VIDEO
JobThai Mobile Application หางานที่ถูกใจได้เพียงปลายนิ้ว
ชีวิตการทำงานของเรามีผู้คนรายล้อมอยู่รอบตัวมากมายทั้งเจ้านาย คู่หูที่นั่งทำงานอยู่ข้าง ๆ คู่กัดประจำออฟฟิศ ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานจากทางไกล (สำหรับคนที่ Work from Home) ดังนั้นการเข้าใจกระบวนการทางความคิดของมนุษย์ และมีจิตวิทยาในที่ทำงานหรือในการสร้างความสัมพันธ์จึงสามารถช่วยให้ชีวิตการทำงานของคุณราบรื่นยิ่งกว่าที่เคยเป็น
วันนี้ JobThai เลยอยากมาแชร์ทริกทางจิตวิทยาที่คุณสามารถนำไปใช้ได้จริงในการโลกการทำงาน
วันแรกของการเริ่มงานใหม่เปรียบเสมือนมหกรรมการจำชื่อเพื่อนร่วมงาน ยิ่งคุณจำชื่อแต่ละคนได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งมีผลดีมากเท่านั้นเพราะมันจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกพิเศษ โดยเฉพาะถ้าคุณจำรายละเอียดเกี่ยวกับเขาได้ เช่น คุณจำได้ว่าคนชื่อแจนเลี้ยงแมว เวลาที่คุณเจอรูปแมวน่ารัก ๆ แล้วให้แจนดู แจนก็จะยิ่งดีใจที่คุณจำเรื่องเกี่ยวกับตัวเธอได้ และเห็นว่าคุณเป็นคนที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับคนรอบตัว
ระหว่างแนะนำตัวกับเพื่อนใหม่คุณสามารถใช้วิธีทวนชื่อของเขาสักประมาณ 3 ครั้ง เพราะจะช่วยให้คุณได้ลองเรียกชื่อเขาจริง ๆ และได้เห็นปฏิกิริยาตอบกลับจากเขา ยกตัวอย่างเช่น “สวัสดีมุก”, “มุกทำงานที่นี่มานานรึยัง”, “มุกทำงานตำแหน่งอะไรเหรอ?” วิธีนี้เป็นการแอบฝึกจำชื่อแบบลับ ๆ ดังนั้นพูดให้เป็นธรรมชาติ อย่าเอ่ยชื่อของเขามากจนเกินไปเพราะจะทำให้บทสนทนาฟังดูน่าอึดอัด
ส่วนใครที่ได้รู้จักเพื่อนร่วมงานใหม่ผ่านทางออนไลน์เพราะบริษัทให้พนักงานทำงานที่บ้านคุณยิ่งไม่ต้องกังวลเพราะในการประชุมผ่านทางออนไลน์จะมีชื่อของแต่ละคนขึ้นบนหน้าจออยู่แล้ว หลัก ๆ คุณแค่ต้องรู้ว่าเขาคนนี้ชื่ออะไรและทำหน้าที่อะไร จดจำบุคลิกและท่าทางการพูดของเขาเอาไว้
คุณเคยส่งยิ้มให้กับใครสักคนที่เดินสวนกันแล้วอีกฝ่ายส่งยิ้มตอบกลับให้คุณไหม? นั่นเป็นเพราะมนุษย์สะท้อนการกระทำระหว่างกันและกันอยู่บ่อย ๆ คุณสามารถใช้หลักนี้ให้เป็นประโยชน์ได้ในโลกการทำงาน เช่น ถ้าคุณรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้รู้จักกับเพื่อนร่วมงานคนใหม่ คุณไม่ต้อง Keep Cool ก็ได้นะ แสดงความรู้สึกตื่นเต้นของคุณออกไปได้เลยแค่ให้อยู่ในปริมาณที่พอดี คู่สนทนาจะสัมผัสได้ผ่านการกระทำ น้ำเสียงและคำพูดของคุณว่าคุณตื่นเต้นที่ได้เจอเขาและโดยธรรมชาติเขาจะสะท้อนความรู้สึกแบบเดียวกันกลับมา
แต่เดี๋ยวก่อน! ขอเตือนไว้อย่างว่าถ้าคุณไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรขนาดนั้นก็ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้นะ เพราะการแกล้งทำเหมือนกับว่าคุณตื่นเต้น มันอาจจะดูมากเกินพอดีหรือดูเฟคไปเลยก็ได้
นอกจากนั้นการพูดคุยกับเพื่อนใหม่เพื่อค้นหาว่าระหว่างคุณกับเขามีความชอบและประสบการณ์ร่วมระหว่างกันมากน้อยแค่ไหน สามารถช่วยให้ภาพจำที่เขามีต่อคุณออกมาในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น เช่น การที่คุณและเขาอาจมาจากจังหวัดเดียวกัน ชอบดูหนังแนวคล้าย ๆ กัน
บรรยากาศห้องประชุมที่มีลำดับคนพรีเซนต์ยาวเหยียดอย่างการสรุปงานระหว่างแผนกหรือการเสนอขายไอเดียอาจเป็นอะไรที่ชวนง่วงสุด ๆ สำหรับบางคน โดยเฉพาะถ้ามันไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาสนใจ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ให้คุณเสนอชื่อตัวเองเป็นคนแรกของการพรีเซนต์หรือไม่ก็คนสุดท้ายไปเลย เพราะคนส่วนมากมักจดจำสิ่งที่เห็นเป็นลำดับแรกและลำดับสุดท้ายได้ดี ช่วงตรงกลางระหว่างนั้นจะค่อนข้างเลือนราง โดยวิธีนี้ใช้ได้กับการสัมภาษณ์งานด้วยเหมือนกัน ถ้าคุณอยากให้ตัวเองได้คิวสัมภาษณ์งานเป็นคนแรก ๆ ก็ลองนัดสัมภาษณ์เป็นรอบเช้าและไปให้ถึงที่หมายก่อนเวลานัดสักนิด
ทุกครั้งที่พรีเซนต์ในห้องประชุมแนะนำให้คุณยืนตัวตรง ไหล่ผาย Havard and Columbia Business School เผยว่าท่ายืนแบบนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณฮอร์โมนที่มีผลกับความมั่นใจ แถมยังช่วยลดปริมาณฮอร์โมนเครียดลงไปด้วย แต่อย่ายืนนิ่ง ๆ ตลอดเวลาเพราะจะทำให้คนฟังเบื่อ ขยับตัวบ้างก็ได้ เดินเปลี่ยนจุดเล็กน้อย หรือใช้มือประกอบการอธิบายให้สอดคล้องไปกับเนื้อหาที่กำลังพูด
ในกรณีพรีเซนต์ออนไลน์ คุณจะถูกจำกัดการมองเห็นให้อยู่แค่ในกรอบสี่เหลี่ยมกรอบหนึ่ง คุณอาจต้องหาวิธีอื่นมาช่วยดึงความสนใจคนฟัง อย่างเช่น การใส่เซอร์ไพรส์บางอย่างลงไปในสไลด์ การหว่านข้อมูลทีละนิดเพื่อให้คนฟังคิดตามอยู่ตลอดเวลา หรือการทำให้คนฟังรู้สึกมีส่วนร่วม เช่น การตั้งคำถามแล้วขอคำตอบจากคนที่ฟังอยู่ทุกคน
เมื่อคุณมีไอเดียอยากทำโปรเจกต์งานสักชิ้นและอยากให้คนในที่ประชุมเห็นด้วยกับคุณ แทนที่คุณจะเริ่มต้นประโยคว่า “คิดว่าเราทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาดีไหม?” ลองเปลี่ยนมาเป็นการเล่ารายละเอียดโปรเจกต์คร่าว ๆ ก่อนจะถามความเห็นเพิ่มเติมว่า “ถ้าเราจะเริ่มโปรเจกต์นี้เราควรเริ่มจากส่วนไหนก่อนดี?” หรือ “ใครมีไอเดียเพิ่มเติมตรงไหนไหม?” ถ้าคนอื่น ๆ เริ่มออกไอเดียร่วมกับคุณไปด้วยก็แปลว่าพวกเขาประเมินแล้วว่าโปรเจกต์นี้มีความเป็นไปได้และพวกเขาถือว่าโปรเจกต์นี้ผ่านการอนุมัติแล้ว
หลัก ๆ แล้วเทคนิคนี้จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับศิลปะการพูดและการออกแบบประโยคไม่ให้ฟังดูเหมือนเป็นการบังคับแต่เป็นการขอความคิดเห็น ดังนั้นถ้าคุณมีทักษะการพูดที่ดีพอคุณก็สามารถนำมันไปใช้ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่ค่อยมั่นใจทักษะการพูดของตัวเองเท่าไหร่ ก็ต้องเตรียมตัวฝึกซ้อมการเล่าเรื่องให้ดีก่อนนำเสนอไอเดีย
เวลาที่คุณคุยกับใครสักคน มันไม่ใช่แค่น้ำเสียงและถ้อยคำของคุณที่ทำหน้าที่ส่งสารออกไปแต่เป็นทั้งร่างกายของคุณเลยต่างหาก คนฟังซึมซับคำพูดของคุณไปพร้อม ๆ กับอากัปกิริยาที่คุณแสดงออกมา ดังนั้นการใช้ภาษากายก็อาจช่วยจูงใจเขาได้พอสมควร ยกตัวอย่างเช่น การพยักหน้าเบา ๆ ระหว่างที่พูดเรื่องที่คุณต้องการให้คนอื่นเห็นด้วย เป็นการถ่ายทอดให้คนที่กำลังฟังรู้สึกว่าสิ่งที่คุณพูดนั้นเป็นจริงและน่าเชื่อถือ คนที่ฟังคุณอยู่อาจเผลอพยักหน้าตามโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัวก็ได้
นอกจากนี้การที่รู้จักใช้ Eye-Contact หรือการสบตาคนฟังจะยิ่งดึงความสนใจจากเขาได้ดี ต่างจากคนพูดที่มีแววตาวอกแวกไม่อยู่นิ่งที่อาจทำให้คนฟังหลุดประเด็นไปด้วย
คุณเคยต้องตกอยู่ในบทสนทนาอันตึงเครียดหรือต้องต่อรองอะไรบางอย่างกับคนที่ทำงานบ้างไหม?
ถ้าในระหว่างการต่อรองคุณยังอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมจากอีกฝ่าย บางครั้งกุญแจสำคัญที่จะช่วยคุณได้คือ ความเงียบ ที่คุณต้องทำก็คือแค่นิ่งเอาไว้และปล่อยให้ความเงียบปกคลุมบรรยากาศระหว่างคุณกับเขา สิ่งที่จะตามมาก็คือความกดดันจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองควรจะพูดอะไรต่อไปอีกสักหน่อย ไม่แน่เขาอาจจะเผยข้อมูลบางอย่างหรือเพิ่มข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ให้กับคุณก็ได้
คุณจะเพิ่มระดับความกดดันให้อีกฝ่ายจนมุมด้วยการสบตาก็ได้ เพียงจ้องตาของเขากลับไปท่ามกลางความเงียบ แต่หากคุณเป็นฝ่ายที่กำลังจะเสียเปรียบในการต่อรองก็อย่าเผลอส่งสายตาร้อนใจออกไปล่ะ มันสังเกตง่ายมาก ๆ
ไม่อยากให้ถึงวันนี้เลย! วันที่ต้องมาประชุมร่วมกับคู่กัดต่างแผนกเพราะเจอกันทีไรก็เป็นอันทะเลาะกันทุกที
ลองใช้วิธีนั่งข้าง ๆ เขาดูสิ เลือกนั่งเก้าอี้ที่อยู่ใกล้กันไปเลย เพราะวิธีนี้จะสร้างความรู้สึกอึดอัดระหว่างกันจนทำให้ทั้งสองฝ่ายทำอะไรไม่ถูก จะเถียงกันก็ไม่ถนัดเท่าเวลานั่งฝั่งตรงข้ามกัน ผลที่ตามมาก็คือทำให้ความเกรี้ยวกราวของทั้งคุณและเขาต่างลดลงไป
แต่ถ้าคุณใช้วิธีนี้แล้วก็ยังเจอคนพูดเสียงดังใส่ในห้องประชุมอยู่ดี เบรกตัวเองเอาไว้ก่อนนะ อย่าเพิ่งพูดอะไรสวนกลับไป ความเงียบจะทำให้คนอื่น ๆ ในห้องประชุมมองว่าคุณมีวุฒิภาวะ เป็นคนใจเย็นที่ต้องมาดีลกับคนใจร้อน สุดท้ายคนที่ใจร้อนกว่าก็ต้องแพ้ไปเพราะไม่มีคนเถียงกลับ ไม่แน่เขาอาจจะรู้สึกผิดซะเองจนเดินมาขอโทษตอนหลังก็ได้
ฝากประวัติกับเรา ที่นี่ เพิ่มโอกาสได้งานที่ใช่แม้ยังไม่ส่งใบสมัคร
เทคนิคทางจิตวิทยาเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมของในแต่ละสถานการณ์ คุณไม่จำเป็นต้องใช้มันกับทุกคนและทุกเวลาจนชีวิตทำงานกลายเป็นเกมจิตวิทยาในออฟฟิศหรอก ขอแค่ให้คุณมีชีวิตการทำงานที่มีความสุขก็ดีพอแล้ว
ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่
JobThai Official Group
Public group · 300,000 members
บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 16 กันยายน 2021 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai
ที่มา: