JobThai เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้สมัครงานในยุค Digital ในงาน Insights of Digital Recruitment

19/04/17   |   7.5k   |  

คุณแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการของ JobThai ได้นำเสนอรายงานผลสำรวจความคิดและแนวโน้มพฤติกรรมของคนทำงาน เกี่ยวข้องกับการหางาน สมัครงาน รวมถึงความคิดความรู้สึกต่าง ๆ ในโลกของการทำงาน ให้กับแขกผู้มีเกียรติที่ได้ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน “Insights of Digital Recruitment” ณ โรงแรม So Sofitel Bangkok เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2560 

 

ผลสำรวจนี้ได้ทำการสำรวจข้อมูลไม่ว่าจะเป็นด้านพฤติกรรมหรือความคิดของคนทำงานมากที่สุด รวมถึงคลายข้อสงสัยว่าในแต่ละ Generation ของคนทำงานนั้น มีความคิดหรือพฤติกรรมในการทำงานแตกต่างกันจริงหรือไม่ จากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนทำงานจากทั่วประเทศกว่า 6,000 คน เพื่อเป็นข้อมูลที่จะช่วยช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมองเห็นภาพรวมเกี่ยวกับแนวโน้มพฤติกรรม รวมไปถึงความคิดของคนหางาน แล้วนำข้อมูลที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ซึ่งผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนกว่า 73% นั้นมีแผนที่จะเปลี่ยนงานใหม่ จากข้อมูลจากการสำรวจในครั้งนี้ได้เผยให้เห็นว่า จังหวัดที่คนทำงานอยากไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1) กรุงเทพมหานคร 26.90% อันดับ 2) ชลบุรี 9.83% อันดับ 3) สมุทรปราการ 6.61% อันดับ 4) ระยอง 5.47% และอันดับ 5) ปทุมธานี 4.86% ตามลำดับ

 

 

นอกจากจังหวัดที่อยากไปทำงานแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนยังต้องการที่จะไปทำงานในต่างประเทศด้วย โดยประเทศที่ได้รับความสนใจในการไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1) ญี่ปุ่น 17.39% อันดับ 2) สหรัฐอเมริกา 15.84% อันดับ 3) สิงคโปร์ 9.94%  อันดับ 4) ออสเตรเลีย 8.39% และอันดับ 5) เกาหลีใต้ 7.45%

 

ทั้งนี้จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศทั้งหมด มีจำนวน 21% บอกว่าต้องการไปทำงานในประเทศกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC และอีก 7% บอกว่าอยากไปทำงานในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม หรือ CLMV

 

 

ในกลุ่มผู้ที่ต้องการหางานใหม่นั้นมีช่องทางที่เลือกใช้ในการหางาน สมัครงานคือ อันดับ 1) เว็บไซต์หางาน สมัครงาน 40% อันดับ 2) เว็บไซต์ของบริษัทที่ต้องการสมัคร 17.56% อันดับ 3) คนรู้จัก 11.73% อันดับ 4) Walk in ไปยังบริษัท 7.81% และ อันดับ 5) เว็บไซต์หางานเฉพาะทาง 5.90%

 

 

ในกลุ่มผู้ที่ต้องการหางานใหม่ได้ให้เหตุผลในการหางานใหม่ คือ อันดับ 1) ไม่พึงพอใจในเรื่องเงินเดือน คิดเป็น 22.86% อันดับ 2) ไม่มีความก้าวหน้าในสายงาน 19.33% อันดับ 3) ไม่พึงพอใจเรื่องสวัสดิการ 15.62% อันดับ 4) ไม่พึงพอใจเรื่องโบนัส 10.61% และอันดับ 5) งานที่ทำไม่มีความท้าทาย 9.84%

 

ในทางกลับกัน สำหรับเหตุผลที่คนทำงานที่ยังเลือกที่จะทำงานกับองค์กรเดิมต่อไปก็คือ อันดับ 1) เงินเดือนเป็นที่พึงพอใจ 18.19% อันดับ 2) มีเพื่อนร่วมงานที่ดี 12.27% อันดับ 3) มีสวัสดิการที่ดี 11.99% อันดับ 4) การเดินทางที่สะดวก 10.44% และอันดับ 5) บริษัทมีความมั่นคง 9.73%

 

 

โดยในทุก Generation ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องเงินเดือนเป็นอันดับแรก  ดังนั้นหากต้องเปลี่ยนงานใหม่ อัตราเงินเดือนที่ต้องการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่กว่า 37% บอกว่าต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้น 5-10% ตามด้วยต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้น 11-20% คิดเป็น 31% ต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้น 21-30% คิดเป็น 13% และต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้นถึง 30% ขึ้นไป มีจำนวน 12% ส่วนกลุ่มที่ต้องการเงินเดือนเท่าเดิม มีจำนวน 7%

 

 

การสำรวจยังเจาะลึกลงไปอีกว่านอกจากเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการพื้นฐานแล้ว คนทำงานในแต่ละ Generation ยังต้องการอะไรเพิ่มจากการมองหางานใหม่กันบ้าง โดย อันดับ 1) เป็นสิ่งที่ทั้ง 3 เจนเนอเรชั่นเลือกเหมือนกันคือต้องการโอกาสก้าวหน้าในสายงาน โดยคิดเป็น 30.44% อันดับ 2) ต้องการองค์กรที่มีงบประมาณในการส่งเสริมศักยภาพของพนักงาน 19.34% อันดับ 3) มีเวลาในการทำงานที่ยืดหยุ่น 18.85% อันดับ 4) มีสวัสดิการพิเศษอื่น ๆ เช่น ฟิตเนส รถรับ-ส่ง ฯลฯ 16.84% และอันดับ 5) มีสวัสดิการเงินออม 14.22%

 

โดยในกลุ่ม Gen Z ซึ่งถือเป็นกลุ่มแรงงานกลุ่มใหม่ที่เริ่มเข้ามาสู่ตลาดแรงงานยังเสริมเหตุผลว่าการที่องค์กรหรือบริษัทมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกทำงานกับองค์กรนั้น ๆ

 

 

นอกจากการายงานผลการสำรวจในหัวข้อ “Insights of Digital Recruitment”  จากคุณแสดงเดือนแล้วยังมีการบรรยายจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ อาจารย์ประจำสาขาการบริหารทรัพยากรมนุษย์และการประกอบการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “Employer Branding in The Digital Age” เพื่อเป็นความรู้สำหรับนักบริหารทรัพยากรบุคคลให้ได้นำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการทำงาน

 

ด้วยหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อโลกแห่งการทำงานที่การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่านั้นมีลดลงเพราะอัตราการเกิดของประชากรลดลง ทำให้นักบริหารทรัพยากรบุคคลอยู่กันในโลกที่เรียกว่า Talent War การทำ Employer Branding เพื่อดึงดูดพนักงานที่เป็น Talent ให้มาสมัครงาน รวมถึงสมัครงานแล้วอยู่กับองค์กรนานๆ เป็นสิ่งสำคัญ โดย ดร.สมบูรณ์ได้นำเสนอแนวคิดว่า นักบริหารทรัพยากรบุคคลสมัยใหม่จะสร้าง Employer Branding ให้แข็งแรงได้ ต้องทำ Internal Branding ในองค์กรให้แข็งแรงก่อน โดยมีหลักการคือ รู้ รับ ร่วม เรียน เร่ง   

 

 

รู้  คือ นักบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องรู้จักองค์กรอย่างทะลุปรุโปร่ง ทั้ง Vision Mission Core Value ลีลาการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองเป็นอย่างดี

รับ คือ Core Value ขององค์กรนั้นต้องตอบสนองกับธุรกิจ และ Core Value นั้นสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในองค์กร  นักบริหารทรัพยากรบุคคลต้องช่วยทำให้คนในองค์กรยอมรับวัฒนธรรมองค์กรนั้น ๆ  เชื่อมั่นและทำตามได้ 

ร่วม คือ เมื่อรู้จัก รับรู้ และเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างดีแล้วก็ต้องให้ความร่วมมือ ร่วมทำตามวัฒนธรรมองค์กร เป็นแบบอย่างให้กับพนักงานคนอื่น ๆ เพราะวัฒนธรรมองค์กรที่ดีไม่ใช่ภาพมายาที่สร้างขึ้นมา แต่ต้องเป็นสิ่งที่อยู่ในทุกวินาทีของการทำงานในองค์กร ทุกคนจึงควรรับรู้และร่วมมือกัน 

เรียน คือ เรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อนำเอาวัฒนธรรมองค์กรนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

เร่ง คือ เร่งรัดจัดเต็ม ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้วัฒนธรรมองค์กรนั้นมีชีวิต ช่วยกันทำให้วัฒนธรรมองค์กรนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีที่เกิดขึ้นจริงในองค์กร ไม่ใช่เพียงแค่คำสวยหรูที่ติดไว้ที่ผนังเท่านั้น 

 

 

Employer Branding จึงไม่ใช่เป็นการสื่อสารปลายทางให้คนนอกองค์กรได้รับรู้อย่างเดียว แต่คือสิ่งที่อบอวลอยู่ในองค์กร เป็นสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวพนักงานตลอดเวลา ดังนั้น Employer Branding จึงไม่ใช่แค่เรื่องของนายจ้างเท่านั้น นักบริหารทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพ ช่วยเหลือจัดการคอยค้นหาว่าสิ่งนั้นในองค์กรคืออะไร แต่คนที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรนั้นจริง ๆ แล้วก็คือพนักงานทุกคน เป็นสิ่งที่คนในองค์กรจะต้องมีส่วนช่วยกันผลักดัน เป็นพลังที่เกิดจากการผลักดันจากภายในแล้วสื่อสารออกมาให้คนภายนอกได้เห็นภาพผ่านพฤติกรรมของคนในองค์กรทุกคนรวมถึงผู้บริหารระดับสูงก็ต้องเข้าใจ ยอมรับ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรนั้นด้วยเช่นกัน Employer Branding จึงจะแข็งแรงและสามารถแสดงให้คนนนอกองค์กรเห็นและสัมผัสมันได้จริงๆ 

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

tags : jobthai, หางาน, สมัครงาน, insights of digital recruitment, employer branding, people management, เทคนิคการทำงาน, career & tips, hr



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม