ในการออกแบบเว็บไซต์และการทำตลาดออนไลน์ เราไม่ได้คำนึงเพียงแค่ความสวยงามของเว็บไซต์ แต่ยังคำนึงถึงการใช้งานอีกด้วย ซึ่งการจะทำให้หน้าเว็บไซต์สินค้าหรือบริการของเราตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้รอบด้านนั้น อาชีพ “UX/UI Designer” มีส่วนสำคัญอย่างมาก และหากคุณกำลังสนใจสายงานนี้ JobThai จะพามารู้จักกับ คุณอิง ดาริน สุทธพงษ์ CEO แห่ง Hato Hub และ Founder & CEO ของ Indy Dish ซึ่งมีประสบการณ์ในสายงานนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาด้าน UX Design ให้กับบริษัทและมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย เคยรับตำแหน่ง Lead UX Designer ให้กับบริษัท Amazon.com และทำงานกับกลุ่มบริษัท US Fortune 100 Companies มากกว่า 10 ปี ซึ่งคุณอิงได้มาพูดคุยถึงการทำงานสาย UX/UI Designer ใน Live X Career ข้ามสาย Talk Season 2 ด้วย
คุณอิงจบปริญญาตรีทางด้าน Animation Graphic และได้ทำงานเป็น Motion Graphic Designer ในวงการสายบันเทิงประมาณ 8 ปี หลังจากเริ่มมีงาน UX (User Experience) เกิดขึ้นในอเมริกา คุณอิงจึงผันตัวมาทำงานสาย UX ซึ่งได้ทำงานเป็น UX Designer และ UX Design Lead ที่ Amazon อยู่เป็นเวลา 4 ปี
หลังจากกลับมาไทยจึงเริ่มทำ Startup ในชื่อ “Indy Dish” โปรเจกต์ที่ตั้งใจอยากส่งต่ออาหารที่ดีให้กับทุกคนผ่านแพลตฟอร์มที่เรียกว่า ‘Sustainable Food Delivery’ หรือเรียกง่าย ๆ คือเป็นตลาดออนไลน์สำหรับอาหารเพื่อสุขภาพที่มีทั้งบริการรับส่งอาหาร และมีสินค้าเกี่ยวกับอาหารเป็นของตัวเอง และไม่นานมานี้คุณอิงก็ได้เปิดบริษัท Hato Hub ที่นำเอาเทคโนโลยีจากแอปฯ Indy Dish มาพัฒนาเป็นการให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ที่สามารถให้ร้านอาหารส่งอาหาร-รับออเดอร์ได้ดีขึ้น ซึ่งตอนนี้มีร้านอาหารเข้าร่วมมากกว่า 200 สาขาภายในเวลา 5 เดือน
เริ่มแรกที่คุณอิงได้ไปทำงานให้ Amazon นั้นเป็นตำแหน่ง UX Designer ของทีม Customer Services Technology ซึ่งเป็นหลังบ้านของ Amazon ที่ทำเกี่ยวกับการรับ-ส่งออเดอร์ จากนั้นจึงได้มาเป็น Lead UX Designer โดยคุณอิงเป็นคนริเริ่มทำโปรเจกต์ Amazon Redesign ซึ่งเป็นโปรเจกต์ใหญ่ เพราะเป็นการปรับปรุงและพัฒนา UX ใหม่ของ Amazon
โปรเจกต์ที่คุณอิงเข้าไปทำจะเป็นการสร้างประสบการณ์ขณะซื้อ (Purchase Experience) ให้กับผู้ใช้งาน ตั้งแต่การสั่งซื้อ Tracking การคืนสินค้า และการบริการ ซึ่งเป็นงานที่คุณอิงรู้สึกว่าภูมิใจเพราะเป็นครั้งแรกที่พิสูจน์ให้ผู้บริหารเห็นได้ว่าเขาต้องลงทุนกับ UX
นอกจากนั้นคุณอิงยังได้แชร์ว่าวัฒนธรรมองค์กรของ Amazon คือการออกแบบล้วน ๆ ทุกอย่างจะให้ความสำคัญกับลูกค้ามาก จะต้องคิดค้นตลอดว่าจะทำยังไงให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการทำงานในทุกโปรเจกต์ของ Amazon จะเริ่มต้นด้วยกระดาษ 1 แผ่น ที่เรียกว่า “Press Release” คือการเล่าว่าถ้า Product ถูกปล่อยออกไปสื่อต่าง ๆ จะเขียนข่าวถึงเราว่ายังไง ซึ่งไอเดียนี้มาจาก Jeff Bezos CEO ของ Amazon เป็นแนวคิดของการ Working Backward หรือการเริ่มจากผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จก่อน แล้วค่อยไปหาวิธีทำให้ถึงผลลัพธ์นั้น
UX ใน Amazon แทบจะไม่ได้จับคอมพิวเตอร์ คือไม่ได้จำเป็นต้องมาสาย UX แบบทางเทคนิค แต่จะต้องจะมีความเป็นนักธุรกิจในตัวพอสมควร ถ้าเป็นที่อื่น UX ส่วนใหญ่จะมี Requirement มาแล้วมีหน้าที่แค่ต้องเปลี่ยนให้เป็น UI (User Interface) หรือส่วนที่ใช้ในการเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานที่มุ่งเน้นเรื่องของหน้าตาการดีไซน์
ยิ่งในฐานะที่เป็นทีมหลักก็จะต้องเป็นตัวแทนในการมาพูดคุย ถกเถียงให้กับหลาย ๆ คนที่อยากออก Product ของตัวเองจากทั่วโลก ดังนั้นความสามารถในการสื่อสารจึงสำคัญมาก เพราะ UX ที่นี่ไม่ใช่แค่ออกแบบ Product แต่ต้องถกเถียงเรื่องวิสัยทัศน์ ถกเถียงเรื่องการตัดสินใจด้านดีไซน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ และเป็นมากกว่าการทำงานเพื่อความสวยงาม
งาน UX Designer ในไทยจะไม่ได้จำกัดความแค่ UX ยิ่งบริษัทเล็กก็ยิ่งต้องทำหลายอย่าง จะต้องมีทักษะหลากหลายที่จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้ UX Designer ไม่ได้มีหน้าที่ทำให้งานออกมาสวยอย่างเดียว แต่ต้องรู้ว่าจะไปช่วยคนอื่นยังไงโดยให้ของออกมาสวยด้วย ต้องหาว่าทักษะของเราสามารถไปช่วยตำแหน่งอื่นได้ไหม เช่น ไปช่วยออกแบบกราฟิก หรือไปช่วยทำงานวิจัยและพัฒนา ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับ UX Designer คือ Mindset ที่เปิดใจนั่นเอง
ศาสตร์แห่ง UX มีไว้เพื่อทำให้สินค้าหรือบริการตอบโจทย์คนใช้งาน ทำให้สิ่งที่ไม่ใช่คนมีปฏิสัมพันธ์กับคนได้ดี และใช้ง่ายกับมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องมีทักษะที่สำคัญดังนี้
- UX Research: การศึกษาข้อมูลเพื่อเข้าใจผู้ใช้ ทั้งวิธีเชิงคุณภาพ เช่น การสัมภาษณ์ และเชิงปริมาณ เช่น การทำ A/B Testing
- UX Strategy: มีกลยุทธ์และแนวทางการทำ UX ว่าจุดไหนที่ควรโฟกัส และจะทำยังไงให้ Support ผู้ใช้งาน
- Information Architecture: จัดข้อมูล Product ที่มีอยู่ยังไงให้ค้นหาได้ง่าย
- Interaction Design – How it works? (ทำงานอย่างไร): หลักในการออกแบบเพื่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับวัตถุ หรือพื้นที่ ออกแบบว่าสินค้าหรือบริการนั้นทำงานอย่างไร วิธีการใช้งานมีลักษณะเป็นอย่างไร ให้ผู้ใช้งานบรรลุเป้าหมายการใช้งานอย่างราบรื่น
- Visual Design – How it looks? (หน้าตาอย่างไร): การใช้สีหรือตัวหนังสือเป็นอย่างไร
- Writing – (พูดยังไง): คำที่ใช้สื่อสารในแพลตฟอร์มเป็นอย่างไร ซึ่งในบริษัทใหญ่ ๆ หรือ Product ที่ใหญ่มาก ๆ บางที่จะมี UX Writer หรือผู้ที่มีหน้าที่ออกแบบคำพูดโดยเฉพาะ
แต่ 2 ทักษะสำคัญที่สุดของ UX Designer ที่ขาดไม่ได้เลย คือ Interaction Design และ Visual Design
สำหรับคนที่อยากพัฒนาทักษะด้าน Interaction Design และ Visual Design ต้องเริ่มจากการทำโปรเจกต์และโจทย์ ฝึกแก้ปัญหาโดยใช้การออกแบบเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหา เช่น การหาโจทย์มาทำแล้วออกแบบว่าจะตอบโจทย์ด้วยปฏิสัมพันธ์แบบไหน เลือกใช้องค์ประกอบงานออกแบบของ UI ให้ถูกต้อง ซึ่งการเรียนรู้ว่ามีเครื่องมืออะไรและสามารถเลือกใช้ให้ถูกเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก โดยคุณอิงแนะนำให้ติดต่อไปขอทำโปรเจกต์งานจากบริษัทต่าง ๆ ซึ่งจะมีทั้งแบบทำให้ฟรี กับมีค่าจ้าง อย่างตอนที่คุณอิงเปลี่ยนสายมาเป็น UX ช่วงแรก ๆ ก็ทำฟรีอยู่หลายเดือน เด็กจบใหม่หรือคนข้ามสายที่ยังไม่มีผลงานก็เน้นหาโปรเจกต์ทำเยอะ ๆ เพราะงาน UX วัดกันที่ผลงานเป็นหลัก
นอกจากนั้นคุณอิงยังได้แนะนำแหล่งเรียนรู้ออนไลน์สำหรับคนสนใจงานสายนี้เอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคลังความรู้เกี่ยวกับ ทฤษฎีการออกแบบที่ Center Centre - UIE หรือการลงเรียนคอร์สจาก General Assembly ก็ถือเป็นการปูพื้นฐาน UX ที่ดี อย่างไรก็ตามคุณอิงแนะนำว่าอย่าไปเน้นเรียนเพียงอย่างเดียว ให้เน้นทำโจทย์ ฝึกปฏิบัติด้วยดีกว่า
สำหรับเรื่องการได้ Feedback ของงาน UX คุณอิงแชร์ว่าที่ Amazon จะมี Design Office Hour คือการเอาโจทย์มานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเสมอ แต่ในบริษัทไทยส่วนใหญ่จะมี UX กันอยู่ไม่กี่คน ทำให้หาคนมาคอย Feedback ยาก วิธีที่ดีที่สุดคือต้องพยายามหาพี่เลี้ยงทางด้าน UX มารีวิวด้านการออกแบบ ซึ่งคอมเมนต์ที่ดีสำหรับ UX คือต้องท้าทายคนที่ทำว่าทำไมถึงทำแบบนี้ หรือมีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม ไม่ได้ดูว่าสวยหรือไม่สวย
โดยคุณอิงแบ่งคอมเมนต์เป็น 2 แบบ
- จาก End – Product (คอมเมนต์จากลูกค้า): ผลลัพธ์สุดท้าย (End Result) คือไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรแต่รู้ว่าดีหรือไม่ดี ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นให้ปรับปรุงงานของเราได้
- จาก UX คนอื่น หรือ Community: เพื่อหาว่าผลลัพธ์ที่เราทำมีตัวเลือกสำรองอะไรไหม การถูกโค้ชจะทำให้เราเก่งขึ้น เป็นการช่วยทำให้เราได้ Feedback ที่ดีกว่าการคิดตัดสินใจคนเดียว แต่ต้องฝึกทำแบบจำลองของผลลัพธ์ (Prototype) ให้เป็นเพื่อที่จะให้ Feedback ได้ถูกต้องด้วย
หากไม่ค่อยมีคนรู้จักที่พอจะเป็นพี่เลี้ยงได้ อีกวิธีที่ช่วยคือการดูงานของคนอื่น ไม่ควรลอกเลียนแบบจาก Product แต่ควรศึกษาจากฟังก์ชันว่า Product ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นมีการแก้ปัญหาอย่างไร
คนที่จบสายกราฟิกแล้วอยากมาทำ UX ต้องเข้าใจเหตุผลในการออกแบบ UI คือเข้าใจแพทเทิร์นและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับวัตถุหรือพื้นที่ หรือแม้กระทั่งเสียงแบบต่าง ๆ แล้วหยิบมาใช้ได้เหมาะสม โปรเจกต์ที่ทำต้องตอบได้ว่าปัญหาคืออะไร แก้ปัญหาด้วย Interaction Design ได้อย่างไร
สำหรับการนำเสนอผลงาน UX คุณอิงแนะนำว่าเวลาสื่อสารต้องบอกถึงประโยชน์ด้วย อย่ามีแต่ฟีเจอร์อย่างเดียว ในการนำเสนอต้องเข้าใจว่าคนที่จ้างเราส่วนใหญ่คือคนที่ไม่ได้รู้เรื่องหลัก UX เสมอไป ดังนั้นต้องพูดให้ได้ว่างานของเราแก้ปัญหาอะไร สร้างคุณค่าอะไรให้กับธุรกิจ เรื่องศัพท์เทคนิค กระบวนการก็เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หัวใจอยู่ที่การนำเสนอคุณค่าของผลงานเรามากกว่า
“Empathy: UX is all about People”
งาน UX คืองานที่เกี่ยวข้องกับคน การทำให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตสามารถตอบสนองกับคนได้ตรงความต้องการที่สุด ดังนั้นการมี Empathy มีความเข้าอกเข้าใจในกระบวนการ มองเห็นเหตุและผลในการเกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนจึงใช้ได้กับทุกอาชีพ ทุกขั้นตอนของการทำงาน
แต่ก่อนทุกคนจะถูกสอนให้แก้ปัญหาเป็นแบบแผน ถ้าแก้ปัญหาจากโจทย์ได้คือจบ แต่สำหรับ UX Designer การแก้ปัญหาต้องตอบโจทย์ในองค์รวม กล่าวคือ เวลามองปัญหาคือไม่ได้แก้ให้จบ ๆ ไป แต่ทำยังไงให้ดีที่สุด ประทับใจที่สุด เหมือนเป็นการวางโจทย์ใหม่ในการทำงานแต่ละครั้ง ซึ่งหากมีตรงนี้ในการทำงาน งานของเราจะเป็นงานที่ยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน
นี่คือบางส่วนจากไลฟ์เท่านั้น สำหรับใครที่พลาดไป สามารถเข้าไปชมย้อนหลังได้ ที่นี่
|
|
หางาน UX/UI Designer ทั้งหมดได้ ที่นี่
|
|
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน |
Public group · 42,947 members |
|
|
|