บอกลาความกังวลในช่วงโปรฯ ด้วยเทคนิคที่จะช่วยให้คุณผ่านทดลองงานไปได้แบบฉลุย

30/05/24   |   5.6k   |  

 

 

JobThai Mobile Application ค้นหางานได้แบบสะดวกสุด ๆ ผ่านมือถือ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

คนทำงานหลายคนที่เคยมีประสบการณ์การทำงานมาบ้างแล้ว หรือเหล่า First Jobber ที่เพิ่งเริ่มทำงานแบบสด ๆ ร้อน ๆ อาจต้องเจอกับอาการทำตัวไม่ถูกในช่วงแรก ๆ ของการเข้าไปเริ่มงานที่ใหม่ เพราะไม่มั่นใจว่าตำแหน่งใหม่นี้ต้องการอะไรจากเราบ้าง หรือที่นี่เขามีรูปแบบการทำงานกันยังไง แถมบางบริษัทอาจจะไม่มีช่วงอบรมงานหรือไม่มีใครที่ถูกมอบหมายให้มาช่วยเป็น “โค้ช” เพื่อสอนงานเราในช่วงเริ่มงานใหม่ อีกด้วย จนทำให้เกิดเป็นความกังวลว่าทำไปแล้วจะไม่ผ่านโปรฯ เพราะเราไม่รู้ว่าตัวเองทำหน้าที่ได้ดีแล้วหรือยัง ซึ่งวันนี้ JobThai ก็มาพร้อมกับเทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คนทำงานสามารถผ่านช่วงแรกของการทำงานไปได้ด้วยดี

 

JobThai หางาน สมัครงาน ทดลองงาน ผ่านโปร

 

90 วันอันตราย ต้องทำงานยังไงให้ผ่านโปร

 

ทำความเข้าใจภาพรวมองค์กร

จากที่เราพอจะรู้จักองค์กรแบบคร่าว ๆ ตั้งแต่ตอนที่สมัครงานว่าบริษัทนี้ทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร พอได้มาทำงานที่นี่จริง ๆ เราก็ต้องรู้ให้ลึกกว่าเดิม โดยอาจศึกษาเกี่ยวกับผลงานในอดีต ศึกษาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่บริษัทเคยมีและเลิกทำไปแล้ว ไปจนถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการที่บริษัททำอยู่ในปัจจุบัน ทำความเข้าใจว่าองค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้ายังไง และเมื่อเห็นภาพใหญ่ขององค์กรแล้วก็มาดูต่อว่าเราอยู่ตรงไหนขององค์กร เราคือฟันเฟืองชิ้นไหนและกำลังขับเคลื่อนในส่วนไหนอยู่ นอกจากนี้ก็ลองสังเกตในแง่ความเป็นอยู่ของคนในองค์กรด้วยว่าการใช้ชีวิตในออฟฟิศนี้เป็นยังไง หรือถ้าใครทำงานที่บ้านก็ลองสังเกตจากเพื่อนร่วมงานผ่านการประชุมทางวิดีโอคอลหรือการคุยกันทางข้อความ แล้วก็ค่อย ๆ ปรับตัวตามในเรื่องที่เราเห็นว่าดี

 

4 ความกังวลที่จะทำให้ความสุขในการทำงานที่ใหม่หายไป

 

ทำความเข้าใจงาน โดยเฉพาะส่วนของเราเอง

ถึงเราจะถูกเลือกให้เข้ามาทำงานที่นี่แล้ว แต่ถ้ายังไม่ผ่านโปรฯ ยังไงเราก็ยังต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราเหมาะกับงานนี้ ซึ่งวิธีที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจงานได้ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการ “ถาม” กับหัวหน้า หรือคนที่รับผิดชอบเรื่องการประเมินงานของเรา โดยถามให้ชัดเจนว่าเขาคาดหวังอะไรจากเราบ้าง และถามถึงขอบเขตหน้าที่ของตัวเองว่ามันมีความกว้างแคบยังไงบ้าง เช่น “เราต้องรับผิดชอบงานส่วนไหน?” “ตำแหน่งของเราตัดสินใจอะไรได้มากน้อยแค่ไหน?” เพื่อให้รู้ว่าเรื่องไหนที่อยู่เหนือขอบเขตการตัดสินใจของเราและต้องขอคำปรึกษาหรือให้หัวหน้าช่วยดูต่อ นอกจากนี้เรายังจำเป็นต้องรู้ว่าหัวหน้าเราต้องการเห็นอะไรจากเราในช่วงโปรฯ ทั้งในแง่เป้าหมายการทำงาน หรือผลงาน และเมื่อได้คำตอบเราก็จะสามารถตั้ง Goal ให้กับตัวเองและรู้ชัดว่าตัวเองจะต้องโฟกัสตรงไหนเป็นพิเศษ เราควรเสริมทักษะด้านไหนอีกไหม และหาโอกาสให้ตัวเองได้เรียนอัปสกิล โดยเราอาจจะตั้งเป้าหมายคร่าว ๆ ไว้ด้วยว่าการพัฒนาครั้งนี้จะต้องเห็นผลภายในกี่สัปดาห์หรือกี่เดือน เพื่อให้ทันภายในช่วงที่ยังทดลองงานอยู่

 

ในช่วงที่เพิ่งเข้าไปทำงานเราอาจจะยังงง ๆ กับหลาย ๆ อย่าง ดังนั้นเราต้องทุ่มเทเวลามากเป็นพิเศษกับการทำความเข้าใจงานและการปรับตัว พยายามทำความเข้าใจ Work Flow การทำงานว่างานแต่ละชิ้นจะต้องเริ่มต้นยังไง เมื่อเริ่มแล้วงานจะถูกส่งให้ใครทำต่อ และมันจะไปจบที่ตรงไหน และต้องรู้ว่าตำแหน่งตัวเองจะต้องอยู่ในส่วนไหนของ Flow นี้บ้าง เช่น เราอาจจะเป็นครีเอทีฟที่ทำงานกับทีม Production ที่รับผิดชอบการถ่ายทำวิดีโอและตัดต่อ เมื่อบรีฟกันเสร็จแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจบการทำงาน แต่เราอาจต้องไปอยู่หน้างานด้วย หรือถ่ายเสร็จแล้วก็ต้องกลับมาตรวจงานและคอยส่ง Feedback ให้เขาอีกที

 

รู้จักสังเกต

อีกหนึ่งวิธีการเรียนรู้ที่ดีคือการรู้จักสังเกตเข้าไว้ สมมติว่าวันนึงหัวหน้าพาเราเข้าไปนั่งในห้องที่มีการประชุมระหว่างแผนก ก็ใช้โอกาสนี้ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ สังเกตว่าผู้พูดเป็นใคร จากทีมไหน และกำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่ ถ้าเกิดมีการพูดถึงอุปสรรคของการทำงานในห้องประชุมก็ลองฟังดูว่าคนในที่ประชุมจะทำยังไงเพื่อให้ไปถึงทางออกของปัญหาได้ ลองสังเกตลักษณะการพูดคุย การตัดสินใจ แล้วเราจะเริ่มเห็นว่าคนในองค์กรนี้มีรูปแบบการทำงานเป็นยังไง มีกระบวนการคิดเป็นแบบไหน แล้วถ้าฟัง ๆ ไปเกิดเจอคำศัพท์หรือคำคีย์เวิร์ดที่เราไม่เข้าใจ เช่น ชื่อโปรเจกต์บางอย่างขององค์กรที่เรายังไม่เคยได้ยิน ก็จดเอาไว้และรอเอาออกมาถามกับคนที่รู้เรื่องนั้น ๆ ต่อข้างนอกห้องประชุม

หาคนที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาได้

การเริ่มทำงานโดยไม่มีเพื่อนพนักงานคนไหนได้รับมอบหมายให้คอยช่วยสอนงานเราโดยเฉพาะถือเป็นความท้าทายอย่างนึง แต่ถึงยังไงเพื่อนร่วมทีมที่อยู่มาก่อนก็อาจจะเป็นคนที่เราสามารถเข้าไปขอคำปรึกษาและคำแนะนำได้ โดยทำความรู้จักแต่ละคนและสังเกตว่าเพื่อนร่วมทีมคนไหนถนัดเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เผื่อว่าถ้าเราสงสัยเกี่ยวกับบางอย่างที่มีความเฉพาะด้าน เราก็จะได้เลือกเดินไปถามได้ถูกคน ซึ่งคำถามที่ดีจะเป็นคำถามที่มีความเจาะจงและละเอียด เช่น แทนที่จะถามเฉย ๆ ว่า “อันนี้ต้องทำยังไง” เราอาจจะอธิบายกึ่งถามไปเลยว่า “ตอนนี้เรากำลังเจอปัญหาเพราะไม่เข้าใจเรื่องนี้  และมันทำให้ทำงานต่อได้ยาก เราควรทำยังไงดี? เราพอจะหาข้อมูลได้ยังไงบ้าง?”

 

แต่ถึงยังไงเราก็จะต้องไม่คาดหวังว่าเขาจะพร้อมอธิบายงานเราอย่างละเอียดเสมอไป เพราะบางครั้งเขาเองก็ต้องทำงานส่วนของเขาด้วยเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหมดหวัง เพราะถ้าเรื่องที่เราไม่เข้าใจเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่ได้เป็นความลับขององค์กร เช่น เราอยากรู้เกี่ยวกับเทคนิคการตัดต่อวิดีโอ เราก็อาจหาคำปรึกษาจากนอกองค์กรได้ เช่นใน Community ของคนทำงานสายตัดต่อโดยเฉพาะก็ได้

 

เตรียมรับมือกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย

คนทำงานอาจจะได้เจอเรื่องที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยคาดคิดมาก่อนในช่วงแรก ๆ ที่เพิ่งเข้าไปทำงาน ซึ่งถ้าเกิดว่าเราพอจะมีประสบการณ์กับงานที่ทำอยู่บ้าง เช่น เราได้เรียนและได้ลองจับงานสายนี้มาบ้าง เคยฝึกงาน หรือเคยทำงานที่คล้าย ๆ กันมาก่อน เราก็สามารถเอาทักษะเดิมที่เรามีมาปรับใช้กับ Role ใหม่นี้ได้ เช่น ถ้าเราต้องพูดคุยกับลูกค้า เราก็ลองรับมือตามประสบการณ์ที่เราสะสมมา แต่ถึงแม้ว่าเราจะเคยทำอะไรที่คล้าย ๆ กันมาก่อนก็อย่ากดดันตัวเองว่าต้องทำให้เพอร์เฟกต์ตั้งแต่ครั้งแรก เพราะรูปแบบการทำงานและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เจอก็อาจจะไม่ได้เหมือนกับที่เราเคยทำ ครั้งแรกถือว่าเป็นโอกาสให้ตัวเองได้ลอง แล้วเดี๋ยวเราก็จะรู้เองว่าหลังจากนี้เราควรทำยังไงเพื่อให้มันดีขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไป

 

แต่ถ้าเรายังเป็น First Jobber ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน หรือเป็นคนที่ย้ายมาจากสายงานอื่น และยังอยู่ในช่วงทำความเข้าใจเนื้องาน ก็ลองมองว่าการได้ทำสิ่งใหม่ ๆ นอกเหนือจาก Comfort Zone คือกุญแจสำคัญของการขยายศักยภาพ แต่ถ้าทำไปแล้วเจอจุดที่ไม่มั่นใจจริง ๆ ยกตัวอย่างเดียวกันว่ามีลูกค้าโทรติดต่อมาแต่เรายังไม่พร้อมที่จะดีลในตอนนี้ อาจจะเพราะยังไม่รู้ว่าควรจะรับมือกับลูกค้ายังไง หรือยังไม่ได้มีข้อมูลที่มากพอเพราะเพิ่งเข้ามาใหม่ อย่างน้อยก็ขอช่องทางการติดต่อของลูกค้าไว้ก่อน แล้วพอเราขอคำแนะนำมาแล้ว เราก็ค่อยติดต่อกลับไปทีหลัง

 

การเริ่มงานใหม่เป็นอะไรที่ท้าทายเสมอ เพราะไม่ว่าเราจะเป็นคนมีที่ประสบการณ์หรือพื้นฐานเกี่ยวกับเนื้องานอยู่บ้าง เป็นคนที่เพิ่งย้ายสายงานมาหมาด ๆ แล้วมาเริ่มนับก้าวแรกใหม่ที่นี่ หรือเป็นเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์เลย สิ่งที่ต่างคนต่างต้องเจอก็คือสภาพแวดล้อมแบบใหม่ที่เราต้องปรับตัวตามและผู้คนกลุ่มใหม่ที่เราต้องทำความรู้จัก แต่ถึงยังไงถ้าเราเป็นคนที่มีใจเปิดรับและพร้อมเรียนรู้แล้ว ช่วงแรกของการทำงานก็จะผ่านไปด้วยดี ไม่แน่ว่าเราอาจจะรู้สึกว่าช่วงโปรฯ ผ่านไปเร็วกว่าที่คิดไว้ก็ได้

 

ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

 

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

themuse.com

prosofthcm.com

linkedin.com

tags : jobthai, career & tips, training, first jobber, probation, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, ชีวิตการทำงาน, เคล็ดลับการทำาน, เด็กจบใหม่, จบใหม่ต้องรู้, ทดลองงาน, สอนงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม