โลกเทคโนโลยีนั้นมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาให้เราได้ใช้ตลอดเวลา ล่าสุดปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า AI ได้กลายเป็นกระแสที่ทำให้ทั้งคนในวงการเทคโนโลยีและคนทั่วไปตื่นตัวกัน ในมุมหนึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะ AI ที่อยู่ในระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้ชีวิตประจำวันของมนุษย์สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกันก็เกิดคำถามตามมามากมายว่าถ้า AI ฉลาดขนาดนี้ ในอนาคตอันใกล้ AI จะแย่งงานมนุษย์ทำไหม คนทำงานอย่างเราต้องกลัว AI หรือเปล่า แล้วเราจะรับมือกับความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของ AI ได้ยังไงบ้าง
วันนี้ JobThai จะพาคนทำงานทุกคนไปอัปเดตความรู้เกี่ยวกับ AI มาดูกันว่าตอนนี้ AI ทำงานอะไรได้บ้าง และแท้ที่จริงแล้ว AI คือมิตรหรือศัตรูของมนุษย์กันแน่
บางคนอาจจะรู้สึกว่า AI เป็นเรื่องใหม่ แต่แท้จริงแล้ว AI อยู่รอบตัวเรามานานในรูปแบบของระบบหลังบ้านของซอฟต์แวร์ต่าง ๆ และแฝงอยู่ในระบบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าเราจะใช้สินค้าหรือบริการอะไรก็อาจมี AI เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการทำงาน ไม่เว้นแม้แต่ Social Media ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวัน จนเมื่อ Generative AI หรือการใช้ AI สร้างสื่อรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง ภาพ เสียง และวิดีโอได้รับความนิยมมากขึ้นในปีที่ผ่านมา คนถึงเริ่มตั้งคำถามว่า หรือ AI กำลังจะทำงานแทนมนุษย์ได้ทุกอย่างจริง ๆ ถ้าเราพูดถึงหุ่นยนต์ที่มีสติปัญญาเหนือมนุษย์ยึดครองโลกอาจเป็นเพียงจินตนาการที่เราพบเห็นได้บ่อยในหนังหรือนิยาย Sci-fi แต่เรื่องแบบนี้มันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ ใครที่สงสัยว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นจะฉลาดกว่ามนุษย์อย่างเราได้จริงไหม ลองมาทำความเข้าใจพัฒนาการของ AI กัน โดยผู้เชี่ยวชาญได้จัดลำดับความฉลาดของ AI ไว้ 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่
- Artificial Narrow Intelligence (ANI) มีความสามารถเฉพาะทาง มนุษย์ต้องป้อนชุดข้อมูลและใช้เวลาให้ตัวโมเดลนั้นได้รับการฝึกให้ทำงานซ้ำ ๆ จนเก่ง แต่ก็จะเก่งเพียงแค่เรื่องเดียวและใช้เวลาในการเรียนรู้ค่อนข้างนาน เช่น AI ที่ถูกสอนให้เล่นหมากล้อมที่มีชื่อว่า AlphaGo สามารถเอาชนะผู้เล่นโกะมือหนึ่งของโลกได้ แต่ถ้าจับเจ้า AI ตัวนี้ไปแข่งหมากรุกมันก็จะเล่นไม่เป็น เพราะไม่ได้รับการฝึกฝนมานั่นเอง
- Artificial General Intelligence (AGI) ในระดับนี้ AI จะมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาได้และมีความฉลาดใกล้เคียงกับมนุษย์ อีกทั้งยังเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและประยุกต์ใช้ข้อมูลได้หลากหลายมากขึ้น มีการคาดการณ์กันว่า AI จะพัฒนามาถึงขั้นนี้ประมาณปี 2040
- Artificial Super Intelligence (ASI) บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ไว้ว่า AI จะมีสติปัญหาและความสามารถเหนือกว่าสมองมนุษย์ในศาสตร์ทุกแขนง ในประมาณปี 2060 เป็นต้นไป ซึ่ง AI ในขั้นนี้จะฉลาดและมีประสิทธิภาพสุด ๆ สามารถทำงานได้หลากหลายและรวดเร็วกว่ามนุษย์มาก ประมาณว่าถ้ามนุษย์หนึ่งคนใช้เวลาทำงาน 1 วัน AI จะสามารถประมวลผลเสร็จภายในหลักวินาทีเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าการแบ่งระดับความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์นั้นอ้างอิงกับความสามารถของปัญญาของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครคาดคิดว่า เมื่อมี AI ที่ฉลาดล้ำอย่าง Chat GPT ที่ทำงานได้หลายอย่างและฉลาดตอบคำถามได้เหมือนกับมนุษย์จริง (ไม่ใช่แค่ Chatbot ธรรมดา) ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกต่อสายตาชาวโลกเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็วิเคราะห์ว่า โลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ AI กำลังฉลาดในระดับ AGI หรือยุคที่ AI ฉลาดพอ ๆ กับมนุษย์แล้ว [คุณกอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร จากสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย (AIEAT)]
ประโยชน์ของ AI ทุกวันนี้นั้นมีหลากหลายและถูกนำไปใช้ในแทบจะทุกอุตสาหกรรม เช่น AI Analytics ในแพลตฟอร์ม Social Media ต่าง ๆ การแนะนำเพลงที่เราน่าจะชอบจากพฤติกรรมการฟังเพลงของ App อย่าง Spotify ธุรกิจธนาคารและการเงินก็ใช้ AI เพื่อช่วยประเมิน Credit Scoring หรือวงการแพทย์ที่ใช้ AI วิเคราะห์และตรวจก้อนเนื้อที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นมะเร็งได้ล่วงหน้า แต่สิ่งที่ทำให้โลกของการทำงานและธุรกิจสั่นสะเทือนคือ การถือกำเนิดของ Generative AI ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถผลิตเนื้อหาในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาได้เพียงแค่รู้จักวิธีการใช้งานคำสั่ง หรือ ที่เรียกกันว่า Prompt นั่นเอง โดยเทรนด์นี้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 ไม่ว่าจะเป็นการจุดกระแสการใช้งาน AI สร้างภาพวาดดิจิทัลอย่างMidjourney และการถือกำเนิดของ Chat GPT ตอบโต้กับเราได้ฉลาดพอ ๆ กับเรานั่งคุยกับผู้เชี่ยวชาญเลยทีเดียว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการใช้ประโยชน์จาก Generative AI ก็คือ วงการ Creative Production และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต Content โดย (ทีมงาน Mission to the Moon) ได้มีการทดลองนำ AI มาใช้ในกระบวนการทำงานจริงเพื่อทดสอบว่าตอนนี้ AI เก่งขนาดไหนแล้ว โดยเริ่มจากโจทย์ในการให้ AI ลองทำ Video Content และลองให้ AI ทำงานแทนคน ทำงานทุกขั้นตอนตั้งแต่ให้ Chat GPT คิด Script และเขียนคำสั่ง (Prompt) เพื่อให้ Midjourney ทำภาพประกอบ ก่อนส่งไปตัดต่อใน Pictory และลงเสียง Voice Over ด้วย Merf AI จนได้ออกมาเป็น Video Content ได้ด้วยเวลาเพียง 30 นาที จากเดิมที่ต้องใช้ทีมงานประมาณ 5 คน และต้องใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง
แน่นอนว่าผลลัพธ์ของการผลิต Content ด้วย Generative AI อาจจะยังไม่สมบูรณ์มากนักในตอนนี้ เมื่อเทียบกับฝีมือของมนุษย์ แต่ยิ่งคนใช้งาน AI มากขึ้นเท่าไรก็ AI ก็จะฉลาดมากขึ้นเท่านั้นจากการเรียนรู้จากคำสั่งและชุดข้อมูลที่ได้รับ ไม่แน่ว่าอีกไม่นานการเขียนบท ทำรูปภาพ วิดีโอ เสียงพากย์และการตัดต่อ โดย AI ในอนาคตน่าจะมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ จนทำงานหลาย ๆ อย่างได้แทนมนุษย์ได้ 100%
Generative AI นอกจากจะเกิดกระแสในหมู่ผู้ใช้งานแล้ว ยังทำให้เกิดความตื่นตัวในฝั่งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย เราได้เห็นบริษัทอย่าง Microsoft พัฒนา AI ผู้ช่วยที่เรียกว่า Copilot และ Google ก็ออก AI ที่ชื่อว่า Bard มาเพื่อแข่งขันกับ Chat GPT ของ OpenAI ล่าสุด Meta ที่นอกจากจะพัฒนา Generative AI ในการผลิตภาพและวิดีโอตามคำสั่งแล้ว ล่าสุดยังเปิดตัวบริการใหม่ที่ใช้ชื่อว่า AudioCraft ให้คนทั่วไปและคนทำเพลงและ Sound Effects ได้ทดลองสร้างเสียงด้วย AI เพื่อพัฒนาวงการสร้างเสียงด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI-Generated Audio) โดยตอนนี้ AudioCraft เปิดให้ผู้ใช้งานใช้ Prompt แต่งเพลง และสร้าง Sound Effects ซึ่งทำได้หมดไม่ว่าจะเป็นเสียงเห่าของน้องหมา เสียงบีบแตรรถ หรือแม้แต่เสียงฝีเท้าเอี๊ยดอ๊าดที่เดินบนพื้นไม้ หาก AudioCraft ประสบความสำเร็จ Meta อาจเพิ่มฟีเจอร์สร้างเสียงด้วย AI เพื่อให้ผู้ใช้งาน Facebook หรือ Instagram สามารถแต่งเพลงประกอบหรือสร้างเสียงที่เหมาะกับคลิป Reels ของตัวเองได้ในอนาคต ถือเป็นการลงทุนเพื่อการต่อยอดธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการเก็บข้อมูลลูกค้า เพราะหลักการทำงานของการพัฒนา Generative AI ก็คือการเก็บข้อมูลการใช้งานเพื่อให้ AI ได้ฝึกฝนซ้ำ ๆ จนสามารถพัฒนาการสร้างผลงานไปอีกขั้น
Generative AI ได้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังอีกหลาย ๆ วงการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิง ที่เริ่มมีความพยายามที่จะลองใช้ AI ในการช่วยเขียนบทภาพยนตร์ แต่งเพลง หรือเลียนเสียงศิลปินก็ทำได้ไม่ยาก หากมีข้อมูลที่จำเป็นในการฝึกให้ AI ประมวลผล ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับการใช้งาน AI ไปเสียทุกเรื่อง ทำให้เกิดกระแสโต้กลับและเกิดความกังวลว่าบริษัทขนาดใหญ่จะนำ AI มาใช้เพื่อลดต้นทุน เลิกจ้างพนักงงานที่เป็นมนุษย์ และหันมาลงทุนกับระบบ AI แทน ด้านวงการศิลปะก็กลัวการละเมิดลิขสิทธิ์จากการที่ AI ดึงภาพจากอินเทอร์เน็ตมาประมวลผลสร้างเป็นภาพใหม่แต่ก็ยังมีเค้าโครงของลายเส้นหรือเอกลักษณ์ของผลงานต้นฉบับอยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในภายหลังได้ ในขณะเดียวกันวงการการศึกษาก็ถูก Disrupt ด้วยความสามารถในการประมวลผลของ Chat GPT ที่นักเรียนและนักศึกษาใช้งานเพื่อทุ่นแรงในทำการบ้าน ทำรายงาน ไปจนถึงการทำวิทยานิพนธ์เลยทีเดียว พื้นที่สีเทา ๆ ของ AI จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันว่าวงการไหนจะปรับตัวกับAI อย่างไรต่อไปในอนาคต
ประโยชน์ของ AI ที่คนทำงาน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ประยุกต์ใช้ได้ทันทีก็คือ การลดขั้นตอนการทำงานให้สั้นลงในการทำงานบางอย่าง เช่น การรวบรวมข้อมูล สรุปประเด็นสำคัญ หรือ Brainstorm ไอเดียที่น่าสนใจ จากที่เราต้องมานั่งรวมทีมกันประชุมหลาย ๆ คน ก็สามารถทำได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที ในขณะที่บางสาขาอาชีพ อย่างคนทำงานผลิตโฆษณา ก็สามารถใช้ Generative AI สร้างภาพ Sketchเพื่อการนำเสนอหรือการบรีฟงานที่มีรายละเอียดของงานได้โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน ทำให้ประหยัดเวลาและได้โฟกัสงานในขั้นตอนอื่นได้มากกว่าเดิม
สำหรับคนทำงานที่ยังไม่เคยลองใช้งาน AI อาจจะต้องลองเปิดใจ และอย่ามองว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์ ในขณะที่คนใช้ AI เป็นอยู่แล้วก็อย่าคิดว่าจะให้ AI ทำงานแทนทุกอย่างไปเลย เราจะได้สบาย คนทำงานในยุคใหม่ควรทำงานด้วย Mindset ที่เรียกว่า AI Conductor คอยควบคุมและสั่งการให้ AI ช่วยทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมนุษย์ เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งในทีมที่จะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงาน Routine หรืองานไหนที่ AI ทำได้ดีกว่าเราและประหยัดเวลาของเราได้ ก็ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ AI (คุณฐิติพันธ์ ทับทอง จาก Brilliant & Million)
ต่อไป AI อาจกลายเป็นผู้ช่วยส่วนตัวที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ตั้งแต่เด็กจนโต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนที่เด็กนักเรียนสามารถถามหาความรู้ได้ทุกเรื่อง ส่วนเรื่องการทำงานไม่ว่าจะเป็นศาสตร์หรือศิลป์ AI ก็ทำได้หมด เช่น สายวิทยาศาสตร์อย่างอาชีพนักวิจัย AI ก็จะช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และวางแผนการทดลองให้ ส่วนสายงาน Creative AI ก็จะจัดการเรื่อง Production ให้ทั้งหมด มนุษย์อย่างเราแค่โยนไอเดียและสั่งงานก็พอ ทำให้เรามีเวลาไปทำงานในส่วนอื่น ๆ ที่สำคัญกว่า
ในอนาคตอันใกล้นี้ AI จะยิ่งพัฒนาไปแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generative AI ที่เราพูดถึงไปแล้วนั้นถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ยิ่งเราใช้งานมากเท่าไร เจ้า AI ก็จะฉลาดมากขึ้นเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ว่ามันจะฉลาดไปถึงขั้น Artificial Super Intelligence หรือไม่ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่แทนที่จะกลัวว่า AI จะมาทำงานแทนและทำให้มนุษย์อย่างเราตกงาน เราควรจะกลัวตัวเองไม่ทันโลกหรือเสียเปรียบคู่แข่งที่เป็นมนุษย์ที่รู้จักประยุกต์ใช้การทำงานของ AI ดีกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรจะเตรียมความพร้อมแต่เนิ่น ๆ คือการพัฒนาทักษะของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะที่เกี่ยวกับการทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เมื่อถึงวันที่มนุษย์เราใช้ AI และเครื่องจักรกลทำงานให้แบบอัตโนมัติทั้งหมด เราก็จะได้เปรียบคนอื่นที่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน
ทิ้งท้ายด้วยเทคนิคสำคัญของการใช้ Generative AI ที่สามารถนำไปใช้ได้กับ AI แทบทุกตัว ก็คือการทำความเข้าใจวิธีการใช้งานพื้นฐานให้ทะลุปรุโปร่ง และรู้จักการใช้คำสั่ง หรือ Prompt ที่ละเอียดและตรงประเด็นเพื่อให้ AI ผลิตผลงานออกมาได้ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุดนั่นเอง แค่เราเปลี่ยนมุมมองและทำความเข้าใจว่าศักยภาพของ AI ประเภทนี้ทำอะไรให้เราได้บ้าง เพียงเท่านี้ AI ก็จะไม่ได้เป็นวายร้ายในสายตามนุษย์อีกต่อไป แต่เจ้า AI ตัวนี้นี่แหละคือเพื่อนร่วมงานคนโปรดที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระรวมถึงเพิ่ม Productivity ในการทำงานของคุณ
ไม่ว่าโลกเทคโนโลยีจะหมุนเร็วและก้าวหน้าไปมากเท่าไร มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้นขนาดไหน คนทำงานอย่างเราก็ยังต้องปรับตัวและเรียนรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เราได้เปรียบ ไม่ว่าจะแข่งกับมนุษย์หรือ AI เราก็พร้อมเผชิญทุกสถานการณ์ JobThai ขอยืนเคียงข้างคนทำงานทุกคนเพื่อคอยนำเสนอสาระดี ๆ และอัปเดตเทรนด์การทำงานที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาตัวเองและก้าวไปสู่ความสำเร็จในโลกการทำงาน
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา:
about.fb.com, blog.enterprisedna.co, cleverclicksdigital.com, codebots.com, thaiprogrammer.org, theunihouse.com