เมื่อพูดถึง “คนทำงานที่มีอายุอยู่ในช่วง 40 ปลาย ๆ ขึ้นไป” หลายคนมักจะมีความเชื่อติดหัวต่าง ๆ เช่น คนมีอายุเอาแต่นับวันรอให้ถึงตอนเกษียณ มีทักษะที่ไม่อัปเดตตามเทรนด์โลก ไม่ค่อยเชื่อใจผู้นำที่เด็กกว่า ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ในปัจจุบันยังมีคนทำงานมีอายุอีกมากมายที่ยังคงพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อจะเติบโตในหน้าที่การงาน ซึ่งเรซูเม่ที่ดีก็เป็นสิ่งที่คนหางานไม่ว่าวัยไหนสามารถใช้แสดงทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานและประสบการณ์ เพื่อเป็นใบเบิกทางไปสู่เป้าหมายได้ JobThai เลยจะขอมาแชร์ไอเดียในการทำเรซูเม่ฉบับคนมีอายุที่กำลังหางานในยุคดิจิทัล
ปกติแล้ว HR ที่ทำหน้าที่หาคนจะได้รับใบสมัครเยอะมากในแต่ละวัน และยังมีเวลาในการอ่านที่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นเราควรทำเรซูเม่แบบที่อ่านแล้วเห็นถึงความเหมาะสมกับตำแหน่งในทันที ลองเลือกดูว่าเราจะทำเรซูเม่ออกมาในรูปแบบไหน โดยจะมี 3 แบบที่เรามักจะพบบ่อย ๆ
รูปแบบที่ 1: Reverse-Chronological
เขียนแบบเรียง Timeline จากล่าสุดไปอดีตเพื่อ “เน้นประวัติ” ถ้าเราตั้งใจจะสมัครงานในสายอาชีพเดิม การเขียนในรูปแบบนี้จะช่วยเน้นให้เห็นว่าเราชอบและชำนาญงานด้านนี้จริง ๆ เพราะทำมาอย่างต่อเนื่อง และสำหรับคนที่ทำงานที่เก่ามานาน เรซูเม่ประเภทนี้จะช่วยให้คนอ่านเห็นว่าเราเป็นคนที่อยู่กับองค์กรได้เป็นเวลานาน
ในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นคนทำงานที่เปลี่ยนงานบ่อยในช่วงเวลาสั้น ๆ การเขียนรูปแบบนี้อาจทำให้เรซูเม่ยาวเกินไป เพราะเต็มไปด้วยประวัติการทำงานจากหลาย ๆ ที่ ทำให้คนอ่านเกิดคำถามได้ว่าทำไมถึงทำงานแต่ละที่ได้ไม่นาน ก็อาจจะเขียนลงรายละเอียดเฉพาะงานที่มีผลงานที่โดดเด่น หรือได้เรียนรู้ทักษะและพัฒนาความสามารถอย่างเห็นได้ชัดก็พอ
รูปแบบที่ 2: Functional
เป็นการเขียนแบบที่ไม่ต้องเรียงลำดับเวลา ไม่จำเป็นต้องใส่ระยะเวลาในการทำงานแต่ละที่ แต่โฟกัสไปที่ “ทักษะในปัจจุบัน” รวมถึงผลงานโดดเด่นในอดีตและการอบรมต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรเห็นถึงคุณสมบัติของเรา
รูปแบบที่ 3: Combination
เป็นการเอาการเขียน 2 แบบแรกมาผสมกัน โดยบางส่วนของเรซูเม่จะเป็นลักษณะการเขียนแบบเรียงตาม Timeline แต่บางส่วนก็อาจจะเขียนออกมาในเชิงอธิบายความสามารถ โดยผู้สมัครจะสามารถเล่าให้องค์กรเห็นภาพได้ว่าเรามีประสบการณ์การทำงานยังไงบ้าง ทำงานที่ไหน ระยะเวลาเท่าไหร่ มีการเติบโตในสายอาชีพเป็นยังไง และทักษะที่ได้รับจากการทำงานเหล่านั้นมีอะไรบ้าง
เมื่อตัดสินใจเลือกรูปแบบการเขียนเรซูเม่ที่ตอบโจทย์กับเราได้แล้ว เราสามารถทำเรซูเม่ให้มีดีไซน์ที่ทันสมัยมากขึ้นได้ โดยอาจเลือกใช้เทมเพลตจากในเว็บไซต์ทำเรซูเม่ออนไลน์ ที่เดี๋ยวนี้ใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อนมากนัก ซึ่งเรซูเม่ที่ดีไซน์ดูทันสมัยก็อาจเป็นการช่วยลบภาพเหมารวมว่าคนมีอายุจะใช้รูปแบบการทำเรซูเม่ที่ดูธรรมดา ๆ ไม่โดดเด่น โดยเราอาจใส่สีสันลงไปในเรซูเม่ได้บ้างตามความเหมาะสมว่าเราสมัครงานในตำแหน่งอะไร งานสายไหนและอยู่ในธุรกิจอะไร แต่ยังไงก็ตาม ส่วนที่เป็นเนื้อความยังจำเป็นต้องใช้สีที่อ่านง่าย ไม่ต้องเพ่งก็อ่านได้ทันที อย่างเช่น สีดำ และในเนื้อหาควรใช้ฟอนต์เพียงแค่ฟอนต์เดียวในเรซูเม่นั้น ๆ
คนหางานควรส่งเรซูเม่ที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่สมัคร เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีทักษะ ประสบการณ์ หรือคุณสมบัติแบบที่องค์กรกำลังตามหา บางบริษัทอาจใช้โปรแกรมหรือระบบต่าง ๆ เพื่อช่วยคัดกรองเรซูเม่ ดังนั้นเวลาที่เราเขียนเรซูเม่ เราจึงควรเลือกใช้คำที่เกี่ยวข้องกับเนื้องาน หรือตรงกับสิ่งที่บริษัทกำลังมองหา โดยดูจาก Job Descriptions ว่าบริษัทกำลังมองหาคนที่คุณสมบัติประมาณไหน เช่น ถ้าเราเจอคำว่า “ทักษะการสื่อสาร” อยู่ในประกาศงาน และอาจจะเจอคำนี้มากกว่า 1 ครั้ง หรือดูแล้วเขาให้ความสำคัญกับทักษะนี้เราก็ควรเลือกคำนี้มาเป็นคีย์เวิร์ดที่จะเขียนใส่ในเรซูเม่ของตัวเอง
การเขียนสรุปแบบย่อ ๆ เกี่ยวกับเส้นทางอาชีพ หรือ Professional Summary เป็นการเล่าชีวิตการทำงานของเราเอาไว้ในไม่กี่บรรทัดเพื่อดึงดูดให้ HR สนใจอยากอ่านเรซูเม่ต่อ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องใส่ประวัติทั้งหมดเอาไว้ส่วนในนี้เพราะอาจมากเกินกว่าที่ HR จะอ่านไหว แต่ควรเขียนมาแค่สิ่งที่อยากจะนำเสนอ เช่น คุณสมบัติ ทักษะ ความสามารถที่ตรงกับที่บริษัทต้องการ ผลงานหรือความสำเร็จที่สำคัญ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสายงานนั้น ๆ ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา โดยในแง่การใช้คำ ถ้าเรามีประสบการณ์มาก เราอาจจะใช้คำว่า “มีประสบการณ์เกินกว่า 10 ปี” แทนที่จะบอกว่า “มีประสบการณ์กว่า 25 ปี” เพราะถึงเราจะมีประสบการณ์มานานจริง ๆ แต่บางครั้งการระบุจำนวนปีที่ชัดเจนก็อาจทำให้คนอ่านเรซูเม่จินตนาการอายุงานเราตามไปด้วย
นอกจากนี้ ถ้าเราเคยทำงานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัครมาก่อน แต่ว่าอยากจะพูดถึงเอาไว้ในเรซูเม่ด้วยเพราะเป็นผลงานที่สำคัญหรือประสบความสำเร็จ เราก็บอกเล่าไฮไลต์จากอาชีพอื่น ๆ ที่เราเคยทำมาได้ ซึ่งควรเป็นไฮไลต์ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าในการทำงานของเรา
เวลาที่เขียนช่องประวัติการศึกษา เราควรระบุแค่สถานศึกษาและวุฒิที่จบมาโดยไม่ต้องบอกวันเดือนปีที่เรียนจบ เพราะบางครั้งอาจกลายเป็นการเหมารวมได้ว่าถ้าเรียนมานาน ความรู้และทักษะพื้นฐานอาจจะไม่ได้รับการอัปเดตให้เข้ากับยุคปัจจุบัน ถ้าใครมีหลายวุฒิการศึกษาก็ให้เน้นไปที่วุฒิฯ ที่ใหม่ที่สุด และเกี่ยวข้องกับงานที่สมัครที่สุด และนอกจากการเรียนในระดับอุดมศึกษา ถ้าที่ผ่านมาเราเคยได้ไปเข้าอบรมหรือเรียนออนไลน์เพื่อ Upskill หรือ Reskill โดยเป็นทักษะที่เกี่ยวกับเนื้องาน เราก็สามารถเล่าเพิ่มเติมลงไปได้ด้วย
ข้อดีของการเป็นคนที่ทำงานมานานคือเราได้สะสมประสบการณ์มามากมาย ดังนั้นเวลาที่เขียนเรซูเม่เราควรโฟกัสที่ไปที่สิ่งที่เราทำได้สำเร็จมากกว่าการอธิบายลักษณะเนื้องานที่เคยทำ โดยสามารถยกตัวอย่างได้ว่าที่ผ่านมาเราได้เอาทักษะต่าง ๆ ไปใช้งานจริงมาแล้ว และผลออกมาเป็นยังไงบ้าง ซึ่งสิ่งทีเขียนลงไปต้องเป็นข้อมูลแบบที่จับต้องได้ ชัดเจน และตรวจวัดได้ เช่น แทนที่จะบอกว่าเราช่วยให้องค์กรได้ยอดขายเพิ่มขึ้นมา “เยอะมาก” เราควรระบุให้ชัดเจนไปเลยว่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นมานั้นถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ กี่เปอร์เซ็นต์ (ตรงนี้ต้องแน่ใจว่าเป็นข้อมูลที่เปิดเผยได้ ไม่เป็นความลับขององค์กรเดิม) อีกตัวอย่างนึงที่เราสามารถเล่าได้ก็คือเราสามารถพูดถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เช่น การได้เลื่อนตำแหน่ง ยิ่งถ้าได้รับตำแหน่งที่สำคัญภายในระยะเวลาไม่นานก็ให้เขียนรายละเอียดเรื่องเวลาลงไปด้วย
ในยุคดิจิทัลแบบนี้ ทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่าลืมที่จะเน้นย้ำลงไปในเรซูเม่ว่าทักษะด้านนี้ของเรานั้นอัปเดตเท่าทันไม่ตกยุค และแสดงให้เห็นว่าเราพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา สิ่งที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงคือการพูดถึงเทคโนโลยีที่ล้าสมัย หรือทักษะการใช้โปรแกรมที่คนไม่ค่อยใช้กันแล้ว ถ้าสมัครงานแบบที่สามารถแนบลิงก์ได้ เราอาจแนบลิงก์ที่พาไปสู่ Personal Site หรือเว็บไซต์ส่วนตัว (ถ้ามี) หรืออาจจะเป็น Drive ที่เก็บรวบรวมเอกสารและผลงานที่มีการบอกเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานของเรา โดยเราอาจใส่หนังสือ Recommendation ที่เคยได้จากเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้าเก่า ลงไปในนั้นด้วย
อย่าลืมใช้อีเมลที่ชื่อดูมีความน่าเชื่อถือด้วย เพราะถ้าเป็นการสมัครงานผ่านทางอีเมล HR จะต้องเห็นชื่ออีเมลของเราเป็นอย่างแรก ๆ ถ้าอีเมลของเราเป็นอีเมลที่เคยสร้างเอาไว้เมื่อนานมาแล้วและมีคำตลก ๆ หรือคำที่ไม่ทางการ เราก็ควรสมัครอีเมลใหม่สำหรับใช้สมัครงานโดยเฉพาะขึ้นมา
พอทำเรซูเม่เสร็จอย่าเพิ่งรีบส่งไปทันที แต่ให้เช็กคำและรูปประโยคให้ดีว่ามีที่พิมพ์ผิดตรงไหนรึเปล่า เราอาจหาคนที่รู้สึกว่าไว้ใจได้มาช่วยรีวิวให้เราเพื่อหาจุดที่ต้องปรับแก้ โดยอาจขอให้คนทำงานรุ่นที่เด็กกว่าช่วยรีวิวให้ เพราะอาจจะได้มุมมองใหม่ ๆ ของคนหางานในยุคปัจจุบัน
ส่วนใหญ่การส่งใบสมัครเดี๋ยวนี้จะเป็นการสมัครผ่านช่องออนไลน์ เช่น ผ่านทางอีเมล เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันหางานต่าง ๆ สิ่งที่ต้องระวังเกี่ยวกับการส่งไฟล์ออนไลน์คือการที่ตัวอักษรอาจจะเด้งอ่านไม่รู้เรื่อง หรือสระลอยจากตัวอักษร เพราะฉะนั้นเพื่อให้เป็นการมั่นใจว่า HR จะได้อ่านเรซูเม่ในหน้าตาเดียวกับที่เราทำเอาไว้ แนะนำให้ Export ไฟล์เรซูเม่ที่จะใช้ออกมาเป็นไฟล์นามสกุล PDF ทุกครั้ง และตั้งชื่อไฟล์ให้เหมาะสม เช่น “Resume_ชื่อ-นามสกุล” อย่าให้ตัวเองตกม้าตายเพราะชื่อไฟล์ที่ดูไม่เป็นมืออาชีพ เช่น “เรซูเม่ Ver.4” และถ้าเป็นการสมัครงานด้วยการส่งไฟล์เรซูเม่ผ่านอีเมล เราอาจทดลองส่งอีเมลหาตัวเองก่อนเพื่อตรวจเช็กความถูกต้อง
ถึงความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับคนทำงานที่มีอายุจะเป็นเรื่องที่สร้างความท้าทายอย่างมากในการหางาน แต่อย่าลืมว่าการเป็นคนที่มีประสบการณ์เยอะถือว่าเป็นเรื่องดีตรงที่เราสามารถหยิบเอามันมาเล่าผ่านเทคนิคการเขียนที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดให้ HR สนใจและเรียกเราเข้าไปสัมภาษณ์ได้
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา:
indeed.com
indeed.com
fairygodboss.com