ความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจที่มาพร้อมการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ทำให้คนทำงานต้องประสบกับสถานการณ์เลิกจ้างกะทันหัน หลายคนเกิดความวิตกกังวล ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ วันนี้ JobThai จะมาช่วยไขข้อข้องใจประเด็นร้อนที่ว่า เมื่อโดนเลิกจ้างต้องทำอย่างไร พร้อมแนะนำวิธีการรับมือที่เป็นประโยชน์ต่อคนทำงาน
กรณีเลิกจ้างด้วยสาเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้งานเพื่อลดแรงงานคน บริษัทต้องแจ้งลูกจ้างให้ทราบล่วงหน้า 60 วัน ถ้าไม่แจ้งล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน บริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกล่วงหน้าให้กับลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วันสุดท้าย
กรณีไหนบ้างที่บริษัทไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย
ตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 119 ระบุกรณีการเลิกจ้างที่บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง มีดังนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน โดยหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ขั้นตอนต่อไปให้เช็กสิทธิเงินชดเชยที่พนักงานพึงได้รับ ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ดังนี้
เงินค่าชดเชยตามอายุงาน
เงินชดเชยก้อนแรกจะได้รับจากนายจ้างตามอายุงานดังต่อไปนี้
- ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับเงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้ายจำนวน 30 วัน
- ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับเงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้ายจำนวน 90 วัน
- ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับเงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้ายจำนวน 180 วัน
- ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้ายจำนวน 240 วัน
- ทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้ายจำนวน 300 วัน
เงินทดแทนจากการว่างงาน
เงินชดเชยก้อนสองจะได้รับจากการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 รับเงินชดเชย 50% โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างสุดท้าย สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท จำนวน 180 วัน
การโดนเลิกจ้างกะทันหันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่แทนที่จะมากังวล เปลี่ยนมาเป็นศึกษากฎหมายแรงงาน ว่าเมื่อโดน Layoff ทำยังไงแทนดีกว่า ไปดูพร้อมกันเลย
1. เรียกร้องเงินชดเชยจากนายจ้าง
หลังจากโดนเลิกจ้างกะทันหัน ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิเรียกร้องเงินชดเชยจากนายจ้างตามอัตราที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดได้ทันที
2. ติดต่อประกันสังคมเพื่อใช้สิทธิว่างงาน
สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานจะได้รับความคุ้มครองในกรณีว่างงาน หลังจากมีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
โดยเราจะต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านทางเว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลาออก ถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือจะติดต่อสำนักงานประกันสังคมด้วยตัวเองก็ได้
3. วางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม
ถึงแม้จะได้รับเงินชดเชยสองก้อนจากนายจ้างและประกันสังคมแล้ว แต่ก็ไม่ควรใช้จ่ายโดยประมาท แนะนำให้วางแผนการเงินให้ดี
4. มองหางานใหม่ทันที
แม้จะได้รับเงินชดเชยเพื่อเยียวยาจากสถานการณ์ไม่คาดฝัน แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ หากเราไม่ได้มีแหล่งรายได้อื่นและไม่ได้มีเงินสำรองฉุกเฉินมากนักก็ควรรีบค้นหางานให้ได้เร็วที่สุด
ไขข้อข้องใจเป็นที่เรียบร้อยกับคำถามที่ว่า “โดนเลิกจ้าง ทำยังไง” หลังจากนี้ หากเกิดเหตุไม่คาดคิดอย่างโดนเลิกจ้างกะทันหัน ลูกจ้างไม่ต้องกังวลใจอีกต่อไป สามารถเรียกร้องสิทธิรับเงินชดเชยได้ทันที และหากนึกถึงการหางานใหม่ JobThai มีตำแหน่งงานมากมายจากหลายอุตสาหกรรม พร้อมฟีเจอร์หางานหลากวิธีที่จะช่วยให้คุณได้งานที่ตรงใจได้ไม่ยาก!
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน