กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: นักเขียน

กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: นักเขียน
03/10/17   |   12.8k   |  

“ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า อย่าละทิ้งประชาชน อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว”

 

เรื่องราวที่ถูกเรียบเรียงด้วยภาษาเรียบง่าย แต่สามารถทำให้คนอ่านนึกภาพตามได้ราวกับไปยืนอยู่ในเหตุการณ์จริง ทั้งยังสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียนได้อย่างชัดเจน ข้อความสุดแสนประทับใจในข้างต้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์, ๒๔๘๙ ซึ่งแสดงออกให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านการเขียนที่โดดเด่นตั้งแต่ทรงพระเยาว์วัย

 

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงแตกฉานด้านการใช้ภาษา และการสร้างสรรค์วรรณกรรม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการใช้ภาษาอย่างโดดเด่น ทรงเจริญพระชันษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงทรงใช้ภาษาฝรั่งเศส และเยอรมันได้เป็นอย่างดี และเมื่อพระองค์ทรงตระหนักได้ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้กันทั่วโลก พระองค์จึงทรงศึกษาภาษาอังกฤษอย่างจริงจังด้วย แม้แต่ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาโบราณ หรือ ภาษาละตินที่น้อยคนนักจะแตกฉานได้ พระองค์ก็ทรงศึกษาเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง และเนื่องด้วยความสนพระราชหฤทัยในด้านภาษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ และพระปรีชาสามารถในหลายภาษา ทำให้พระองค์ทรงประพันธ์หนังสือได้เป็นอย่างดี ตลอด 70 ปีที่มาผ่านมาแม้พระองค์จะทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพัฒนาประเทศชาติ แต่ด้วยความที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังในด้านการเขียน แม้จะทรงงานหนักเพียงใดพระองค์ก็ยังทรงจัดสรรเวลา เพื่อสร้างสรรค์ผลงานเขียนที่พระองค์ทรงรักได้เสมอ

 

 

ทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์ และพระราชนิพนธ์แปลรวมกันทั้งหมด 7 เรื่อง

พระราชนิพนธ์เรื่องแรกทรงเขียนขึ้นในปี พ.ศ.2489  คือ พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8 ซึ่งเป็นเรื่องราวกิจวัตรของรัชกาลที่ 8 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชกุศล 100 วันพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาอานันทมหิดลด้วย หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงมีงานพระราชนิพนธ์อื่นๆ  ได้แก่

  1. พระราชานุกิจ (พ.ศ. 2489)
  2. เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์  (พ.ศ. 2489)
  3. นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ พระราชนิพนธ์แปลจากหนังสื่อเรื่อง “A Man Called Intrepid” (พ.ศ. 2537)
  4. ติโต พระราชนิพนธ์แปลมาจากหนังสือเรื่อง Tito (ทรงแปลในปี พ.ศ. 2519 ตีพิมพ์เป็นเล่มในปี พ.ศ. 2537)
  5. พระมหาชนก (พ.ศ. 2539 ทรงแปลและทรงเรียบเรียงใหม่จากพระไตรปิฎก)
  6. เรื่องทองแดง (พ.ศ. 2545)
  7. พระราชดำรัส (เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ทรงแปลพระราชดำรัสเป็นภาษาอังกฤษพระราชทานให้กับองค์การสหประชาชาติ)

 

นอกจากนี้ยังมีผลงานแปลบทความต่างประเทศที่เป็นประโยชน์อีกหลายชิ้นงาน เช่น ประเทศจีนอยู่ยง จาก Eternal Chinese วีรบุรุษตามสมัยนิยม จาก Fashion in Heroes  ฝันร้ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นจริง จาก No Need for Apocalypse และอื่นๆ อีกมากมาย โดยวิธีการแปลนั้นพระองค์จะทรงอ่านให้จบก่อน หลังจากนั้นจะทรงเจาะลึกในรายละเอียดทีละตอน ทรงแปลวันละเล็กน้อย และจะทรงเขียนกำกับวันที่แปล รวมถึงข้อความที่เป็นพระราชวินิจฉัยแทรกไว้ด้วย ซึ่งจุดเด่นในงานแปลของพระองค์คือ ทรงเรียบเรียงให้อ่านง่าย แปลขยายความด้วยสำนวนโวหารลึกซึ้งและเหมาะสมกับคนไทย โดยที่ทรงใช้ภาษาไทยได้อย่างสละสลวยชวนอ่าน

 

กษัตริย์ผู้ทรงเป็นทั้ง นักสร้างสรรค์วรรณกรรม และแบบอย่างที่ดีแก่นักเขียน

 

 

นอกเหนือจากความจรรโลงใจแล้ว งานเขียนต้องให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านด้วย

งานเขียนที่ดีนั้นนอกจากจะเขียนให้สนุกเข้าใจง่าย ควรก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านด้วย ซึ่งสังเกตได้จากงานพระราชนิพนธ์แต่ละเรื่องก็จะมีหลักคำสอนที่ให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านเสมอ ยกตัวอย่างจากพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ที่พระองค์ทรงสอนให้เห็นถึงความสำคัญของความเพียร วรรณกรรมเรื่อง ติโต ที่เกี่ยวกับ นายพลติโตที่ฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อสร้างความสามัคคีให้กับประเทศชาติในภาวะคับขัน ผู้อ่านจะได้เห็นถึงปัญหาของประเทศที่คนในชาติแตกความสามัคคีจนนำไปสู่ความวุ่นวายในบ้านเมือง เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้และไม่เดินตามรอยประเทศเหล่านั้น

 

ความสุขในรูปแบบตัวอักษร ที่ส่งตรงถึงผสกนิกรของพระองค์   

พระองค์ทรงใช้พระปรีชาสามารถในด้านการเขียน เพื่อส่งสารแห่งความสุขให้กับประชาชนชาวไทย โดยพระราชทานพรปีใหม่ด้วย ส.ค.ส. ที่พระองค์ทรงประพันธ์ขึ้น ซึ่ง ส.ค.ส. ฉบับแรกพระราชทานให้ในปี พ.ศ. 2530 ทรงพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ และทรงส่งแฟกซ์พระราชทานไปตามหน่วยงานต่างๆ โดยที่เนื้อหาในแต่ละปีนั้นพระองค์จะทรงประมวลจากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น สร้างความปลาบปลื้มแก่พวกเราชาวไทยเป็นอย่างมากจนกลายเป็นธรรมเนียมที่เมื่อถึงปีใหม่พวกเราจะต้องเฝ้าน้อมรับคำอวยพรจากพระองค์ และหารูป ส.ค.ส. เก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย 

 

รักษาไว้ซึ่งความสวยงามและความถูกต้องของภาษาไทย

ผลงานของนักเขียนเมื่อออกสู่สายตาคนทั่วไปแล้วย่อมมีผลต่อความคิดของผู้อ่านถ้าเราใช้ภาษาผิดเพี้ยน แล้วคนอ่านเป็นเยาวชนก็อาจจะทำให้เขาเรียนรู้สิ่งที่ผิดไปจากเราได้  ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องใช้ภาษาให้ถูกต้องไม่ใช่เขียนเอาแต่ความสนุกส่วนตน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักว่าภาษาไทยเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นรากฐานของวัฒนธรรม ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องผ่านงานพระราชนิพนธ์ และหลายครั้งที่พระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย ดั่งพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

 

 

“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”

 

จากพระราชดำรัสแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของภาษาไทย ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะดำรงคงไว้ซึ่งภาษาที่ถูกต้อง และยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ยังทรงห่วงใยถึงพสกนิกรอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตา ทรงจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์พระมหาชนก และเรื่องทองแดง เป็นฉบับอักษรเบรลล์ รวมทั้งยังทรงจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ฉบับการ์ตูนเพื่อเด็กและเยาวชนจะได้เรียนรู้คำสอนจากหนังสือได้ง่ายขึ้นด้วย

 

“เสรีภาพในขอบเขตของศีลธรรม” คำพ่อสอนที่นักเขียนควรน้อมนำไปปฏิบัติ

ในโลกที่เปิดกว้างทุกคนสามารถสื่อสารกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว พื้นที่เกิดขึ้นมากมายให้คนได้เขียนแสดงออกทางความคิดอย่างอิสระเสรี แต่ด้วยความเสรีนี้เองที่ทำให้หลายคนลืมคิดไปว่า สิ่งที่เขียนออกมานั้น ได้ไปสร้างความทุกข์ หรือไปชี้นำความคิดคนอื่นไปในทางที่ผิดบ้างหรือไม่ งานเขียนจึงเปรียบเสมือนดาบสองคมถ้าใช้ในทางที่ดีก็จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย แต่ในทางกลับกันก็สามารถชี้นำให้คนหลงผิดหรือสร้างความเกลียดชังได้ ไม่ว่าเราจะเป็นนักเขียนอาชีพ นักข่าว หรือแค่คนธรรมดาที่ชอบเขียนลงสื่อออนไลน์ พึงระลึกไว้เสมอว่าทุกคำที่เขียน ล้วนสามารถสร้างผลกระทบให้ผู้อื่น เพราะฉะนั้นนักเขียนที่ดีนอกจากจะต้องเขียนอย่างสร้างสรรค์ แล้วยังต้องอยู่ในขอบเขตของศีลธรรมอันดีงามด้วย

 

“นักเขียน นักประพันธ์ งานสำคัญก็คือ แสดงความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องชีวิต หรือเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือความรู้บ้าง บันเทิงบ้าง นักแสดงความคิดสำคัญมาก เพราะว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของมวลมนุษย์ อาจทำให้เกิดความคล้อยตามไป และตัวท่านเขียนดีก็ยิ่งคล้อยตามกันมาก ฉะนั้น นักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะท่านเป็นผู้ปั้นความคิดและความบริสุทธิ์ในความคิดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังบทความกลั่นกรองไว้ในสมองว่า สิ่งที่จะเขียนออกมาจะไม่แสลง ไม่ทำลายความคิดของประชากร ไม่ทำลายผู้อื่น และตนเอง คือมีเสรีภาพในการเขียนอย่างเต็มที่ในขอบเขตของศีลธรรม”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทาน แก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2515

 

บทความเทิดพระเกียรติ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในสายอาชีพต่างๆ 

 

บทความเทิดพระเกียรติ เที่ยวตามรอยที่พ่อสร้าง 

 

ที่มา:

ku.ac.th  vcharkarn.com  matichon.co.th  matichon.co.th  siamrath.co.th

tags : บทความเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9, นักเขียน, แรงบันดาลใจ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม