7 เทคนิคลางานยังไงไม่โดนหัวหน้าหมายหัว

7 เทคนิคลางานยังไงไม่โดนหัวหน้าหมายหัว
24/02/23   |   320.1k   |  

 

  • ถ้าป่วยไม่หนักให้แสดงสปิริตไปทำงาน แต่ถ้าป่วยหนักให้รีบแจ้ง และอาจขอใบรับรองแพทย์มายืนยันด้วย
  • ถ้าลากะทันหันรีบบอกหัวหน้าให้เร็วที่สุด และต่อท้ายด้วยการถามว่ามีงานอะไรที่สามารถทำจากบ้านได้ไหม หรือขอเป็น Work From Home ไปเลย
  • ไม่ควรอัปเดตชีวิตบน Social Media เพื่อบอกว่าคุณป่วย แต่กรณีที่ลาไปเที่ยวหรือลากิจที่แจ้งล่วงหน้าสามารถลงได้ตามปกติ
  • อย่าลาวันจันทร์หรือวันศุกร์ที่ติดกับวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือลาในวันที่มีประชุมใหญ่ประจำเดือน หรือ วันสำคัญที่ต้องพรีเซนต์งาน
  • สะสางงานที่ค้างไว้ให้เสร็จและแพลนตารางงานล่วงหน้าไว้เลย และถ้าไปเที่ยวกลับมาก็อย่าลืมของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย

 

 

 

หางานง่าย ได้งานที่ใช่ ด้วย JobThai Mobile Application

iOS

Android

Huawei AppGallery

“เคยอยากลางาน แต่กลัวหัวหน้าคิดว่าโกหกไหม?”

คงไม่มีคนทำงานคนไหนไม่เคยลาหยุด ไม่ว่าจะลากิจ ลาป่วย ลาคลอด ลาไปสัมภาษณ์งาน หรือแม้กระทั่งลาป่วยการเมืองก็ต้องเคยกันทั้งนั้น แล้วสงสัยไหมว่าทำไมทุกครั้งที่โทรหรือไลน์ไปลาหัวหน้า คุณจะรู้สึกวิตกกังวลใจมากกว่าปกติ เราจะคิดไปต่าง ๆ นานา ว่าหัวหน้าอาจไม่เชื่อและมองเราไปในทางลบ

 

มาร์ค ทเวน นักเขียนชื่อดังเคยบอกไว้ว่า “ถ้าคุณพูดเรื่องจริง คุณไม่จำเป็นต้องจำอะไรเลย” ทางที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้คืออย่าโกหกให้เสี่ยงต่อการโป๊ะแตก แต่ปัญหาคือถ้าคุณพูดเรื่องจริงแต่หัวหน้าคิดว่าโกหกล่ะ? ไม่ต้องกังวลใจไปเพราะวันนี้เรามีเทคนิคลางานไม่ให้หัวหน้าหมายหัวมาบอก

 

ก่อนลาป่วย ดูอาการให้แน่ใจ ว่าจำเป็นไหมที่ต้องลา

ป่วยแบบมาได้

ถ้าเริ่มรู้สึกว่ากำลังจะป่วยหรือไม่หนักถึงกับลุกจากเตียงไม่ไหว อย่าเพิ่งรีบลางานในทันที แต่ให้แสดงสปิริตไปทำงานแม้มีอาการป่วยอยู่ก็ตาม เพราะเมื่อหัวหน้าเห็นคุณอาการไม่ดี ไม่แน่เขาอาจจะบอกให้คุณหยุดงานโดยที่คุณยังไม่ทันลาเลยก็ได้

 

ป่วยแบบมาไม่ได้

เช่น ไข้สูง ผื่นขึ้นตามตัว หรือเป็นโรคติดต่อ กรณีนี้โทรไปลางานได้เลย เพราะถ้าร่างกายเราไม่ไหวจริง ๆ ไม่จำเป็นต้องต้องกังวลให้มากความ แต่เพื่อความอุ่นใจอย่าลืมขอใบรับรองแพทย์มายืนยันด้วยว่าคุณป่วยจริง เชื่อว่าหัวหน้าไม่ว่าแถมเป็นห่วงแล้วให้คุณลาพักยาว ๆ เลยด้วยซ้ำ

 

ลากะทันหัน ต้องแจ้งแต่เช้าตรู่

เกิดอุบัติเหตุ 

เช่น รถชน มีอุบัติเหตุบนท้องถนนจนการจราจรติดขัด หรือเกิด Accident ที่คาดการณ์ไม่ได้ในตอนเช้า ไม่ว่าจะทำให้มาทำงานไม่ได้หรือมาสาย คุณควรรีบแจ้งและอาจจะถ่ายรูปเหตุการณ์ส่งไปให้หัวหน้ารับรู้เพื่อเป็นการเซฟตัวเอง

 

ธุระด่วนที่บ้าน

เช่น คนในครอบครัวป่วย เสียชีวิต หรือมีปัญหาฉุกเฉิน แน่นอนว่าครอบครัวคือบุคคลที่เราทุกคนให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก และถ้ามีใครสักคนในครอบครัวมีเรื่องด่วนให้คุณต้องเข้าไปช่วยแก้ไข ถ้าไม่ได้บ่อยเกินไปก็ถือเป็นเหตุผลลางานที่ฟังขึ้น

  

ไม่ว่าจะติดธุระกะทันหันอะไรก็แล้วแต่ อย่าปล่อยจนสาย ยิ่งบอกหัวหน้าเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น และบอกเหตุผลของการลาตามจริงให้ครบด้วย 

 

เลือกวันผิด ชีวิตเปลี่ยน

การลาผิดเวลาอาจให้ผลลัพธ์ที่เลวร้ายมากกว่าที่คิด เช่น ถ้าคุณลาวันจันทร์หรือวันศุกร์ที่ติดกับวันหยุดสุดสัปดาห์  ไม่ใช่แค่จะถูกคนที่ชอบจับผิดมองว่าคุณหยุดพักผ่อนหรือไปเที่ยวต่างจังหวัดเท่านั้น แต่อาจทำให้คุณต้องกลับมาเจองานค้างจากการหยุดยาวอีกด้วย หรือถ้าลากะทันหันแบบไม่มีเหตุผลที่สมควรในวันที่มีประชุมใหญ่ หรือวันสำคัญที่ต้องพรีเซนต์งาน อาจจะส่งผลกระทบกับการทำงานทั้งของตัวเองและคนอื่น ๆ ก็ได้

รู้ล่วงหน้าว่าจะลา อย่าลืมจัดการงานตัวเองไว้ด้วย

ถ้าเลือกวันลาได้ ควรเลี่ยงช่วงที่มีงานสำคัญที่ต้องรับผิดชอบ เช่น พรีเซนต์โปรเจกต์ใหญ่ ส่งมอบงานให้ลูกค้าหรือช่วงเปิดตัวสินค้าของบริษัท และเลือกช่วงที่งานของคุณไม่ยุ่งมากแทน ที่สำคัญคุณต้องวางแผนงานในช่วงที่คุณไม่อยู่ไว้ล่วงหน้า ก่อนลาหยุดต้องสะสางงานที่ค้างไว้ให้เสร็จและแพลนตารางงานล่วงหน้าไว้เลย หรือในส่วนที่จำเป็นต้องฝากคนในทีมดูแล ก็รีบไปบอกให้เขารู้แต่เนิ่น ๆ แจกจ่ายความรับผิดชอบให้คนในทีมช่วยกัน เพื่อที่ว่าเวลาคุณไม่อยู่จะได้ไม่มีอะไรกระทบกับงาน

 

วิธีจัดการงานก่อนวันหยุดยาว

 

แสดงสปิริต แม้มาทำงานไม่ได้

ความรับผิดชอบต่องานคือคุณสมบัติหลักที่ควรมี ไม่ว่าคุณจะลาป่วยหรือลากิจแบบไหนก็ตาม เวลาแจ้งหัวหน้าให้ทราบอย่าลืมที่จะปิดท้ายการลางานด้วยการถามหัวหน้าว่า มีงานอะไรที่สามารถทำจากบ้านได้ไหม เช่น การเช็กอีเมลเพื่ออัปเดตงานต่าง ๆ หรือการขอ Work From Home ในกรณีที่ต้องลาหยุดเพราะเหตุจำเป็น เช่น คนในครอบครัวไม่สบายต้องอยู่บ้านเพื่อดูแล เพราะข้อดีของมันคือเราจะไม่เสียสิทธิ์ลาและได้เงินตามปกติเหมือนมาทำงานด้วย

 

ระวังเรื่อง Social Media 

กรณีที่ลาไปเที่ยว หรือลากิจโดยแจ้งหัวหน้าให้ทราบแล้ว การโพสต์ลง Social Media  ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ไม่ใช่สำหรับในกรณีลาป่วย ถ้าเลือกที่จะมีคนในบริษัทเป็นเฟรนด์ในเฟซบุ๊กหรือไอจีแล้วล่ะก็ คุณควรระมัดระวังการใช้ Social Media ให้มากกว่าปกติ การเลี่ยงที่จะโพสต์สเตตัสหรือรูปภาพที่แสดงออกว่าป่วยน่าจะดีกว่า

 

14 ข้อควรระวัง ถ้าไม่อยากเสียงานเพราะ Social Media

 

มีของฝากเวลากลับจากไปเที่ยว

ถ้าลาไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ของฝากที่ให้กับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานก็เหมือนน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แสดงว่าเรานึกถึงเขา และยังเหมือนได้ตอบแทนที่คอยช่วยเหลือเรื่องงานของคุณระหว่างคุณลาด้วย ใครจะไปรู้แค่ของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นการแสดงน้ำใจไมตรีต่อหัวหน้าและทีม นอกจากจะทำให้คุณดูเป็นคนน่ารักแล้ว อาจทำให้หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานลืมวันยุ่ง ๆ ในช่วงที่คุณไม่อยู่ไปเลยก็ได้

 

โดยสรุปก็คือ ถ้าเราอยากลางานได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าหัวหน้าจะหมายหัวเรา มีเทคนิคในการลางานดังนี้

  • รู้สถานการณ์การลา: เราไม่จำเป็นต้องโกหกเมื่อต้องลาหยุด โทรหรือแจ้งหัวหน้าอย่างตรงไปตรงมาเมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้ เพราะหัวหน้าจะเข้าใจและยอมรับได้

  • ลาป่วยอย่างมีเหตุผล: ถ้ามีอาการป่วยแบบยังพอจะทำงานไหว รอดูอาการก่อนที่จะลางาน และถ้ารู้สึกไม่ดีแต่ยังสามารถทำงานได้ให้ทำงานต่อไป หัวหน้าจะเข้าใจและคาดหวังให้เรารักษาสุขภาพก่อนเป็นอันดับแรก

  • ลาป่วยอย่างจริงจัง: ถ้าป่วยแบบมาไม่ได้ เช่น ไข้สูง หรือโรคติดต่อ โทรหาหัวหน้าเพื่อลางาน เตรียมขอใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันอาการของเราไว้ด้วย 

  • ลากะทันหัน: ถ้ามีเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้ต้องลางาน แจ้งหัวหน้าอย่างเร็ว ๆ ที่สุด และอาจจะต่อรองว่าขอทำงานที่บ้านหรือ Work From Home เพื่อรักษาความเชื่อมั่นในการทำงาน

  • ระวังการโพสต์บน Social Media: ในกรณีลาป่วยหรือลากิจ หลีกเลี่ยงการโพสต์ข้อมูลที่อาจถูกใช้ในการตรวจสอบการลาของเราบนโซเชียลมีเดีย เป็นไปได้ก็หยุดโพสต์อะไรในช่วงนั้นก่อนก็ดี 

  • แสดงความน่ารัก: ส่วนนี้ไม่จำเป็น แต่การซื้อของฝากเล็ก ๆ ให้หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานเมื่อกลับมาจากการเดินทางจะเป็นการแสดงความขอบคุณและน้ำใจในทีมงานของเรา

 

ใครกำลังมองหางาน ฝากประวัติกับเราเพื่อเพิ่มโอกาสถูกเรียกไปสัมภาษณ์งานได้เลย

 

ถ้ามีประวัติกับ JobThai อยู่แล้ว ค้นหางานจากบริษัทชั้นนำได้ ที่นี่

ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่

Spotify

Soundcloud

Apple Podcasts

Google Podcasts

Anchor

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 30 มกราคม 2020 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

tags : jobthai, หางาน, งาน, คนทำงาน, สมัครงาน, ลางาน, เทคนิคลางาน, job, career & tips, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, วันหยุด



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม