ถ้าถามถึงอาชีพในฝันของสาว ๆ หลายคน หนึ่งในอาชีพที่ถูกตอบมากที่สุดอาชีพหนึ่งก็คงจะหนีไม่พ้น “พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน” หรือที่คนส่วนใหญ่คุ้นหูกันในชื่อ “แอร์โฮสเตส” JobThai จะพาไปรู้จักกับคุณตาว ศุภรดา รื่นใจชน แอร์โฮสเตสสาวคนเก่งจากสายการบินสัญชาติญี่ปุ่นที่จะมาเผยถึงเรื่องราวเกี่ยวกับแอร์โฮสเตสให้ฟังว่าอาชีพที่ใคร ๆ ก็เรียกกันว่า “นางฟ้า” จริง ๆ แล้วกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง และเมื่อได้เป็นแล้วสิ่งที่ได้ทำจริง ๆ มันเป็นอย่างที่ใครหลายคนมองเห็นจากภายนอกหรือเปล่า
- หน้าที่หลักของแอร์โฮสเตสคือ การดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร ส่วนเรื่องการบริการเป็นงานรอง
- ช่องทางการสมัครมีทั้งแบบยื่นใบสมัครออนไลน์ และ Walk-in รวมทั้งสามารถไปสมัครที่ต่างประเทศได้
- กว่าจะได้ขึ้นบินต้องผ่านการเทรนก่อนหลายเดือน เกี่ยวกับความรู้เรื่องเครื่องบิน การปฐมพยาบาล การบริการ และรวมถึงภาษาที่สามในบางสายการบิน
- ต้องมีการสอบใบอนุญาตใหม่เป็นประจำทุกปี
- แอร์โฮสเตสไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาที่ดีเสมอไป แต่จะต้องมีบุคลิกภาพและทัศนคติที่ดี
|
|
แนะนำตัวเองให้เรารู้จักหน่อย
ชื่อตาว ศุภรดา รื่นใจชน เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการจัดการภาคบริการ ทำงานที่นี่มาได้ประมาณปีครึ่งแล้วค่ะ
ทำไมถึงเลือกทำอาชีพนี้ แล้วเส้นทางกว่าที่จะมาเป็นแอร์โฮสเตสเป็นอย่างไร
อยากทำอาชีพนี้เพราะว่าเป็นอาชีพที่ได้เจออะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา พอเราคิดว่าเราอยากเป็นแอร์ฯ ก็ไปเรียนแบบ Intensive Course เป็นคอร์สเตรียมตัวเพื่อสมัครเป็นแอร์ฯ แบบวันเดียวจบ เราสนใจสมัครสายการบินไหน เขาก็จะบอกรายละเอียดและคุณสมบัติของสายการบินนั้น ๆ โดยเฉพาะว่าเขาเน้นเรื่องอะไร อยากได้คนแบบไหนเป็นพิเศษ มีอะไรที่เราต้องรู้เกี่ยวกับสายการบินนั้นบ้าง
แอร์โฮสเตสนี่มีช่องทางในการสมัครอย่างไรบ้าง
มีการสมัครออนไลน์ก่อน แต่บางสายการบิน เป็น Walk-in และสัมภาษณ์ในวันนั้นเลยก็มี คนที่ต้องการสมัครแอร์โฮสเตสจะตามข่าวการสมัครผ่านเว็บ Community ซึ่งมีบอกทุกอย่างเลยว่าช่วงนี้สายการบินไหนเปิดรับสมัคร หรือไม่ก็ต้องติดตามใน Facebook Page ของแต่ละสายการบินก็มีแจ้งเหมือนกัน แต่ก็มีบางคนเลือกไปสมัครแอร์โฮสเตสที่ต่างประเทศนะ เพราะที่ไทยคู่แข่งเยอะ ทุกคนที่มาสมัครก็เป๊ะมาก สวยมาก แต่ที่ต่างประเทศจะไม่ขนาดนั้น
ถ้าเราสมัครผ่านและได้รับการคัดเลือกแล้ว เราต้องฝึกอะไรบ้างกว่าที่จะได้ขึ้นบินจริง ๆ
หลัก ๆ คือเราต้องเรียนเกี่ยวกับเครื่องบินที่เราจะได้ขึ้นบินซึ่งแต่ละสายการบินนั้นแตกต่างกันไป รวมไปถึงเรื่องการปฐมพยาบาลและการบริการ เวลาเทรนขั้นตอนการเทรนแต่ละรุ่นก็ไม่เหมือนกัน อย่างเราเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อนหนึ่งเดือนจากนั้นก็เทรนด้วยอาจารย์คนไทย 3 - 4 เดือน แล้วก็ไปเทรนกับคนญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่นอีก 1 เดือนจึงได้ขึ้นบิน แต่ก็ขึ้นบินในฐานะ Trainee เหมือนขึ้นไปเป็นตัวแถม สมมติรอบนั้นต้องมีลูกเรือสิบคน เราก็จะขึ้นไปเป็นคนที่สิบเอ็ด ไปคอยดูงานเดินตามพี่ว่าเขาทำยังไง หรือถ้างานง่าย ๆ เขาก็ให้เราลองทำ เช่น ชงกาแฟ เตรียมชา เหมือนไปฝึกภาคปฏิบัติ เป็นอยู่ประมาณหนึ่งเดือนถึงได้บินเป็นตัวจริง
ถ้าไม่ใช่สายการบินที่เป็นของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษก็ต้องมีการเรียนภาษาที่สามเพิ่มเติม เช่น สายการบินญี่ปุ่นก็เรียนภาษาญี่ปุ่น หรือตะวันออกกลางก็เรียนภาษาอารบิก
แอร์โฮสเตสต้องมีการสอบใบอนุญาตอะไรไหม
ต้องมีการสอบใบอนุญาตก่อนแน่นอน โดยเราจะสอบหลังจากเทรนทั้งหมดแล้ว คือ หลังจากเทรนเรามีสอบปฏิบัติจริง สอบข้อเขียนทฤษฎี พอผ่านทั้งหมดก็ถึงจะได้ขึ้นบิน และต้องกลับมาสอบแบบนี้อีกทุก ๆ ปี
พอได้มาทำอาชีพนี้จริง ๆ มันเหมือนหรือต่างจากภาพที่คิดไว้ตอนแรกบ้างไหม
บางอย่างก็ตรงบางอย่างก็ไม่ ก่อนหน้าที่จะได้มาทำจริง ๆ ก็คิดว่าเป็นอาชีพที่ดูสบายเนอะ ตื่นมาก็สวัสดีค่ะ ยิ้มสวย ๆ รับเครื่องดื่มอะไรดีคะ แต่มันไม่ใช่เลย
แบบ CPR ปั๊มหัวใจ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าแอร์ฯ ทำเป็น ก็เคยเห็นแค่แบบเสิร์ฟอาหารซึ่งเป็นงานรอง จริง ๆ แล้วการดูแลความปลอดภัยเป็นงานหลัก แอร์ฯ จะต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้โดยสารมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะบนเครื่องแคบ ๆ นี้ ความปลอดภัยของผู้โดยสารสองร้อยกว่าชีวิตอยู่ในมือของเรา ซึ่งเราไม่คิดว่าแอร์ต้องมารับผิดชอบเรื่องชีวิตคนขนาดนี้ เป็นความรับผิดชอบที่สูงกว่าที่คิดมาก ซึ่งเรารู้สึกตั้งแต่ตอนเทรนแล้ว
อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่าแอร์โฮสเตสมีหน้าที่อะไรที่จะต้องทำบ้างในแต่ละไฟล์ทที่บิน
พอรู้วันหรือไฟล์ทบินแล้วเราก็มาดูว่าต้องไปถึงที่ออฟฟิศตอนกี่โมง แล้วก็อ่านคู่มือก่อนบินว่าสายการบินเรามีอะไรอัปเดตหรือเปลี่ยนไปบ้าง เช่น กาแฟเปลี่ยนยี่ห้อ ถ้าเราไม่รู้ก่อนแล้วไปเห็นบนเครื่องก็อาจสงสัยว่ามันใช้ได้หรือเปล่า มันโหลดมาผิดไหม หรือเป็นของคลาสอื่น และการขึ้นบินแต่ละเที่ยวแอร์ฯ ก็จะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ต่างกันไป เช่น เราจะไปอยู่ประตูไหน วันนั้นเราต้องทำอะไรบ้าง แล้วก็จะมีพี่มาบรีฟว่ามีอะไรที่เน้นเป็นพิเศษ ตอนนี้มีเรื่องอะไรบ้าง มีเคสอะไรเกิดขึ้น เช่น ช่วงนี้มีเสิร์ฟผิดนะ เข็นรถไปชนผู้โดยสารนะ เป็นการบรีฟงานใหม่พร้อมกับรีวิวงานเก่าไปด้วย
จากนั้นก็มุ่งหน้าไปที่ Terminal เพื่อไปเจอกับทีมงานญี่ปุ่นที่เราทำงานด้วยตลอดทั้งไฟล์ท หัวหน้าลูกเรือเขาก็จะบรีฟอีกว่าวันนี้มีผู้โดยสารแบบไหนบ้าง มีผู้โดยสารที่นั่งรถเข็นไหม มีผู้โดยสารที่เป็นนักโทษหรือเปล่า หรือแม้กระทั่งมีการบอกว่าผู้โดยสารคนนี้เคยเจอแอร์ฯ ทำแบบนี้ หรือเจอเหตุการณ์แบบนี้มา เพื่อให้เราระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก
หลังจากบรีฟกับทีมงานด้วยกันเสร็จก็จะขึ้นไปบนเครื่อง เราก็ต้องดูความเรียบร้อยว่ามันมีอะไรหลงเหลืออยู่ในเครื่องของเรารึเปล่า เตรียมข้าว เตรียมครัว เตรียมการบริการต่าง ๆ พอเตรียมเสร็จก็รับบรีฟจากกัปตัน คราวนี้กัปตันก็จะบอกว่าวันนี้เราบินจากที่นี่ไปที่นี่ ใช้เวลากี่ชั่วโมง จะเจอเครื่องโยกไหม จะเจอใต้ฝุ่นรึเปล่า เราจะตกหลุมอากาศตอนกี่โมง เพื่อเอาไปปรับกับการบริการ เช่น ถ้าเครื่องขึ้นไปได้หนึ่งชั่วโมงแล้วเครื่องจะสั่น ตอนนั้นเราก็เสิร์ฟอาหารไม่ได้ ถ้าเป็นไฟล์ทกลางคืนอาจต้องเลื่อนมาเสิร์ฟเป็นอาหารเช้าแทน ก็รีบแจกขนมของว่างให้ผู้โดยสารทันทีตั้งแต่เครื่องออก เขาจะได้ไม่หิว คือมันต้องปรับไปตามสถานการณ์ตลอดเวลา
เสร็จแล้วก็มาทำ Security Check ซึ่งสำคัญที่สุด หลังจากที่กราวน์สตาฟออกจากเครื่องหมดแล้วก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเช็กเครื่องอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนให้ผู้โดยสารขึ้นมาบนเครื่อง พอเรียบร้อยแล้วก็ไปยืนประจำที่เพื่อรอต้อนรับผู้โดยสาร เราต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงก่อนถึงจะได้บิน ก็คือบิน 6 ชั่วโมง แต่จริง ๆ แล้วทำงานกัน 9 ชั่วโมง
แล้วพอผู้โดยสารขึ้นมาครบแล้ว ต้องทำอะไรต่อบ้างตอนอยู่บนเครื่องบิน
หลังเครื่องขึ้นไม่กี่นาทีมันเป็นช่วงที่อันตรายมาก ช่วงที่อันตรายมากที่สุดในการบินคือตอนที่เครื่องขึ้นและเครื่องลง ตอนที่อยู่บนฟ้าจริง ๆ ไม่อันตรายเท่าไหร่ ดังนั้นพอผู้โดยสารครบก็จะเช็กห้องโดยสารทั้งหมดว่าปลอดภัยดีไหม ช่องเก็บกระเป๋าเรียบร้อยหรือยัง ตัวล็อกลงล็อกไหม เพราะถ้าเครื่องสั่นแล้วมันเปิดออกมา กระเป๋าก็จะตกลงมาซึ่งอันตราย มีผู้โดยสารกางโต๊ะออกมาไหม เก้าอี้ต้องปรับขึ้น ทุกอย่างต้องเก็บให้เรียบร้อย เพราะว่าเราต้องเตรียมเครื่องให้พร้อมกับการอพยพที่สุด ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเราต้องทำให้ทุกคนวิ่งออกจากเครื่องได้โดยไม่มีอะไรมาขัดขวาง เพราะเรามีเวลาแค่ 90 วินาทีในการอพยพคนลงจากเครื่อง
พอจบเรื่องความปลอดภัย ต่อไปก็เป็นเรื่องของการบริการ คนที่ทำหน้าที่ครัวก็จะเตรียมอาหารเครื่องดื่มและเริ่มเสิร์ฟอาหาร แล้วก็อาจมีการบริการพิเศษอื่น ๆ เช่น ถ้ามีเด็กก็ต้องช่วยจัดเตียงเด็กให้ หรือถ้าข้อมูลของผู้โดยสารมีบอกว่าใครเพิ่งแต่งงาน ไปฮันนิมูน ครบรอบแต่งงาน หรือเป็นวันเกิด สายการบินเราก็อาจจะมีของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ เพื่อสร้างความประทับใจ
นอกเหนือจากบริการแล้วก็ต้องคอยสังเกตผู้โดยสารว่าเขาสะดวกสบายดีไหม เช่น มีคนไหนร้อนหรือเหมือนจะป่วยรึเปล่า คนนี้ดื่มเหล้าเยอะไปไหม คือข้างบนเครื่องออกซิเจนน้อยก็จะเมาง่าย แต่ผู้โดยสารบางคนไม่รู้ตัวจนกว่าจะลุกขึ้นมา บ่อยมากที่ลุกขึ้นมาแล้วล้มใส่แอร์ฯ
เมื่อบินไปถึงจุดหมาย ส่งผู้โดยสารลงจากเครื่องแล้ว งานของแอร์ฯ จบแล้วหรือยัง
ยังไม่จบค่ะ อย่างแรกคือเช็กบนเครื่องก่อนว่ามีใครลืมของอะไรไว้หรือเปล่า หรือมีอะไรแปลกปลอมไหม พอเช็กเรียบร้อยแล้วถึงจะออกจากเครื่องได้ ถ้าบินไปต่างประเทศก็กลับโรงแรมเลย แต่ถ้ากลับมาที่ไทยเราต้องเข้าออฟฟิศอีกรอบก่อนกลับ เพื่อมาคุยและอัปเดตกันอีกทีว่ามีไฟล์ทไหนเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ปกติแล้วโอกาสก้าวหน้าในงานสายนี้เป็นอย่างไร
ก็จะเริ่มจากเป็นแอร์ฯ ปกติทั่วไป จากนั้นจะเป็นรองหัวหน้า เวลาอยู่ในเครื่องก็จะดูแลในส่วนของ Economy Class ทั้งหมด และดูแลว่าวันนี้บริการของเราเป็นยังไง ในกรณีที่ผู้โดยสารโกรธ มีคนป่วย ตำแหน่งนี้เป็นคนรับผิดชอบ แต่ถ้าสูงขึ้นไปอีกก็จะเป็นหัวหน้าลูกเรือตำแหน่งนี้ต้องดูแลทั้งลำ มีอำนาจตัดสินใจรองลงมาจากกัปตัน นอกจากนี้ก็จะมีไดเร็กเตอร์ที่จะอยู่ทั้งในออฟฟิศแล้วก็ขึ้นบินด้วย
ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นในระหว่างทำงาน จะมีการลงโทษอย่างไรบ้างไหม
ถ้าผู้โดยสารไม่พอใจหรือมีคอมเม้นต์เรื่องการบริการก็จะไม่มีบทลงโทษอะไรจริงจัง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้โดยสารจะโดนหนัก เช่น การเสิร์ฟข้าวผิดแล้วผู้โดยสารแพ้มาก ๆ อันนั้นจะมีบทลงโทษที่หนักมาก เพราะมันเป็นความปลอดภัยของชีวิตคน คือถ้าสมมติเขาหายใจไม่ออกขึ้นมาบนเครื่อง เราก็ต้องย้อนไปหาสนามบินที่ใกล้ที่สุด หรือไม่ก็ต้องประกาศเรียกหาหมอ ซึ่งก็จะทำให้เขาฟ้องสายการบินเราได้ และมันก็ทำให้ภาพลักษณ์สายการบินเราดูไม่ดี ไม่น่าเชื่อถือด้วย
ความสนุกของการได้ทำอาชีพนี้คืออะไร
ความสนุกคือเราได้เจอผู้คนหลายแบบ ได้เจอวัฒนธรรมแปลก ๆ หลายอย่าง แต่ละไฟล์ทก็จะได้ไปแต่ละประเทศ ผู้โดยสารก็จะเป็นคนชาตินั้น ๆ ถ้าเรามองให้เป็นมุมบวกเสมอมันก็สนุก ตอนบินกลับมาเราอาจจะเหนื่อย แต่พอได้เอาเรื่องที่เจอไปเล่าให้เพื่อน เล่าให้พ่อแม่ฟัง มันก็กลายเป็นเรื่องสนุกได้ มีสักกี่คนที่จะได้ประสบการณ์เยอะขนาดนี้ ได้เจอคนใหม่ ๆ วัฒนธรรมใหม่ ๆ ตลอด
สำหรับคุณตาวอะไรคือความยากในการทำอาชีพนี้
สำหรับตาวยากที่สุดน่าจะเป็นการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานด้วยกันเองหรือกับผู้โดยสาร ถ้าสื่อสารไม่ดี ความหมายเปลี่ยนก็เปลี่ยนหมด การทำงานก็ยาก หรือบางที Body Language เราก็ต้องรู้นะ เช่น เวลาเสิร์ฟอาหาร คนชาตินี้ทำท่าทางแบบนี้คือเอา แบบนี้คือไม่เอา
เรื่องอะไรที่คนทำอาชีพนี้จะต้องยอมรับให้ได้
เรื่องสุขภาพ คือเราบินเราก็เปลี่ยนไทม์โซนไปเรื่อย ๆ สมมติเราบินไปถึงเราง่วงจะแย่อยู่แล้ว แต่เราไม่สามารถนอนกลางวันได้ ถ้าเรานอนตอนนี้ตอนกลางคืนจะนอนไม่หลับ พอกลางคืนไม่หลับเช้าที่จะต้องไปบินก็จะไม่ไหว คือมันจะต้องปรับต้องจัดเวลานอน ทั้ง ๆ ที่สุขภาพเรามันไม่ไหว ตอนนั้นมันง่วงมาก หรือกินก็ไม่เป็นเวลา มีเวลาได้กินตอนตีสองก็ต้องกิน ไม่กินไม่ได้เพราะจะไม่มีแรงทำงาน
คิดว่าคนจะมาทำอาชีพนี้ควรมีคุณสมบัติแบบไหน
บุคลิกภาพและการวางตัวที่ดี อันนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้นะว่าเราก็เป็นเหมือนโฆษณาเคลื่อนที่ของสายการบิน ถ้าเราเดินในสนามบินกันเป็นทีม คนก็ต้องหันมามองแอร์ฯ กันอยู่แล้ว แล้วก็สงสัยว่าชุดแบบนี้สายการบินอะไร เพราะฉะนั้นเราต้องวางตัวดีตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มเทรนจะถูกสอนว่าห้ามเดินคุยโทรศัพท์ หรือเดินเล่นโทรศัพท์ในที่สาธารณะ ห้ามถือถุงก๊อปแก๊ป ทุกอย่างคือภาพลักษณ์ มันคือความรับผิดชอบของเรา นอกจากนั้นก็มีเรื่องทัศนคติที่ต้องคิดบวก มีความอดทน และความสามารถด้านภาษา
จริงไหมที่คนจะทำอาชีพนี้ต้องสวย สูง หุ่นดี
ไม่จริงเสมอไป เขาดูทัศนคติด้วย ดูอีคิวของเราว่ารับมือกับความกดดันที่รุมเร้าเข้ามาได้หรือเปล่า ถึงมีคนบอกไงว่าทำไมสัมภาษณ์แอร์ฯ มันถึงโหด ทำไมกว่าจะได้เป็นแอร์ฯ มันถึงยาก กับแค่ไปยืนยิ้มสวย ๆ คอยเสิร์ฟข้าวเสิร์ฟน้ำ นี่คือคำตอบเพราะเขาไม่ได้ดูแค่ความสวย คือตอนแรกเราคิดแบบนั้น แล้วพ่อแม่ก็ไม่สนับสนุนด้วย เขามองว่าเราตัวเล็ก หน้าหมวย ๆ ไม่สวยคม ไม่ได้เป็นหรอก ทำงานอยู่ออฟฟิศนี่แหละดีแล้ว แต่ด้วยความที่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ เรารู้สึกว่าอาชีพนี้ไม่ได้มีแค่ความสวย ก็เลยลองสมัครดู
อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากจะมาทำงานตรงนี้บ้าง
มีความกล้าก่อนอย่างแรก อย่ามองว่าตัวเองไม่สวย หน้าอย่างฉันเหรอจะเป็นแอร์ฯ ได้ ตาวคิดว่ามันไม่เกี่ยว มันอยู่ที่ความคิดและทัศนคติของเรามากกว่า และเราต้องรู้ว่าตัวเราเองเหมาะกับสายการบินแบบไหน แล้วเตรียมตัวหาข้อมูลว่าสายการบินที่เหมาะกับเราเขาอยากได้คุณสมบัติแบบไหนเพิ่มเติมอีก
เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วคงจะเห็นว่ากว่าที่ใครสักคนจะมาทำอาชีพนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และเมื่อได้เข้ามาทำแล้วก็ยังต้องรับผิดชอบอะไรอีกมากมายด้วย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้น่าจะทำให้หลายคนเข้าใจและมีมุมมองต่ออาชีพแอร์โฮสเตสที่เปลี่ยนไป ในขณะที่คนที่ฝันอยากจะก้าวเข้ามาทำงานในอาชีพนี้ก็คงจะได้รับแรงบันดาลใจเช่นกัน
แต่ถ้าใครยังไม่มั่นใจว่าผู้หญิงธรรมดา ๆ อย่างเราจะสามารถเป็นแอร์โฮสเตสได้ไหม บทความ ศศิธร คูส่ง: ผู้หญิงธรรมดาที่พิสูจน์แล้วว่าแอร์โฮสเตส ไม่ใช่ฝันที่ไกลเกินไปสำหรับใครที่อยากติดปีก น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มความมั่นใจให้กับคุณได้
JobThai มี Line แล้วนะคะ
ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่