Chronotype นาฬิกาชีวิตตามบุคลิกภาพ ตัวช่วยปลดล็อกชีวิตการทำงาน

23/01/24   |   5.3k   |  

 

 

JobThai Mobile Application ค้นหางานได้ง่าย ๆ ผ่านมือถือ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

มนุษย์ทุกคนนั้นมีนาฬิกาชีวิตของตัวเองที่แตกต่างกัน สืบเนื่องมาจากพันธุกรรมของแต่ละคน รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต อายุ และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย จึงทำให้เราทุกคนมีนาฬิกาชีวิต หรือ Chronotype ที่แตกต่างกันไป และยังคงส่งผลถึงปัจจุบันได้อย่างไม่น่าเชื่อ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนเราทุกคนมีช่วงเวลาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่างกัน แม้จะมีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันเท่ากันก็ตาม

 

Chronotype กับ Circadian Rhythm เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

Chronotype เป็นทฤษฎีที่ใช้แบ่งบุคลิกภาพของคนทั่วไปออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งเป็นการอิงจากวงจรชีวภาพ หรือ Circadian Rhythm อีกที โดยวงจรชีวภาพที่ว่านั้น ใช้ในการอธิบายการทำงานของร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่การทำงานของระดับฮอร์โมนในร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ไปจนถึงช่วงที่ร่างกายตื่นตัวมากที่สุด

 

พาทำความรู้จัก Chronotype นาฬิกาชีวิตตามบุคลิกภาพ

Chronotype, นาฬิกาชีวิต, JobThai, จ๊อบไทย

 

Chronotype หรือนาฬิกาชีวิตตามบุคลิกภาพ คือ สิ่งที่กำหนดการทำงานของร่างกายมนุษย์ทุกคน ให้มีความแตกต่างกันในการทำกิจวัตรประจำวัน และอาจส่งผลต่ออารมณ์หรือประสิทธิภาพในการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนน่าจะไม่เคยได้สังเกตตัวเอง อย่างเช่น ในบางช่วงเวลาเรารู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่บางช่วงเวลากลับรู้สึกอ่อนเพลียอย่างไร้สาเหตุ ซึ่งถ้าไม่ใช่เหตุผลในเรื่องของสุขภาพ ก็อาจจะเป็นเพราะนาฬิกาชีวิตของตัวเราเองที่ทำให้เป็นแบบนั้นอยู่ก็ได้ โดยเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีนาฬิกาชีวิตจาก Michael Breus นักจิตวิทยาด้านเวชศาสตร์การนอน ที่เขียนหนังสือ “The Power Of When : พลังแห่งเมื่อไหร่” ที่อธิบายถึงความแตกต่างของบุคลิกภาพมนุษย์

 

4 บุคลิกภาพตามทฤษฎีนาฬิกาชีวิตจาก Michael Breus

ทฤษฎีนาฬิกาชีวิตจาก Michael Breus จะแบ่งบุคลิกภาพของคนเราออกเป็น 4 แบบ โดยจะอิงจากนิสัยการนอนและการใช้ชีวิตของสัตว์ทั้ง 4 ชนิดนี้ คือ สิงโต หมาป่า หมี และโลมา ซึ่งสามารถใช้อธิบายพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานของคนแต่ละกลุ่มได้เป็นอย่างดี

 

นาฬิกาชีวิตแบบสิงโต

สิงโต เป็นตัวแทนของคนที่ตื่นเช้า พร้อมเริ่มงานตั้งแต่ฟ้าสาง สามารถตื่นนอนได้ตั้งแต่ 5:30 - 6:00 น. โดยแทบจะไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก มีสาเหตุมาจากระดับคอร์ติซอลที่พุ่งขึ้นสูงในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว และจะยิ่งทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังทานอาหารเช้าไปแล้ว ผู้ที่มีบุคลิกแบบสิงโตจะมีช่วงเวลาทองในการทำงานตั้งแต่ 8:00 - 12:00 น. หลังจากนั้นควรทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในช่วง 13:00 - 15:00 น. ก่อนจะสิ้นสุดช่วงเวลาทำงานของคนประเภทสิงโต

 

นาฬิกาชีวิตแบบหมาป่า

หมาป่า เป็นตัวแทนของคนที่ตื่นสาย ไม่พร้อมกับการเจอแสงแดดส่องในยามเช้า โดยจะตื่นในช่วงหลัง 8:30 - 9:00 น. ไปแล้ว จึงไม่เหมาะกับการทำงานที่ต้องใช้ความคิดในช่วงเช้า แต่จะมีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเต็มที่เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงบ่าย 13:00 - 17:00 น. ซึ่งจะสวนทางกับบุคลิกภาพแบบอื่นที่เริ่มลดประสิทธิภาพการทำงานลงในช่วงนี้ และจะเริ่มเข้าสู่ช่วงพีกอีกครั้งในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เวลา 20:00 - 23:00 น. จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้นอนค่อนข้างดึก

 

นาฬิกาชีวิตแบบหมี

หมี เป็นตัวแทนของคนที่ต้องมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ถึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดวัน คนที่มีบุคลิกภาพประเภทนี้ จะมีช่วงพีกในการทำงานแบ่งออกเป็นสองระยะเวลา ช่วงแรกจะเป็นตอน 10:00 -12:00 น. ซึ่งเหมาะกับการทำงานที่ต้องโฟกัสมาก ๆ และหลังจากนั้นประสิทธิภาพจะลดลง ก่อนจะกลับมาพีกอีกครั้งในช่วง 15:00 - 17:00 น. จึงควรหลีกเลี่ยงงานที่ต้องคิดวางแผนในช่วงหลังเที่ยงไว้สักระยะ เพราะการฝืนทำงานต่อ อาจจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของบุคลิกภาพประเภทนี้ไม่เหลืออีกเลยตลอดวัน

 

นาฬิกาชีวิตแบบโลมา

โลมา เป็นตัวแทนของคนนอนหลับยากในช่วงกลางคืน และตื่นได้ยากในช่วงเช้า กว่าจะพร้อมเริ่มทำงานจริง ๆ ก็ต้องเป็นช่วยสายไปแล้ว ซึ่งควรจะเป็นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรรค์ หรืองานที่ใช้ไอเดียต่างๆ เพราะเป็นช่วงที่สมองพึ่งตื่น และหลังจากนั้นจะกลับมาทำงานได้มีประสิทธิภาพอีกที ก็ต้องล่วงเลยไปยังช่วงบ่ายแก่ ๆ แล้ว คือ 16:00 - 18:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่พร้อมจะเลิกงานกลับบ้าน จึงดูเป็นกลุ่มที่พลังงานต่ำตลอดเวลาในการทำงาน เพราะช่วงเวลาที่เป็น Office Hours ส่วนใหญ่ไม่ใช่ช่วงเวลาทองที่เขาจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งเมื่อถึงเวลาต้องเข้านอน ก็ยังนอนไม่ค่อยจะหลับอีก จึงเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในด้านการทำงานได้มากที่สุด วิธีแก้คือการจัดตารางการนอนให้เป็นเวลาเพื่อช่วยให้รับมือกับภาระงานในช่วงเช้าไหว

 

7 วิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับ

 

นาฬิกาชีวิตสำคัญอย่างไรกับทำงานของร่างกาย

Chronotype, นาฬิกาชีวิต, JobThai, จ๊อบไทย

 

นาฬิกาชีวิตเปรียบเสมือนวงจรที่กำหนดเวลาเข้านอน และตื่นนอนในทุก ๆ วัน จากการสั่งการของกลุ่มเซลล์ภายในสมองในการตอบสนองต่อแสงและความมืด การที่นาฬิกาชีวิตรวนจนเกิดการเข้านอนผิดเวลา หรือนอนในช่วงที่ไม่ควรจะนอน อย่างเช่น การหลับพักผ่อนในช่วงกลางวันที่ยังมีแสงอยู่ ร่างกายก็จะไม่สามารถหลับได้อย่างสนิท ซึ่งจะส่งผลไปยังระบบฮอร์โมน ความเครียด และระบบการทำงานทุกส่วนให้แย่ลง

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีนาฬิกาชีวิตแบบไหน

การสังเกตตัวเองจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยทำให้รู้ว่าตัวเรามีนาฬิกาชีวิตแบบไหนได้ง่ายที่สุด โดยสามารถสังเกตได้จากว่าเรารู้สึกตื่นตัวในช่วงเวลาไหนมากเป็นพิเศษ หรือทำงานช่วงไหนแล้วรู้สึกว่าสมองแล่น สามารถคิดงานออกมาได้ง่าย ๆ มากกว่าช่วงเวลาอื่น แล้วค่อยนำมาเปรียบเทียบกับบุคลิกภาพแต่ละแบบที่ได้อ่านกันไป

 

วิธีปลดล็อกประสิทธิภาพการทำงานด้วยนาฬิกาชีวิต Chronotype

การที่เรารู้ว่าตัวเองมีช่วงเวลาทองในตอนไหน ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้นเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยต่อยอดในการวางแผนการทำงานให้เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้นอีกด้วย มาลองปลดล็อกตัวเองและเข้าใจถึงจุดแข็งของตัวเองผ่านนาฬิกาชีวิตกันดีกว่า

 

สิงโต

ตอนเช้า เป็นเวลาทองของบุคลิกภาพแบบสิงโต การจัดตารางงานหนัก ๆ ที่ต้องใช้ความคิด จึงเป็นสิ่งที่ควรทำในช่วงเช้าทั้งหมด และแบ่งงานที่เบาลงหน่อยไปไว้ช่วงบ่าย แต่ควรหลีกเลี่ยงการตัดสินใจสำคัญ ๆ ในช่วงเย็นไปแล้ว เพราะเป็นช่วงที่ประสิทธิภาพการทำงานของบุคลิกภาพประเภทนี้ลดลงมากที่สุด

 

หมาป่า

การทำงานสำคัญในตอนเช้า เป็นสิ่งที่บุคลิกภาพแบบหมาป่าควรเลี่ยงมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่บุคลิกภาพประเภทนี้ยังตื่นไม่เต็มที่ จึงควรพยายามเลื่อนงานสำคัญ ๆ ไปไว้ในช่วงบ่าย โดยเฉพาะการเข้าประชุม นำเสนองาน บรรยาย หรือเจรจาธุรกิจต่าง ๆ เพราะช่วงเวลาทองของบุคลิกภาพประเภทนี้อยู่ในช่วงตลอดบ่าย

 

หมี

การแบ่งการทำงานที่สำคัญออกเป็น 2 ช่วง เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์บุคลิกภาพแบบหมีมากที่สุด เพราะมีช่วงเวลาทองในการทำงานที่ตอนสาย ๆ ไปจนถึงช่วงบ่าย อาจจะเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างมากในช่วงเช้าที่สมองยังโล่ง ๆ อยู่ แล้วค่อยแบ่งงานสำคัญอย่างการประชุม หรือตัดสินใจไปไว้ยังช่วงบ่ายแทน ก็เป็นอีกวิธีที่เหมาะสมในการทำงานสำหรับบุคลิกภาพประเภทนี้

 

โลมา

บุคลิกภาพประเภทโลมา จัดเป็นกลุ่มที่มีการพักผ่อนอย่างเต็มอิ่มน้อยที่สุด และมีช่วงอ่อนเพลียค่อนข้างจะเยอะ จึงเหมาะกับการทำงานที่เป็นโปรเจกต์มากกว่า เพราะมีกรอบระยะเวลาในการทำงานที่ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องมีกำหนดส่งงานเป็นวัน ๆ ไป ซึ่งเป็นเนื้องานที่เหมาะกับการดึงศักยภาพของคนที่มีนาฬิกาชีวิตแบบโลมาได้มากที่สุด

การได้เข้าใจถึงนาฬิกาชีวิตหรือ Chronotype แต่ละประเภท ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราเข้าใจถึงจุดแข็งหรือข้อจำกัดที่ตัวเรามีอยู่ได้เช่นกัน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการเลือกช่วงเวลาการทำงานที่ทำให้เราแสดงผลงานได้อย่างเต็มที่ นอกจากเรื่องของประสิทธิภาพในการทำงานที่สำคัญแล้ว การเข้าใจถึงบุคลิกภาพของตัวเอง แล้วนำไปเลือกหางานที่ใช่ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่วัยทำงานไม่ควรมองข้ามเช่นกัน และถ้าตอนนี้กำลังคิดถึงการหางานอยู่ ก็สมัครเลยที่ JobThai

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : chronotype, นาฬิกาชีวิต, careerandtips, ชีวิตคนทำงาน, ไลฟ์สไตล์คนทำงาน, lifestyle, นาฬิกาชีวิตตามบุคลิก, ประสิทธิภาพการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม