ทำยังไงถ้าเรียนจบมาแต่ดันไม่อยากทำงานด้านนั้น?

12/05/23   |   27.6k   |  

 

 

 

แน่นอนว่าเมื่อเราเรียนจบก็ต้องหางานทำ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงเลือกทำงานที่ตรงกับสายที่เรียนมา แต่ก็จะมีคนอีกกลุ่มที่ต้องการ "ทำงานไม่ตรงสาย" ซึ่งถ้าถามว่ามันเป็นเรื่องแปลกไหม คำตอบก็คือ “ไม่” และในสังคมปัจจุบันพบเจอได้บ่อยมาก เพราะความชอบของคนเราในแต่ละช่วงชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ การเรียนของบางคนเป็นสิ่งยืนยันว่าตัวเองชอบทางนี้จริง ๆ ขณะที่บางคนอาจเรียนจบมาเพื่อรู้ว่าสิ่งนี้ไม่เหมาะกับเราเลยและมีอย่างอื่นที่เราชอบมากกว่าก็ได้ แต่เราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าสิ่งใหม่ที่เราต้องการเหมาะสมกับเรา และสามารถต่อยอดไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต

 

ดังนั้นถ้าวันนี้คุณกำลังตัดสินใจอยากทำงานไม่ตรงสายที่จบล่ะก็ JobThai มีคำแนะนำและแนวทางดี ๆ มาให้ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกทำงานที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ถ้าคิดอยากทำงานไม่ตรงสาย อย่าเสียดายเวลา

บางคนอาจรู้สึกว่า “เรียนจบออกมาแต่ทำงานไม่ตรงสาย เสียดายเวลาที่เรียนไปเปล่า ๆ” แต่ความจริงแล้วเวลาที่เราใช้ไปกับการเรียนที่ผ่านมานั้นไม่น่าเสียดายเลยสักนิด เพราะขึ้นชื่อว่า “เรียน” ไม่ว่าเราจะเรียนจบสาขาไหนมาก็ตาม เราไม่มีทางไม่ได้อะไรกลับมาหรอก และเรามีแต่ได้ ไม่มีเสียอยู่แล้ว รวมถึงไม่อยากให้รู้สึกเสียใจที่เลือกเรียนสิ่งนั้น เพราะมันคือเรื่องปกติที่ในช่วงชีวิตนึงเราจะชอบและอยากทำสิ่งหนึ่ง แต่พอเวลาเปลี่ยนไป หรือเราได้รู้จักมันมากขึ้น สิ่งที่เราชอบ หรือเป้าหมายในชีวิตเราก็อาจจะเปลี่ยนไปได้ ดังนั้นอยากให้มองว่าการเรียนคือตัวช่วยอย่างหนึ่งในการค้นหาตัวเอง และประสบการณ์ที่เราได้รับจากการเรียนนี่แหละ คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเราในวันนี้

 

พร้อมแค่ไหนถ้ากำลังตัดสินใจเปลี่ยนสายงาน

 

เมื่อเรามีความคิดอยากเปลี่ยนสายงานเกิดขึ้น ยังไม่ควรรีบร้อนตัดสินใจในทันที แต่ต้องคิดทบทวนชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย รวมถึงการเตรียมตัวก่อนจะเริ่มทำงาน

 

เลิกถามตัวเองว่า “มันจะเป็นไปได้หรอ”

หลายคนพอเริ่มมีความคิดอยากทำงานไม่ตรงสายก็จะเริ่มกังวลว่าถ้าเลือกงานไม่ตรงสายที่จบ ตัวเองจะไปรอดไหม และเพราะความกลัวจึงทำให้ไม่กล้าก้าวออกมาจาก Comfort Zone และทนทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบต่อไป อย่าลืมว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันล้วนเกิดจากความกล้าที่จะทำ ไม่เอาแต่คิดว่ามัน “เป็นไปไม่ได้” ดังนั้นถ้ามั่นใจว่าอยากเปลี่ยนสายจริง ๆ ก็ต้องกล้าที่จะลองเสี่ยงดูสักตั้ง ถึงโอกาสที่มีจะน้อย แต่อย่างน้อยมันก็ยังมี เมื่อเจอสิ่งที่ใช่กว่า อย่าไปกังวลให้ปวดหัว แต่ให้ถามตัวเองว่าเราชอบมันจริง ๆ ใช่ไหม ใช้ความต้องการและความชอบเป็นตัวขับเคลื่อนให้เราเป็นในสิ่งที่เรารักและอยากเป็น

 

แค่คำว่า “ชอบ” คำเดียวคงยังไม่พอ

ก่อนจะตัดสินใจหางานที่ไม่ตรงกับที่เราเรียนจบมา อย่างแรกเลยเราต้องเข้าใจก่อนว่าแค่เพียง “ความชอบ” อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการทำงานนั้น ๆ เพราะในโลกแห่งความจริงบางสายงานก็ต้องการคนที่จบมาโดยตรงเท่านั้น เช่น เด็กจบนิเทศศาสตร์ไม่สามารถอยู่ดี ๆ ก็ไปเป็นโปรแกรมเมอร์ได้เพียงเพราะเราชอบเรื่องเทคโนโลยี อยากมีแอปพลิเคชันเป็นของตัวอง เพราะเราไม่ได้เรียนการเขียนโค้ดหรือมีความรู้เรื่องโครงสร้างโปรแกรมต่าง ๆ มาก่อน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องคิดอันดับแรกคือเราต้องมีคำว่าชอบอยู่บนพื้นฐานแห่งความจริง เปลี่ยนไปทำงานที่ไม่ตรงสายได้ แต่ก็ต้องเป็นสายงานทีไม่ได้จำเป็นต้องใช้ความรู้ที่เฉพาะทางเท่านั้น อีกทั้งยังควรจะเป็นสายงานที่เราสามารถเอาสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้ได้ ตัวอย่างเช่น เรียนสายอาร์ตมา แต่มีความชอบด้านการตลาดและอยากทำงาน Content Marketing ก็ยังสามารถเอาความรู้ด้านศิลปะมาช่วยออกแบบคอนเทนต์ทำการตลาดได้

 

งานที่ชอบกับงานที่รอด ควรเลือกแบบไหนดี?

หาข้อมูลและวางแผนสำหรับการเปลี่ยนแปลง

ถ้าเราตัดสินใจจะเปลี่ยนสายงาน เราก็ต้องอยากมั่นใจได้ว่างานที่เราเลือกเหมาะสมกับเราจริง ๆ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือค้นคว้า หาข้อมูลเชิงลึกอาชีพนั้น ๆ ศึกษารายละเอียดของงาน ทักษะที่ต้องใช้ วุฒิการศึกษาที่จำเป็น โอกาสก้าวหน้า เงินเดือน และความมั่นคงที่จะได้รับ อาจหาข้อมูลจากอินเทร์เน็ต หรือลองสอบถามจากคนที่ทำงานในสายนั้นโดยตรง เพราะนั่นจะทำให้เราได้ข้อมูลที่จริงสุด ๆ และเมื่อเรารู้รายละเอียดเชิงลึกขนาดนี้แล้ว เราก็จะรู้ข้อดี-ข้อเสีย และสามารถชั่งน้ำหนักได้ว่าคุ้มไหมที่จะเสี่ยง

 

ปัญหาอีกอย่างที่ต้องเจอคือการมีความรู้ในงานนั้นไม่มากพอ เพราะไม่ได้จบมาโดยตรง เราก็ควรมีการวางแผนและเตรียมตัวให้พร้อม อย่างแรกคือลองศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับงานต่าง ๆ ที่อยู่ในสายงานนั้นให้มากที่สุด ทบทวนว่าตัวเองมีทักษะอะไรบ้างที่นำมาปรับใช้กับงานนั้นได้ ถ้ายังมีทักษะไม่เพียงพอก็ลองหาคอร์สเรียนเพิ่มเติม รวมถึงพยายามเพิ่มประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น เช่น ทำงานพาร์ทไทม์ อาสาทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือช่วยให้เราได้ทักษะที่จำเป็นในการทำงานนี้ เชื่อว่าการที่เราวางแผนการทำงานแบบนี้จะทำให้เราก้าวเข้าสู่สายงานนั้นได้ราบรื่นมากขึ้น มีเป้าหมายในอนาคตชัดเจน และสามารถเดินทางไปสู่สำเร็จได้อย่างมั่นคงแน่นอน

 

ทำให้ดีที่สุด และยอมรับในสิ่งที่เลือก

เมื่อค้นพบตัวเองแล้วว่าอยากเดินไปทางไหน และเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการทำงานนั้นแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราต้องลงมือทำ เดินหน้าทำงานสายงานที่เราต้องการ ซึ่งเราควรจะทุ่มเทให้มันเต็มร้อย พยายามอย่างเต็มที่ ให้คิดว่าการทำงานไม่ตรงสายที่จบก็เหมือนการเดินถอยหลังมาหนึ่งก้าว เราต้องตามคนอื่นให้ทัน รวมถึงให้คิดว่าโชคดีแค่ไหนที่เราได้เจอสิ่งที่อยากทำจริง ๆ และนำทุกอย่างมาเป็นแรงกระตุ้นให้เรามีความตั้งใจและทุ่มเทกับมัน แต่ถ้าสุดท้ายแล้วเราค้นพบว่าทางที่เราเลือกมันกลับไม่เวิร์กอย่างที่คิดไว้ ก็อยากให้ยืดอกยอมรับกับสิ่งที่เราได้เลือกไปแล้ว คิดซะว่ามันเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโตขึ้น ไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะเจอสิ่งใหม่และเส้นทางที่เหมาะกับเราจริง ๆ ก็ได้

 

เทคนิคสัมภาษณ์ที่คนอยากเปลี่ยนสายงานต้องอ่าน

 

การค้นหาตัวเองทำได้ตลอดชีวิต เพราะประสบการณ์ทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงและเติบโตอยู่เสมอ ดังนั้นทุกครั้งที่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร ลองให้โอกาสตัวเอง อย่าไปคิดเสียดายเวลาที่ผ่านมา อย่าไปกลัวอนาคต รวมถึงอย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เขาได้ทำงานที่ตรงกับที่เรียนมาและไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าเรา เพราะสุดท้ายไม่ว่าเราจะเลือกแบบไหนก็ไม่มีถูกหรือผิด หากเรามั่นใจและมีเป้าหมาย ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน

ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

 

ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่

Spotify

Soundcloud

Apple Podcasts

Google Podcasts

Anchor

 

 
JobThai Official Group
Public group · 200,000 members
Join Group
 

tags : jobthai, หางาน, คนทำงาน, สมัครงาน, งาน, เด็กจบใหม่, ข้ามสายงาน, นักศึกษาจบใหม่, jobs, new grad, fresh grad, career & tips, fresh graduate, จบใหม่ต้องรู้



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม