-
มีประสบการณ์การทำงานอะไรมา อย่าใส่แค่ชื่อตำแหน่งอย่างเดียว ให้เราเขียนเพิ่มเติมไปด้วยว่าตำแหน่งที่เคยทำมีหน้าที่อะไรและรับผิดชอบงานส่วนไหนบ้าง
-
เพิ่มคำอธิบายทักษะ ระบุระดับความสามารถที่ชัดเจน ลบแถบค่าพลังออก เพราะมาตรฐานของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ทักษะที่เราคิดว่ามีเยอะ อาจเป็นแค่ทักษะเบื้องต้นในการทำงานเลยก็ได้
-
ใส่ความสนใจให้เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร ถ้าเราสามารถอธิบายไปได้ว่าเราสนใจในสิ่งนี้เพราะอะไร ก็จะทำให้ HR ได้รู้จักและสนใจเรามากขึ้น
|
|
JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!
|
|
เมื่อต้องก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน สิ่งที่ทุกคนต้องมีติดตัวเลยก็คือ ประวัติส่วนตัวแบบย่อ หรือเรซูเม่ (Resume) ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีและสไตล์ในการทำเรซูเม่ที่แตกต่างกันทั้งเนื้อหาไปจนถึงการดีไซน์ แต่สิ่งที่คนหางานหลายคนละเลยไปคือ การอธิบายที่มาที่ไปหรือขยายความเนื้อหาที่พรีเซนต์ตัวเองในเรซูเม่ เพราะอย่างที่หลายคนรู้กันอยู่แล้วว่า เรซูเม่ เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ HR ได้ทำความรู้จักเรามากขึ้น คำอธิบายรายละเอียดข้อมูลส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในนั้นจึงมีความสำคัญมาก JobThai เลยรวบรวม 3 ส่วนสำคัญในเรซูเม่ที่เราควรอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อให้ HR ได้ทำความรู้จักเรามากขึ้นมาฝาก
มีประสบการณ์การทำงานอะไรมา อย่าใส่แค่ชื่อตำแหน่งอย่างเดียว
ประสบการณ์ในการทำงาน เป็นหัวข้อที่คนทำเรซูเม่หลายคนเลือกเอามาไว้ในส่วนแรก ๆ ของเรซูเม่ เพื่อให้ HR ได้รู้จักเรา ว่าเคยทำงานอะไรมาบ้าง มีประสบการณ์เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ แต่คนหางานหลายคนมักจะเขียนตรงส่วนนี้แค่ ชื่อตำแหน่ง บริษัท และระยะเวลาเพียงเท่านั้น ซึ่งถ้าอยากให้เรซูเม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนนี้ให้เราเขียนเพิ่มเติมไปด้วยว่าตำแหน่งที่เคยทำมา มีหน้าที่อะไรและรับผิดชอบงานส่วนไหนบ้าง เพราะแต่ละองค์กรอาจมีชื่อตำแหน่งที่ไม่เหมือนกัน ทำให้การใส่ลงไปแค่ชื่อตำแหน่งไม่สามารถอธิบายเนื้องานที่เราทำได้ทั้งหมด
อีกหนึ่งเคล็ดลับในการเขียนประสบการณ์ในเรซูเม่ก็คือ ใส่รางวัลหรือผลงานเด่น ๆ ที่เราเคยทำได้ลงไปด้วย แต่ก็มีข้อแม้อยู่หนึ่งข้อก็คือ ถ้าจะใส่ผลงานที่เคยทำหรือรางวัลที่เคยได้รับ ก็ต้องมีที่มาที่ไปและสามารถวัดผลได้จริง อย่างถ้าเป็นเซลล์ก็ต้องมียอดขายที่เราทำได้ หรือถ้าเป็น Marketing ก็ต้องมีสถิติเพื่อมายืนยันผลงาน เป็นต้น
เพิ่มคำอธิบายทักษะ ลบแถบค่าพลังออก
Skills หรือทักษะ เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้การบอกถึงทักษะที่คนหางานส่วนมากทำในเรซูเม่มักจะออกมาในรูปแบบ “แถบค่าพลัง” ที่อธิบายระดับความสามารถออกมาได้ไม่ชัดเจนและไม่สามารถวัดผลได้จริง ทำให้ยากสำหรับ HR ในการประเมินทักษะในแต่ละด้านของเรา บางครั้งอาจทำให้เรซูเม่ถูกปัดตกไปเลยด้วยซ้ำ ส่วนนี้ให้ใส่ไปเลยว่าทักษะเรามีอะไรและระดับความสามารถเป็นแบบไหน พอใช้ เก่ง หรือชำนาญ ไม่จำเป็นต้องใส่ค่าพลังเพื่อทำให้เรซูเม่สวยขึ้นเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญมาตรฐานของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ทักษะที่เราคิดว่ามีเยอะ อาจเป็นแค่ทักษะเบื้องต้นในการทำงานเลยก็ได้
นอกจากนี้ หากทักษะของเราเป็นทักษะที่มีการสอบวัดผล ให้ใส่ระดับการสอบต่อท้ายทักษะนั้นไปเลย เช่น ได้คะแนน TOEIC เท่าไหร่หรือภาษาญี่ปุ่นอยู่ในระดับ N ไหนแล้ว ในขณะเดียวกัน หากทักษะของเรามีใบ Certificate ยืนยัน ก็อย่าลืมใส่ที่มาของใบ Certificate นั้นลงไปด้วย
ใส่ความสนใจให้เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร
หลายคนอาจมองว่าหัวข้อ “ความสนใจ” หรือ “งานอดิเรก” ที่ใส่ลงไปในเรซูเม่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรและจะใส่อะไรลงไปก็ได้ แต่ความจริงแล้ว หัวข้อนี้ก็มีประโยชน์อยู่ระดับนึงเลย หากเราสามารถอธิบายไปได้ว่าเราสนใจในสิ่งนี้เพราะอะไร และยิ่งเราสามารถโยงความสนใจนั้นให้เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่เราสมัครด้วย ก็จะทำให้ HR ได้รู้จักและสนใจเรามากขึ้น เช่น ถ้าสมัครงานตำแหน่ง Marketing แล้วเราบอกไปว่า ‘ชอบเล่น Social Media เพราะอยากตามเทรนด์ใหม่ ๆ และอยากรู้ว่าตอนนี้คนกำลังสนใจในเรื่องไหนกันอยู่’ ก็อาจจะทำให้เราเป็นผูสมัครที่สนใจมากขึ้นได้มากกว่า คนที่เขียนแค่ว่า “เล่น Social Media” เฉย ๆ โดยไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม
*Tips เล็ก ๆ สำหรับการดีไซน์เรซูเม่
-
ใช้ Font เดียว ควรมี 3 ขนาดสำหรับหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย และเนื้อหา
-
ไม่ต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป มีแค่ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมลก็พอแล้ว
-
ในเรซูเม่ควรมีสีไม่เกิน 3 สี และพยายามให้เป็นสีในโทนเดียวกัน ไม่งั้นอาจยากต่อการอ่าน
สิ่งสำคัญอย่างสุดท้ายก็คือ อย่าลืมว่าเรซูเม่คือ “ประวัติส่วนตัวแบบย่อ” การอธิบายเพิ่มเติมในแต่ละหัวข้อของเราเลยควรต้องอ่านง่าย กระชับ และได้ใจความด้วย ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการเขียนเป็นลักษณะ Bullet แต่อาจต้องระวังไม่ให้การวางตัวอักษรคล้ายกับหัวเรื่องมากเกินไปเพราะอาจทำให้ผู้อ่านสับสนได้
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
Source: