7 สิ่งที่ผู้สมัครควรทำการบ้านก่อนไปสัมภาษณ์งาน

09/08/24   |   25.4k   |  

 

  1. ทำความรู้จักองค์กรที่เราสมัคร

  2. หา Insight หรือทดลองผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท

  3. ศึกษาคู่แข่งขององค์กรด้วย

  4. ทำความเข้าใจ Job Description

  5. หาข้อมูลผู้สัมภาษณ์

  6. เตรียมอธิบายหน้าที่ ความรับผิดชอบ และผลงานที่ผ่านมา

  7. ศึกษา Range เงินเดือนของคนที่ทำงานในสายเดียวกัน

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ก่อนไปสัมภาษณ์งาน ผู้สมัครหลาย ๆ คนอาจโฟกัสไปที่การฝึกแนะนำตัวให้คล่องและซ้อมตอบคำถามสัมภาษณ์ต่าง ๆ เช่น เรามีความฝันอะไร วางเป้าหมายในอนาคตไว้ยังไง จุดแข็งและจุดอ่อนอยู่ตรงไหน ทำไมบริษัทถึงต้องรับเราเข้าทำงาน แต่ไม่ได้เตรียมข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทไป ทำให้อาจพลาดและตกม้าตายในการสัมภาษณ์ได้ วันนี้ JobThai เลยเอาเช็กลิสต์ 7 สิ่งที่ผู้สมัครต้องทำการบ้านก่อนไปสัมภาษณ์งานมาฝาก

 

สัมภาษณ์งานก็เตรียมตัวได้ ด้วยหลายวิธีง่าย ๆ เหล่านี้

 

1. ทำความรู้จักองค์กรที่เราสมัคร

สิ่งที่ต้องทำการบ้านเป็นอย่างแรกคือการหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับองค์กรที่เราสมัครงาน โดยอาจเข้าไปดูจากเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของบริษัทว่าที่ที่เราสมัครไปนั้นมีความเป็นมายังไง เปิดมานานหรือยัง ทำธุรกิจประเภทไหน มีบริษัทอะไรในเครือบ้าง มีสาขาย่อยไหม แล้วแต่ละสาขาอยู่ในพื้นที่ไหนบ้าง ภาพรวมหรือสถานการณ์ของบริษัทในตอนนี้เป็นยังไง วิสัยทัศน์หรือเป้าหมายขององค์กรคืออะไร รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทนั้นด้วย

 

2. หา Insight หรือทดลองผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท

เมื่อเรามีข้อมูลคร่าว ๆ เกี่ยวกับองค์กรแล้ว ขั้นต่อมาก็เป็นการทำความรู้จักสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของบริษัท เช่น ถ้าบริษัทที่เราสมัครไปเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ให้บริการแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชัน เราก็อาจดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนั้นมาทดลองใช้งานดู และลองโน้ตจุดเด่นหรือฟีเจอร์ที่ตัวเองชื่นชอบในแอปพลิเคชันนั้น ๆ รวมถึงโน้ตจุดที่เรามองว่าควรปรับปรุงหรือพัฒนาต่อไปเผื่อเอาไว้ด้วย เพราะในวันสัมภาษณ์ ทางองค์กรอาจถามเราว่าเคยทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทหรือเปล่า ชอบหรือไม่ชอบตรงไหนบ้าง ซึ่งถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวในส่วนนี้มาก็อาจตกรอบเอาได้

แต่ในกรณีที่เราไม่สามารถทดลองผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการของบริษัทได้ เช่น บริษัทที่เราสมัครไปเป็นบริษัทอาหารแมว แต่เราไม่ได้เลี้ยงแมว ทำให้ไม่เคยทดลองสินค้าเลย เราก็อาจใช้วิธีหารีวิวสินค้าจากอินเทอร์เน็ตหรือสอบถามคนรอบตัวเพื่อดูว่าคนอื่น ๆ พูดถึงผลิตภัณฑ์นั้นยังไงบ้าง รวมถึงพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ได้มากที่สุด เช่น อาหารแมวของบริษัทที่เราสมัครไปมีชนิดไหนบ้าง วางจำหน่ายที่ไหน สินค้าชิ้นไหนขายดีที่สุด

 

8 เรื่องที่ห้ามพลาด ในวันสัมภาษณ์งาน

 

3. ศึกษาคู่แข่งขององค์กรด้วย

นอกจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรที่เราสมัครไปแล้ว อย่าลืมหาข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขององค์กรด้วย เพราะบางครั้งผู้สัมภาษณ์ก็อาจถามความเห็นถึงบริษัทคู่แข่งด้วยเหมือนกัน ดังนั้นเราควรทำการบ้านไปก่อนว่ามีบริษัทอะไรบ้างที่ทำธุรกิจอยู่ในแวดวงเดียวกันกับบริษัทที่เราสมัครไป แล้วจุดแข็งและจุดอ่อนของบริษัทนั้น ๆ คืออะไร เปรียบเทียบกับบริษัทของเราแล้ว มีสิ่งไหนแตกต่างกันบ้าง

 

4. ทำความเข้าใจ Job Description

สิ่งที่บริษัทมองหาในตัวผู้สมัครงานย่อมอยู่ใน Job Description ดังนั้นเราควรทำความเข้าใจรายละเอียดของสโคปงานและคุณสมบัติที่บริษัทระบุเอาไว้ในประกาศงานให้ดี อย่าชะล่าใจว่าเราเคยทำงานในตำแหน่งเดียวกันมาก่อนหรือเคยทำงานในสายงานเดียวกันมาก่อนแล้วจะเข้าใจสโคปงานทั้งหมด เพราะรายละเอียดงานของแต่ละบริษัทก็แตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจและโครงสร้างขององค์กร แม้จะใช้ชื่อตำแหน่งเหมือนกัน แต่ก็อาจมีจุดที่ไม่เหมือนกันได้ ดังนั้นเราควรอ่านและทำความเข้าใจ Job Description ให้ดี เมื่อเรารู้ว่าบริษัทกำลังมองหาคนแบบไหนอยู่ เราก็จะได้ดึงทักษะและจุดแข็งของเราออกมาได้ตรงจุด นอกจากนี้ถ้ามีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับ Job Description ก็อย่าลืมลิสต์คำถามเอาไว้สอบถามในช่วงสัมภาษณ์ด้วย

 

5. หาข้อมูลผู้สัมภาษณ์

ในกรณีที่เรารู้ล่วงหน้าว่าผู้สัมภาษณ์เป็นใครก็อาจหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้สัมภาษณ์ไปด้วย โดยอาจศึกษาดูจากโซเชียลมีเดียที่เปิดสาธารณะ เช่น Facebook หรือ LinkedIn เพื่อดูความสนใจในด้านต่าง ๆ รวมถึงดูความเป็นมาของผู้สัมภาษณ์ว่าเคยเรียนหรือเคยทำงานที่ไหนมา เพราะในบางครั้งการสนใจในเรื่องเดียวกันหรือเคยมีประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กันก็อาจช่วยให้บรรยากาศในการสัมภาษณ์ดีขึ้น มีเรื่องให้ชวนคุยมากขึ้นได้ นอกจากนี้อาจลองเสิร์ชดูด้วยว่าผู้สัมภาษณ์ของเราเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไหนบ้างไหม ถ้าเคย เราอาจลองตามไปดูว่าแนวทางการพูดของเขาเป็นยังไง จะได้รู้สึกคุ้นชินและตื่นเต้นน้อยลงเวลาสัมภาษณ์งานจริง

 

4 คำถามสัมภาษณ์งาน ที่ผู้สมัครมักตอบไม่ได้

 

6. เตรียมอธิบายหน้าที่ ความรับผิดชอบ และผลงานที่ผ่านมา

แน่นอนว่าเวลาไปสัมภาษณ์งาน บริษัทย่อมต้องถามถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในงานที่ผ่านมาหรืองานปัจจุบันที่เรากำลังทำอยู่ ดังนั้นถ้าเราใส่ข้อมูลการทำงานหรือผลงานอะไรลงไปในเรซูเม่และพอร์ตโฟลิโอ เราก็ควรเตรียมคำอธิบายเกี่ยวกับงานในส่วนนั้น ๆ ไปด้วย เช่น เราดูแลโปรเจกต์นี้ในส่วนไหน ตอนที่ทำงานเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วเราทำยังไงถึงผ่านอุปสรรคนั้นมาได้ เพราะถ้าเราไม่เตรียมตัวไปให้ดี ก็อาจเกิดอาการประหม่า ตอบคำถามแบบตะกุกตะกัก ติด ๆ ขัด ๆ จนทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกไม่เชื่อถือเอาได้ว่าเราทำงานนั้นจริง ๆ

 

7. ศึกษา Range เงินเดือนของคนที่ทำงานในสายเดียวกัน

หากการสัมภาษณ์เป็นไปได้ด้วยดี บริษัทรู้สึกสนใจในตัวเรา ก็ย่อมเข้าสู่ขั้นตอนของการสอบถามเรื่องเงินเดือน ดังนั้นสิ่งสุดท้ายที่เราควรทำการบ้านไปคือ Range เงินเดือนของคนที่ทำงานในสายเดียวกัน โดยอาจศึกษาจากอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย แหล่งคอมมูนิตี้ต่าง ๆ รวมถึงประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งเดียวกับเราหรือใกล้เคียง เพื่อดูว่าแต่ละที่เขาระบุเงินเดือนกันประมาณเท่าไหร่ แล้วพิจารณาประสบการณ์และทักษะของตัวเองว่าเงินเดือนที่เหมาะสมจะได้รับคือเท่าไหร่ จะได้มีข้อมูลไว้ใช้ในการต่อรองเงินเดือนกับทางบริษัท

 

เทคนิคเรียกเงินเดือน ขอเท่าไหร่ให้ดูสมเหตุสมผล

 

เมื่อเราสมัครงานจนได้เข้าไปถึงรอบสัมภาษณ์ โอกาสที่จะได้งานก็อยู่อีกไม่ไกลแล้ว ดังนั้นเราควรเตรียมตัวและทำการบ้านไปให้ดี เมื่อเรามีข้อมูลแน่นพอ เราก็จะมีความมั่นใจในการสัมภาษณ์มากขึ้น นอกจากนี้การเตรียมข้อมูลมาดียังช่วยแสดงให้บริษัทเห็นว่าเรามีความกระตือรือร้น ใส่ใจรายละเอียด และอยากทำงานที่นี่จริง ๆ ถือเป็นการสร้างความประทับใจที่ดีให้กับองค์กรอีกด้วย

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสง่าย ๆ ในการได้งานที่ใช่

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : jobthai, career & tips, งาน, หางาน, สมัครงาน, คนทำงาน, สัมภาษณ์งาน, เคล็ดลับสมัครงาน, เคล็ดลับสัมภาษณ์งาน, เทคนิคสัมภาษณ์งาน, เด็กจบใหม่, จบใหม่ต้องรู้, job interview



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม