รู้จัก Rage Applying เทรนด์ร่อนใบสมัครงานด้วยความโกรธแค้น

รู้จัก Rage Applying เทรนด์ร่อนใบสมัครงานด้วยความโกรธแค้น
13/06/23   |   5.7k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ปัจจุบันมีคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์หรือเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “The Great Resignation” ปรากฏการณ์การลาออกครั้งยิ่งใหญ่ หรือ “Quiet Quitting” การทำงานแบบคนหมดใจ แค่ทำตามหน้าที่ให้งานเสร็จไปวัน ๆ ซึ่งคำเหล่านี้ก็มีเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนมาถึงคิวของ “Rage Applying” หรือเทรนด์การสมัครงานด้วยความโกรธแค้นที่ก่อตัวขึ้นในหมู่คนทำงานอายุน้อยอย่างกลุ่ม Gen Z ว่าแต่การสมัครงานด้วยความโกรธเป็นยังไง แล้วเราใช้วิธีนี้หางานได้จริงหรือเปล่า วันนี้ JobThai จะมาแชร์ให้ได้รู้กัน

 

ทำความรู้จัก The Great Resignation และ Quiet Quitting
เมื่อพนักงานไม่ได้แค่หมดไฟแต่หมดใจในการทำงาน

 

Rage Applying คืออะไร?

Rage Applying คือคำที่ใช้เรียกเทรนด์การร่อนใบสมัครงานแบบรัว ๆ โดยไม่สนใจว่าตำแหน่งงานที่สมัครไปจะเป็นตำแหน่งอะไรหรือต้องทำงานแบบไหนบ้างเนื่องจากโกรธแค้นที่ถูกองค์กรมองข้าม โดนเอาเปรียบหรือปฏิบัติด้วยแบบไม่เป็นธรรม ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือน องค์กรเป็น Toxic Workplace ทำให้ไม่แฮปปี้กับการทำงานอีกต่อไป

 

โดยเทรนด์นี้มีที่มาจากผู้ใช้งาน TikTok บัญชีหนึ่งที่ออกมาโพสต์วิดีโอแชร์เรื่องราวของตัวเองให้ฟังว่าเธอไม่พอใจองค์กรก็เลยหว่านใบสมัครงานไปหาบริษัทอื่นถึง 15 บริษัท ซึ่งก็ทำให้เธอได้งานที่มีค่าตอบแทนมากขึ้นถึง 25,000 ดอลลาร์ และแนะนำคนอื่น ๆ ให้ลองสมัครงานแบบ Rage Applying ดู เพราะอาจช่วยให้ได้งานที่เงินเดือนสูงกว่าเดิมหลายเท่าแบบเธอก็ได้ ซึ่งหลังจากที่เธอโพสต์คลิปนี้ได้ไม่นาน วิดีโอของเธอก็กลายเป็นไวรัลที่มียอดคนดูกว่า 2 ล้านครั้ง และมีคนอื่น ๆ เข้ามาคอมเมนต์แชร์ประสบการณ์ Rage Applying ในคลิปวิดีโอของเธอว่าลองแล้วได้เงินเพิ่มขึ้นจริง ๆ เท่านั้นไม่พอ ยังมีผู้ใช้งาน TikTok คนอื่น ๆ ที่ออกมาแจมด้วยการโพสต์คลิปแชร์เรื่องราวการสมัครงานแบบ Rage Applying ด้วย ทำให้แฮชแท็ก #RageApply มียอดชมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในปัจจุบันยอดเข้าชมก็พุ่งสูงถึง 16 ล้านครั้ง เรียกได้ว่ากลายเป็นเทรนด์หว่านใบสมัครโหดด้วยความโกรธบริษัทที่มาแรงสุด ๆ

 

ถึงแม้การหว่านใบสมัครงานจะเป็นสิ่งที่มีมาแต่ไหนแต่ไร เนื่องจากคนหางานหลาย ๆ คนก็ใช้วิธีนี้กันมานานแล้ว แต่ Rage Applying นั้นเป็นการหว่านใบสมัครแบบมีความโกรธแค้นและความต้องการไปจากองค์กรที่ทำงานอยู่เป็นแรงกระตุ้น ทำให้ต่างจากการหว่านใบสมัครทั่ว ๆ ไปที่อาจจะทำเพราะมองว่าเป็นการเพิ่มโอกาสได้งานเฉย ๆ นั่นเอง โดยเทรนด์นี้กลายเป็นกระแสในหมู่คนทำงานวัย Gen Z ก็เพราะคนกลุ่มนี้มีตัวเลือกในการทำงานมากขึ้นและต้องการทำงานที่ทำให้พวกเขารู้สึกมีความหมาย ได้ค่าตอบแทนที่ดี ถ้าพวกเขามองว่าตัวเองไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีจากองค์กร ถูกมองข้าม ไม่มีใครเห็นคุณค่า หรือค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับความพยายาม พวกเขาก็เลือกที่จะมองหางานใหม่ที่เติมเต็มความต้องการของพวกเขาได้มากกว่า

 

6 สัญญาณที่บอกว่าคุณควรคิดเรื่องหางานใหม่

 

สมัครงานแบบ Rage Applying เวิร์กจริงไหม?

การสมัครงานแบบ Rage Applying นั้นเป็นการสมัครงานที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้สึก “อยากหนีออกมาจากจุดที่ตัวเองอยู่” มากกว่า “วิ่งไปหาจุดที่ตัวเองต้องการ” หรือเรียกง่าย ๆ ว่าแค่อยากหลุดพ้นออกจากองค์กรเดิมให้เร็วที่สุดโดยไม่แคร์ว่าตัวเองจะย้ายไปอยู่ที่ไหน ทำงานอะไร ซึ่งการสมัครงานด้วยความโกรธแบบนี้แม้จะช่วยให้เราหลุดออกมาจากบริษัท Toxic หรือสถานการณ์ที่ไม่แฟร์ได้ก็จริง แต่ก็อาจทำให้เรามองข้ามความต้องการจริง ๆ ของตัวเอง ไม่ได้พิจารณาเนื้องานใหม่ให้ถี่ถ้วนพอ รวมถึงไม่ได้ไตร่ตรององค์กรใหม่ให้ดีว่าเป็นองค์กรแบบไหน ทำธุรกิจอะไร และการทำงานใหม่นั้นจะส่งผลยังไงกับ Career Growth ของเราบ้าง ถึงจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวก็อาจทำให้เราไม่มีความสุขกับการทำงานและต้องลงเอยด้วยการมองหางานใหม่อีกอยู่ดี

 

ดังนั้นแม้เราจะโมโหหรือไม่พอใจบริษัทยังไง ก็อยากให้ลองทบทวนดูก่อนว่าสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นร้ายแรงถึงขั้นต้องร่อนใบสมัครงานแบบ Rage Applying จริง ๆ ไหม มีวิธีอื่นที่ช่วยแก้สถานการณ์ได้หรือเปล่า ก่อนจะตัดสินใจยื่นใบสมัครควรรอให้อารมณ์เย็นลงก่อน มองหาต้นตอของปัญหาว่าเกิดจากอะไร อย่าเพิ่งใช้อารมณ์โกรธเพียงชั่ววูบนี้มาขับเคลื่อนตัวเอง เพราะสุดท้ายเราอาจไปเจองานใหม่ที่แย่กว่าเดิม และทำให้เราผิดหวังกับการตัดสินใจของตัวเองเอาได้

 

4 เรื่องที่คุณต้องรู้ก่อนตัดสินใจ 'ลาออก' จากพอดแคสต์ Career Talk

 

ทางออกอื่นที่ไม่ใช่ Rage Applying

  • ตั้งสติแล้วพิจารณาปัญหาให้ถี่ถ้วน
    เมื่อเราโกรธหรือรู้สึกไม่พอใจองค์กร ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นอะไรก็ตาม อย่าเพิ่งปล่อยให้อารมณ์โกรธชักนำและรีบลาออกหรือหางานใหม่โดยไม่ได้พิจารณาให้ดี เพราะบางทีปัญหาก็อาจสามารถแก้ไขได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องย้ายงาน ก่อนอื่นเราควรระบุสิ่งที่องค์กรทำให้เราไม่พอใจก่อนว่าคืออะไร เช่น เราโกรธเพราะได้ค่าตอบแทนน้อย ทำงานแล้วไม่ก้าวหน้า องค์กรไม่เห็นค่าของเรา หรือองค์กรให้เราทำงานหนักเกินไป ไม่มี Work-life Balance เมื่อหาสาเหตุเจอแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการมองหาวิธีแก้ปัญหาว่าเราจะทำยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้นดี พูดกับหัวหน้าได้ไหม หรือฟีดแบ็กเรื่องให้ HR ได้หรือเปล่า

 

  • เปิดอกพูดคุยกับหัวหน้าหรือ HR เพื่อแก้ปัญหา
    ในกรณีเรายังโอเคกับองค์กร มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถพูดคุยและเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันได้ บริษัทยังรับฟังเสียงของพนักงาน เราอาจลองหาโอกาสฟีดแบ็กให้หัวหน้าของเรารับรู้ เช่น เรารู้สึกว่าภาระงานของเราหนักเกินไป ทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน หรือได้ค่าตอบแทนไม่เหมาะสม ทำงานมานานแล้วแต่ไม่ก้าวหน้า เพื่อให้หัวหน้าช่วยหาทางแก้ไขหรือนำเรื่องนี้ไปคุยกับองค์กรต่อ หรือในกรณีที่เราไม่สามารถพูดคุยเรื่องนี้กับหัวหน้าได้เพราะหัวหน้าเป็นต้นตอของปัญหา เราก็อาจลองพูดคุยกับทาง HR เพื่อหาวิธีแก้ไขร่วมกันแทน

 

  • มองหางานใหม่ด้วยความรอบคอบ
    ถ้าการเจรจาพูดคุยกับหัวหน้าหรือองค์กรไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้ และเรามองว่าการลาออกคือคำตอบของปัญหานี้ ก็ค่อย ๆ มองหางานที่เข้ากับตัวเองโดยไม่ใช้อารมณ์เป็นตัวนำ ลองสำรวจเป้าหมายและความต้องการของตัวเองดูก่อนว่าอยากทำงานแบบไหน เช่น อยากทำงานในตำแหน่งเดิมแต่เปลี่ยนบริษัท หรืออยากทำงานในสายงานเดิมแต่ระดับสูงขึ้น จากนั้นก็เริ่มต้นหางานด้วยความรอบคอบ พิจารณารายละเอียดงาน หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สวัสดิการ เงินเดือน และชื่อเสียงของบริษัทให้ดี และที่สำคัญ อย่าหว่านเรซูเม่ไปทั่ว ต้องปรับแต่งเรซูเม่ พอร์ตโฟลิโอ และจดหมายสมัครงานให้เหมาะกับแต่ละตำแหน่งงานที่เราสมัครไปด้วย

 

4 เทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหางาน

 

แม้เทรนด์หว่านใบสมัครงานด้วยความโกรธแค้นอย่าง Rage Applying จะกลายเป็นกระแสที่ฮิตในหมู่คน Gen Z เนื่องจากช่วยให้ได้งานใหม่ที่ค่าตอบแทนสูงขึ้นจริง หรือหลุดพ้นจากองค์กรที่ทำให้เราไม่แฮปปี้ได้ แต่ในระยะยาว วิธีการสมัครงานแบบนี้ก็อาจไม่ได้เวิร์กเสมอไป ดังนั้นเราจึงไม่ควรปล่อยให้ความโกรธแค้นเป็นแรงกระตุ้นในการหางาน และพิจารณามองหางานด้วยความใจเย็น รอบคอบและมีสติ

ฝากประวัติ (Resume) ไว้กับ JobThai เพิ่มโอกาสได้งานโดยไม่ต้องส่งใบสมัคร คลิกเลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

ที่มา:

time.comforbes.comdailymail.co.ukfirstpost.comworklife.newstheskimm.comthemuse.combiospace.com

tags : jobthai, career & tips, rage applying, rage apply, งาน, หางาน, สมัครงาน, คนทำงาน, หว่านใบสมัคร, เทรนด์หางาน, เทรนด์สมัครงาน, เทรนด์คนทำงาน, คนหางาน, ปัญหาในการทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, gen z



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม