ณัฐญาดา พ่วงสุวรรณ: เจาะลึกอาชีพ Costume Artist นักคัดสรรและสร้างสรรค์การแต่งกายมืออาชีพ

26/01/18   |   19k   |  

Costume Artist คือกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการแต่งกายที่สวยหล่อของเหล่านักแสดงที่เราเห็นกันในสื่อต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นอาชีพในฝันของคนที่ชอบการแต่งตัว แฟชั่น และมีสายตาที่เฉียบคม พร้อมที่จะคัดสรรเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมให้กับแต่ละบุคคลอีกด้วย  แต่สิ่งที่กล่าวไปเป็นเพียงคุณสมบัติที่คนทั่วไปคิดว่า Costume Artist จะต้องมีเท่านั้น เพราะเส้นทางในสายอาชีพนี้ไม่ใช่งานง่าย ๆ แบบที่ใครหลายคนมักจะเข้าใจกันผิด  มีคนไม่มากนักที่จะรู้ว่ากระบวนการทำงานทั้งหมดของอาชีพนี้จะต้องทำอะไรบ้าง และพวกเขาต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจทำงานอย่างหนักแตกต่างจากภาพที่คนคิดเอาไว้มากนัก
 

วันนี้ JobThai จะขอพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับอาชีพ Costume Artist ให้มากขึ้น ว่าพวกเขาต้องทำอะไรกันบ้าง พร้อมไขข้อสงสัยว่าถ้าเราสนใจจะทำงานในอาชีพนี้แล้วจะก้าวเข้าสู่สายอาชีพนี้ได้อย่างไร ผ่านการพูดคุยกับคุณณัฐญาดา พ่วงสุวรรณ หรือคุณเอ็ม Costume Artist มืออาชีพที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มากว่า 14 ปี เป็นผู้ดูแลการแต่งกายนักแสดงในละครชื่อดังหลาย ๆ เรื่อง เช่น ไฟล้างไฟ และบัลลังก์ดอกไม้ ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

 

 

  • อาชีพ Costume Artist ต้องทำทั้งกำหนดลุคนักแสดง ออกแบบ ไปจนถึงการหายืมเสื้อผ้าเพื่อนำมาใช้ในการถ่ายทำ
  • อาชีพ Costume Artist เป็นอาชีพที่ต้องใช้กำลังในการทำงานมากพอสมควร เพราะต้องยกของ ย้ายของตลอดเวลา
  • อาชีพ Costume Artist เป็นได้ทั้งอาชีพฟรีแลนซ์และงานประจำ
  • วิธีการสมัครงาน Costume Artist มี 2 วิธี คือ ใช้ Networking ให้คนในวงการ Costume แนะนำเข้าไปทำงาน และสมัครเป็น Costume Artist ของบริษัท

 

 

คุณเอ็มก้าวเข้าสู่วงการ Costume Artist ได้อย่างไร

พี่เป็นเด็กใต้ธรรมดา ไม่ได้เรียนจบออกแบบอะไรมา แต่พี่ชอบเกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้า จนได้เข้ามาทำงานในวงการ Wedding ก่อน แล้วช่วงที่ขึ้นมาซื้อชุดแต่งงานที่กรุงเทพ มีโอกาสได้พบกับรุ่นพี่ที่เขาทำงานอยู่ในวงการนี้อยู่แล้ว เขาก็คงเห็นแววว่าน่าจะพอทำได้ ก็เลยชวนมาทำงาน Costume ในกองละคร ก็ได้เริ่มต้นทำจากตรงนี้

 

 

อาชีพ Costume Artist นอกจากทำงานในกองละครแล้วสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง

ทำได้หลายอย่าง อย่างที่พี่ทำอยู่นอกจากงานละครก็จะมีงานแฟชั่น ซึ่งทั้งสองงานจะแตกต่างกันที่ระยะเวลาของการทำงาน งานแฟชั่นเป็นงานที่จบในวันเดียว ทำงานเสร็จรับเงินกลับบ้านได้เลยสวย ๆ แต่งานละครเป็นงานระยะยาวบางเรื่องถ่ายทำนานถึง 8 เดือนหรือ 1 ปีก็มี รายได้ทางกองก็แบ่งให้เป็นเดือน ๆ ไป

 

งาน Costume Artist ต้องทำอะไรบ้าง

สำหรับตัวพี่เอ็มเองเป็นทั้ง Costume และ Stylist ดังนั้นพี่ก็จะทำได้ทุกอย่างทั้งออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้า รวมถึงวิ่งหาซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับด้วย

 

อยากให้คุณเอ็มเล่าถึงขั้นตอนการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นให้ฟัง

ถ้าเป็นงานละคร เริ่มจากคุยกับผู้จัดก่อนว่าอยากให้ตัวละครแต่ละตัวมี Style ประมาณไหน หลังจากนั้นก็เอากลับไปทำการบ้านทำเป็น Chart Board มาขายให้ผู้จัดกับผู้กำกับอีกครั้ง
 

ส่วนตอนที่เริ่มถ่ายทำแล้ว เราก็จะต้องเตรียมชุดที่ต้องใช้ในแต่ละวัน รวมถึงเครื่องประดับทั้งหมดไว้ให้ หน้างานก็จะต้องทำหน้าที่แต่งตัวนักแสดงให้ตรงตามคิวถ่ายทำที่วางไว้ รวมถึงประสานงานกับช่างผมว่าวันนี้อยากได้ทรงประมาณไหน แล้วเอาเครื่องประดับผมที่เตรียมไว้ให้ช่างทำผมช่วยออกแบบทรงผมให้ด้วย

 

Costume Artist หาเสื้อผ้ามาจากไหนให้นักแสดงใส่

มีหลายวิธีนะ วิธีแรกก็คือสปอนเซอร์ให้ยืมมาถ่ายทำ นอกจากนี้ก็จะมีการเช่าและซื้อ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้งานชุดนั้นอย่างไร ถ้ามีถ่ายวันนี้แล้วต้องใช้อีกครั้งในอีกสามเดือนข้างหน้าก็ต้องซื้อ เพราะก็คงจะยืมไว้นานขนาดนั้นไม่ได้

 

มีอะไรบ้างที่คนอยากเป็น Costume Artist ควรต้องรู้

งานนี้เป็นงานที่ทำไม่เป็นเวลาตื่นเช้ามาก กลับบ้านดึกมาก แล้ววันรุ่งขึ้นก็ต้องตื่นเช้าอีกนะ นอกจากนี้ทำงานในกองถ่ายมันมีเรื่องตื่นเต้นตลอดเวลา เราเตรียมชุดมาแล้วแต่คนใส่ไม่ชอบบ้าง ผู้จัดไม่ชอบบ้างก็ต้องหาตัวใหม่มาเปลี่ยน ซึ่งบางทีเราเตรียมทุกอย่างมาหมดแล้ว ถ้าชุดนึงไม่ผ่านเราก็ต้องวิ่งออกไปหาซื้อใหม่ คือต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็น

 

 

แรงผลักดันอะไรที่ทำให้พี่เอ็มมาเป็น Costume Artist ที่เก่งแบบทุกวันนี้

น่าจะเป็นเพราะพี่คนที่ชวนเข้ามาทำนี่แหละ คือพี่เขาเก่งมาก แล้วเราเห็นเขาทำงานงานแล้วก็รู้สึกว่าวันหนึ่งเราต้องเป็นแบบพี่เขาให้ได้

 

อะไรที่ทำให้คุณเอ็มรักอาชีพ Costume Artist

งานนี้เป็นงานที่เวลามาทำงานเหมือนได้มาเจอเพื่อน มาสนุกด้วยกัน ยิ่งถ้าโชคดีเจอผู้จัดละครที่ดี มีเพื่อนร่วมงานที่ดี เจอช่างแต่งหน้าทำผมที่ดี เราก็จะยิ่งมีความสุข ถ้าบริษัทไหนไม่ดีพี่เอ็มว่ามันก็คงอยู่ยากนะ และคงเป็นแบบนี้ทุกอาชีพแหละ

 

มีท้อบ้างไหมกับการทำอาชีพนี้

ก็มีท้อบ้าง เพราะงานมันเหนื่อยนะ บางทีเจอปัญหาเยอะ ๆ ก็ต้องมีท้อบ้าง แต่คิดว่าเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป บอกตัวเองว่าต้องทำงานนะ เพราะบ้านกับรถยังต้องผ่อนอยู่นะ (หัวเราะ) ก็ให้กำลังใจตัวเองไป

 

มาถึงคำถามสำคัญ ถ้าสนใจสมัครงานตำแหน่ง Costume Artist จะต้องสมัครยังไง

มันก็เป็นเรื่องค่อนข้างยากนะ เพราะไม่เหมือนงานบริษัทที่เดินไปสมัครได้เลย ส่วนใหญ่จะเป็นการแนะนำผ่านคนรู้จักกันมาอีกที แต่ก็มีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ก็คือ ไปสมัครงานในบริษัทที่มีฝ่าย Costume เป็นของบริษัทเองเลย แต่การทำงานภายใต้องค์กรก็จะมีกฎระเบียบที่คอยกำหนดทิศทางการทำงานมากกว่า เช่น ห้ามเลือกเครื่องแต่งกายที่โป๊ให้นักแสดง ซึ่งจะต่างจากการเป็นฟรีแลนซ์ที่เราสามารถออกแบบการแต่งกายให้นักแสดงได้เต็มที่

 

 

ถ้ามีน้อง ๆ ที่อยากเป็น Costume Artist มานั่งตรงหน้า คุณเอ็มอยากจะแนะนำอะไรกับน้อง ๆ บ้าง

สำหรับคนที่จะเข้ามาเป็น Costume Artist ถ้าเรียนจบด้านการออกแบบมาโดยตรงจะถือว่าได้เปรียบมาก อย่างในทีมพี่เองก็จะมีน้องคนหนึ่งที่เรียนจบด้านนี้มาโดยตรง ก็จะมาแชร์ความคิดเห็นกันว่าแบบนี้ดีไหม ส่วนตัวพี่เองก็อาศัยว่าเราอยู่วงการนี้มานานก็จะมีประสบการณ์การทำงานที่มากกว่า แต่ก็ต้อง Update Trend จากนิตยสารอยู่ตลอด
 

แต่ถ้าไม่จบมาโดยตรงก็ขอให้ อึด ถึก ทน เพราะเป็นงานที่ตื่นเช้ามาก นอกจากนี้ยังต้องถือของ ขนของ ยกของได้ ตัวพี่เอ็มเองทุกวันนี้ก็ยังต้องทำ ที่สำคัญต้องขยัน ไม่มีหัวด้านดีไซน์ไม่เป็นไรเพราะสุดท้ายแล้วน้องที่เข้ามาใหม่ก็ยังไม่ได้ออกแบบหรือดีไซน์งานเลยทันที แต่จะต้องเข้ามาดูพวกพี่ ๆ ทำงานก่อน

 

การพูดคุยกับคุณเอ็ม ณัฐญาดา พ่วงสุวรรณ ในวันนี้ทำให้เราได้รู้ว่าการจะได้ทำงานที่เราฝัน บางครั้งไม่ได้อาศัยแค่ความรู้ตามทฤษฎีที่เรียนมาเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความตั้งใจในการหาความรู้จากประสบการณ์จริง ทั้งยังต้องมีความอดทนมากพอที่จะรอให้โอกาสและเวลาที่เหมาะสมมาถึงอีกด้วย

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

tags : jobthai, career&tips, career focus, คนทำงาน, costume, costume artist, เคล็ดลับการทำงาน, เทคนิคการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม