Career Unlock EP.11: ทำความรู้จัก Auditor ใน Big 4 อาชีพที่ท้าทายและเติบโตเร็ว

 

 

 

 

อาชีพ Auditor มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบบัญชีขององค์กร เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลทางการเงินถูกต้องและน่าเชื่อถือ ซึ่งอาชีพนี้ไม่ได้ทำแค่การตรวจสอบตัวเลข แต่ยังต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลและให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ต่อองค์กรอีกด้วย วันนี้ JobThai จะพาทุกคนไปคุยกับพี่โบว์ วรรณวิมล ปรีชาวัฒน์ และพี่เกน พีรพัทธ สัตยาประเสริฐ Partner และ Senior Manager จาก PwC Thailand บริษัท Big 4 ที่คนในวงการนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก

 

อาชีพ Auditor ตอนลงหน้างานจริงเป็นยังไง? ทำงานหนักจริงหรือเปล่า? และอีกหลากหลายข้อสงสัยที่เราจะพาทุกคนไปปลดล็อกพร้อมกันใน Career Unlock EP. นี้!

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เริ่มต้นทำงาน Auditor ได้ยังไง?

พี่เกน: ที่จริงก็ไม่ได้ฝันว่าจะเป็น Auditor ตั้งแต่แรกนะครับ แต่เรียนจบบัญชีมา ซึ่งการจบบัญชีมีหลายช่องทางในการไปต่อ จะเป็น Auditor เป็นนักบัญชี หรือทำ Corporate ก็ได้ครับ แต่สำหรับผม ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการเป็น Auditor เพราะจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วครับ

 

พี่โบว์: ต้องบอกว่าตอนเรียนอยู่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่างาน Auditor คืออะไร เราเรียนบัญชี รู้แค่ว่าจบไปก็คงทำบัญชีแหละ แต่พอมี Roadshow ที่มหาวิทยาลัย เขามาบอกว่างานนี้ทำอะไรบ้าง เราก็ไปฟัง แล้วก็รู้สึกว่าอยากลอง เขามีเปิดสมัครเด็กฝึกงาน พี่โบว์ก็สมัครไป แล้วก็ได้เรียนรู้งานจริง พอได้เป็นเด็กฝึกงานช่วงสองเดือนกว่าก็รู้สึกว่ามีความสุขดี อย่างที่พี่เกนบอก งานนี้ไดนามิกมาก ต้องเรียนรู้อะไรเยอะ รู้สึกว่าถ้าไปทำบัญชีเฉย ๆ อาจจะใช้เวลานาน แต่มาเป็น Auditor ได้คุยกับคนเยอะ และเรียนรู้ได้เร็ว เลยเป็นแรงบันดาลใจให้สมัครมาเป็นพนักงานต่อเลยค่ะ

 

ต้องเรียนจบอะไรถึงมาทำงาน Auditor ได้?

พี่โบว์: เนื่องจากว่าคนทำบัญชีต้องเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนักบัญชีหรือผู้สอบบัญชีต้องจบ "บัญชีบัณฑิต" ถึงจะสามารถทำงานในสายนี้ได้

 

Internal Auditor และ External Auditor ต่างกันยังไง?

พี่โบว์: จริง ๆ แล้วชื่อมันตรงตัวนะ Internal Auditor คือผู้ตรวจสอบภายใน ส่วนใหญ่ผู้ตรวจสอบภายในอยู่ในองค์กร แต่จ้างคนนอกก็ได้ หน้าที่อาจจะต่างกันนิดนึง Internal Auditor ตรวจสอบการควบคุมภายในของกิจการเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานทุกแผนกมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพตามกฎเกณฑ์ของบริษัทที่กำหนดไว้

 

แต่พวกพี่โบว์เป็นผู้สอบบัญชีภายนอก หรือ External Auditor ก็ทำหน้าที่ในการดูแลการควบคุมภายในเหมือนกัน เราเข้าไปตรวจสอบเหมือนกัน แต่เราจะตรวจเพื่อซัปพอร์ตการออกงบการเงินหรือการลงบัญชีเฉย ๆ อันนี้คือขอบเขตที่แตกต่าง ถ้ามองภาพใหญ่ ตรวจสอบบัญชีเหมือนกัน แต่วัตถุประสงค์ต่างกัน โดย Internal Auditor กับ External Auditor ทำงานร่วมกัน Internal Auditor ทำหน้าที่ให้บริษัทมีคุณภาพตามที่ควรจะเป็น ส่วน External Auditor เข้าไปดูว่าการมีคุณภาพของบริษัททำออกมาเป็นรูปร่างของบัญชีแล้วน่าเชื่อถือ แล้วก็เอาไปใช้ต่อได้มั้ย อันนั้นคือหน้าที่ของเรา โดยภาพขององค์กรที่ดีจะต้องมีทั้ง Internal Auditor และ External Auditor

 

ทุกบริษัทจำเป็นต้องมี Auditor แน่นอนอยู่แล้วใช่มั้ย?

พี่โบว์: ใช่ค่ะ เพราะว่าเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าบริษัทจัดตั้งตามกฎหมาย กำหนดไว้ว่าจะต้องจัดทำงบการเงินและนำส่งงบการเงิน ซึ่งงบการเงินจะนำส่งได้ต้องมีความเห็นของ External Auditor ประกอบไว้ในงบการเงินว่างบการเงินเชื่อถือได้ ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อที่จะส่งงบตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น Auditor ก็เลยเป็นสิ่งที่จำเป็น

 

องค์ประกอบของทีมต้องมีใครบ้าง?

พี่โบว์: ถ้าน้อง ๆ จบใหม่มา เราก็จะเข้ามาร่วมงานกันในเลเวลที่เรียกว่า Associate พูดง่าย ๆ ภาษาไทยก็คือผู้ช่วยผู้สอบบัญชี ทำมาระดับนึง 2 ปี แล้วขยับขึ้นเป็น Senior Associate ทีมไปออกหน้างานบริษัทลูกค้าก็จะมี Partner แบบพี่โบว์ มีพี่เกนเป็น Manager เราจะต้องมี Senior ที่นำทีมน้อง ๆ ไปออกหน้างาน 3-4 คน แล้วก็มีน้องเด็ก ๆ ตามไปด้วย เข้ามาเริ่มแรกเป็น Associate ก็เป็นเด็กเล็ก ทำงาน 2 ปี กลายเป็น Senior ก็นำทีมออกไป เป็น Senior อยู่สัก 3 ปี ประสบการณ์ช่ำชองในระดับนึง ก็จะถูกโปรโมตเป็นผู้จัดการ เมื่อ 5 ปี เป็นผู้จัดการแล้วถ้าทำงานไปอีก 2-3 ปี ก็จะได้เป็น Senior Manager เหมือนพี่เกน พอเป็น Senior Manager ก็ทำไปอีกสักพัก ก็จะเริ่มเป็นหัวหน้าทีมแล้ว ก็จะเป็น Director หรือผู้อำนวยการ แล้วที่สุดท้ายคือ Partner หรือหุ้นส่วนบริษัท ถ้าถามว่าเติบโตไวมั้ยในสายงานนี้ พี่โบว์ก็ต้องเคลมนิดนึง เพราะเป็นสายงานที่โตไว

 

ความท้าทายของงาน Auditor มีอะไรบ้าง?

พี่เกน: ความท้าทายของเรามีสองอย่าง อย่างแรกเกี่ยวกับการอัปเดตความรู้ เพราะการไปตรวจสอบต้องรู้ว่าลูกค้าต้องลงบัญชียังไง ตามกฎหมายอะไร ถูกต้องหรือเปล่า หลักการเป็นยังไง เราต้องดูว่าเราสามารถตรวจสอบได้มั้ย ต้องอัปเดตมาตรฐานอยู่ตลอดเวลา อย่างที่สอง เป็นเรื่องการจัดการเวลา เพราะลูกค้าต้องนำส่งงบตามกฎหมายในเวลาที่จำกัด เราต้องตรวจสอบบัญชีในระยะเวลาอันสั้น และบอกลูกค้าล่วงหน้าว่าจะเข้าไปเมื่อไหร่ ต้องบริหารเวลาที่มีอยู่ให้เหมาะสม

 

พี่โบว์: ความท้าทายของพี่โบว์ รู้สึกว่าพอเป็นอาชีพที่โตเร็ว เราหยุดเรียนรู้ไม่ได้เลย Dynamic Learning นี่ต้องมา อย่าง PwC เขามีเครื่องมือต่าง ๆ เยอะในการให้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น Self-study หรือคลาสต่าง ๆ ก็เยอะ เรามีการเตรียมพร้อมให้กับพนักงานในแต่ละเลเวล เข้ามาถึงปุ๊บ เขาจัดคอร์สเทรนนิ่ง 2-3 สัปดาห์ เพื่อฟูมฟักเป็นลูกไก่ ให้โตพอ เสร็จแล้วออกไปจะได้มีคุณภาพ เดินออกไปก็ยืดอกออกไปให้บริการได้ ในแต่ละปีเขาก็มีคอร์สของเขาว่าเราจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เพราะฉะนั้นความท้าทายของมันคือ ทีมเราที่ออกไปให้บริการในหลากหลายธุรกิจ อย่างพี่เกนอาจจะต้องไปให้บริการลูกค้าประมาณ 5-6 ธุรกิจในหนึ่งปี ดังนั้นเราดำดิ่งในธุรกิจเดียวไม่ได้ มันต้องมีแนวกว้างด้วย กลายเป็นความท้าทายที่น้อง ๆ ทุกคนต้องมี ต้องรู้หลากหลายและอัปเดตตลอดเวลา

 

ตลอดการทำงานที่ผ่านมา เคยเจอเคสไหนหรือช่วงไหนที่รู้สึกว่ายากจังเลย ท้าทายมาก?

พี่เกน: หลัก ๆ คือเรื่องเกี่ยวกับเวลา บางครั้งเวลาลูกค้าทำงบมาให้เราใช่มั้ยครับ อาจจะมีจุดผิดพลาดเยอะ ต้องแก้ไข ซึ่งการแก้ไขต้องใช้เวลาในการสอบทานและรีวิว มีทั้งพี่ผู้จัดการและพี่หุ้นส่วนในการดูครับ โอกาสที่จะกลับไปหาลูกค้าแล้วมีข้อบกพร่องเพิ่มเติมอาจจะมีอยู่

 

เคยเจอลูกค้า Complain มามั้ย?

พี่เกน: มีครับ เพราะในมุมลูกค้า เวลาเราไปตรวจสอบรายการ เขาอาจจะมองว่าเราไปกึ่งจับผิดหรือเปล่า แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เป็นการไปดู ตรวจเช็กรายการ และดูว่าสามารถแก้ไขหรือแนะนำอะไรได้บ้างมากกว่า

 

ขั้นตอนการทำงานเป็นยังไง ใช้เวลาตรวจสอบบัญชีนานมั้ย?

พี่เกน: Flow การทำงาน เริ่มต้นคือรับงานลูกค้าก่อนครับ ซึ่งพอได้มาแล้วเราก็ต้องศึกษาก่อนเป็นอย่างแรกเลย เพราะต้องหาข้อมูลว่าลูกค้าทำธุรกิจอะไร มีความเสี่ยงยังไงบ้าง ช่องทางในการหาข้อมูลมีประมาณ 3 ช่องทาง หนึ่งคือข้อมูลภายนอก ศึกษาจากอินเทอร์เน็ต ค้นหาจากเว็บไซต์ ดูข่าว ดูรายงานประจำปี ว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้างที่เราสามารถพบเจอได้ อีกอันคือการปรึกษาภายในทีม เพราะในองค์กรมีพี่ ๆ หลายท่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน ผลิต การเงิน และสุดท้ายคือการคุยกับลูกค้า เพราะลูกค้าสามารถบอกปัญหาได้ว่าเขาเจออะไรบ้าง ปัญหาคืออะไร อะไรคือความท้าทายของเขา

 

พี่โบว์: ของพี่โบว์อาจจะดูเลเวลที่ใหญ่กว่าพี่เกนนิดนึง ในแง่ของการคุมทีมงานก็จะเป็นพี่เกน ในภาพของพี่เกนเขาวางแผนหมดแล้วว่าจะต้องทำอะไรในแต่ละช่วงเวลาบ้าง ซึ่งระยะเวลาการทำงาน จริง ๆ แล้วเรามีช่วงเฟสของการวางแผนงาน การออกไปตรวจสอบได้ ไม่ใช่อยู่ ๆ เดินออกไปได้เลย ก็ต้องวางแผนอย่างที่พี่เกนบอก ต้องดูว่าธุรกิจพลังงาน ความเสี่ยงคืออะไร ธุรกิจผลิตความเสี่ยงคืออะไร เราก็ต้องออกแบบที่ไม่เหมือนกัน

 

เสร็จแล้วพอพี่เกนเขาคุมทีมงานออกแบบเสร็จ เขาจะมาคุยกับพี่โบว์ ว่าวันนี้มีอะไรที่ขาดตกไปมั้ย พี่โบว์อยากจะเพิ่มอะไรมั้ย เราก็จะประชุมกันจนมั่นใจว่าแผนนี้เหมาะกับลูกค้ารายนี้แล้ว น้อง ๆ ก็จะเดินหน้าออกไปทำงาน การออกไปทำงานต้องไปนัดแนะกับลูกค้าว่าจะเข้าช่วงไหน ใน 1 ปี เข้ากี่ครั้ง

 

ถ้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เขามีกฎกติกาในการนำส่งงบการเงินทุกไตรมาส ทีมน้อง ๆ ที่ดูแลลูกค้าบริษัทจดทะเบียน ก็จะออกไปทำงานทุก ๆ 3 เดือน แต่ถ้าเป็นบริษัทจำกัดธรรมดา ไม่ได้มีกฎกติกาอะไรมากมายเป็นปีละครั้ง ก็จะมีการวางแผนว่ารอบที่หนึ่งจะไปเพื่อตรวจการควบคุมภายใน รอบที่สองจะเข้าไปตรวจเอกสารหลักฐานที่เป็นกระดาษและอยู่ในระบบทั้งหมด เมื่อทำงานเสร็จก็จะมาออกงบการเงินได้

 

ส่วนใหญ่เราต้องดูแต่ละบริษัทแบบต่อเนื่องเลยมั้ย?

พี่โบว์: จะแล้วแต่บริษัท อย่างเช่น บริษัทจดทะเบียน ทุกไตรมาส เขาจะปิดงบเดือนสาม ไตรมาสที่หนึ่งเสร็จ เดือนสี่พวกเราก็เข้าไปตรวจสอบ เดือนห้าตามกฎหมายออกงบ พวกเราก็ทำกระบวนการให้เสร็จ

 

คุยกับลูกค้าอย่างไรเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน?

พี่เกน: บางครั้งลูกค้าอาจมีประสบการณ์และอายุงานมากกว่าเรา ซึ่งอาจทำให้การอธิบายแนวทางการทำงานเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการเตรียมตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก เราต้องมั่นใจว่าหลักการที่เราจะนำเสนอถูกต้องและศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนคุยกับลูกค้า นอกจากนี้ ควรสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจว่าเรามาเพื่อให้คำแนะนำและเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจของเขา ถ้าเราชี้แจงได้ชัดเจนว่าข้อเสนอของเราจะเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้ายังไง โอกาสที่เขาจะไม่เห็นด้วยก็จะน้อยลง ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่ได้เข้าใจหลักการบัญชีอย่างถ่องแท้ เราก็ต้องพยายามหาข้อมูลซัปพอร์ตให้เขาอ่าน ว่าเรามีการอ้างอิงตามแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานที่ถูกต้อง เพื่อให้เขาเข้าใจว่าทำแบบนี้ดีกว่า

 

บุคลิกการสื่อสารสำคัญมั้ยกับอาชีพนี้?

พี่เกน: บุคลิกการสื่อสารสำคัญมากครับ การสื่อสารเป็น Soft Skills ที่ต้องมี เพราะเราทำงาน 1 ปี 4-5 งาน และเปลี่ยนทีม 5 ครั้งต่อปี ทั้งเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าของเรา ถ้าเราไม่ปรับการสื่อสารให้ทันท่วงที เราจะปรับเวลาการทำงานไม่ทัน ทั้งปรับกับทีมตัวเองและลูกค้าที่เปลี่ยนไปด้วย

 

มีเทคนิคอะไรในการเข้าไปคุยกับลูกค้า?

พี่โบว์: ต้องบอกว่าการเป็นผู้สอบบัญชีไม่ได้ดีลแค่พนักงานบัญชี เรายังต้องไปหน้างานกับวิศวกร ต้องมีความรู้ด้านวิศวกรรม หรือความรู้ด้านการเงินก็ต้องมี ความรู้ด้านการผลิตก็ต้องมี เราต้องพูดภาษาบัญชีให้เข้าใจง่าย ให้คนที่ไม่อยู่ในสายงานเข้าใจว่าเราต้องการทำอะไร แม้บางครั้งเขาจะไม่เข้าใจบัญชี เป็นความยากที่ต้องเรียนรู้ว่าจะคุยยังไงให้คนในแผนกอื่นเข้าใจเรา เพราะถ้าเขาเข้าใจก็จะเกิดความร่วมมือ เมื่อหลาย ๆ คนเริ่มให้ความร่วมมือ ฝั่งบัญชีที่เป็นผู้บริหารที่ต้องช่วยเราเขาก็ทำงานไม่ยาก สุดท้ายมันก็ลงเอยด้วยดี

 

การไปลงหน้างานจริงเป็นยังไงบ้าง?

พี่โบว์: ถ้าเป็นเด็กที่จบใหม่ ไปถึงหน้างานจะต้องไปคุยกับแผนกบัญชี อันนี้ยังคุ้นเคยนะคะ และสิ่งที่น้อง ๆ ต้องเจอเลย คือเข้าคลังสินค้า น้อง ๆ จะต้องได้เคยนับสต๊อกค่ะ จะมีกี่อาชีพที่อยู่ ๆ ไปทำงาน 5 บริษัท แล้วได้เข้าคลังสินค้าของทุกคนเลย เราไม่ได้นั่งแต่ในห้อง เราไปคลังสินค้าด้วย อย่างพี่โบว์คือสายพลังงาน พี่โบว์ไปตั้งแต่ปีนแท็งก์น้ำมัน มีอาชีพไหนบ้างที่ต้องปีนบันไดลิงขึ้นไปบนแท็งก์น้ำมัน 5-6 ชั้น ก็เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง ไม่งั้นพี่โบว์ก็จะไม่รู้ว่าน้ำมันมันอยู่ในแท็งก์เยอะแค่ไหน แล้วเขาตรวจมาตัวเลขที่เขียนมาในกระดาษใช่เท่านั้นหรือเปล่า เราต้องพิสูจน์ ตามขึ้นไปบนแทงก์สูง ๆ นั่นแหละ ต้องเข้าห้องเย็นบ้าง บางธุรกิจเป็นอาหาร เราก็ต้องเข้าไปดูว่าเขาเก็บกันยังไง การไปตรวจโรงพยาบาล ต้องไปเช็กวัคซีน เขาเก็บกันยังไง มันก็จะเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ ที่เด็กจบใหม่จะเป็นคนที่ได้รับประสบการณ์นั้นก่อน

 

พี่เกน: รายการบัญชีมีหลากหลายครับ มีทั้งเงินสด ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ ซึ่งสินค้าคงเหลือสำคัญมาก เพราะในการตรวจสอบหน้างาน เราต้องดูว่าสินค้าถูกเก็บรักษายังไง เช่น น้ำมันเก็บด้วยการ Dip ในแท็งก์ ห้องเย็นต้องไปเข้าห้องฟรีซ แล้วปัญหาคือว่าถ้าเรานับสินค้าแล้วเจอผลต่างต้องเคลียร์กับลูกค้าอย่างไร ผลต่างที่ลูกค้านับมา เรานับมาต่างกันเพราะอะไร ตรวจสอบว่ารายการเกิดจากอะไร ซึ่งอันนี้มันสามารถเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เพราะว่าการนับสต๊อกวันเดียว สินค้ามีความคลาดเคลื่อนเรื่องปริมาณอยู่แล้ว ในการตรวจสอบและเปรียบเทียบข้อมูลกับลูกค้า ต้องมีทั้ง Soft Skills ในเรื่องการสื่อสาร การปรับตัว แล้วก็ Hard Skills เกี่ยวกับธุรกิจเฉพาะที่เราจะต้องรู้

 

มีทักษะและ Tools อะไรบ้างที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม?

พี่โบว์: ถ้า Tools เราอาจจะไม่ได้เจาะจงมาก เพราะจริง ๆ เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบบัญชีมันมีอยู่ในองค์กรแล้ว น้อง ๆ เข้ามาได้เรียนรู้แน่ ๆ ค่ะ สิ่งที่ต้องมีติดตัวและอยากให้มีมาเลยคือ ทักษะพื้นฐาน เช่น การใช้ Excel นะคะ เดี๋ยวนี้เราไปดิจิทัล Power BI ถ้าน้อง ๆ ทำให้มัน Advance ได้มากขึ้นด้วยตัวของเราเอง เราก็ควักขวัญถุงใส่กระเป๋าเข้ามาแล้ว เวลาไปทำงาน เวลามันน้อย ถ้าเราทำพวกนี้เก่งนะคะ เราจะสามารถย่นระยะเวลาไปได้เยอะเลยในการเก็บข้อมูล บางบริษัทใหญ่มากดึง Excel ออกมาจากระบบ อาจจะมีประมาณ 5-6 หมื่นบรรทัด ถามว่าเข้าไปนั่งดูทีละบรรทัดเนี่ย พี่โบว์ว่าทำไปสามเดือนก็ไม่เสร็จ เพราะฉะนั้น Tools พวกนี้เป็นพื้นฐานที่ถ้าน้อง ๆ มี มันก็จัดการ จัดระบบ จัดระเบียบข้อมูลออกมาให้เหลือเฉพาะความเสี่ยงที่เรามองว่ามันผิดปกติที่เราควรจะไปตรวจสอบ เราก็จะได้ไม่เสียเวลาไปกับข้อมูลปกติของบริษัทที่มันมีมาอยู่แล้ว

 

และสิ่งที่สำคัญสำหรับอาชีพนี้เลยคือ Mindset ซึ่ง Growth Mindset สำคัญมาก เพราะว่ามัน Dynamic Learning เลย แล้วก็เราต้องอยู่บนทัศนคติที่ว่า ไม่มีอะไรที่ถ้าเราลองทำแล้วเราทำไม่ได้ เพราะว่าเราเดินเข้ามาในฐานะเด็กใหม่ ไปกับพี่เกน 5 งาน เจอลูกค้าไปทั้งหมดประมาณ 50 คน ถ้าวันนี้น้อง ๆ กลัวหรือว่ามีกำแพงกั้น เราจะรู้สึกว่าการเป็น Auditor มันยาก แต่ถ้าเราบอกว่าไม่สิ มันก็แค่หาความรู้ เดี๋ยวเราก็ทำได้ ถ้าเราไม่ลอง เราก็ไม่รู้ว่าเราทำได้หรือเปล่า พอน้อง ๆ ได้ลองแล้วก้าวผ่านมันได้ ก็เหมือนประสบความสำเร็จ มันเลยทำให้พี่ต้องบอกว่างาน Auditor เป็นงานที่โตเร็ว เพราะว่าน้อง ๆ ได้เป็นผู้ใหญ่เร็วจากประสบการณ์จริงที่ได้ออกไปหน้างานจริง ๆ
 

ถ้าเป็นทักษะพิเศษเลย ที่ต้องมีไม่ได้มีเน้นขนาดนั้น เพราะอยากให้เป็นทัศนคติมากกว่า ส่วนทักษะพวกการวิเคราะห์ มันก็มาด้วยว่าวิถี Auditor ต้องมีความขี้สงสัยเป็นที่หนึ่ง ขี้สงสัย เดินไปที่ไหนในโรงงานพบเจอผู้คนก็ช่างสังเกต ขี้สงสัยมาเป็นพื้นฐาน ถึงจะทำให้เราสามารถที่จะเจอจุดอ่อนของลูกค้า ไม่ได้เจอเพื่อจะไปจับผิด แต่เจอเพื่อไปบอกเขาว่ามันยังมีจุดอ่อนบาง ๆ อยู่ ที่เราควรจะต้องปรับปรุง พัฒนา แล้วบริษัทจะมีประสิทธิภาพมาก ๆ นะคะ นั่นคืออีกหน้าที่หนึ่งของเรานะคะ

 

ถ้าน้องทำเป็นแต่ Microsoft Word ส่วน PowerPoint หรือ Excel ไม่เป็นเลย จะสามารถทำงาน Auditor ได้มั้ย?

พี่โบว์: ถ้ามาตอนนี้จริง ๆ ก็ได้ เพราะที่บริษัทเขาเตรียม Tools มาให้เราหมดแล้ว แม้กระทั่งคำแนะนำว่า จะทำยังไง กดยังไง เขาก็มี แต่ว่าทางที่ดีเป็นมาดีกว่าพื้นฐานก็ยังดี เพราะว่าไม่มีเวลาให้เรียนรู้เยอะ ต้องออกหน้างานเลย ต้องลุยแล้ว

 

Hard Skills ที่สำคัญมีอะไรบ้าง?

พี่เกน: Hard Skills คือความรู้ ซึ่งจะมีสักประมาณ 3 ด้าน ต้องรู้ก่อนเบื้องต้นนะครับ หนึ่งคือด้านบัญชี เพราะลูกค้าลงบัญชีมายังไง เราแก้ไขรายการตรวจสอบยังไง ต้องหมั่นอัปเดตตลอดเวลา สองเป็นด้านการตรวจสอบบัญชีครับ จะมองหาความเสี่ยงว่าลูกค้ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง แล้วก็มีการออกแบบการตรวจสอบตามความเสี่ยงนั้น สามเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะบางอย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีผลกับบัญชีเหมือนกันนะครับ

 

พี่โบว์: เรียกง่าย ๆ ผู้สอบบัญชีก็มีกฎหมายครอบเหมือนกันนะคะ เราก็มีมาตรฐานการตรวจสอบบัญชี เพราะฉะนั้นทุกคนต้องปฏิบัติตามด้วยมาตรฐานไม้บรรทัดเดียวกัน เพื่อให้มีคุณภาพเท่ากัน ส่วนกฎหมายและกฎกติกาที่พี่เกนบอกคือแต่ละธุรกิจมันจะมีกฎหมายครอบที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นวันนี้เราในฐานะผู้สอบบัญชี ถ้าไม่รู้เราจะไม่สามารถประเมินได้ว่าจริง ๆ แล้วบริษัทมีความเสี่ยงในการทําอะไรบางอย่างผิดกฎหมายอยู่มั้ย เราในฐานะของผู้ให้คำแนะนำ เพราะควรจะต้องไปสะกิดเขาด้วยนะ เรากำลังเสี่ยงที่จะโดนโทษอะไรหรือเปล่า เรากำลังมีความเสี่ยงด้านไหนมั้ย เราก็ต้องไปตักเตือนกัน

 

ความรู้เรื่องกฎหมาย แค่หาอ่านเอง หรือต้องลงเรียนเพิ่ม

พี่โบว์: เรื่องกฎหมายในคอร์สเรียนมหาวิทยาลัยมีอยู่แล้วนะคะ ก็เป็นความรู้เบื้องต้น เช่น ภาษีที่เกี่ยวข้อง กฎหมายการประกอบกิจการพวกนี้ แต่ว่าถ้ากฎหมายที่เจาะจงก็ขึ้นอยู่กับหน้างานนั้น ๆ ว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องมั้ย แต่ถ้ามองในแง่ว่าต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติมหรือเปล่านะคะ ก็ควรจะอัปเดต เพราะว่ากฎหมายมันก็ประกาศเรื่อย ๆ ทุกปี อะไรที่เกี่ยวข้อง จริง ๆ ที่ออฟฟิศเขามีสอนให้ เมื่อไหร่ที่มีอัปเดต เขาจะรวบรวมเป็นรายไตรมาส แล้วเขาก็จะมาบอกเราว่ากฎหมายด้านไหน ปรับปรุงพัฒนาไปอะไรบ้าง แล้วอะไรที่เราควรรู้ก่อนที่จะออกไปหาลูกค้า รวมไปถึงเขาทำ Flow ให้ด้วยถ้าเป็นเรื่องที่ยาก เราควรจะออกไปสอนหรือไปพูดคุยกับลูกค้าเพื่อให้ความรู้ลูกค้าไปพร้อมกับเรายังไงบ้างนะคะ อันนี้คือสิ่งที่ออฟฟิศทำให้ แต่ว่าตัวน้อง ๆ เองก็ต้องพัฒนาเพื่อตัวเองด้วย 

 

Auditor ต่อยอดไปทำสายอาชีพอื่นได้มั้ย ทำอาชีพไหนได้บ้าง?

พี่โบว์: ก็ไปได้ค่ะ ด้วยความเป็น Auditor มันก็มีอะไรที่สั่งสมมาเยอะนะคะ 3-5 ปี น้อง ๆ ได้อะไรเยอะแล้ว ถ้าเอาข้างในออฟฟิศเราก็มีโอกาสในการเป็น Internal Transfer จาก Auditor วันนี้ไปทำกับลูกค้า แล้วไปคุยกับฝั่งภาษีแล้วรู้สึกอินเหลือเกิน อยากจะทำพวกนั้นเพิ่ม ถ้างั้นก็โยกไปนะคะ ไปเป็นที่ปรึกษา เพราะเราก็จะมีแผนกนั้นอยู่เหมือนกัน หรือวันนี้เห็นลูกค้าขยายกิจการโตเร็วมากเลย อยากจะไปเป็นที่ปรึกษาในเรื่องของการซื้อธุรกิจ เราก็มีแผนก Due Diligence ที่ให้ Internal Transfer ไปได้เหมือนกันนะคะ เขาก็จะมีเปิดเป็นช่วง ๆ ระหว่างปี 

 

ถ้ามองในแง่ของการออกไปข้างนอกได้มั้ย พี่โบว์ก็ต้องบอกว่าได้ ด้วยฐานประสบการณ์ที่เรามีมันแตกไปได้หลายทาง จะไปเป็นผู้บริหารด้านบัญชีของบริษัทลูกค้า บางทีก็มีนะ ดึงกันแบบงง ๆ เลย กำลังตรวจอยู่ดี ๆ ไปเป็นลูกค้าแล้ว หรือว่าอย่างที่สอง เราอาจจะไปทางด้านการเงิน หรือจะไปเป็น Tax Specialist ก็ได้หมด เพราะว่ามันเกิดมาจากประสบการณ์ที่เราออกหน้างานจริงมา เราก็พอจะมีคุณสมบัติที่จะไปทำพวกนั้นเช่นกัน

 

Auditor งานหนักจริงมั้ย?

พี่เกน: จริง ๆ แล้วเรื่องเวลาคือก็ต้องพูดตามตรงนะว่า ช่วงพีกก็จะหนักครับ เพราะว่าที่บอกว่าระยะเวลาเราสั้นใช่มั้ยครับ รายการลูกค้าทำมาทั้งปี เราตรวจแค่สองเดือนเสร็จ ก็จะมีความหนักนิดนึงตรงนั้น แต่ว่าถ้ามองในภาพกรอบปี เราบาลานซ์ได้ เพราะว่าช่วงหนักก็หนักจริงอย่างที่บอก ช่วงที่เบาก็สามารถลาได้ ใช้วันลาในการลาหยุดได้ เป็นระยะเวลาที่นานกว่าปกติด้วยครับ

 

พี่โบว์: มันเป็นอาชีพพิเศษอย่างหนึ่ง เสน่ห์ของอาชีพนี้คือมีวันปิดเทอม เพราะว่าฤดูหนัก หนักจริงนะ อันนี้พี่โบว์ก็ต้องยอมรับนะคะ แต่ก็แลกมาด้วยประสบการณ์ เราทำบริษัทอื่นอาจจะใช้ 3-5 ปี นะ กว่าจะเข้าใจเชิงลึก วันนี้ทำงานตรวจสอบบัญชี 3 ปี อาจจะได้กว้างกว่าที่เราทำในองค์กรนะคะ แต่ว่าสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งคือ พอเข้าช่วง Low Season เขาปิดเทอมใหญ่ไปเลยนะคะ ออฟฟิศเงียบ ปิดเทอมใหญ่ คือ เขาสามารถที่จะลาไปต่างประเทศกันได้ 2-3 สัปดาห์ ถ้าในตารางงาน มันก็จะมีกฎกติกาของมันว่าเรายื่นลาได้ แต่ถ้าเกิดว่าเรามีงานเข้ามาตอนนั้น เช่น บางลูกค้าตกลงกัน แล้วไปเข้าตอนช่วง Low Season พอดี น้อง ๆ เหล่านั้นก็จะอยู่บนความรับผิดชอบตัวเอง ก็จะลาเท่าที่มีนะคะ แต่ถ้าเกิดว่าไม่มีงานลง เพราะงานมันน้อยมาก น้อง ๆ ก็จะหายไปต่างประเทศกันเลย 3 สัปดาห์ แล้วก็มันจะดีกับน้อง ๆ ที่เขามีบ้านอยู่ต่างจังหวัด เพราะว่าเขาสามารถกลับไปหาคุณพ่อคุณแม่โดยไม่ต้องไปในหน้าเทศกาล ไม่ต้องไปแย่งกับใคร

 

อยากเป็น Auditor จะต้องเตรียมตัวยังไง?

พี่เกน: ถ้าเบื้องต้นต้องเรียนมหาวิทยาลัย หลักสูตรบัญชี แล้วก็เตรียมตัวให้พร้อมในการสมัครงาน บัญชีนี้คือ ทั้งไทยหรืออินเตอร์ก็ได้ 

 

ถ้าได้ฝึกงานมาก่อนก็ดี จะได้ทราบว่าขั้นตอนทำงานเป็นยังไง วัฒนธรรมการทำงาน โปรเจกต์ต่าง ๆ เป็นยังไง แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่ได้ฝึกงานมาก่อน ก็มาสมัครได้ปกติ 

 

พี่โบว์: ในหนึ่งปีเราก็จะมี Roadshow ไปตามมหาวิทยาลัย หลังจาก Roadshow มันก็จะมีเวทีของการสมัคร หรือว่าผ่าน Social Media ก็ได้ เรามีทุก Social Media เลย เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ก็สามารถติดตามผ่าน Social Media เหล่านั้นในการสมัครเข้ามาได้

 

หางานใหม่ที่ใช่ ในสาย Auditor ได้ที่นี่เลย

 

มี Community เกี่ยวกับสายอาชีพนี้มั้ย?

พี่โบว์: ก็ไม่เชิงถึงขั้นเป็น Community แต่เนื่องจากว่าโลกเรามันดิจิทัลนิดนึง เขาก็จะมีแตกกลุ่มย่อย ที่น้อง ๆ เขาจะรู้อยู่แล้วว่าเขาจะเข้ากลุ่มไหนที่จะได้ความรู้ ส่วนใหญ่เขารุ่นต่อรุ่นกันพวกนี้ เขาก็จะมาแบ่งปันข้อมูลกัน Connection สำคัญมาก

 

ถ้าเกรดไม่ดี เรียนไม่ค่อยเก่ง ทำงานนี้ได้มั้ย?

พี่โบว์: จริง ๆ ถามว่าเรามีมาตรฐานมั้ย เราก็ต้องมีในระดับหนึ่ง ด้วยงานเราเป็น Professional ความพร้อมในการออกไปให้บริการลูกค้าสำคัญมาก แต่เราก็ไม่ได้คัดเฉพาะแต่คนที่ได้เกรดดี ๆ เพราะว่าจริง ๆ การทำงาน Hard Skills สำคัญ แต่ Soft Skills ก็สำคัญนะ เพราะฉะนั้นการสัมภาษณ์น้อง ๆ ที่เข้ามา เราไม่ได้ดูแค่เกรด ต้องดู EQ, Mindset, ทัศนคติน้อง ๆ เป็นยังไง องค์รวมอยู่ในการสัมภาษณ์ทั้งหมด เพราะฉะนั้นวันนี้ไม่ได้ปิดประตูใส่น้อง ๆ ที่เกรดไม่สูงนะ เพราะว่าเราอาจจะมีจุดเด่นเรื่องอื่นที่คนเรียนเก่งมาก ๆ ไม่มี

 

เตรียมตัวสมัครงาน Auditor ยังไง?

พี่โบว์: สำหรับวิชาชีพเรานะคะ ถ้าสมัครงานก็ใช้ Resume กับ Transcript ค่ะ แต่ถามว่ามีทริกอะไรมั้ย ก็มี คือถ้าน้องบางคนเขาร่วมกิจกรรมระดับประเทศ ระดับโลก ระดับจังหวัด เขาใส่มาหมดเลย การร่วมกิจกรรมมันไม่ได้เพื่อความสนุกอย่างเดียวนะ บางทีมันมีทักษะแฝงเล็ก ๆ พี่โบว์ก็จะมองว่ามันเป็นสิ่งที่เพิ่มเติม

 

พี่เกน: หรือทำกิจกรรมมหาวิทยาลัยก็ใส่มาได้หมดเลยครับ

 

จุดเด่นอะไรที่เห็นแล้วว้าวเลย?

พี่โบว์: ถ้าเป็นพี่โบว์ เป็นพวกเน้น EQ กับ Mindset พี่โบว์จะดู EQ ว่ากิจกรรมที่ทำในมหาวิทยาลัยมันกำลังสอดแทรกว่าน้อง ๆ ทำอะไรเป็นทีมเวิร์กเยอะ ถ้าความเป็นทีมเวิร์กเยอะแปลว่าใจเขาใจเราจะมา เพราะฉะนั้นมันจะแฝงอยู่ในนั้น ซึ่งพี่โบว์ก็จะหยิบยกขึ้นมาเป็นคำถามจากสิ่งที่น้อง ๆ ทำ ถ้าน้อง ๆ ตอบได้จริง ๆ ว่าสิ่งที่ไปทำมาปัญหาที่เจอมันคืออะไร แก้ยังไง ก็เป็นแต้มคะแนนพิเศษ เพราะเชื่อว่าน้อง ๆ เจอปัญหาหน้างานแล้วแก้ไขได้ 

 

เรื่องของ Technical ต้องมีอะไรเฉพาะเจาะจงมั้ย?

พี่เกน: ในตัวเกรดเฉลี่ยที่ได้มาก็เห็นว่าน้องเรียนหนังสือเป็นยังไงบ้างเบื้องต้น แต่อาจจะไม่ได้โฟกัสมากว่าต้องดีขนาดไหน แต่แค่ต้องรู้ว่ามีพื้นฐานประมาณไหนแล้วก็จะลองถามดู พอเริ่มถามมันจะเป็นการผสมระหว่าง Hard Skills กับ Soft Skills แล้ว เพราะว่าพอถามแล้วเกิดตอบไม่ได้ เขาจะหาวิธีการตอบคำถามที่เหมาะสมกลับมาหาเรา

 

ขอแนวคำถามสัมภาษณ์งานหน่อย

พี่เกน: พื้นฐานครับว่ามาทำงานที่นี่คาดหวังอะไร หวังว่าจะได้เรียนรู้อะไรไปอีก 3-5 ปี คิดว่าการทำงานที่นี่ให้คุณค่ายังไงบ้าง ดูแนวคิดว่าตอบยังไง เวลาเขาเจอปัญหาที่โยนเข้าไป แล้วเขาตอบยังไง
 

พี่โบว์: จริง ๆ ความเป็นตัวเองหลุดไม่ยากเลยค่ะ เพราะว่าจริง ๆ แล้วเราสัมภาษณ์ เราทำงานเป็นกลุ่ม การสัมภาษณ์ของเราเป็น Group Interview พอพี่โบว์เอาน้อง 5 คน มาทำ Group Interview พี่โบว์จะเห็นว่าใครมีทักษะอะไร มีความเป็นผู้นำ หรือเป็นผู้ตาม หรือน้องบางคนเขามีทักษะทางเทคนิค เขาจะแนะนำเพื่อนว่าจะต้องตอบข้อนี้ยังไง รวมไปถึงการแบ่งงานก็จะอยู่ในนั้น เพราะพี่โบว์ให้เวลา 5 นาที ใน 5 นาทีนี้ นอกจากวิเคราะห์ว่าจะตอบอะไรแล้วต้องแบ่งด้วยว่าใครจะพูดอะไร เพราะฉะนั้นมันจะทำให้เราเห็นตรรกะ น้อง ๆ เหล่านี้เขาผ่านวิถีการทำงาน ทำงานเป็นทีมมาจริง ๆ หรือเปล่า แล้วเขาได้คิดถึงคนอื่นมั้ยตอนที่ตอบ บางคนเขาขอลุยเดี่ยวเลยนะ เราจะเห็นแล้วว่าน้องคนนี้เขามีความมั่นใจนะ แต่ถ้าทำงานเป็นทีมจะลำบาก ความเป็นตัวตนพวกนี้จะหลุดออกมาผ่านการสัมภาษณ์ ซึ่งจริง ๆ ถ้าให้พี่โบว์แนะนำนะ น้อง ๆ ก็เป็นตัวของตัวเองตอนสัมภาษณ์ ถ้าเตรียมตัวมามีชัยไปกว่าครึ่ง

 

พอผ่านการสัมภาษณ์เรียบร้อยก็รับเลยค่ะ หลังจากนั้นก็เข้ากระบวนการปกติค่ะ ก็ไปฝึกนะคะ ไปฟูมฟักให้พร้อม

 

Culture การทำงานของ PwC Thailand เป็นยังไง?

พี่โบว์: วัฒนธรรมเราคือทำงานเป็นทีม จริง ๆ พี่โบว์กับพี่เกนห่างกันไม่ได้เยอะแต่สิ่งที่เราทำคือเราเป็นผู้นำ แต่เราไม่ได้เป็นเจ้านายยุคเก่านะคะ นี่คือวัฒนธรรมที่นี่นะคะ น้อง ๆ ที่เข้ามาหาพี่โบว์เข้ามาง่ายมาก เราโค้ชให้น้องได้ใช้ความขี้สงสัยของตัวเองในการคิด วิเคราะห์ ทักษะพวกนี้สำคัญมากในการออกไปทำงาน ถ้าน้องคิดได้เอง น้องจะเดินออกไปได้ด้วยตัวเอง แล้วก็ไปเป็น Auditor ที่น่าเชื่อถือ ที่ลูกค้ามีเราอยู่เป็น Auditor แล้วภูมิใจ 

 

พี่เกน: มีเรื่องเกี่ยวกับการ Training ฝึกสอน มีเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น อีกอย่างสำคัญมากคือเรื่อง Well-being เรารู้แหละว่าการทำงานมันมีปัญหา ก็พยายามจะให้น้อง ๆ ทุกคนไม่เครียด พยายามจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ ทั้งเล่นเกมส์ กีฬา ดนตรี เต้นก็มี มีชมรมให้น้องได้มาเข้าร่วมสนุกกันแล้วก็มาใช้เวลาร่วมกันนะครับ บางครั้งทำงานอย่างเดียวเปลี่ยนโหมดบ้างก็ดี เป็นคนกลุ่มเดียวกันแต่ว่าเปลี่ยนกิจกรรมจากการทำงานเป็นกิจกรรมอื่น ๆ บ้าง 

 

พี่โบว์: บางช่วงก็จัดโยคะ เต้นแอโรบิก โดยทีม HR เขาจะมีจัดขนมไว้นะคะ ประจำ Pantry ชั้นที่น้อง ๆ ทุกคนอยู่ เมื่อไหร่เหนื่อยมากก็ลุกขึ้นมาขยับร่างกาย เดินมากินขนมกัน ชั้น 15 เรามีมุมวางขนมอยู่ น้อง ๆ ทุกคนเบื่อแล้วอยากเปลี่ยนบรรยากาศมานั่งทำงานชมวิวตึก ไปได้ที่ชั้นนี้นะคะ แล้วก็ Well-being ที่เรามองว่ามันสำคัญ

 

ฝากอะไรถึงคนที่อยากทำอาชีพนี้หน่อย

พี่เกน: อาชีพ Auditor เป็นอาชีพที่ดีนะครับ แล้วก็อยากให้เปิดใจว่า งานหนักมั้ย หนักแน่นอน แต่ว่าต้องดูว่าการทำงานหนักก็ได้ส่งมอบคุณค่าดี ๆ ให้กับลูกค้า และ Stakeholder ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกัน

 

พี่โบว์: งานเราเป็นงานหนักเพราะว่าต้องส่งมอบบริการเยอะก็จริงนะคะ แต่ว่าเป็นงานที่ยืดหยุ่น นี่คือสิ่งที่พี่โบว์อยากให้น้อง ๆ ได้รู้จักวิชาชีพเรา เราไม่มีแตะบัตรเข้าทำงานเพราะเราเชื่อมั่นว่าถ้าน้องโตมาในระดับนี้แล้วทุกคนมีความรับผิดชอบและมีวินัยของตัวเอง และนี่คือสิ่งที่เราเคารพ ถ้าน้อง ๆ ทำได้ ทำงานร่วมกับเราก็แฮปปี้

 

อยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่กำลังเรียนอยู่บ้าง?

พี่โบว์: พี่โบว์ก็อยากให้ทุกคนค้นหาตัวเองแล้วกัน เพราะว่าการค้นหาตัวเองสำคัญ และอย่างที่บอกถ้ามีโอกาสนะคะ ลองมาฝึกงานกัน น้อง ๆ จะได้รู้ว่ามันน่าสนใจจริง ๆ หรือเปล่า แล้วก็ใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยกันให้เต็มที่ เก็บเกี่ยวประสบการณ์มหาวิทยาลัยเพราะว่าสิ่งพวกนั้นมันเอามาใช้ในชีวิตจริงทั้งหมดเลย งาน Auditor เรา Work Hard แต่เราก็ Work Smart

 

พี่เกน: จริง ๆ ก็ที่บอกนะครับว่าให้เปิดใจก่อน เพราะว่าตัวงานเรามันหนักแต่ว่าเราได้เรียนรู้ตลอดเวลานะครับ แล้วก็ที่บอกว่าเราใช้เวลา 2-3 ปี ในการเรียนรู้แต่มันก้าวกระโดดมาก แล้วก็การได้ฝึกทักษะในการสื่อสารกับลูกค้า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งหมดนะครับ ซึ่งอยากฝากว่าถ้าสนใจในอาชีพนี้ อันนี้คือทางเลือกที่ดีครับ

 

พี่โบว์: เรามีช่วงเวลาของการเปิดรับเด็กฝึกงานค่ะ น้อง ๆ สามารถเข้าผ่านเว็บไซต์นะ หรือผ่าน Social Media ได้เลย แล้วก็จะเห็นว่าเขาจะมีกำหนดการไว้ว่าเขาจะเปิดช่วงไหนบ้าง ขึ้นอยู่กับการปิดเทอมของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย พี่ ๆ ก็ยินดีต้อนรับอยู่แล้วนะคะ อยากเจอน้อง ๆ

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, career & tips, ทักษะการทำงาน, คนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, การทำงาน, โลกการทำงาน, career unlock, big4, pwc, pricewaterhousecoopers, auditor, ผู้ตรวจสอบบัญชี, accounting, financial



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม