เคยไหม? ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทำงานอยู่ในบริษัทที่สุดแสนจะ Toxic โดนหัวหน้าหรือผู้บริหารใช้อำนาจข่มเหง ต่อว่าด้วยคำพูดแรง ๆ จนเรารู้สึกไม่มีค่า ไปจนถึงปฏิบัติตัวกับเราแย่ ๆ แต่เราก็ยังหาเหตุผลมาปกป้องหรือหาข้อแก้ตัวให้กับการกระทำเหล่านั้น และยอมทนทำงานอยู่ในองค์กรเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในบทความนี้ JobThai จะมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับ Corporate Stockholm Syndrome อาการที่จะมาอธิบายสภาวะนี้กัน
ก่อนจะไปทำความเข้าใจกับ Corporate Stockholm Syndrome เรามาทำความรู้จัก Stockholm Syndrome กันก่อน หลายคนอาจคุ้นหูหรือเคยได้ยินชื่ออาการนี้กันมาบ้างจากภาพยนตร์หรือซีรีส์แนวระทึกขวัญ โดย Stockholm Syndrome เป็นอาการที่ใช้เรียกสถานการณ์ที่ตัวประกันหรือเหยื่อในเหตุการณ์ลักพาตัวรู้สึกผูกพันและเห็นอกเห็นใจคนร้ายหลังจากใช้เวลาอยู่ร่วมกันมาระยะหนึ่ง จนอาจนำไปสู่การปกป้องคนร้ายในท้ายที่สุด
Stockholm Syndrome เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ตั้งชื่อขึ้นตามคดีปล้นธนาคารที่เกิดขึ้นจริงในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อปีค.ศ. 1973 ในเหตุการณ์นี้ ผู้ก่อเหตุได้ลักพาตัวประกัน 4 คนไปกักขังเป็นเวลา 6 วัน ทว่าหลังจากที่ตัวประกันได้รับความช่วยเหลือและถูกปล่อยตัวออกมา แทนที่จะโกรธแค้นและประณามการกระทำของโจรปล้นธนาคาร พวกเขากลับมีความรู้สึกเชิงบวกกับคนร้าย และเลือกที่จะอยู่ข้างผู้ก่อเหตุโดยการปฏิเสธการเป็นพยานในศาล
แม้จะฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ Stockholm Syndrome มีอยู่จริงและสามารถเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์อื่น ๆ เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นระหว่างการก่อเหตุลักพาตัวเสมอไป เนื่องจาก Stockholm Syndrome เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเหยื่อเกิดความรู้สึกเชิงบวก เห็นใจ ไปจนถึงขั้นรักหรือผูกพันกับผู้ข่มเหง ดังนั้นเราจึงสามารถพบเห็นอาการนี้ได้ในความสัมพันธ์ที่ถูกกดขี่ข่มเหงหรือถูกทำร้าย (Abusive Relationship) ต่าง ๆ ด้วย เช่น พ่อแม่ทำร้ายลูก พี่รังแกน้อง ครูกดขี่นักเรียน รุ่นพี่ข่มเหงรุ่นน้อง โค้ชใช้อำนาจกับนักกีฬา ไปจนถึงความสัมพันธ์รูปแบบอื่น ๆ ที่ฝ่ายหนึ่งมีการใช้อำนาจที่มีมากกว่ากดขี่อีกฝ่าย
ที่ทำงานเป็นสถานที่ที่หลายคนมักมองข้ามและไม่คิดว่าจะเกิด Stockholm Syndrome ขึ้นได้ แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถพบอาการนี้ในออฟฟิศได้เช่นกัน เราเรียกสิ่งนี้ว่า Corporate Stockholm Syndrome หรือ Organizational Stockholm Syndrome มักพบในความสัมพันธ์ระหว่างลูกน้องกับหัวหน้าหรือเจ้านายที่ชอบใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดแย่ ๆ เสียดสีต่อว่า ปฏิบัติด้วยอย่างไม่เป็นธรรม เอารัดเอาเปรียบ หรือใช้อำนาจที่มีควบคุมอีกฝ่ายให้จำยอมทำตาม แต่ด้วยระดับที่ต่ำกว่าในองค์กร พนักงานจึงเกิดความลังเลที่จะลุกขึ้นสู้เพราะอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง กระทบกับการปรับเงินเดือนหรือโบนัส หรืออาจถึงขั้นต้องออกจากงานและสูญเสียรายได้ ทำให้ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมและทนอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ต่อจนเกิดเป็นอาการ Corporate Stockholm Syndrome เริ่มโทษตัวเองแทนที่จะโทษอีกฝ่าย เกิดความรู้สึกเห็นใจผู้กระทำและปลอบใจตัวเองว่าอีกฝ่ายอาจไม่มีทางเลือกเลยต้องทำแบบนี้
ไม่ว่าจะเป็นการเอาเปรียบ บงการ หรือกีดกันพนักงานไม่ให้ได้รับสิทธิ์ที่พนักงานควรได้รับ เช่น ไม่ให้พนักงานไปพักกลางวัน บีบให้พนักงานทำงานนอกเวลา ทักไปตามงานในวันหยุด ไม่ยอมให้พักผ่อน โดยอาจมีการใช้คำพูดหว่านล้อมบิดเบือนความจริงเพื่อให้พนักงานเกิดความรู้สึกสับสน (Gaslighting) ร่วมด้วย เช่น บอกว่าฐานเงินเดือนของพนักงานสูงกว่าปกติ ดังนั้นก็ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น ๆ อยู่แล้ว จะผลักภาระออกได้ยังไง หรือบอกว่าที่ให้พนักงานทำงานนอกเหนือจากหน้าที่เป็นเพราะเจตนาดีต่างหาก อยากช่วยพัฒนาทักษะให้พนักงาน จะได้เป็นคนเก่งรอบด้าน
สัญญาณที่สำคัญของ Stockholm Syndrome คือการรู้สึกเชิงบวกกับผู้กระทำ แทนที่จะโกรธเคืองที่ตัวเองถูกกดขี่ แต่พนักงานกลับเกิดความรู้สึกเห็นใจแทน โดยอาจมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ความผิดของเจ้านายหรือหัวหน้า ที่เขาเข้มงวดด้วยเป็นเพราะเขาหวังดี หรือที่เขาปฏิบัติด้วยไม่ดีเป็นเพราะเขาก็ถูกบริษัทหรือลูกค้ากดดันมาอีกทอดนึงเหมือนกัน ทำให้แสดงออกแบบนี้ เขาไม่ได้อยากกระทำอะไรแย่ ๆ อย่างที่เห็น แต่เขาเองก็ไม่มีทางเลือก
แม้จะถูกปฏิบัติด้วยอย่างไม่เป็นธรรม แต่สุดท้ายแล้วผู้ถูกกระทำก็เลือกที่จะอยู่ข้างผู้กระทำมากกว่าฝ่ายที่ต้องการช่วยเหลือ โดยอาจปฏิเสธคำเตือนของเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว หรือเพื่อนคนอื่น ๆ แล้วอ้างว่า ‘เป็นเรื่องปกติธรรมดา’ หรือ ‘สิ่งที่เจอก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานนั่นแหละ’ และบ่ายเบี่ยงไม่ให้คนอื่นยื่นมือเข้าช่วย รวมถึงไม่ยอมหาวิธีให้ตัวเองออกมาจากสถานการณ์นี้ ปล่อยให้ถูกกดขี่ต่อไปเรื่อย ๆ
จากนั้นลองอ่านแล้วพิจารณาดูว่าเรารู้สึกยังไงกับการกระทำเหล่านี้ คิดว่าไม่เป็นธรรมหรือไม่เหมาะสมไหม ที่จริงแล้วมีวิธีการปฏิบัติที่ดีกว่านี้หรือเปล่า
เมื่อเราต้องทำงานร่วมกับหัวหน้าหรือเจ้านายที่ชอบใช้อำนาจกดขี่ เราต้องมีวิจารณญาณ มองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แยกให้ออกว่าการกระทำหรือสิ่งที่เขาปฏิบัติกับเรานั้นเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าสิ่งที่เขาทำนั้น Toxic จริง ๆ ก็ไม่ต้องพยายามแก้ต่างให้เขา อย่าลืมว่าเรายังมีทางเลือกอื่น ๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับเขาตรง ๆ ขอความช่วยเหลือจาก HR หรือแม้กระทั่งการลาออก ถึงแม้วิธีการแก้ไขปัญหาอาจมีความเสี่ยงตามมาบ้างแต่ก็ช่วยให้เราหลุดออกจากสถานการณ์แย่ ๆ ได้
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา
efrontlearning.com, medium.com, entrepreneur.com, linkedin.com, britannica.com, ooca.co, pobpad.com, allohealth.care, linkedin.com, imd.org