ศุภณัฐ ศรีกระจ่าง: นักบำบัด ผู้ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษ

02/04/19   |   10.3k   |  

เราอาจจะคุ้นหูกับอาชีพ “นักกายภาพบำบัด” ที่ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพและกล้ามเนื้อของนักกีฬา แต่เมื่อพูดถึง นักบำบัด หรือ นักพฤติกรรมบำบัดแล้ว หลายคนอาจจะต้องร้อง เอ๊ะ! แล้วถามพร้อมกันว่าคืออาชีพอะไร แล้วเขาเหล่านั้นทำงานอะไรบ้าง 

 

JobThai มีโอกาสได้นั่งคุยกับ นัท ศุภณัฐ ศรีกระจ่าง หนึ่งในนักบำบัดที่จบจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ที่ปัจจุบันทำงานเป็น Job Coach หรือผู้ฝึกสอนอาชีพให้กับกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษที่ Step with Theera จากประสบการณ์การทำงานด้านพฤติกรรมบำบัดกับเด็กมากว่า 3 ปีก่อนจะย้ายมาบำบัดคนวัยผู้ใหญ่มากขึ้น วันนี้นัทจะมาเล่าให้เราฟังว่า นักบำบัดคือใคร และทำงานอะไรเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษบ้าง

 

 

  • นักบำบัดคือคนที่ใช้ความรู้และความสามารถที่มีเพื่อทำให้พฤติกรรมของผู้ถูกบำบัดดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำ Speech Therapy, Occupational Therapy หรือ Music Therapy
  • ความเข้าใจ ทักษะการสังเกต และความใจเย็น คือคุณสมบัติจำเป็น 3 ข้อสำหรับคนที่อยากมาทำงานด้านการบำบัด และถ้ามีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคก็จะช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย
  • การบำบัดระหว่างเด็กและผู้ใหญ่มีความต่างกันทั้งเป้าหมายและวิธีการเข้าหา และทั้งสองกลุ่มก็มีความยากในการจัดการคนละแบบ คนที่จะมาทำงานด้านนี้จึงต้องปรับตัวให้ตรงกับกลุ่มที่จะเข้าไปบำบัด

 

 

ทำไมนัทถึงสนใจการบำบัดและพฤติกรรมบำบัด

เราเกิดมาในครอบครัวที่พ่อและแม่ทำงานราชการ แม่ทำงานบริการทันตกรรม พ่อเป็นนักวิชาการสาธารณสุขที่ช่วยคนมาตลอด เลยซึมซับว่าอยากทำงานในการช่วยเหลือและฟื้นฟูคนจากความเจ็บป่วย เราก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าสายอาชีพไหนที่เหมาะกับตัวเอง ประกอบกับช่วงนั้นได้อ่านหนังสือจิตวิทยาและปรัชญาหลายเล่มที่พูดถึงพฤติกรรมของคน ทำให้เรารู้จักนักจิตวิทยาแล้วก็รู้สึกว่าอยากเป็นนักจิตวิทยา 

 

ตอนมาเรียนมหาวิทยาลัยก็ตัดสินใจตั้งแต่ต้นเลยว่าต้องเป็นจิตวิทยาคลินิก เพราะเราสนใจเกี่ยวกับการรักษา และการบำบัด เมื่อเราเรียนมากขึ้นก็ถึงช่วงที่ต้องตัดสินใจว่าเราจะไปต่อด้านไหนของจิตวิทยาคลินิก ที่ประกอบด้วยการทำแบบทดสอบ การทำบำบัด การให้คำปรึกษา ซึ่งถ้าเราเลือกการทำบำบัดเราก็ต้องตัดสินใจตอนนั้นเลยว่าจะบำบัดคนในกลุ่มไหนจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ 

 

นัทสนใจการทำบำบัดกับเด็ก เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาในวัยผู้ใหญ่นั้นมีผลมาจากวัยเด็ก นัทเลยลงวิชาทุกตัวที่เรียนเกี่ยวกับเด็ก เมื่อเรียนจบก็มีโอกาสที่ดีในการทำงานบำบัดเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยตรง ในฐานะนักพฤติกรรมบำบัดหรือเรียกอีกอย่างว่า ABA Therapist (Applied Behavior Analysis)

 

ศุภณัฐ ศรีกระจ่าง: นักบำบัด ผู้ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษ

 

หน้าที่ของนักบำบัดต้องทำอะไรบ้าง

พื้นฐานของการบำบัดคือ เราอยากให้พฤติกรรมอะไรออกมาบ้าง อยากจะแก้พฤติกรรมอะไร หรืออยากจะให้พฤติกรรมอะไรหมดไป เราก็จะแยกออกมาว่าพฤติกรรมนี้เกิดจากอะไร วิเคราะห์ว่าจะแก้ไขมันได้ยังไง และจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้อย่างไร 

 

แต่ถ้าเป็นงานของนักพฤติกรรมบำบัดจะมองว่าพฤติกรรมแต่ละอย่างเกิดจากต้นเหตุอะไร เช่น หิวน้ำก็เลยไปดื่มน้ำ ต้นเหตุมาจากการหิวน้ำ หรือเราอยากจะเรียนเก่งขึ้นก็เลยอ่านหนังสือ เหล่านี้คือต้นเหตุของพฤติกรรม เด็กบางคนที่เขาอยากได้ของกินแต่ไม่รู้วิธีการว่าจะต้องพูดอย่างไร ก็เลยเลือกที่จะตะโกนออกมา 

 

สรุปแล้วหน้าที่ของนักบำบัดจะกว้างมาก มีทั้ง Speech Therapy, Occupational Therapy หรือ Music Therapy แต่ละคนอาจจะสนใจเรื่องที่ต่างกัน แต่ก็จะใช้ความสามารถที่มีเพื่อผลลัพธ์ที่เหมือนกัน คือทำให้พฤติกรรมของผู้ถูกบำบัดดีขึ้น
 

กิจวัตรในแต่ละวันของนักบำบัด ต้องทำอะไรบ้าง

ทุกอย่างจะเริ่มจากเมื่อวาน (หัวเราะ) เพราะต้องเตรียมการสอนว่าจะสอนอะไรบ้าง เรียกว่าต้องเตรียมสอน เตรียมอุปกรณ์ แล้วก็สอนเองทุกขั้นตอน เช่น ถ้าวันนี้จะเรียนเรื่องการใช้เงิน เราก็ต้องไปเตรียมทำแบงก์ 20 แบงก์ 100 มาสอนการนับเงิน การใช้เงิน 

 

ส่วนการวัดผลก็เป็นการทดสอบว่าเขารู้แค่ไหน ถ้าเป็นการทดสอบขั้นที่สูงกว่าคือวัดว่าเอาไปปรับใช้ได้ยังไงบ้าง ที่นี่ขั้นสูงสุดคือการให้เด็กทำ Resume และทำ CV ส่งไปบริษัทต่าง ๆ เพื่อให้รับเขาเข้าไปทำงาน การทดสอบที่ดีที่สุดคือรู้ว่าเขาสามารถเข้าไปทำงานที่อื่นได้

 

ศุภณัฐ ศรีกระจ่าง: นักบำบัด ผู้ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษ

 

อะไรคือคุณสมบัติที่จำเป็น ถ้าอยากมาทำงานด้านการบำบัด

เบื้องต้นเลย ถ้ารู้เรื่องโรคเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้จะช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ส่วนคุณสมบัติอันดับแรกคือ ความเข้าใจเข้าใจว่าคนเหล่านี้เขาเป็นอะไร เขาทำแบบนั้นไปทำไม เวลาที่พูดถึงออทิสติกเราก็ต้องเข้าใจก่อนว่าเขาขาดทักษะทางสังคม ภาษา และจะมีรูปแบบบางอย่างที่ผิดปกติไป การที่คุณเข้าใจ 3 อย่างนี้จะช่วยให้เข้าใจได้ว่าเขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้นจริง ๆ มันแค่เป็นอาการที่เกิดขึ้น คล้ายกับคนตาบอดที่เขาก็ไม่ได้อยากมองไม่เห็นหรอก แต่นั่นคืออาการที่เขาเป็น

 

อันที่สองคือ ทักษะการสังเกต จะทำงานด้านนี้สายตาต้องไวมากเพราะทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วจริง ๆ บางครั้งเด็กก็ไปหยิบแก้วแล้วโยนเลย การสังเกตนี่ด้านหนึ่งคือการป้องกันเหตุด้วย ถ้าเราป้องกันได้ครั้งต่อไปก็จะไม่เกิดขึ้น เช่น ถ้ารู้ว่าเด็กคนนี้อยู่กับแก้วไม่ได้ เราก็จะใช้พลาสติกมาแทนซึ่งเป็นทางแก้ที่ดีกว่าการต้องวิ่งเข้าไปห้ามทุกครั้ง

 

ข้อสุดท้ายคือ ต้องใจเย็น พยายามหยุดตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเวลาทำงานมันจะมีเหตุการณ์ให้เราหงุดหงิดอยู่แล้ว เราต้องพยายามคิดว่าไม่เป็นไร แล้วค่อย ๆ คิดหาทางว่าจะทำยังไงต่อดี

 

ศุภณัฐ ศรีกระจ่าง: นักบำบัด ผู้ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษ

 

จากการทำงานมา นัทเคยเจอเหตุการณ์ที่จัดการยากบ้างไหม

ก็มีเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่เราจะเจอพฤติกรรมที่ไม่ค่อยเห็นในเด็กทั่วไป แรก ๆ ก็มีเด็กหยิบฝาชักโครกทุ่ม ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเหมือนกัน เพราะทุกวันไม่เคยมีอาการ ถามจากที่บ้านก็ไม่รู้สาเหตุ เราได้แต่สร้างสมมติฐานในหัวเต็มไปหมดว่าอะไรไปกระตุ้นเขา เขาเรียนเยอะไปเหรอ เขาขาดอะไร ไม่สบายหรือเปล่า 

 

สิ่งที่ยากคือเด็กคนนั้นไม่สามารถสื่อสาร นัทในฐานะนักบำบัดจึงต้องทำการหาข้อมูลจากที่บ้านว่าเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่ ถ้ามี เกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรเป็นที่สิ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว เช่น ไม่สบาย หรือเกิดความเครียดก็เลยทำ เมื่อเราทราบข้อมูลก็สามารถป้องกันเหตุการณ์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ 

 

เมื่อทราบว่าเขาเครียดก็เลยทำพฤติกรรมดังกล่าว เราก็ต้องเตรียมวางแผนพฤติกรรมในอนาคต ด้วยการสอนให้เขาสื่อสารอย่างมีประสทธิภาพมากขึ้นโดยให้ ขอพัก ในขณะทำงาน ซึ่งมันก็ได้ผลในด้านการสื่อสารเมื่อเขารู้สึกเครียด ขั้นต่อไปเราคุยกับทีมนักบำบัดเพื่อมองถึงการป้องกันที่มากขึ้นไปอีก ทางทีมก็เสนอแนะให้เปลี่ยนเป็นฝาชักโครกไม้แทนซึ่งก็ได้ผล จากเหตุการณ์นี้ทำให้เขาสามารถสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่ทำให้เกิดพฤติกรรมซ้ำอีก ซึ่งปัจจุบันเขาก็ไม่มีพฤติกรรมการโยนฝาชักโครกอีกแล้ว

 

จากที่เคยทำงานบำบัดเด็กแล้วเปลี่ยนมาสู่วัยผู้ใหญ่มากขึ้น คิดว่า 2 กลุ่มนี้แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

อย่างแรกเลยคือ Goal หรือเป้าหมายที่ต่างกัน เป้าหมายของเด็กก็คือการช่วยให้เขาเข้าโรงเรียนได้ ใช้ภาษาได้ สอบผ่านวิชาที่เรียน หรือย้ายโรงเรียนได้ ส่วนของผู้ใหญ่ เป้าหมายของเขาคือการเข้าไปทำงานได้ ทำให้เขาภาคภูมิใจในตัวเองที่ได้ทำงาน ไม่ใช่การต้องรอให้คนอื่นมาช่วยเหลือตลอดเวลา 

 

ส่วนอันที่สองคือ วิธี Approach หรือวิธีเข้าหาก็ต่างกัน ตอนบำบัดเด็ก เราจะมองว่าเราเล่นกับเด็ก ใช้เสียง 2 เล่นด้วยก็ได้ แต่พอมาทำบำบัดผู้ใหญ่ถึงแม้เขาจะต้องการความช่วยเหลือพิเศษก็จริง แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้แล้วเพราะเขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นเด็ก แต่เขาอยากได้รับการดูแลแบบเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ตอนที่นัทเปลี่ยนมาทำแรก ๆ ก็เป็นปัญหาเรื่องการปรับตัวเหมือนกัน เพราะเราเคยชินกับการเข้าหาเด็กมาตลอด เราเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีการแนะนำและใช้ภาษาที่โตมากขึ้นด้วย

 

สรุปก็คือทั้งคู่มีความยากกันคนละแบบ แต่สำหรับนัทบำบัดผู้ใหญ่ยากกว่าเพราะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ความคาดหวังที่เข้ามาก็มีเยอะด้วย เขาก็เหมือนเราตอนวัยรุ่นที่อยากทำอะไรหลายอย่างนั่นแหละแต่ไม่สามารถบอกความในใจของตัวเองได้ บอกไม่ได้ว่าอยากเป็นอะไร อยากทำงานอะไรในอนาคต เราก็ต้องพยายามช่วยเขาหาว่าชอบอะไร อยากทำงานอะไร ซึ่งเหล่านี้จะยากกว่าบำบัดเด็ก แต่ก็สบายกว่าอย่างหนึ่งคือ นิสัยบางอย่างแบบเด็กจะไม่ตามมาด้วย เช่น งอแง ทำร้ายร่างกาย จะไม่ค่อยเจอ เรียกว่าจัดการยากคนละแบบก็ได้

 

ศุภณัฐ ศรีกระจ่าง: นักบำบัด ผู้ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษ

 

คิดว่าคนทั่วไปในสังคมเข้าใจอะไรคนกลุ่มนี้ผิดไปบ้าง และจริง ๆ แล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไรในการใช้ชีวิตร่วมกัน

คนมักมองว่าคนกลุ่มนี้ต้องมีอาการ Crazy ขนาดที่เห็นในหนัง แต่จริง ๆ แล้วคนกลุ่มนี้มีระดับของเขาเยอะมากจนเรียกว่าเป็น Spectrum บางคนทำงานได้ บางคนต้องการความช่วยเหลือ ที่สำคัญคือหลายคนเลือกมองแค่สิ่งที่คนเหล่านี้ทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่คนกลุ่มนี้ทำอะไรได้หลายอย่างมาก บางคนจำเก่ง หรือบางคนก็เก่งด้านภาษา

 

การใช้ชีวิตกับคนกลุ่มนี้ก็คือมองให้เขาเป็นคนธรรมดา เขาต้องการแค่นั้นเอง นอกจากนี้เราต้องช่วยผลักดันให้มีพื้นที่ที่คนกลุ่มนี้สามารถไปทำกิจกรรมได้มากขึ้น บางคนจะไม่ยอมไปห้างสรรพสินค้าเลยเพราะเสียงดัง หรือบางคนก็ไม่ชอบที่ที่มีแสงมาก ๆ ส่วนเรื่องการจะให้คนกลุ่มนี้ไปใช้ชีวิตอย่างไรในสังคมก็ต้องเป็นหน้าที่ของนักบำบัดที่จะทำให้เขากลมกลืนกับคนอื่นมากที่สุด สิ่งสำคัญก็คือแค่ยอมรับเขานั่นเอง

 

ถ้าพ่อแม่ที่มีลูกเป็นผู้ที่มีความต้องการพิเศษได้อ่าน เราอยากแนะนำอะไร

ครอบครัวของเด็กมีความสำคัญมากเพราะเขาอยู่กับเด็ก 100% สถานที่บำบัดต่าง ๆ เด็กไปฝึกแค่ไม่กี่ชั่วโมง หน้าที่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นของคนที่บ้านอยู่ดีที่จะช่วยเขาพัฒนา และที่ต้องตระหนักให้มากคือการใช้ความรุนแรงไม่มีผลดีอะไรเลย ส่วนสิ่งที่ควรทำ 3 อย่างคือ

 

1. คิดว่าการบำบัดคือการป้องกัน ถ้ารู้แล้วว่าลูกเราเป็นผู้ที่มีความต้องการพิเศษต้องรีบพาไปบำบัดเลย ไม่ต้องอาย เพราะเดี๋ยวนี้สังคมเปิดกว้างและเปิดรับความผิดปกติมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าใครจะตีตราคุณ เพราะถ้ายิ่งพาไปบำบัดช้าเท่าไหร่จะยิ่งส่งผลเสียต่อพัฒนาการมากเท่านั้น ถ้ามันผ่านช่วง Critical Time ในการพัฒนาไปแล้วมันก็จะหายไปเลย ไม่ได้กู้มาง่ายเหมือนการรักษาอย่างอื่น

2. ถ้ามีเวลา อยู่กับลูกและเข้าใจเขาให้มากที่สุด เพราะถ้าครูเข้าใจลูกมากกว่าพ่อแม่คงจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่

3. ถ้าพ่อแม่สอนลูกเรื่องการใช้ภาษาด้วยจะดีมาก ความจริงแล้วมันไม่ยากเลยเพราะภาษาอย่างแรกที่ทุกคนเรียนคือการใช้สายตา สำหรับเด็กถ้าเรามองคือต้องการคุณ เรามองอะไรแสดงว่าต้องการสิ่งนั้น ถ้าทำให้เด็กมองได้ เด็กจะเริ่มสังเกตปากของเราว่าพูดอะไร แค่ดูพื้นฐานของการสื่อสารและการสอนพูดก็มีส่วนช่วยแล้วเช่นกัน

 

ศุภณัฐ ศรีกระจ่าง: นักบำบัด ผู้ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษ

  ศุภณัฐ ศรีกระจ่าง: นักบำบัด ผู้ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษ

 

 

 

 

 

 

สุดท้ายก่อนจาก นัทยังทิ้งท้ายถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจที่สมัยนี้เปิดรับกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษเข้าไปทำงานมากขึ้น โดย มูลนิธิออทิสติกแห่งประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจาก True Cafe และ All Cafe ของร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น รวมถึง MK Restaurant และองค์กรอื่นอีกมากที่ให้โอกาสเด็กกลุ่มนี้เข้าไปทำงาน เป็นส่วนช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างรายได้และมีความภาคภูมิใจในตัวเอง และจะดียิ่งขึ้นอีกแน่ ถ้าเราทุกคนเปิดใจรับพวกเขาให้ได้เข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม เพื่อจะได้เรียนรู้ เข้าใจ และเติบโตไปได้พร้อมกันกับเรา

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

tags : career focus, career & tips, นักบำบัด, สายอาชีพ, จิตวิทยา, นักพฤติกรรมบำบัด, อาชีพ, คนทำงาน, การทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม