กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: เกษตรกร (กสิกรรม)

กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: เกษตรกร (กสิกรรม)
03/10/17   |   16.9k   |  

จะมีพระตำหนักส่วนพระองค์ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกที่รายล้อมไปด้วยพื้นที่ทำการเกษตรอย่างที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานในพระราชวังดุสิตอดีตที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นพระตำหนักที่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสวยงามโอ่อ่าสมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ หากแต่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการเกษตรที่รอบด้านของพระองค์ และเป็นสถานที่ที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีความใส่พระราชหฤทัยและทรงมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง

 

“โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา” ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นโครงการที่รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น และใช้เป็นที่ค้นคว้า วิจัย และทดลองทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่พระองค์จะทรงเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำการเกษตรด้วยพระองค์เองได้ครบทุกด้าน เพราะทั้งการทำกสิกรรม ปศุสัตว์ และประมง ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งสิ้น ดังพระราชดำรัสในโอกาสที่คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง และสมาชิกผู้รับนมสดเข้าเฝ้าฯ ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2530 ความว่า

 

“เมืองไทยนี้ต้องพึ่งเกษตรกรเป็นสำคัญ เพราะว่าเกษตรกรเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและต้องยึดอาชีพนี้มาและไม่ใช่เพราะเหตุนั่นเท่านั้นเอง แต่ว่าประเทศหนึ่งประเทศใดจะอยู่ได้ก็เพราะว่ามีกสิกรรม การประกอบอาชีพ ในด้านผลิตผลที่ได้จากธรรมชาติ ทั้งในด้านที่จะเป็นการปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ปลูกผลไม้ หรือทำมาหากินในด้านปศุสัตว์หรือประมง”  

 

 

จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก แต่จากการเสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างจังหวัด และพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้พระองค์ทรงพบว่า การทำการเกษตรในไทยนั้นมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย อาจเป็นเพราะการขาดความรู้ความเข้าใจในการทำการเกษตร ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวย หรือสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นปัญหาต่างๆ พระองค์จึงทรงศึกษาเรื่องการเกษตรอย่างจริงจัง สำรวจพื้นที่ชนบทต่างๆ รวมทั้งมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการขึ้นมากมาย เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

“เกษตรทฤษฎีใหม่” พระราชดำริเรื่องการทำการเกษตร ที่ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

พระราชกรณียกิจที่เรียกได้ว่าช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การที่พระองค์พระราชทานแนวทางในการทำการเกษตร ที่เรียกว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่” ให้แก่เกษตรกรไทยทั่วประเทศ เป็นแนวทางที่ช่วยให้เกษตรกรบริหารที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด

 

ในเริ่มแรกพระองค์ได้จัดหาพื้นที่บริเวณใกล้วัดมงคลชัยพัฒนาเพื่อทำเป็นพื้นที่ทดลองทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ โดยเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระองค์จะแบ่งออกเป็นสามขั้น ขั้นแรกคือการจัดสรรที่ดิน แบ่งสัดส่วนพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ 30 : 30 : 30 : 10 ส่วนแรกขุดเป็นสระสำหรับกักเก็บน้ำในฤดูฝนเพื่อนำมาใช้ในฤดูแล้ง และเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนที่สองทำนาข้าวให้พอกินได้ตลอดทั้งปี ส่วนที่สามปลูกพืชสวน พืชไร่ ผลไม้ สมุนไพรต่างๆ และส่วนที่สี่ใช้สร้างที่อยู่อาศัย และเลี้ยงสัตว์ การแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้งานหลายๆ อย่าง จะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่หลากหลาย และเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ได้ตลอดทั้งปี จนพึ่งพาตัวเองได้ และพอมีพอกิน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

 

ไม่ใช่แค่การพัฒนารูปแบบการทำการเกษตรด้วยตัวเองแล้วจบเท่านั้น พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรกันภายในชุมชนเพื่อดำเนินงานในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา เพราะหากคนในชุมชนมีความร่วมมือและช่วยเหลือกัน ก็จะทำให้ชุมชนนั้นแข็งแรง ซึ่งการที่ชุมชนแข็งแรงก็อาจช่วยให้มีอำนาจในการต่อรองราคาขายผลผลิตต่างๆ ได้มากขึ้น หลังจากนั้นจึงเริ่มหาช่องทางติดต่อกับองค์กรภายนอก เพื่อหาแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาช่วยต่อยอด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น

 

โดยในการทำการเกษตรนั้น พระองค์ยังทรงให้ความสำคัญกับการทำการเกษตรแบบยั่งยืน และระบบเกษตรแบบธรรมชาติอีกด้วย ซึ่งก็คือการลดใช้เครื่องจักรในการทำการเกษตร ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูก และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม และทรัพยากรต่างๆ 

 

 

“ฝนหลวง” พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ชะโลมจิตใจพสกนิกร

อีกหนึ่งโครงการพระราชดำริที่พระองค์ทรงทำเพื่อเกษตรกรก็คือ “โครงการฝนหลวง” เกิดขึ้นจากการที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังชนบท แล้วทรงเห็นว่าประชาชนขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และพื้นที่ทำการเกษตรแห้งแล้ง อันเกิดจากการที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ซึ่งหากการเกษตรไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างปกติที่ควรเป็น ก็อาจส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ได้  

 

เมื่อทรงเล็งเห็นปัญหา พระองค์ก็มีพระราชดำริขึ้นมาได้ว่า ทรงเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำฝนเทียมของต่างประเทศ พระองค์ได้ทรงใช้เวลาศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยเรื่องนี้อยู่หลายปี กว่าจะมีการทดลองทำฝนเทียมขึ้นมาจริงๆ และประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งพระปรีชาสามารถของพระองค์นั้นไม่เพียงแต่จะสร้างฝนเทียมจากก้อนเมฆที่มีอยู่แล้วได้เท่านั้น หากแต่พระองค์ยังทรงสร้างก้อนเมฆขึ้นมาเพื่อใช้ทำฝนเทียมได้ด้วย จนในที่สุด โครงการฝนหลวง ก็กลายเป็นอีกหนึ่งโครงการที่นอกจากจะช่วยเกษตรกรในประเทศไทยแล้ว โครงการนี้ยังเป็นโครงการที่ประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจ และได้นำไปใช้ในประเทศของตัวเองอีกด้วย  

 

พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อเกษตรกร ไม่ได้มีเพียงด้านกสิกรรมเท่านั้น หากแต่ยังพระราชทานโครงการและแนวพระราชดำริต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปศุสัตว์และการประมงอีกด้วย ดังพระราชดำรัสข้างต้นที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับทั้งสามสิ่ง ซึ่งพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ไม่สามารถเล่าจบได้ภายในกระดาษไม่กี่หน้า JobThai จึงได้รวบรวมโครงการและแนวพระราชดำริต่างๆ ในด้านปศุสัตว์และประมงมาฝากกันในบทความต่อไป  

 

บทความเทิดพระเกียรติ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในสายอาชีพต่างๆ 

 

บทความเทิดพระเกียรติ เที่ยวตามรอยที่พ่อสร้าง 

 

ที่มา:

web.ku.ac.th  chaipat.or.th  prd.go.th  review.thaiware.com

tags : บทความเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9, แรงบันดาลใจ, กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจ, เกษตรกร, กสิกรรม



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม