ลาออกยังไงดี? ถ้าทุกวันนี้ต้องทำงาน Work from Home

ลาออกยังไงดี? ถ้าทุกวันนี้ต้องทำงาน Work from Home
13/12/21   |   19.2k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานใหม่ ง่ายกว่าที่คิด

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลมากมายกับโลกการทำงาน มีหลายบริษัทที่แก้ปัญหาการทำงานท่ามกลางโรคระบาดด้วยการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) หรือทำงานทางไกล (Remote Working) ซึ่งหลายบริษัทก็พบว่ารูปแบบการทำงานนี้มีประสิทธิภาพที่ดีไม่แพ้การทำงานในออฟฟิศ และอาจตัดสินใจปรับเปลี่ยนให้มันกลายมาเป็นรูปแบบการทำงานอย่างถาวรไปเลยก็ได้

 

แล้วถ้าเกิดว่าเราเป็นคนนึงที่ทำงานทางไกลแล้วต้องการลาออกเพราะว่าได้งานใหม่หรืออยากลองเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น แต่ก็ไม่สามารถเดินไปคุยกับหัวหน้าหรือเดินไปหา HR เพื่อลาออกได้แบบง่าย ๆ เหมือนกับตอนที่ยังทำงานในออฟฟิศ เราควรทำยังไงดี วันนี้ JobThai จะมาแนะนำการลาออกสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานในออฟฟิศ

 

เรียนรู้มารยาทพื้นฐานที่จะทำให้คุณลาออกแบบสวย ๆ

 

นัดวันเวลากับหัวหน้าเพื่อพูดคุยเรื่องการลาออก

เมื่อตัดสินใจแล้วว่าเราจะลาออกอย่างแน่นอน สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือต้องติดต่อหัวหน้างานเพื่อขอนัดพูดคุยเรื่องลาออก โดยจะเป็นการโทรไปขอนัดวันเวลา ส่งข้อความ หรืออีเมลแจ้งนัดก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าปกติแล้วช่องทางที่ใช้เวลาคุยกับหัวหน้าคือแบบไหน ซึ่งถ้าเราเลือกที่จะแจ้งนัดด้วยวิธีการคุยโทรศัพท์ก็แนะนำให้เตรียมคำตอบไว้ประมาณนึง เพราะเราอาจถูกถามสาเหตุการลาออกคร่าว ๆ ตั้งแต่ตอนนั้นเลยก็ได้ และเมื่อคุยกันจนได้วันเวลาที่สะดวกแล้วก็ลงวันเวลาเอาไว้ในปฏิทิน และส่งนัดประชุมออนไลน์เพื่อ Video Call ให้หัวหน้าเลย

 

เตรียมเรื่องที่จะพูดและเตรียมตัวตอบคำถามก่อนที่จะคุยกับหัวหน้า

ก่อนจะถึงวันที่ต้องพูดคุยเรื่องการลาออก เราควรเตรียมสิ่งที่จะพูด และเตรียมพร้อมสำหรับการตอบคำถาม เพราะไม่แน่ว่าพอไปถึงสถานการณ์จริง เราอาจจะประหม่าจนพูดอะไรไม่ออกหรือเผลอพูดอะไรที่ไม่เหมาะออกไป เพราะฉะนั้นการมีประโยคคำตอบคร่าว ๆ เอาไว้ในหัวก็จะช่วยให้อุ่นใจมากขึ้น โดยประเด็นแรกที่หัวหน้าอยากรู้ที่สุดก็คือสาเหตุการลาออก จากนั้นเราก็แจ้งเพิ่มเติมไปได้เลยว่าเราจะทำงานที่นี่จนถึงวันไหนเป็นวันสุดท้าย และควรเตรียมคำขอบคุณให้กับหัวหน้าสำหรับประสบการณ์การทำงานตลอดช่วงที่ผ่านมา

 

Video Call คุยกับหัวหน้าเรื่องลาออก

ก่อนที่จะถึงเวลาที่ต้อง Video Call คุยกับหัวหน้าก็อย่าลืมเตรียมสิ่งรอบข้างให้พร้อม โดยเราควรจะคุยในห้องที่เงียบและเป็นส่วนตัว ไม่มีคนเดินผ่านไปมา และดูว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังดีพร้อมให้เราได้พูดคุยเรื่องสำคัญ ถ้าเราทำงานในบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ค่อนข้างจริงจังและจะต้องคุยกับหัวหน้าระดับสูงด้วย แนะนำให้แต่งตัวให้เรียบร้อยเข้าไว้

 

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็เล่าสาเหตุการลาออกและแจ้งวันที่เราจะมาทำงานเป็นวันสุดท้ายกับหัวหน้า โดยถ้าหัวหน้าถามอะไรเพิ่มเติมก็ให้ตอบอย่างชัดเจน หรือถ้าการลาออกของเรามีสาเหตุที่ไม่ค่อยดีนักเกี่ยวกับการทำงานที่นี่ก็ให้พยายามใจเย็นและอธิบายอย่างมีเหตุมีผลมากที่สุด แจ้งหัวหน้าด้วยว่าเราจะสามารถช่วยอะไรทีมได้บ้างในช่วงสุดท้ายก่อนลาออก โดยคำนวณจากขอบเขตความรับผิดชอบในงานของเราและดูว่ามีงานอะไรที่เราต้องทำให้เสร็จบ้าง งานแต่ละชิ้นต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะเคลียร์หมด ยิ่งถ้าเราต้องลาออกในขณะที่งานโปรเจกต์ใหญ่กำลังเดินหน้าเราก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องวางแผนส่งต่องานให้ดี

 

ในบางบริษัทนอกจากเอกสารแจ้งลาออกของฝ่ายบุคคลแล้ว อาจจะต้องเขียนจดหมายลาออกส่งให้หัวหน้าด้วย ให้ลองถามหัวหน้าดูว่าต้องส่งจดหมายลาออกให้หัวหน้าหลังจากการพูดคุยปากเปล่าด้วยรึเปล่า ถ้าต้องส่งก็เขียนให้มีความเป็นทางการและส่งตามหลังให้หัวหน้า

 

7 คำถามเรื่องลาออก กับคำตอบที่จะไม่ทำให้แตกหัก

 

คุยกับ HR ต่อ เพื่อลาออกตามขั้นตอนของบริษัท

หลังจากหัวหน้ารับรู้ว่าเราจะลาออกแล้วก็ประสานเรื่องกับ HR ต่อไปเพื่อทำเรื่องลาออก โดยถามจาก HR ให้ชัดเจนว่าเราต้องทำอะไรบ้าง และควรเป็นการ Video Call คุยเพื่อให้เข้าใจทุกอย่างตรงกันและไม่มีรายละเอียดอะไรตกหล่นไป เพราะแต่ละบริษัทอาจมีขั้นตอนที่แตกต่างกัน ส่วนในขั้นตอนการเซ็นใบลาออกนั้นอาจเป็นการเซ็นผ่านทางออนไลน์ หรือ HR อาจนัดวันกับเราเพื่อให้เข้าไปเซ็นใบลาออกที่ออฟฟิศก็ได้

 

เตรียมส่งต่องาน เล่ารายละเอียดงานในมือเราให้ทีมฟัง

พอมาถึงช่วงท้าย ๆ ของการทำงานแล้ว ถ้าหัวหน้ายังหาพนักงานใหม่ที่จะเข้ามาทำงานแทนเราไม่ได้ ก็ให้นัดประชุมออนไลน์กับหัวหน้าและคนในทีมสักครั้งเพื่อเล่าให้ฟังว่าตอนนี้งานในมือเป็นยังไงบ้าง แล้วต้องทำอะไรต่อไป คนที่จะมารับช่วงงานของเราต่อมีปัญหาติดขัดหรือต้องการคำแนะนำอะไรไหม แต่ถ้าหัวหน้าหาคนเข้ามาทำงานแทนเราได้ทันก่อนที่เราจะออก หน้าที่สุดท้ายของเราก็คือการสอนงานเขาให้เต็มที่ อธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ให้ชัดเจน และให้ Contact คนที่ต้องคุยเป็นประจำ รวมไปจนถึงส่งไฟล์งานสำคัญ ๆ ให้

 

ทำงานให้เต็มที่จนถึงวันสุดท้าย

การลาออกไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำให้เรามีสิทธิ์ทำงานอย่างขี้เกียจได้ ในทางตรงกันข้ามเราควรขยันให้เหมือนเดิมหรือให้ยิ่งกว่าเดิมเพื่อเคลียร์งานที่ยังติดพันให้หมดไป เพราะคนทำงานที่ดีคือคนที่ทำงานเต็มที่จนทุกบริษัทต้องเสียดายเมื่อลาออก ดังนั้นถ้าเรายังเป็นพนักงานอยู่เราก็ต้องทำงานที่อยู่ในมือให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าให้มาตรฐานที่ทำมาตั้งแต่ต้นมาตกเอาตอนช่วงสุดท้าย

นัดวันเอาของไปคืนที่ออฟฟิศ

ขณะที่ Work from Home บางบริษัทอาจให้พนักงานยืมอุปกรณ์ในการทำงานตลอดช่วงของการเป็นพนักงาน เช่น โน้ตบุ๊ก หรือเก้าอี้นั่งทำงาน ซึ่งถ้าเรามีอุปกรณ์หรือสิ่งของเหล่านี้อยู่กับตัวก็ให้ติดต่อ HR หรือแผนกที่เกี่ยวข้องเพื่อทำเรื่องนัดรับคืนของ รวมไปถึงบัตรจอดรถ หรือบัตรพนักงานด้วย

 

กล่าวลาและขอบคุณเพื่อนร่วมงาน

เมื่อเดินทางมาถึงวันสุดท้ายของการทำงานแล้วเพื่อให้การลาออกครั้งนี้เป็นลาออกที่น่าประทับใจ ทุก ๆ ฝ่ายจากกันด้วยดีก็อย่าลืมส่งข้อความกล่าวขอบคุณและกล่าวลากับหัวหน้า เพื่อนร่วมงานในทีม และเพื่อนร่วมงานต่างทีมที่ได้ทำงานร่วมกันอยู่บ่อย ๆ สำหรับเพื่อนร่วมงานต่างแผนกอาจจะแจ้งกับเขาด้วยว่าใครจะเข้ามารับผิดชอบงานในส่วนของเราต่อไป และถึงจะไม่ได้ร่วมงานกันแล้ว แต่ถ้ายังอยากติดต่อกับเพื่อนร่วมงานคนไหนมากเป็นพิเศษก็ขอช่องทางติดต่อของเขาเก็บไว้ด้วยก็ได้

 

เมื่อก้าวออกมาจากบริษัทเดิมแล้วก็ได้เวลาออกไปเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อไปในที่ใหม่ ๆ บางคนอาจจะมีความรู้สึกเศร้าเล็ก ๆ ที่ต้องออกจากสังคมที่เราคุ้นเคย แต่ให้จำเอาไว้ว่าเราได้ใช้ช่วงเวลาในการเรียนรู้และหาประสบการณ์จากงานเก่าอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว ขอให้สนุกกับบทใหม่ของชีวิต

 

10 สิ่งที่ได้รู้จากการเป็นมนุษย์เงินเดือน

 

ที่มา:

content.mycareersfuture.gov.sg

hellogiggles.com

​​

 
JobThai Official Group
Public group · 200,000 members
Join Group
 

tags : career & tips, human resources, wfh, work from home, remote working, หัวหน้างาน, ลาออก, ลาออกจากงาน, เหตุผลในการลาออก, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, รู้ก่อนลาออก, ทำงานทางไกล, พนักงานออฟฟิศ, เคล็ดลับคนทำงาน, การลาออก



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม