ใช้ Social Media เป็นพื้นที่ในการหาคน
-
โพสต์ประกาศงานบน Social Media ขององค์กรและของเว็บไซต์ประกาศงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้ผู้สมัครมากขึ้น เพราะนอกจากผู้สมัครจะเห็นประกาศงานมากขึ้นแล้ว ยังซื้อโฆษณาโดยระบุกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้ด้วย
-
นำเสนอวัฒนธรรมองค์กรผ่าน Social Media เพื่อให้คนภายนอกรู้จักองค์กร เพราะการได้ทำงานในองค์กรที่น่าอยู่ และเหมาะกับตัวเองเป็นหนึ่งแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้สมัครสนใจองค์กร
ใช้ Social Media เป็นเครื่องมือในการคัดกรองผู้สมัคร
-
ดูภาษา ทัศนคติ และเรื่องราวที่ผู้สมัครโพสต์ หรือแชร์บน Social Media ของเขา ว่าเหมาะกับตำแหน่งงานที่สมัคร และองค์กรของเราหรือไม่
-
Social Media อาจเป็นเหมือน Portfolio ของผู้สมัครที่เขาใช้โพสต์รูปผลงาน หรือบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานของเขา
-
เปรียบเทียบข้อมูลที่ผู้สมัครใส่ไว้ในเรซูเม่ กับบน Social Media ว่าตรงกันหรือไม่ หรือหากพบว่าตัว HR เองกับผู้สมัครมีคนรู้จักคนเดียวกันก็อาจสอบถามไปยังบุคคลนั้นเพื่อทำความรู้จักสมัครให้มากขึ้นได้
|
|
ในปัจจุบัน Social Media นอกจากไว้ใช้พูดคุย แชท หรือลงรูปถ่ายต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นเหมือนเครื่องมือสะท้อนความคิด ทัศนคติ และไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานด้วย ซึ่งทางฝั่งขององค์กรเองอย่างที่เราคุ้นตากันอยู่แล้วก็คงหนีไม่พ้นการเอามาใช้เป็นช่องทางในการทำการตลาด แต่ที่หลายคนคิดไม่ถึงกันก็คือ การใช้ Social Media ในแง่ของการหาคนและการคัดกรองผู้สมัคร ในการสรรหาพนักงาน
JobThai จะพาไปดูว่าฝ่ายบุคคลจะสามารถใช้ Social Media มาเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับงาน Recruitment ได้ยังไงบ้าง
เพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้สมัคร ด้วยโพสต์ประกาศงานบน Social Media
Social Media เป็นช่องทางที่มีกลุ่มคนทุกเจนเนอเรชันใช้งานอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้ง Facebook Twitter หรือ YouTube เองก็ตาม ซึ่งถ้าองค์กรใช้ประโยชน์จากคนจำนวนมากที่เข้าถึง Social Media ในแง่ของการทำการตลาดได้ HR เองก็ใช้ได้เช่นกัน เพราะจะทำให้ผู้สมัครเห็นประกาศงานของเรามากขึ้น นอกเหนือจากการลงประกาศผ่านเว็บไซต์หางาน หรือเว็บไซต์ขององค์กร
ซึ่งการโพสต์ประกาศงานบน Social Media มักจะมีอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
-
ผ่านทาง Social Media ของเว็บไซต์ประกาศงานที่ปัจจุบันนี้เริ่มใช้ Social Media ของตัวเองเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำหรับให้บริการลูกค้าองค์กรในการลงประกาศงาน ซึ่งหากเป็น Social Media ที่มีคนติดตามจำนวนมาก ก็จะทำให้ประกาศงานของเรากระจายออกไปในวงกว้างและหลากหลาย
-
ผ่านทาง Social Media ขององค์กรเองก็จะทำให้คนที่กดติดตามเห็นประกาศงานนั้นของเรา ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสได้ผู้สมัครที่สนใจบริษัทของเราอยู่แล้ว ที่สำคัญในบาง Social Media เรายังซื้อโฆษณา โดยที่ระบุ Target ที่เราต้องการให้โฆษณาไปถึงได้อีกด้วย
นำเสนอ Culture องค์กรผ่าน Social Media เพื่อดึงดูดผู้สมัคร
Social Media ขององค์กร นอกจากจะใช้เพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กรแล้ว ยังสามารถนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรหรือวัฒนธรรมองค์กรได้อีกด้วย อย่างเช่นสถานที่ทำงาน กิจกรรมภายในองค์กรที่จัดให้กับพนักงาน หรือภาพรางวัลต่าง ๆ ที่องค์กรได้รับ รวมไปถึงการไลฟ์ในขณะที่มีอีเวนต์พิเศษอะไรบางอย่างก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพื่อทำให้คนนอกองค์กรได้ทำความรู้จักกับองค์กรเราได้มากขึ้น
แต่นอกจากการสื่อสารเพื่อทำให้คนนอกองค์กรรู้จักมากขึ้นแล้ว ก็ต้องมีการสื่อสารภายในองค์กร และให้พนักงานมีส่วนร่วมด้วย เช่น มี Engagement กับโพสต์ต่าง ๆ บน Social Media ขององค์กร หรือโพสต์และแชร์อะไรบางอย่างที่พูดถึงองค์กรบน Social Media ของพวกเขาเอง ซึ่งการที่คนนอกได้ทำความรู้จักองค์กรผ่านประสบการณ์หรือคำพูดของคนที่ทำงานอยู่ในองค์กรจริง ๆ นั้นส่งผลดีและสร้างความน่าเชื่อถือได้ไม่น้อย เพราะเขาจะเห็นว่าที่นี่เป็นองค์กรที่พนักงานรักและภาคภูมิใจ
ดูว่าผู้สมัครเป็นคนแบบไหน ผ่านสเตตัส และการแชร์บน Social Media
ประสบการณ์การทำงาน ความสามารถ และทักษะของผู้สมัครอาจเห็นได้จากเรซูเม่หรือ CV แต่ทัศนคติ และความคิดในด้านอื่น ๆ นั้นกว่าที่ HR จะเห็นก็คือวันสัมภาษณ์หรืออาจจะเป็นตอนที่รับเข้าทำงานแล้วด้วยซ้ำ Social Media จึงกลายเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้ HR ทำความรู้จักผู้สมัครได้มากขึ้น เช่น ภาษาที่ใช้ คอนเทนต์ที่แชร์ หรือแม้กระทั่งรูปที่โพสต์ก็ตาม
ไม่ใช่เพียงพฤติกรรมไม่ดีที่แสดงอยู่บน Social Media แต่ HR ยังสามารถดูไปถึงทัศนคติและความสนใจต่าง ๆ ของเขาด้วย เช่น แนวคิดที่เขามีต่อข่าวที่แชร์มาเป็นแบบไหน เพราะต้องยอมรับว่าการจะรับใครสักคนเข้ามาทำงานด้วยกัน นอกจากความสามารถแล้ว ลักษณะนิสัยและทัศนคติที่เข้ากับทีมและองค์กรได้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะไม่เอามาพิจารณาไม่ได้เลย
Social Media ของผู้สมัคร อาจเป็น Portfolio ที่โชว์ผลงาน
หลายคนใช้ Social Media เป็นเหมือนไดอารี่บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดในแต่ละวัน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องกิน เรื่องเที่ยว หรือเรื่องชีวิตส่วนตัวเท่านั้น ยังรวมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานด้วย ทำให้ Social Media อาจจะกลายเป็น Portfolio ที่น่าสนใจของผู้สมัครที่ HR ไม่ควรมองข้าม เช่น ผู้สมัครตำแหน่ง Content Writer ที่แชร์บทความของตัวเองมาที่หน้า Timeline นอกเหนือจากที่เขาใส่มาใน Portfolioหรือ โพสต์ที่เล่าถึงอุปสรรคและวิธีแก้ไขปัญหาในการจัดงานอีเวนต์งานหนึ่งของผู้สมัครตำแหน่งEvent Planner ซึ่งไม่ใช่แค่จะทำให้ HR เห็นผลงานของเขาเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นถึงความสามารถในการแก้ปัญหา และทักษะต่าง ๆ ของเขาด้วย
สิ่งที่บอกไว้ในเรซูเม่เป็นความจริงไหม ตรวจสอบได้จาก Social Media
เพื่อที่จะให้ตัวเองเป็นผู้สมัครที่น่าสนใจ และถูกเรียกไปสัมภาษณ์ หลายคนจึงเลือกที่จะใส่คุณสมบัติในเรซูเม่หรือจดหมายสมัครงานแบบเกินจริง การเข้าไปดู Social Media ของผู้สมัครจะเป็นช่องทางนึงที่ช่วยให้ HR เช็กได้ว่าข้อมูลที่ใส่มานั้นเป็นความจริงไหม ถึงจะเช็กไม่ได้ทั้งหมดแต่อย่างน้อยก็ยังพอมีหลักฐานให้ได้เปรียบเทียบมากขึ้น เช่น เขาเขียนว่ามีทักษะการสื่อสารดีเยี่ยม แล้วการสื่อสารใน Social Media ของเขาเป็นไปตามนั้นไหม
และถ้าผู้สมัครกับ HR ทำงานอยู่ในแวดวงเดียวกัน หรืออยู่ใน Community Group อะไรบางอย่างที่เหมือนกัน ก็เป็นไปได้ว่าเรากับเขาอาจจะมีคนรู้จักคนเดียวกัน ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้เรามีโอกาสทำความรู้จักผู้สมัครคนนั้นได้มากขึ้น ผ่านการสอบถามไปยังคนกลางคนนั้นนั่นเอง
อย่าลืมว่าแม้ Social Media จะแพร่หลาย เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสนใจและให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้นความจำเป็นในการใช้ Social Media เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน Recruitment จึงควรขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของ HR หรือหัวหน้างานที่รับผิดชอบในแต่ละตำแหน่ง บางตำแหน่งการประกาศงานบนเว็บไซต์ คัดเรซูเม่และเรียกมาสัมภาษณ์เลยก็อาจจะพอ แต่ในงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร การตลาด หรือสาย Developer ที่ต้องอัปเดตเทรนด์ Social Media ใหม่ ๆ อยู่เสมอ การใช้ Social Media มาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน