รับมือยังไงเมื่อถูกคนสัมภาษณ์งานดูถูก

22/03/24   |   33.7k   |  

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

คุณเคยมีประสบการณ์ถูกคนสัมภาษณ์งานดูถูกไหม? เราเชื่อว่ามีคนทำงานจำนวนไม่น้อยที่เคยถูกคนสัมภาษณ์งานถามคำถามหรือพูดจาในเชิงดูถูก เหยียดหยาม หรือแม้กระทั่งล้อเล่นกับความรู้สึกของเรา ยกตัวอย่างเช่น กล้าเรียกเงินเดือนขนาดนี้ได้ยังไง? เปลี่ยนงานบ่อยเพราะทำงานไม่เก่งใช่ไหม? ได้เกรดแค่นี้ไม่ตั้งใจเรียนสินะ! น้องเป็นหรือเปล่า? หรือบางคนก็เจอคำพูดดูถูกที่รุนแรงจนถึงขั้นระงับอารมณ์โมโหแทบไม่อยู่ก็มี ดังนั้นวันนี้ JobThai จึงเอาวิธีรับมือกับคำดูถูกของคนสัมภาษณ์ที่ไม่ให้เกียรติเรามาฝาก

 

สถาบันการศึกษา เกรดเฉลี่ยที่จบ

 

“จบจากที่นี่สู้เด็กที่จบมหาลัย… ไม่ได้หรอก”

“ได้เกรดแค่นี้ เพราะไม่ตั้งใจเรียนสินะ”

 

ในการสัมภาษณ์งาน คนสัมภาษณ์บางคนชอบมี Mindset ว่าเด็กที่จบมหาวิทยาลัยรัฐบาลต้องมีคุณภาพกว่าเด็กที่จบมหาวิทยาลัยเอกชน เด็กที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาต้องเก่งกว่าเด็กที่จบปวส. หรือ ปวช. หรือเด็กที่เกรดเฉลี่ยไม่ดีจะต้องทำงานสู้เด็กที่เกรดเฉลี่ยดีไม่ได้ จึงทำให้เกิดสถานการณ์ เช่น เรียกเรามาสัมภาษณ์หลังจากเห็นพอร์ตโฟลิโอ แต่พอรู้ว่าเราไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัยดัง หรือมีวุฒิการศึกษาไม่สูง ก็มีปฏิกริยาที่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีอย่างเห็นได้ชัด หรือบางคนพอเห็นเกรดเฉลี่ยเราน้อย ก็เอามาถามจี้จุดให้เรารู้สึกอาย

 

วิธีรับมือ

อย่างแรกเราต้องยอมรับก่อนว่ามันคือปัญหาคลาสสิคในสังคมที่แก้ได้ยาก เราต้องทำให้คนสัมภาษณ์เห็นว่าวุฒิการศึกษา สถาบัน หรือเกรดเฉลี่ยอาจจะสามารถวัดความสามารถของคนได้ในเบื้องต้นก็จริง แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป การที่ HR เลือกคนจากสถาบันการศึกษาก็เหมือนการเลือกซื้อสินค้า ทำไมคนเราถึงเลือกซื้อแบรนด์ใหญ่ ๆ ทั้งที่แบรนด์เล็ก ๆ ก็ใช้งานได้เหมือนกัน? นั่นก็เพราะชื่อเสียงของแบรนด์อาจจะช่วยให้คนซื้อมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าของที่ได้จะมีคุณภาพ แต่มันก็ไม่เสมอไป เพราะสินค้าที่ตก QC ก็มีเยอะ หรือแบรนด์ไม่ดังแต่ใช้งานได้ดีก็มีถมเถไป ก็เหมือนกับคนที่เรียนสถาบันไม่ดัง วุฒิการศึกษาน้อย หรือเกรดเฉลี่ยไม่ดีก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะไม่เก่ง ดังนั้นลองขอให้เขาเปิดใจดูก่อน และพยายามโชว์ทักษะและความสามารถต่าง ๆ ที่เรามีและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานให้เขาเห็นมากที่สุด

 

หรือถ้าหากเราเคยทำงานหรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ และเพื่อนทีมีผลการเรียนที่แตกต่างกันก็อาจจะอธิบายให้เขาฟังไปว่าตอนที่ทำงานร่วมกันเรื่องสถาบันและเกรดเฉลี่ยไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาใด ๆ ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและผลงานออกมาดี ไม่เคยได้ยินใครหยิบยกเรื่องพวกนี้มาพูดกันเลยสักครั้ง ดังนั้นเราจึงอยากให้เขาวัดคุณค่าตัวเราที่ผลงานมากกว่า วุฒิการศึกษา สถานศึกษา หรือเกรดเฉลี่ย

 

ประสบการณ์การทำงานน้อย

 

“เด็กจบใหม่แต่ละคนทำได้ไม่นานก็ออกทั้งนั้น”

“ประสบการณ์น้อยแบบนี้ รับไปจะทำงานได้หรอ”

 

เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่จะโดนดูถูกเรื่องไม่มีประสบการณ์การทำงาน โดนกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความอดทนต่ำ ไม่สู้งาน เจอปัญหานิดหน่อยก็ลาออก หรือบางทีก็โดนกล่าวหาว่าไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร (Employee Loyalty) เท่าที่ควร รวมถึงคนที่มาสัมภาษณ์โดยที่เปลี่ยนสายงานก็จะถูกบอกว่าประสบการณ์น้อย จะทำงานไหวหรอ โดนตั้งข้อครหาว่าถ้าไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาเลย แล้วจะเอาอะไรมารับประกันว่าจะทำงานได้ดีแบบที่เขาต้องการ

 

วิธีรับมือ

กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเราเป็นเด็กจบใหม่ที่ไม่อดทน ทำงานไม่นานก็ลาออก ก็ให้ลองบอกถึงเหตุผลที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ต้องลาออก เช่น งานที่คิดไว้ไม่เหมือนที่ได้ทำจริง ทำงานเกินหน้าที่แต่ได้ค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าเหนื่อย คนอื่นไม่รับฟังเพราะเห็นเราเป็นแค่เด็ก จากนั้นลองอธิบายไปว่าเด็กรุ่นใหม่ก็เหมือนกับคนทำงานทั่วไปที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย อาจจะบอกไปด้วยว่านอกจากเงินเดือนหรือสวัสดิการที่ดีแล้ว เราคิดว่าการทำงานที่บริษัทเขาคือโอกาสที่จะได้เรียนรู้และมีอนาคตในสายงานนี้ และที่สำคัญอย่าลืมบอกเขาด้วยว่าเราจะทำอะไรให้บริษัทเขาได้บ้าง ให้เขารู้สึกว่าเราไม่ได้แค่จะเข้ามาเรียนรู้กอบโกยจากเขาอย่างเดียว แต่ยังจะเข้ามาช่วยสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ให้กับองค์กรด้วย

 

หากโดนดูถูกเรื่องมีประสบการณ์น้อย เพราะเปลี่ยนสายงานมา ให้ลองบอกข้อดีของคนย้ายสายงานให้เขาฟัง เช่น แม้เราจะไม่มีทักษะที่ตรงกับสายงานที่สมัครทั้งหมด แต่บริษัทก็ไม่ต้องเสียเวลามาสอนงานใหม่ทุกอย่าง เพราะมีทักษะบางอย่างที่สามารถเอามาประยุกต์ใช้ได้ หรือแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนที่เปิดกว้าง ไม่ยึดติดอยู่ในกรอบเดิม ๆ เพราะคนที่กล้าย้ายสายงานมักจะเป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้ กระตือรือร้น และมีความครีเอทีฟกล้าคิดกล้าทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ นอกจากนั้นการที่เราเคยมีประสบการณ์ในสายงานอื่นมาแล้ว จะทำให้มองภาพได้กว้างขึ้น มีมุมมองต่างจากคนอื่นที่เคยทำงานอยู่ในสายเดิมมาตลอด ซึ่งอาจจะทำให้ธุรกิจของเขามีความแตกต่าง และโดดเด่นกว่าที่ผ่าน ๆ มาก็ได้

 

10 เหตุผล ทำไมเด็กรุ่นใหม่ทำงานไม่นานก็ลาออก

 

เปลี่ยนงานบ่อย

 

“จะอยู่ได้ถึงเดือนรึเปล่า”

“เปลี่ยนงานบ่อยเพราะทำงานไม่เก่งใช่ไหม”

 

ผู้สมัครงานที่มีประวัติเปลี่ยนงานบ่อย หรือที่เราเรียกกันว่า Job Hopper มักเป็นกลุ่มคนที่ถูก HR เพ่งเล็ง เพราะกลัวถ้ารับมาอาจจะถูกเทภายในไม่กี่เดือน รวมถึงมีความเชื่อว่าคนที่เปลี่ยนงานบ่อย คือคนที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน จึงทำให้หลายคนโดนมองว่า เปลี่ยนงานบ่อยเพราะทำงานไม่เป็นบ้าง เปลี่ยนงานบ่อยเพราะเข้าสังคมกับคนอื่นไม่ได้บ้าง หรือบางคนก็โดนดูถูกด้วยประโยคเจ็บ ๆ คัน ๆ ว่าถ้าทำงานเก่งจริง หัวหน้าที่ทำงานเก่าไม่มีทางให้ลาออกหรอก นอกจากว่าเก่งไม่จริง

 

วิธีรับมือ

ถ้าเราไม่ใช่กลุ่มที่มีปัญหาในที่ทำงาน เช่น ทำงานที่เขาสั่งไม่ได้ หรือมีปัญหากับทีมจึงต้องออกจากงาน ก็บอกไปว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนงานบ่อยเพราะเหตุผลอะไร เช่น ถูก Lay off เพราะบริษัทโดน Takeover หรือปิดกิจการก็ว่าไป หรือบางคนอาจจะเปลี่ยนบ่อยเพราะชอบมองหาความท้าทายใหม่ ๆ หรือบางคนยังหาตัวเองไม่เจอ หรือ Career Path ในบริษัทเดิมยังไม่ตอบโจทย์ จากนั้นอย่าลืมบอกข้อดีของคนเปลี่ยนงานปล่อยให้เขารู้ด้วย เช่น เราเรียนรู้และปรับตัวเร็วแค่ไหน ทำงานมาหลายที่ทำให้มีทักษะที่หลากหลาย มีความคิดนอกกรอบ และกล้าเสี่ยง รวมถึงมี Connection ที่กว้างขวาง

 

รับคนเปลี่ยนงานบ่อย (Job Hopper) เข้าทำงาน เสี่ยงไหม?

 

ขอเงินเดือนสูงเกินความสามารถ

 

“จบเอกภาษาอังกฤษ แต่พูดได้แค่นี้หรอ”

“กล้าเรียกเงินเดือนสูงขนาดนี้ได้ยังไง”

 

ก่อนจะใส่จำนวนเงินเดือนที่อยากได้ลงไป แทบทุกคนคงจะคิดคำนวณมาจากบ้านอย่างดีแล้ว แต่สิ่งที่หลายคนต้องเจอในห้องสัมภาษณ์คือ การพูดในเชิงดูถูกประมาณว่าเราไม่เก่งแต่ทำไมถึงกล้าเรียกเงินสูงเท่านี้  คนสัมภาษณ์บางคนก็ส่ายหัวกับจำนวนเงินที่ขอ แล้ววิจารณ์เราอย่างหนัก หรือบางคนก็นึกสนุกถามคำถามยาก ๆ เพื่อลองภูมิความสามารถ พอเราตอบไม่ถูกใจ หรือตอบไม่ได้แบบที่เขาหวัง ก็ถูกหัวเราะใส่ หรือพูดจาดูถูกเรื่องความสามารถของเรา

 

วิธีรับมือ

ถ้ามั่นใจว่าตัวเองคิดคำนวณเงินเดือนมาเหมาะสมกับความสามารถแล้ว ให้อธิบายไปเลยว่าทำไมถึงคิดว่าควรได้เท่านี้ รวมถึงบอกเพิ่มเติมว่านี่คือตัวเลขตามโครงสร้างเงินเดือนในตลาดแรงงาน เพราะเราทำการบ้านเสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานนี้มาแล้วทั้งในเว็บไซต์หางานหรือตาม Community ต่าง ๆ ว่าตำแหน่งนี้ ประสบการณ์เท่านี้ มีช่วงเงินเดือนเท่าไหร่ และในกรณีที่เขาขอต่อเงินเดือน ก็อาจลองถามดูว่ามีการปรับเงินเดือนหลังผ่านโปรไหม แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องคิดให้ดีว่าสิ่งที่เขา Offer มาเราโอเคไหม หรือเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันรึเปล่า

 

ในกรณีที่เขาบอกว่าเราไม่เก่ง หรือทักษะไม่พอกับเงินเดือนที่เรียก ให้ตอบแบบมั่นใจไปเลยว่าเราสามารถแก้ปัญหาในงานที่จะเกิดขึ้นด้วยทักษะและประสบการณ์ที่เรามีได้ หรือถ้าถูกถามคำถามวัดความสามารถที่เราตอบไม่ได้ ก็ให้บอกออกไปตรง ๆ แต่ไม่ใช่ตอบว่า “ไม่รู้” ออกไปห้วน ๆ แล้วจบ ควรจะตอบว่าไม่แน่ใจคำตอบเท่าไหร่ หรืออาจจะจำได้ไม่หมด และให้ต่อท้ายด้วยการบอกสิ่งที่ตัวเองรู้ที่พอจะเกี่ยวข้องกับคำถามเขาให้ได้มากที่สุดแทน

 

เทคนิคเรียกเงินเดือน ขอเท่าไหร่ให้ดูสมเหตุสมผล

 

รสนิยมทางเพศ

 

“เป็นใช่ปะ?”

“น้องชอบผู้ชายหรือผู้หญิง”

 

เรื่องน่าอึดอัดในการสัมภาษณ์อีกเรื่องคือ การถูกถามถึงรสนิยมทางเพศในระหว่างการสัมภาษณ์งาน เนื่องจากมี HR จำนวนไม่น้อยที่อยากรู้ว่าเรามีรสนิยมในเรื่องนี้ยังไง โดยอ้างเหตุผลว่ารู้แล้วจะได้วางตัวกับเราถูก หรือบางคนก็มองเพศทางเลือกเป็นเรื่องตลกที่สามารถเอามาคุยเล่นได้ รวมทั้งบางคนพอรู้ว่าเราเป็นกลุ่มเพศทางเลือกก็มีท่าทีรังเกียจ ซึ่งเชื่อว่ามีผู้สมัครหลายคนที่ไม่สะดวกใจที่จะตอบ แต่ก็ไม่อยากโกหกเพราะกลัวจะมีผลกระทบกับงาน

 

วิธีรับมือ

การถามถึงรสนิยมทางเพศของผู้อื่น เป็นสิ่งที่รู้ไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ แค่เพียงตอบโจทย์ความอยากรู้ของผู้คนถาม ดังนั้นเราจะตอบหรือไม่ตอบขึ้นอยู่ที่ความสบายใจของตัวเรา เรามีสิทธิ์เลือกได้ว่าอยากเปิดเผยไหม หรือเปิดเผยแค่ไหน ในกรณีที่เราเลือกที่จะเปิดเผย เราต้องมี Self-Esteem มากพอที่จะไม่รู้สึกอึดอัดในภายหลัง แต่ในกรณีที่เราไม่สะดวกตอบ วิธีเบี่ยงประเด็นทำได้โดยการเป็นฝ่ายชงคำถามให้เขาตอบแทนด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่สุภาพ เป็นการบอกอ้อม ๆ ว่าควรให้เกียรติและไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว เช่น ถ้าผมเป็นหรือไม่เป็นจะต้องวางตัวอย่างไรครับ? คำตอบมีผลอะไรกับการสัมภาษณ์ไหมคะ?

 

แต่ถ้าเราถูกเขาเอาเรื่องรสนิยมทางเพศของเรามาคุยเล่นสนุกปาก สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่การตอบโต้ แต่เป็นการอยู่เฉย ๆ เพราะถ้าเราไม่ได้รู้สึกว่าการเป็นเพศทางเลือกคือเรื่องผิดปกติหรือเรื่องไม่ดี การไปตอบโต้คือการแสดงว่าเรารู้สึกว่าเพศทางเลือกไม่ดี หรือมองเป็นเรื่องผิดปกติ ในกรณีที่เราอยากได้งานนี้มาก ๆ  แต่คนสัมภาษณ์ดูมีท่าทีไม่ยอมรับเพศทางเลือก ก็ให้ถามตัวเองว่าเราจะอึดอัดไหมถ้าไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ในที่ทำงาน ถ้าเราคิดว่าตัวเองทนได้ก็บอกเขาไปว่าไม่เป็น แต่ถ้าคิดว่าอึดอัดใจ ก็เลือกหางานที่อื่นดีกว่า เพราะยุคสมัยนี้ หลายองค์กรไม่จำกัดเรื่องเพศกันแล้ว รวมถึงสังคมการทำงานที่ดี ๆ เขาก็คงไม่ถามคำถามแบบนี้อีกแล้ว

 

Body Shaming

 

“ผอมจัง ที่บ้านมีข้าวกินรึเปล่า”

“ไม่คิดจะดัดฟันบ้างหรอ”

 

ในการสัมภาษณ์งานคนจำนวนไม่น้อยคงเคยเจอเรื่อง Body Shaming การบูลลี่รูปแบบหนึ่งที่เป็นการวิจารณ์ร่างกายหรือรูปลักษณ์ของผู้สมัคร จนทำให้เกิดความรู้สึกอับอายและขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์เรื่องรูปร่าง ส่วนสูง สีผิว หน้าตา หรือแม้แต่เรื่องการแต่งหน้า การแต่งตัวก็ถูกเอามาวิจารณ์เช่นกัน โดยคนสัมภาษณ์มักจะชอบวิจารณ์รูปลักษณ์ผู้สมัครในเชิงล้อเล่น เช่น แต่งหน้ามาสัมภาษณ์งานหรือไปเล่นงิ้ว ขาวขนาดนี้ชีวิตนี้เคยโดดแดดไหม ผอมขนาดนี้พี่นึกว่ากระดูกเดินได้

 

วิธีรับมือ

อย่างแรกต้องวิเคราะห์คำพูดจากลักษณะของคนถามก่อนว่าเขาพูดเพราะเป็นห่วงเราจริง ๆ พูดเพราะมันส่งผลกับการทำงาน หรือต้องการยกขึ้นมาพูดเพราะเห็นเป็นเรื่องขำขัน ถ้าในกรณีที่เขาพูดเพราะความหวังดี คนคนนั้นจะต้องพูดด้วยถ้อยคำที่สุภาพ เช่น ถ้าเราสมัครงานที่ต้องมีการเดินขึ้นลงบันไดออฟฟิศหรือเดินไปมาระหว่างแผนกตลอดเวลา แต่บุคลิกเราดูไม่ค่อยกระฉับกระเฉงโดยมีสาเหตุมาจากรูปร่าง ผู้สัมภาษณ์ก็อาจจะชวนคุยเรื่องออกกำลังกาย แล้วอาจจะแนะนำเราเรื่องการออกกำลังกายแบบต่าง ๆ ซึ่งเขาจะไม่พูดวิจารณ์รูปลักษณ์เราตรง ๆ สิ่งที่เราควรทำคือรับฟัง แล้วจะเก็บมาปรับปรุงแก้ไขไหมก็เป็นสิทธิของเรา

 

ในกรณีที่เขาตั้งใจพูดแซวเพราะเห็นเป็นเรื่องตลก เช่น ทำไมน้องอ้วนจัง ไม่คิดจะลดน้ำหนักบ้างหรอ? เจอแบบนี้อย่าไปโต้แย้ง หรือด่าเขากลับ คิดซะว่าเรามีมารยาทพอที่จะไม่โต้เถียงกับคนที่พูดจาไม่ให้เกียรติเรา และเราเองก็ต้องมี Mindset ว่าการเป็นตัวของตัวเองดีที่สุด เพราะถ้าเราคิดแบบนี้บอกเลยว่าเราจะไม่รู้สึกแย่กับคำพูดจาถูกของใครเลย ให้คิดเสมอว่าไม่มีคำพูดใครฆ่าเราได้ ยกเว้นความคิดเราเอง

อย่าเพิ่งฟันธงว่าคนสัมภาษณ์พูดจาดูถูกเรา แต่ควรแยกให้ออกก่อนว่าเขาพูดดูถูกเรา พูดแนะนำเรา หรือพูดเพื่อดูไหวพริบของเรากันแน่ เพราะบางทีเขาอาจจะอยากวัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าว่าเราจะมีวิธีเบี่ยงเบนประเด็นอย่างไร หรือมีวิธีชักจูงให้เขาเห็นจุดเด่น แล้วมองข้ามจุดด้อยของเราได้ไหม รวมถึงถ้าเราโดนพูดจาดูถูกใส่ แต่ใจอยากได้งานนี้จริง ๆ ก็อย่าเพิ่งรีบปฏิเสธไปด้วยอารมณ์ เพราะไม่แน่ว่าคนสัมภาษณ์ที่มารยาทไม่ดีอาจจะเป็นแค่ HR คนนึงที่ไม่ได้เป็นหัวหน้า หรือคนร่วมงานของเราก็ได้ ลองชั่งน้ำหนักดูให้ดี สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะเจอคำพูดดูถูกอะไร การบริหารอารมณ์ตัวเองให้เป็นสำคัญที่สุด

 

ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา : 

facebook.com/groups/jobthaiofficialpantip.comblog.jobthai.comblog.jobthai.com

today.line.meblog.jobthai.comthestandard.co

 

tags : jobthai, jobs, คนทำงาน, งาน, หางาน, สมัครงาน, สัมภาษณ์งาน, เทคนิคสัมภาษณ์งาน, career & tips, job-interview, คนหางาน, การหางาน, เคล็ดลับการหางาน, เคล็ดลับสำหรับคนหางาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม