หลายคนมีภาพจำเกี่ยวกับคณะที่เรียนเกี่ยวกับสื่อและความบันเทิงต่าง ๆ ว่าชื่อคณะ “นิเทศศาสตร์” แต่จริง ๆ แล้ว คณะนิเทศศาสตร์ คือคณะที่ผู้เรียนจะได้ศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์แห่ง “การสื่อสาร” ซึ่งก็มีความหมายลึกซึ้งไปถึงการที่ “ผู้ส่งสาร” ต้องการที่จะส่งเนื้อความบางอย่าง หรือ “สาร” โดยส่งสารนั้น ๆ ผ่านตัวกลางบางอย่างที่ใช้เป็น “สื่อ” เพื่อให้ “ผู้รับสาร” ได้รับข้อมูล วันนี้ JobThai จะพามารู้จักกับคณะนี้ พร้อมทั้งพาไปดูเส้นทางอาชีพและเงินเดือนเริ่มต้นของงานสายนิเทศศาสตร์
คณะนิเทศศาสตร์ หรือในบางมหาวิทยาลัยจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างออกไป เช่น คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน หรือในบางที่ก็จะชื่อคณะว่าคณะสื่อสารมวลชน โดยคณะนิเทศศาสตร์จะสอนให้ผู้เรียนรู้จักสื่อสาร เล่าเรื่อง เพื่อให้ไปถึงกับคนหมู่มาก ซึ่งก็จะมีการแตกสายออกไปมาเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น สายภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อสตรีมมิ่ง ฯลฯ
คณะนิเทศศาสตร์ มีสาขาวิชาที่หลากหลายมาก แล้วแต่ลักษณะของสื่อที่ผู้เรียนสนใจ วันนี้เราเลยรวมสาขาที่มักพบบ่อย ๆ และสาขาที่ใหม่เข้ากับยุคนี้มาแนะนำให้ทุกคนรู้จัก
มีหลายคนที่เข้าใจผิดว่าสาขานี้เรียนเพื่อเป็นดาราเพื่อแสดงภาพยนตร์หรือแสดงละครรึเปล่า แต่จริง ๆ แล้ว สาขานี้จะสอนให้ผู้เรียนสื่อสารเนื้อหาและใจความสำคัญไปยังผู้ชมได้ผ่านเรื่องราว เพราะการแสดงก็คือการสื่อสารรูปแบบนึงที่มีผู้รับสารคือผู้ชมนั่นเอง ผู้เรียนจะได้รู้จักกับประวัติของละคร การแสดงจริง โดยจะได้เรียนทั้งการทำงานในส่วนของเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และนอกจากเรื่องของ Acting หรือการแสดงแล้ว ผู้เรียนจะได้ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งไปถึงเรื่องของการเคลื่อนไหว ลีลาท่วงท่า ไปจนถึงได้เรียนเกี่ยวกับการเขียนบท การกำกับการแสดง ฉาก แสง สี เสียง ฯลฯ
อาชีพหลังเรียนจบ: นักแสดง, ครูสอนการแสดง, นักเขียนบท, นักออกแบบท่าเต้น, ผู้ออกแบบแสง, ผู้ออกแบบฉาก, ช่างแต่งหน้า, ผู้อำนวยการผลิต, ผู้กำกับการแสดง, คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ฯลฯ
เบื้องหลังแบรนด์ที่น่าจดจำและประสบความสำเร็จคือคนทำงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งสาขาวิชานี้ก็เป็นสาขาวิชาที่ช่วยปั้นคนทำงานสายนี้ออกมา โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การตลาดแบรนด์, การออกแบบอัตลักษณ์แบรนด์, การสร้างประสบการณ์แบรนด์, การสื่อสารและการตลาดดิจิทัล, การบริหารภาพลักษณ์แบรนด์ ฯลฯ
อาชีพหลังเรียนจบ: นักกลยุทธ์แบรนด์, นักออกแบบอัตลักษณ์แบรนด์, นักวางแผนการตลาดและโฆษณา, ที่ปรึกษาด้านแบรนด์, เจ้าของธุรกิจ
วิทยุและโทรทัศน์ เคยเป็นสื่อที่ใคร ๆ ก็เลือกเพื่อรับข่าวสารและความบันเทิง แต่ในยุคดิจิทัลที่อะไร ๆ เริ่มเปลี่ยนไป คนดูเริ่มเลือกดูและรับฟังสิ่งที่ตัวเองสนใจมากขึ้น ความชอบมีความหลากหลายขึ้น สื่อก็มีการปรับตัว สร้างคอนเทนต์และเนื้อหาที่มีความเฉพาะทางมากขึ้นเพื่อให้ตรงใจผู้ชมและผู้ฟัง สื่อสตรีมมิ่งจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญมากในโลกปัจจุบัน ซึ่งก็มีบางมหาวิทยาลัยที่เริ่มปรับหลักสูตรของตัวเองให้มีความทันสมัยมากขึ้นและครอบคลุมถึงการผลิตสื่อสำหรับสตรีมมิ่งด้วย คนที่เลือกเรียนสาขานี้จะได้ศึกษาและทดลองทำหลาย ๆ อย่าง เช่น การผลิตรายการโทรทัศน์ สื่อเสียง รายการวิทยุ สื่อสตรีมมิ่ง การเขียนบท การรายงานข่าว คอมพิวเตอร์กราฟิก ศิลปะการถ่ายภาพ ศิลปะการพูด หลักการตลาดและการสื่อสารการตลาด ฯลฯ
อาชีพหลังเรียนจบ: ครีเอทีฟ, โปรดิวเซอร์รายการ, กราฟิกดีไซเนอร์, นักตัดต่อ, นักสื่อสารการตลาด, ผู้ประกาศข่าว, นักข่าว, คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ฯลฯ
สาขาสื่อภาพยนตร์ ดิจิทัลมีเดียคือสาขาวิชาของคนที่รักในโลกของภาพยนตร์ และมีการทำงานที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ ซึ่งผู้เรียนจะได้ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีภาพยนตร์และสื่อจอ หลักการเล่าเรื่อง โครงสร้างอุตสาหกรรม รวมถึงกระบวนการผลิตภาพยนตร์ในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ผู้เรียนจะได้ศึกษาเกี่ยวกับการผลิตดิจิทัลมีเดียหรือสื่อดิจิทัล ตั้งแต่การสร้างสรรค์แอนิเมชัน 3 มิติ การสร้างสรรค์งานคอมพิวเตอร์กราฟิกและเอฟเฟกต์ประกอบการเคลื่อนไหว การผลิตเสียงและดนตรีสำหรับสื่อดิจิทัล ฯลฯ
อาชีพหลังเรียนจบ: กราฟิกดีไซเนอร์, ช่างภาพ, ผู้เขียนบทภาพยนตร์, นักตัดต่อ,เจ้าของโปรดักชันเฮ้าส์, ผู้ผลิตภาพยนตร์, ผู้กำกับภาพยนตร์
การที่สินค้าหรือบริการต่าง ๆ กลายเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมได้นั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ การโฆษณาที่ดีเป็นกลยุทธ์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น สาขาวิชาการโฆษณาจึงเป็นสาขาที่จะช่วยผลิตนักโฆษณาที่มีความสามารถ โดยผู้เรียนจะได้ศึกษาตั้งแต่การวางแผนกลยุทธ์โฆษณา การเขียนบทโฆษณา การกำกับศิลป์ และการผลิตสื่อโฆษณา ครอบคลุมรูปแบบการโฆษณาสำหรับสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และบางที่ก็มีเนื้อหาการสอนครอบคลุมถึงสื่อโฆษณาออนไลน์แล้วด้วย
อาชีพหลังเรียนจบ: ครีเอทีฟโฆษณา, Account Executive (AE), นักวางแผนสื่อโฆษณาและกลยุทธ์สื่อสารตราสินค้า, กราฟิกดีไซเนอร์
ก่อนที่จะพูดถึงหลักสูตรที่เรียน หลายคนอาจสับสนว่า “การประชาสัมพันธ์ กับ “การโฆษณา” ไม่เหมือนกันเหรอ? โดยมีบางมหาวิทยาลัยที่ควบรวมทั้ง 2 อย่างนี้ไว้ในสาขาเดียวกัน และมีบางมหาวิทยาลัยที่แยกออกมาเป็น 2 สาขา เราจะลองมาปัจจัยความความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 สิ่งนี้กัน
- ค่าใช้จ่าย: การโฆษณามีค่าใช้จ่ายสำหรับใช้พื้นที่สื่อโฆษณา ส่วนการประชาสัมพันธ์อาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายโดยตรง เพราะเน้นการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนหรือกิจกรรม บางครั้งอาจมาในรูปแบบของสิ่งแลกเปลี่ยนเช่น บัตรเข้าร่วมงานอีเวนต์ฟรี
- เนื้อหาที่ถูกเผยแพร่: สำหรับการโฆษณา บริษัทสามารถควบคุมเนื้อหาได้เองทั้งหมด แต่การประชาสัมพันธ์ เนื้อหาที่ถูกเสนอออกมาจะขึ้นอยู่กับการนำเสนอของสื่อมวลชนที่เราฝากให้เขาประชาสัมพันธ์ให้
- วัตถุประสงค์: การโฆษณามุ่งเน้นไปที่การสร้างการจดจำเพื่อเพิ่มยอดขาย กระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ ในขณะที่การประชาสัมพันธ์จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ผ่านเนื้อหาที่น่าเชื่อถือ
- ความรู้สึกของผู้รับสื่อ: เวลาที่คนดูโฆษณาคนก็จะคิดทันทีว่าสิ่งนี้ถูกทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการขาย ในขณะที่การประชาสัมพันธ์มักจะถูกมองว่ามีความน่าเชื่อถือสูง เพราะข้อมูลมาจากแหล่งข่าวที่เป็นกลาง มีลักษณะการนำเสนอที่เป็นไปในเชิงการให้สารประโยชน์มากกว่าการสนับสนุนการขาย
- ผลลัพธ์: การโฆษณาเป็นกลยุทธ์ที่เห็นผลเร็วแต่ผลลัพธ์มักจะสั้น ในขณะการประชาสัมพันธ์นั้นใช้เวลานานกว่าโฆษณา แต่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ในระยะยาว
โดยผู้เรียนสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์จะได้ศึกษาในด้านต่าง ๆ เพื่อให้กลายเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่มีความสามารถและพร้อมต่อการทำงานจริง ทั้งการวางแผนและกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์, การเขียนเพื่อประชาสัมพันธ์, การสร้างและรักษาภาพลักษณ์องค์กร, การสื่อสารกับสื่อมวลชน, การสื่อสารในภาวะวิกฤติ
อาชีพหลังเรียนจบ: นักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร, Event Manager, นักเขียนข่าวประชาสัมพันธ์, นักวางแผนกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์, ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์, Media Relations Manager
ถึงแม้ว่าสื่อออนไลน์จะเป็นสื่อที่มีความนิยมมาก ๆ ในแง่ของการสร้างการรับรู้ แต่การสร้างการรับรู้ก็ยังมีรูปแบบออฟไลน์ด้วยเช่นกัน ซึ่งการจัดงานอีเวนต์หรือการจัดนิทรรศการก็ช่วยทำให้ผู้คนรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์และเนื้อหาที่อยากสื่อสารได้มากขึ้น โดยผู้เรียนจะฝึกคิด ออกแบบ และอาจได้ลงมือจัดงานจริง ๆ อีกด้วย โดยในบางมหาวิทยาลัย สาขานี้ก็อาจถูกควบรวมไปกับสาขาการประชาสัมพันธ์ เพราะอีเวนต์สามารถถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย
อาชีพหลังเรียนจบ: Event Marketing, Event Planner, Event Organizer, Production Manager, Creative Event Designer, Exhibition Organizer, PR & Communication, Marketing Coordinator
คนที่เรียนจบจากคณะ นิเทศศาสตร์ / วารสารศาสตร์ / สื่อสารมวลชน สามารถทำงานได้มากมาย ขึ้นอยู่กับความสนใจและขอบเขตความสามารถ โดยอาชีพที่เรามักจะพบบ่อย ๆ ในยุคนี้มีดังนี้
บนโลกออนไลน์ในยุคนี้ เรามักจะคุ้นชินกับคำว่า Content Creator ซึ่งก็เป็นผู้ผลิตและคิดสร้างสรรค์คอนเทนต์ โดยงานนี้มีทั้งแบบที่เป็นตำแหน่งงานประจำในองค์กรและคนที่ทำในรูปแบบของฟรีแลนซ์ที่สร้างช่องของตัวเอง ซึ่งโดยมากเรามักจะนึกถึงการผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบของวิดีโอ แต่สำหรับบางบริษัท ตำแหน่งนี้ยังครอบคลุมไปถึงคอนเทนต์รูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความ รูปภาพ พอดแคสต์ รวมถึงคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย โดยคนที่จะทำอาชีพนี้ นอกจากจะต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์แล้ว จะต้องเป็นคนที่ชอบตามเทรนด์และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 30,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Content Creator ใน JobThai
การที่รายการหรือคอนเทนต์ออกมาน่าสนใจ มีความสดใหม่เสมอในทุก ๆ ตอนได้ ก็เพราะมี Creative ที่เป็นคนรับหน้าที่สร้างสรรค์เนื้อหา โดยเรามักจะเจอคนทำงานตำแหน่งนี้ในทีมผลิตรายการโทรทัศน์ รายการออนไลน์ สื่อประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ โดยคนเป็น Creative อาจต้องทำงานร่วมกับทีมงานหลากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นโปรดิวเซอร์ ช่างภาพ นักตัดต่อ หรือกราฟิกดีไซเนอร์ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกองค์ประกอบของผลงานสอดคล้องกับภาพที่คิดเอาไว้ ทำให้นอกจากความสามารถในการคิดสร้างสรรค์แล้ว Creative ยังต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการ สื่อสารที่ดี สามารถนำเสนอไอเดียได้อย่างชัดเจน เปิดรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีความยืดหยุ่น และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีอีกด้วย
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 30,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Creative ใน JobThai
Content Writer และ Copywriter คืออาชีพของคนที่รักในด้านการเขียนและการอ่าน สนุกไปกับการคิดหาถ้อยคำที่จะใช้สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและดึงดูดคนให้สนใจในเนื้อหาที่เราจะนำเสนอ โดย Copywriter มักจะเน้นการเขียนข้อความสั้น ๆ เช่น สโลแกนโฆษณา ข้อความบนเว็บไซต์ หรือข้อความบนสื่อออฟไลน์และออนไลน์ ส่วน Content Writer มักจะสร้างสรรค์เนื้อหาที่ยาวขึ้น มีรายละเอียดมากขึ้น และมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ ให้ความรู้ เช่น การเขียนบทความ โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 25,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Content Writer / Copywriter ใน JobThai
เรามักจะได้ยินชื่อตำแหน่งงานนี้บ่อย ๆ เมื่อนึกถึงงานในเอเจนซี่ ที่ต้องมี Account Executive หรือ AE คอยประสานงานระหว่างบริษัทลูกค้าและทีมผลิตของบริษัทเรา ซึ่งจริง ๆ แล้วงาน AE นั้นไม่ได้มีอู่แค่ในเอเจนซี่ แต่ยังมีในองค์กรต่าง ๆ โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทที่ดูแลลูกค้า คอยประสานงานระหว่างลูกค้ากับทีมงานภายในบริษัท นำเสนอสินค้าหรือบริการของบริษัทให้กับลูกค้า อีกทั้งยังต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าอีกด้วย
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 25,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Account Executive (AE) ใน JobThai
งาน Graphic Designer เป็นงานของคนที่มีความสามารถด้านการออกแบบกราฟิกเพื่อถ่ายทอดข้อมูลที่บริษัทต้องการจะนำเสนอในรูปแบบที่สวยงามน่าอ่าน น่าสนใจ โดยเรามักจะพบในรูปแบบของโปสเตอร์, โลโก้, สื่อออนไลน์ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งตำแหน่งงานนี้ก็มีทั้งแบบที่เป็นงานประจำในองค์กรกับงานฟรีแลนซ์ที่สามารถรับงานได้ตามขอบเขตความสามารถของตัวเองได้
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 25,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Graphic Designer ใน JobThai
นอกจากอาชีพที่มีความถนัดด้านการออกแบบภาพนิ่งแล้ว ยังมีอาชีพสำหรับคนที่ถนัดด้านการสื่อสารเนื้อความและเล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งอาชีพนั้นก็คือ Video Editor หรือ นักตัดต่อ มีหน้าที่เรียบเรียงวิดีโอและตัดต่อออกมาให้คลิปวิดีโอมีความน่าสนใจและน่าติดตาม โดยจะต้องเป็นคนที่ถนัดใช้โปรแกรมสำหรับตัดต่อวิดีโอโดยเฉพาะ ซึ่งเราจะพบคนทำอาชีพนี้ในหลาย ๆ แขนง ทั้งรายการออนไลน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ และนอกจากอาชีพ Video Editor แล้ว ยังมีอีกอาชีพที่เรียกว่า Motion Graphic Designer โดยเป็นคนที่ถนัดด้านการนำเอาภาพกราฟิกมาทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งหลายคนมักสับสนว่า 2 อาชีพนี้เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วมันคือคนละศาสตร์ที่มีความคาบเกี่ยวกันเล็กน้อย แต่ก็จะมีบางคนที่สามารถทำได้ทั้ง 2 อย่างและจบงานได้ในคนคนเดียวได้ โดยอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่มีทั้งรูปแบบงานประจำในบริษัท งานใน Production House ไปจนถึงงานฟรีแลนซ์
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 25,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Video Editor / Motion Graphic Designer ใน JobThai
งาน Marketing Communications เป็นงานของคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการตลาด โดยมีหน้าที่วางแผนและดำเนินการกิจกรรมทางการตลาดและการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมสินค้าหรือบริการของบริษัท รวมถึงต้องประสานงานกับทีมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ในการสร้างแคมเปญและกิจกรรมการตลาด
ซึ่งคนที่จะทำงานตำแหน่งนี้จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดและกลุ่มเป้าหมาย ไปจนถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข่าวสาร
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 25,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Marketing Communications ใน JobThai
งาน Event Marketing เป็นงานสายการตลาดสำหรับคนที่ถนัดในด้านการวางแผนและจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการรับรู้ตัวตนแบรนด์ ทำให้คนได้รู้จักสินค้าและบริการต่าง ๆ ขององค์กร นอกจากนั้นก็ยังมีงานในสายงานเดียวกันอีกอย่างก็คือ Event Organizer ที่มีความกว้างขวาง ครอบคลุมอีเวนต์ที่หลากหลาย ทั้งงานสัมมนา, งานเปิดตัวสินค้า ไปจนถึงงานคอนเสิร์ตอีกด้วย โดยคนที่ทำอาชีพนี้จะต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีทักษะในการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 28,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Event Marketing / Event Organizer ใน JobThai
Digital Marketing คือตำแหน่งที่มีหน้าที่ทำการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลต่างๆ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรืออีเมล โดยจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคนิคการตลาดดิจิทัลและคุ้นเคยกับ Tools ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เพื่อที่สามารถสร้างแคมเปญการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 30,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Digital Marketing ใน JobThai
งาน Public Relations Officer (PR Officer) หรือ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เป็นคนที่คอยทำหน้าที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีและรักษาภาพลักษณ์นั้นให้กับองค์กร โดยจะต้องเป็นคนที่ถนัดด้านการสื่อสาร การประสานงาน และรู้จักสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสื่อมวลชน เพื่อที่ในวันนึง ถ้าองค์กรมีข่าวสารอะไรที่อยากจะนำเสนอผ่านสื่อมวลชน ด้วยความสัมพันธ์ที่สร้างไว้และรักษาเอาไว้ สื่อมวลชนก็จะสามารถช่วยเหลือและให้ความร่วมมือด้านการประชาสัมพันธ์ได้
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 25,000 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ทักษะเพิ่มเติม ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงาน Public Relations Officer (PR Officer) ใน JobThai
นอกจากอาชีพที่เราเอามาฝากแล้ว คนที่เรียนจบสายนิเทศศาสตร์ยังสามารถทำงานในสายอาชีพอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้สื่อข่าว, นักแสดง, นักพากย์เสียง, นักพากย์เสียงภาพยนตร์ ฯลฯ โดยขึ้นอยู่กับความถนัดเฉพาะตัวและความสนใจของแต่ละคน
คณะนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน เป็นคณะ สาขาวิชา ที่เน้นการสื่อสารเนื้อหาบางอย่างจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร ด้วยการใช้ “สื่อ” เป็นตัวกลาง โดยมีสาขาวิชาหลากหลาย เช่น ศิลปะการแสดง การตลาดดิจิทัล สื่อภาพยนตร์ การโฆษณา ฯลฯ ตอบโจทย์กับความสนใจของผู้เรียน ซึ่งคณะนี้ก็เปิดโอกาสให้นักศึกษาเดินก้าวไปสู่อาชีพต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น Content Creator, นักข่าว, AE, Graphic Designer, Video Editor ฯลฯ โดยเงินเดือนเริ่มต้นของบัณฑิตจบใหม่อยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ทั้งทักษะที่มี ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ฯลฯ
ที่มา:
dek-d.com, bu.ac.th, bu.ac.th, commarts.utcc.ac.th, bu.ac.th, admissionpremium.com, bu.ac.th, ca.rsu.ac.th, marketeeronline.co, admissionpremium.com