อัปเดตเทรนด์การตลาดและเทคโนโลยีที่น่าสนใจจากงาน MITCON2024

27/09/24   |   328   |  

 

 

กลับมาอีกครั้งกับมหกรรมอัปเดตเทรนด์ความรู้ประจำปีสำหรับคนทำงานสายการตลาดและเทคโนโลยี โดยคราวนี้ CREATIVE TALK ได้จับมือกับ Content Shifu จัดงาน AP Thailand Presents Marketing Insight & Technology Conference 2024 หรือ MITCON2024 ขึ้น 2 วันเต็มที่ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 19 - 20 กันยายน 2024 ที่ผ่านมา ภายในงานจะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง JobThai สรุปมาให้ทุกคนแล้วในบทความนี้!

 

ภาพบรรยากาศงาน MITCON 2024

 

Marketing Insight & Technology Trends

งาน MITCON ปีนี้มาในธีม “The Age of Integration” ที่จะชวนนักการตลาด ผู้ให้บริการด้าน Martech ผู้ประกอบการ รวมถึงแบรนด์และเอเจนซี่ต่าง ๆ มา x กันเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมาทวีคูณยิ่งขึ้น เริ่มกันตั้งแต่เซสชันแรกที่เป็นไฮไลต์ของงาน นั่นคือการชวนผู้บริหารจากต่างองค์กรมาเสวนาพูดคุยอัปเดตเทรนด์กันแบบจุใจ 4 ด้าน ได้แก่ เทรนด์ด้าน Market & Consumer, Communication, Martech และ Data

 

Market & Consumer — คุณวรลักษณ์ ตุลาภรณ์ (CMO The Mall Group) และ คุณศิริพร กิตติชัชวาล (General Manager - Country Head (Thailand) YouGov (Thailand) Co., Ltd.)

เทรนด์ตลาดและการบริโภคที่น่าจับตาในปี 2024

  1. Omni-channel Integration ผู้บริโภคคาดหวังการที่จะได้รับประสบการณ์ในการซื้อหรือการใช้บริการแบบเดียวกันในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออฟไลน์ที่หน้าร้าน หรือช่องทางออนไลน์จากโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์ม E-commerce ต่าง ๆ

  1. Gen Z Engagement กลุ่มลูกค้า Gen Z เพิ่มขึ้นและกลายเป็นอีกหนึ่งกำลังซื้อหลักในตลาด

  1. Solo Economy จำนวนคนโสดเพิ่มมากขึ้น การบริโภคจึงเป็นสัดส่วนสำหรับคนเดียวมากขึ้น นักการตลาดอาจต้องวางแผนเจาะจงสำหรับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

  1. Pet Parents ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโตขึ้นมาก ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องขยายตัวขึ้นด้วย เช่น คลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ อาหาร ของเล่น และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์

  1. Health & Wellness ผู้บริโภคหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพความเป็นอยู่มากขึ้น ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้ขยายตัวตาม

 

6 ความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แบรนด์ต้องหาทางปรับตัวตาม

  1. Digital Adaptation ผู้บริโภคอุดหนุนสินค้าและติดตามโปรโมชันจากแบรนด์ต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แบรนด์ต้องหันมาทำ Digital Marketing มากขึ้น

  1. Conscious Consumption ผู้บริโภคระแวดระวังในการซื้อสินค้ามากขึ้น มีการเสิร์ชหาข้อมูล ดูรีวิว หาฟีดแบ็กสินค้าจากช่องทางต่าง ๆ ทำให้ใช้เวลาในการตัดสินใจกว่าจะซื้ออะไรสักอย่างนานกว่าเดิม

  1. Experience over Product ผู้บริโภคไม่ได้มองแค่ตัวสินค้าเท่านั้น แต่ต้องการประสบการณ์ที่ดีจากการอุดหนุนหรือการใช้บริการด้วย

  1. Health-driven Choices ผู้บริโภคมองหาสินค้าที่ดีและมีประโยชน์กับสุขภาพ ต่อให้ราคาสูงกว่าเดิมแต่ก็เต็มใจที่จะจ่าย

  1. Value-oriented Behavior ผู้บริโภคให้คุณค่ากับสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน สิทธิความเท่าเทียม ถ้ารู้ว่าแบรนด์ให้ความสำคัญในสิ่งที่เขาให้คุณค่าก็จะเกิดความรู้สึกอยากสนับสนุนแบรนด์ด้วย

  1. Omni-channel Flexibility การให้บริการของแบรนด์ต้องมีความยืดหยุ่นในทุกช่องทาง

 

เซสชัน Market & Consumer — คุณวรลักษณ์ ตุลาภรณ์ (CMO The Mall Group) และ คุณศิริพร กิตติชัชวาล (General Manager - Country Head (Thailand) YouGov (Thailand) Co., Ltd.)

 

Communication — คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร (Chief Customer Officer SCBX) และ คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ (Group Chief, Brand Innovation & Marketing of dentsu)

เทรนด์ Communication ที่น่าสนใจ

  • ปัจจุบันแบรนด์เริ่มหยิบ AI มาใช้ในการสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในรูปแบบ Chatbot หรือการทำคอนเทนต์ด้วย AI 

  • การสื่อสารในยุคนี้เป็นยุค Creator Economy หรือการใช้ Influencer และ Content Creator ในการทำการตลาด สร้างคอนเทนต์และสื่อสารแทนแบรนด์ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะแนวทางการบริโภคสื่อของคนเปลี่ยนแปลงไป มีแพลตฟอร์มและโซเชียลมีเดียใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งผลักดันให้คนทั่วไปสามารถทำคอนเทนต์เองได้ ดังนั้นแบรนด์จึงต้องปรับตัวและหันมาศึกษาการสื่อสารผ่านกลุ่ม Influencer ดู เพราะบางครั้งการสื่อสารวิธีนี้ก็ได้ผลลัพธ์ดีกว่าการยิงโฆษณาเอง 

  • แม้จะมีการนำ Gen AI มาใช้ในการสื่อสารมากขึ้น แต่ผู้บริโภคก็ยังต้องการบทสนทนาที่เป็นมนุษย์อยู่ อย่างที่เราเห็นว่าเทรนด์การไลฟ์ขายของในช่วงหลังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคต้องการ Conversation หรือบทสนทนา ได้พูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ ดังนั้นแบรนด์จึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง Conversation โดยยึดหลักการ 3 อย่าง ได้แก่ 

    • Genuine สื่อสารอย่างจริงใจและเป็นธรรมชาติ

    • Humor ตลกและมีอารมณ์ขัน

    • Imperfection ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ แต่ต้องมีความเป็นมนุษย์

 

เซสชัน Communication — คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร (Chief Customer Officer SCBX) และ คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ (Group Chief, Brand Innovation & Marketing of dentsu)

 

Martech — คุณรบส สุวรรณมาศ (Solution Lead, Salesforce Thailand) และ คุณสิรสิทธิ์ สุริยพัฒนพงศ์ (CEO & Co-Founder, ChocoCRM)

เทรนด์ Martech ที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมา

  • Expansion of Thai Local Martech มีผู้ให้บริการ Martech ใหม่ ๆ ในประเทศไทยโดยคนไทยเยอะขึ้น 

  • Incoming of Global Martech ผู้ให้บริการ Martech ระดับโลกขยายการให้บริการเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น

  • Collaboration between Platforms (Strength to Strength Synergy) มีการร่วมมือกันระหว่างแพลตฟอร์มมากขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้บริการ Martech สามารถใช้เครื่องมือได้อย่างไหลลื่นและสะดวกขึ้นเพราะแต่ละแพลตฟอร์มเชื่อมต่อถึงกัน

 

เทรนด์ Martech ที่น่าจับตาหลังจากนี้

  • Artificial Intelligence ในระยะหลังมานี้ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำงานขึ้นมาก อีกทั้งยังมีความเปลี่ยนแปลงไว ในฐานะคนทำงานและนักการตลาดจึงต้องคอยติดตามดูการพัฒนานี้อย่างใกล้ชิด และหาวิธีนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการทำงาน

  • Cost of Acquisition เงื่อนไขและนโยบายของอัลกอริธึม การโฆษณา และค่า GP ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาจมีการมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2025 ทำให้ต้นทุนในการทำการตลาดอาจเพิ่มสูงขึ้นตาม

  • Customer’s Data นักการตลาดต้องให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง เพราะข้อมูลที่เราได้จากโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ถือเป็น Third-party Data เราควรหาวิธีเก็บข้อมูลในรูปแบบ First-party Data โดยตรงเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ต่อได้อย่างถูกต้อง

 

เซสชัน Martech — คุณรบส สุวรรณมาศ (Solution Lead, Salesforce Thailand) และ คุณสิรสิทธิ์ สุริยพัฒนพงศ์ (CEO & Co-Founder, ChocoCRM)

 

Data — ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล (Managing Director, KASIKORN Business-Technology Group (KBTG)) และ คุณวินท์รดิศ กลศาสตร์เสนี (ประธานฝ่ายสื่อดิจิทัล จาก True Digital Group Company Limited)

เทรนด์ Data ที่น่าสนใจ

  • Contextual Understanding ในช่วงที่ผ่านมาเราตั้งหน้าตั้งตาเก็บข้อมูลของลูกค้าจนมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ แต่มักพลาดตรงที่ไม่ได้นำข้อมูลที่ได้ไปใช้งานต่อหรือไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับการดึง Insight ลูกค้าออกมาจากข้อมูลที่มีให้ได้ ทำความเข้าใจพฤติกรรม ปัญหา และความต้องการของลูกค้าเพื่อพัฒนา Product และออกแบบ Customer Journey ให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

  • Data Protection ในยุคนี้การรักษาข้อมูลของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ ลูกค้าระมัดระวังในการให้ข้อมูลมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์และธุรกิจต่าง ๆ ต้องปกป้องข้อมูลและรักษา Privacy ของลูกค้าด้วย

 

เซสชัน Data — ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล (Managing Director, KASIKORN Business-Technology Group (KBTG)) และ คุณวินท์รดิศ กลศาสตร์เสนี (ประธานฝ่ายสื่อดิจิทัล จาก True Digital Group Company Limited)

 

ส่องเซสชันที่น่าสนใจ

นอกจากเซสชันอัปเดตเทรนด์ประจำปีแล้ว ยังมีเซสชันบรรยายและเสวนาพูดคุยจากสปีกเกอร์ชั้นนำท่านอื่น ๆ อีกกว่า 40 เซสชัน โดย JobThai ได้นำเอาประเด็นจากเซสชันที่น่าสนใจมาสรุปให้ดังนี้ 

 

Every Possible Way for Business to Work with Creators — คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ (Managing Director of RAiNMaker)

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำการตลาดผ่าน Influencer และ Content Creator กลายเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและเพิ่มยอดขายขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หลายธุรกิจจึงเริ่มขยับเข้ามาทำการตลาดในรูปแบบนี้กันมากขึ้น ในเซสชันนี้ คุณขจรได้แนะนำไอเดียในการทำงานร่วมกับครีเอเตอร์เอาไว้ 6 รูปแบบ ได้แก่

  1. Sponsorship Post (Advertorial) เอาสินค้าไปให้ครีเอเตอร์โพสต์บนช่องทางของตัวเองในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่

  • Review พูดรีวิวสินค้าตรง ๆ ทั้งข้อดีและข้อเสีย

  • Tie-in นำสินค้าของแบรนด์เข้าไปแทรกในคอนเทนต์ปกติของครีเอเตอร์แบบเนียน ๆ

  • Storyline เล่าเรื่องราวและความเป็นมาของแบรนด์

  1. Experience > Brief สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับครีเอเตอร์เพื่อให้เขานำไปเล่าต่อ เช่น การจัดงานครีเอทีฟเพื่อแนะนำสินค้าแบบไม่เหมือนใคร แล้วเชิญครีเอเตอร์มาร่วมสัมผัสประสบการณ์ วิธีนี้อาจช่วยให้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่าการส่งบรีฟทื่อ ๆ ให้ครีเอเตอร์ไปทำคอนเทนต์

  1. PR Approach เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับครีเอเตอร์เพื่อให้เกิดการพูดถึงแบบออแกนิก ไม่ต้องใช้งบในการจ้างทำคอนเทนต์ เช่น ส่งสินค้าหรือของสัมมนาคุณไปให้ครีเอเตอร์ที่มีสไตล์หรือแนวทางการทำคอนเทนต์เชื่อมโยงกับแบรนด์ในวันพิเศษ

  1. Event Support เข้าไปสนับสนุนการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือแบรนด์ของตัวเอง เช่น แบรนด์กล้องถ่ายรูปอาจเข้าไปสปอนเซอร์งานอบรมให้ความรู้เพื่อปั้นครีเอเตอร์รุ่นใหม่ และจัดบูธในงานอีเวนต์เพื่อให้กลุ่มครีเอเตอร์เหล่านี้สามารถทดลองใช้กล้องของแบรนด์ได้

  1. Affiliate Program เปิดให้ครีเอเตอร์และคนทั่วไปหยิบเอาสินค้าของแบรนด์ไปทำคอนเทนต์โฆษณา โดยมีเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งให้กับครีเอเตอร์ถ้ามีคนซื้อสินค้าของแบรนด์จากการรับชมคอนเทนต์ของเขา

  1. Long-term Relationship ดูแลและซัปพอร์ตครีเอเตอร์เพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้เราสามารถทำงานด้วยกันได้ในระยะยาว

 

เซสชัน Every Possible Way for Business to Work with Creators — คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ (Managing Director of RAiNMaker)

 

Customer Segmentation Strategies — คุณณัฐพล ม่วงทำ (เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน)

สิ่งสำคัญที่สุดในการทำการตลาดคือการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ในเซสชันนี้คุณณัฐพลเลยมาแนะนำวิธีทำ Segmentation หรือการแบ่งกลุ่มเป้าหมายให้เราฟัง สำหรับคอนเซปต์ในการแบ่งกลุ่มทั่วไปนั้นอาจแบ่งจากเพศ อายุ จังหวัด หรือภูมิภาค แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถทำ Segmentation ได้หลากหลายและเฉพาะเจาะจงกว่านั้น ซึ่งการแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่ละเอียดจะส่งผลให้เราเพิ่มยอดขายหรือให้ประสบการณ์ในการบริการลูกค้าที่ดีขึ้นได้ คุณณัฐพลได้แชร์ไอเดียและ Case Study ในการแบ่งกลุ่มเป้าหมายดังนี้

  • แบ่งจากรายได้ ช่วยให้เราสามารถแนะนำโปรโมชันและเสนอสิทธิพิเศษที่เหมาะกับรายได้ของกลุ่มเป้าหมายได้ เหมาะสำหรับกลุ่มธุรกิจการเงินและบัตรเครดิต เช่น กลุ่มที่มีรายได้ 15,000 – 29,999 บาทต่อเดือน กลุ่มที่มีรายได้ 30,000 – 49,999 บาทต่อเดือน

  • แบ่งตามช่วงเวลาในการซื้อสินค้า ช่วยในการกะระยะเวลาเปิด-ปิดร้าน จัดโปรโมชัน ไลฟ์ขายของหรือแจกส่วนลดได้ เช่น

  • ซื้อในวันทำงาน (จันทร์-ศุกร์) หรือซื้อในวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์)

  • ซื้อช่วงเช้า (6 โมง-9 โมง) ซื้อช่วงสาย (9 โมง-เที่ยง) ซื้อช่วงกลางวัน (เที่ยงถึงบ่ายโมง)

  • แบ่งตามสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ เช่น แบรนด์ขายซุปกระป๋องพบว่าสินค้าของตัวเองขายดีในวันที่อากาศแย่ ก็ทำ Segmentation ตามภูมิอากาศ พื้นที่ไหนที่มีฝนตกบ่อยก็เพิ่มงบประมาณในการทำการตลาดมากขึ้น เจาะตลาดขายลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ส่วนนี้มากขึ้น

  • แบ่งตามระยะเวลาที่ใช้บริการ เช่น โรงพยาบาลหรือคลินิกทำฟันมีการทำการตลาดด้วยการส่งข้อความแจ้งเตือนให้ลูกค้าเข้ามาตรวจเช็กสภาพฟันหากครบระยะเวลา 6 เดือนหลังจากที่เข้ามาใช้บริการครั้งสุดท้าย ถือเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการและรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ด้วย เนื่องจากบางครั้งที่ลูกค้าหายไปก็เป็นเพราะลืม

  • แบ่งตามประเภทของสินค้า เช่น บริษัทรถยนต์มีการทำ Segmentation ตามประเภทรถยนต์ที่ขาย ได้แก่ กลุ่มรถยนต์ใช้น้ำมัน และรถยนต์ไฟฟ้า ถ้าเป็นลูกค้าฝั่งรถยนต์ใช้น้ำมันก็อาจมอบโปรโมชันบัตรเติมน้ำมันให้ ส่วนลูกค้าฝั่งรถยนต์ไฟฟ้าเป็นบัตรชาร์จ EV แทน

 

เซสชัน Customer Segmentation Strategies — คุณณัฐพล ม่วงทำ (เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน)

 

Retain Marketing & Tech Talents — คุณอภิชาติ ขันธวิธิ (CEO of QGEN Consultant) และ ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล (Managing Director, Skooldio & Ex. Data Scientist, Facebook)

คนทำงานสายการตลาดและสายเทคโนโลยีเป็นกลุ่มแรงงานที่เป็นที่ต้องการในตลาดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในปัจจุบัน ความต้องการคนทำงานสายนี้เพิ่มขึ้น ทักษะที่ต้องการจากพนักงานคนหนึ่งก็มีมากขึ้น อีกทั้งปัญหาแรงงานคนไทยไหลไปต่างประเทศก็พุ่งสูงขึ้น ในเซสชันนี้ คุณอภิชาตและคุณวิโรจน์จึงได้มาแชร์แนวทางในการมองหาและรักษา Talent หรือคนทำงานที่มีศักยภาพสูงให้เราฟัง

  • ความต้องการขององค์กร

องค์กรต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า Talent ที่ตัวเองต้องการคือ Talent ที่มีทักษะและศักยภาพในการทำงานสูงมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว หรือต้องการมองหาคนที่มีศักยภาพในการเติบโต องค์กรสามารถปั้นให้กลายเป็น Talent ได้ในอนาคต หากองค์กรระบุเป้าหมายที่ต้องการได้ชัดเจน การมองหาคนก็จะทำได้ง่ายขึ้น 

  • ค่าตอบแทน

สิ่งที่ดึงดูดคนทำงานได้เสมอคือเงินเดือน ถ้าอยากให้เขาทำงานกับเรา ค่าตอบแทนที่มอบให้เขาก็ต้องสูงพอ ลองเช็กดูว่า Range เงินเดือนในตลาดแรงงานสำหรับสายงานหรือตำแหน่งงานนั้น ๆ อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ แล้วลองประเมินดูว่าเรามีกำลังจ่ายมากพอไหม เพราะถ้าอยากดึงดูด Talent ก็ต้องสู้ด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่าตลาด 

  • ความท้าทาย

จุดร่วมของคนทำงานศักยภาพสูงคือชอบงานที่มีความท้าทายและมีโอกาสให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ดังนั้นหากเราดึง Talent ให้เข้ามาในองค์กรได้ แต่เนื้องานจำเจ ไม่แปลกใหม่ ไม่มีช่องทางให้เติบโต สุดท้ายเขาก็จะเบื่อและเริ่มมองหางานใหม่ที่ท้าทายความสามารถของเขา 

  • เป้าหมายส่วนตัวของพนักงาน

องค์กรต้องหาให้เจอว่าเป้าหมายชีวิตของพนักงานคืออะไร แล้วหาจุดตรงกลางระหว่างเป้าหมายของพนักงานกับเป้าหมายของบริษัท ทำให้พนักงานรู้สึกว่าการทำงานกับเราเป็นการทำเพื่อเขาตัวเองด้วยเหมือนกัน หากทำได้ พนักงานก็จะรู้สึกว่าการทำงานในองค์กรของเราสร้างความหมายให้ชีวิตเขา 

  • ประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน

การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงาน (Employee Experience) เป็นหัวใจสำคัญในการรักษาพนักงาน โดยประสบการณ์ที่ดีนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนสมัครงาน การรับเข้าทำงาน On-boarding และสอนงาน ตลอดจนการทำงานในทุก ๆ วันตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย องค์กรต้องให้ความสำคัญกับทุกปัจจัยที่ส่งผลส่งผลกับการสร้างประสบการณ์ของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการรับสมัครและสัมภาษณ์งาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ออฟฟิศ บรรยากาศและรูปแบบการทำงาน ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กร หากพนักงานรู้สึกดีกับองค์กรก็ย่อมอยากทำงานกับบริษัทไปนาน ๆ หรือถึงแม้จะลาออกมาแล้ว หากมีโอกาสและจังหวะที่เหมาะสมก็อาจสนใจและอยากกลับมาทำงานกับเราใหม่อีกครั้ง

 

เซสชัน Retain Marketing & Tech Talents — คุณอภิชาติ ขันธวิธิ (CEO of QGEN Consultant) และ ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล (Managing Director, Skooldio & Ex. Data Scientist, Facebook)

 

ใครที่สนใจอยากฟังบรรยายและรับชมเซสชันอื่น ๆ ที่เหลือแต่พลาดโอกาสร่วมงานนี้ไปก็ไม่เป็นไร เพราะ MITCON2024 เปิดให้รับชมเนื้อหาย้อนหลังได้ทุกเซสชันในรูปแบบออนไลน์ สามารถเข้าไปซื้อบัตรเพื่อรับชมคลิปทั้งหมดในราคา 1,990 บาทได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/MITCON2024 ตั้งแต่วันนี้ – 31 มีนาคม 2025

tags : jobthai, mitcon2024, mitcon, marketing insight, เทรนด์ 2024, คนทำงาน, what’s new, technology, creative talk, creative talk conference, ctc, conference, trend, marketing, martech, อัปเดตเทรนด์, เทรนด์, การตลาด, เทคโนโลยี



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม