุณคิดอยากจะปรับปรุงการทำงานของตัวเองให้ดีขึ้นก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ แล้ว
ฝากประวัติกับ JobThai เพิ่มโอกาสได้งานแม้ยังไม่ส่งใบสมัคร
|
|
ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 23 สิงหาคม 2021 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai
ที่มา:
sanook.com
youtube.com
skillsolved.com
voathai.com
mgronline.com
mayoclinic.org
undubzapp.com
bangkokpattayahospital.com
paolohospital.com