- การตัดสินใจผิดพลาดอาจเกิดได้จากการทำงานของผู้ตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น การไม่เช็คข้อมูลให้ดี, ตัดสินใจเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นเพียงคนเดียว, คิดไม่รอบคอบ และขาดการประสานงาน
- การตัดสินใจผิดพลาดอาจเกิดจากอคติของผู้ตัดสินใจ เช่น มีความมั่นใจสูงจนมองข้ามความเห็นของคนอื่นไป, เมื่อปักใจเชื่อแล้วมักไม่เปลี่ยน, ตัดสินใจอะไรไม่เด็ดขาด และไม่เปิดใจรับความเห็นที่แตกต่าง
|
|
การตัดสินใจบางครั้งอาจเปลี่ยนชีวิตของเราไปเลยได้ ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัวหรือการทำงาน เรามักจะเจอเรื่องที่ต้องตัดสินใจอยู่เสมอ ซึ่งผลของการตัดสินใจนั้นก็อาจจะนำพาชีวิตเราไปในทางที่ดีหรือทางที่แย่ก็ได้ การตัดสินใจเรื่องสำคัญจึงควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่หลายคนก็ยังคงทำออกมาได้ไม่ดี JobThai จึงได้รวบรวมสาเหตุหลักที่อาจจะทำให้การตัดสินใจของเราพลาด รวมถึงเรื่องไหนบ้างที่ต้องระวังและพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องของการทำงาน มาฝาก
สาเหตุหลักสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
สาเหตุที่เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดในการทำงานของผู้ตัดสินใจ
สาเหตุที่เกิดขึ้นจากอคติทางความคิดของผู้ตัดสินใจ
สาเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดในการทำงานของผู้ตัดสินใจ
ไม่เช็กให้ดีว่าข้อมูลถูกต้องและอัปเดต
ด้วยความเคยชินเราจะชอบตัดสินใจในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่มาประกอบ โดยไม่ได้ดูว่าข้อมูลมันอัปเดตหรือไม่ ทั้งที่ข้อมูลเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจ ยิ่งในยุคดิจิทัลอย่างทุกวันนี้ที่ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ขยันอัปเดตก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจพลาดได้ ถ้าเปรียบเทียบกับอาหาร ข้อมูลก็เปรียบเสมือนวัตถุดิบหลักที่ต่อให้พ่อครัวเก่งแค่ไหน แต่ถ้าของที่นำมาใช้ไม่มีคุณภาพก็ยากที่อาหารจะอร่อย
เรื่องของส่วนรวมแต่กลับตัดสินใจคนเดียว
ส่วนมากการตัดสินใจในที่ทำงานมักต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นลูกทีม หรือแผนกอื่น ๆ ถ้าเราตัดสินใจเรื่องสำคัญโดยที่ไม่ได้นำพวกเขามาร่วมพิจารณาด้วยก็อาจจะทำให้ผลของการตัดสินใจนั้นผิดพลาด หรือไม่สามารถปฏิบัติได้จริงจนต้องเสียเวลากลับมานั่งคิดใหม่ ซึ่งการที่ได้นั่งพูดคุยระดมสมองกันจะทำให้เราทราบความเห็น รวมถึงมุมมองที่แตกต่างซึ่งล้วนมีผลทำให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ไม่รอบคอบ มองไม่ครบว่าผลกระทบมีอะไรบ้าง
หลายคนลืมคิดถึงผลกระทบที่เกิดจากตัดสินใจหรืออาจจะคิดน้อยเกินไป ทำให้เมื่อตัดสินใจไปแล้วเกิดปัญหาที่ปลายทาง เพราะบางครั้งสถานการณ์มีความซับซ้อนและผลลัพธ์อาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ซึ่งเราควรจะต้องมีการคิดถึงผลกระทบต่าง ๆ ในระยะยาวว่าถ้าเราเลือกตัดสินใจแบบนี้จะส่งผลให้มีความน่าจะเป็นของผลลัพธ์ได้กี่ประเภท เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพชัดและวางแผนการทำงานได้รอบคอบมากยิ่งขึ้นด้วย
ขาดการประสานงาน และไม่เฝ้าติดตาม
หลายครั้งที่เราทำงานกันอย่างหนักเพื่อรวบรวมข้อมูลจนได้มาซึ่งแนวทางการตัดสินใจที่คิดว่าดีที่สุดแล้ว แต่ดันมาตกม้าตายเพียงเพราะขาดการประสานงานที่ดีและไม่ได้เฝ้าติดตามการดำเนินการ ทำให้ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดคิดไว้จนต้องเสียเวลาไปอย่างไร้ค่า ซึ่งหลังจากที่ได้ตัดสินใจแล้วจะต้องมีการสื่อสารให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อที่ทุกคนจะได้ไปดำเนินการในหน้าที่ที่รับผิดชอบ หลังจากนั้นจะต้องมีการเฝ้าติดตามผลอยู่สม่ำเสมอ
สาเหตุที่เกิดจากอคติทางความคิดของผู้ตัดสินใจ
Overconfidence Bias มั่นใจตัวเองสูงจนมองข้ามความเห็นอื่น
ประสบการณ์และความสำเร็จในอดีตมักทำให้เกิดอคตินี้ เพราะพวกเขามั่นใจว่าตัวเองเก่งสุดจนสิ่งที่คนอื่นคิดกลายเป็นเรื่องไร้สาระไปเลย ความมั่นใจเป็นเรื่องดีแต่ถ้ามากเกินไปก็อาจทำให้เรามองข้ามความคิดเห็นดี ๆ ไปได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งปิดกั้นความคิดคนอื่นไปเสียหมดเพราะในบางครั้งคำแนะนำจากคนอื่นอาจจะดีกว่าสิ่งที่เราคิดก็ได้
Anchoring Bias ปักใจเชื่อแล้ว เปลี่ยนใจยาก
ในการทำงานคนประเภทนี้จะปักใจเชื่อในสิ่งที่เคยทำมาตลอด พวกเขาอาจจะรับฟังคนอื่นบ้างแต่สุดท้ายก็เลือกเชื่อตัวเอง เพราะคิดว่าสิ่งที่เคยรู้และถูกปลูกฝังนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ความจริงอาจจะมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ซึ่งการตัดสินใจด้วยอคติเช่นนี้จะทำให้เราพลาดโอกาสที่ดีไปมากมาย เพราะเราจะปิดกั้นทุกสิ่งด้วยกำแพงแห่งความเชื่อที่ได้ก่อมันไว้
Bandwagon Effect ถึงไม่เห็นด้วย แต่ถ้าคนอื่นชอบก็ทำตาม
คนประเภทนี้ตัดสินใจอะไรไม่เด็ดขาด ถึงแม้ว่าจะมีความคิดที่ดีกว่าอยู่ในหัวแต่พอเห็นคนรอบตัวส่วนใหญ่มีความคิดเห็นไปอีกทาง ก็กลายเป็นว่าพร้อมที่จะโอนอ่อนผ่อนตามเพียงเพราะไม่อยากที่จะเถียงหรือถูกมองว่าคิดต่างจากคนอื่น ซึ่งในความเป็นจริงความคิดที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องอาจไม่ใช่เรื่องที่ถูก และถ้าเราปล่อยให้อคติชนิดนี้ครอบงำไปเรื่อย ๆ เราอาจจะกลายเป็นคนที่ไม่มีจุดยืนเลยก็ได้
Confirmation Bias ฟังคนเห็นด้วย ปิดกั้นคนเห็นต่าง
อีกหนึ่งอคติที่มีผลอย่างมากต่อความสามารถในการตัดสินใจของเราคือ การที่เลือกเชื่อ เลือกฟังเฉพาะความคิดเห็นที่มาสนับสนุนความคิดของเราเท่านั้น ใครที่คิดเหมือนถือว่าคิดถูก โดยเลือกที่จะไม่สนใจหรือต่อต้านความเห็นที่แตกต่างจนถึงขั้นมองข้ามหลักเหตุและผลไปเสียอย่างนั้น ที่น่ากลัวคืออคติประเภทนี้สามารถทำให้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันได้ง่ายอีกด้วย
ความผิดพลาดคือเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคนทำงานทุกคน ในหลายครั้งความผิดพลาดก็มาในรูปแบบของการทำงานที่เรามองข้ามเนื้อหาสำคัญไปหรือไม่ก็มาจากอคติซึ่งเกิดจากตัวเรานั่นเอง ดังนั้นเชื่อว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านคอยตรวจสอบว่ากำลังตัดสินใจผิดพลาดจากอะไรอยู่กันแน่ เพื่อจะได้ปรับปรุงและพัฒนาการตัดสินใจให้ดีขึ้นได้ในอนาคต
ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่
|
|
|
|
JobThai Official Group |
Public group · 102,000 members |
|
|
|
ที่มา :
verywell.com
winstonbrill.com
mindtools.com