เจษฎา ศิรินิรันดร์: นักเรียนการบิน จุดเริ่มต้นเส้นทางสู่การไปถึงฝันของการเป็นนักบิน

16/02/18   |   9.5k   |  

เมื่อนึกถึงสายอาชีพทางด้านการบิน หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึง แอร์โฮสเตส เพราะเป็นอาชีพยอดนิยม แต่อีกหนึ่งอาชีพที่คนมักจะนึกถึงขึ้นมาพร้อม ๆ กันก็คงจะหนีไม่พ้นอาชีพ “นักบิน” อาชีพในฝันของใครหลายคนนั่นเอง

แต่กว่าที่จะได้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่นักบิน คนสำคัญที่ต้องดูแลชีวิตคนกว่าร้อยชีวิตบนเครื่องบิน ได้แต่งเครื่องแบบเท่ ๆ นั่งทำงานอยู่ในห้องทำงานที่มองออกไปเห็นท้องฟ้าและพื้นโลก พวกเขาเหล่านั้นต้องผ่านการทดสอบและต้องเรียนรู้อะไรบ้าง วันนี้ JobThai ได้เชิญคุณโจ้ เจษฎา ศิรินิรันดร์ นักเรียนการบิน ที่หันหลังให้กับอาชีพในสายเศรษฐศาสตร์และการเงินมาเป็นนักบิน เพื่อเติมเต็มความฝันของตัวเอง มาบอกเล่าถึงขั้นตอนและเส้นทางต่าง ๆ ในการไปสู่อาชีพนักบิน ให้กับคนที่กำลังสงสัยและสนใจในสายอาชีพนี้ได้ทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน

 

 

  • ขั้นตอนการสอบเพื่อเข้ามาเป็นนักบิน จะมีทั้งการสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ และสอบด้านจิตวิทยา ในการสอบข้อเขียนส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ส่วนการสอบสัมภาษณ์จะเป็นการสัมภาษณ์โดยให้ทำกิจกรรมบางอย่างไปพร้อม ๆ กันด้วย เพื่อทดสอบว่าประสาทสัมผัสของเราแยกกันได้ไหม สามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกันภายใต้ความกดดันได้หรือเปล่า และเมื่อได้เป็นนักบินแล้ว ก็ยังจะต้องมีการสอบอีกทุก ๆ ครึ่งปี
  • ในช่วงที่เรียนจะแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ เรียนการขับเครื่องบินขั้นพื้นฐานกับเครื่องบินเล็ก ก่อนจะเข้าบริษัทเพื่อเรียนกับเครื่องบินพาณิชย์ต่าง ๆ ซึ่งมีระบบและเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้น พร้อม ๆ กับเรียนรู้เรื่องกฎระเบียบการบินต่าง ๆ ด้วย
  • คุณสมบัติสำคัญของคนที่จะเป็นนักบินได้ คือคนที่มีกระบวนความคิดที่เป็นระบบ ทำงานและตัดสินใจภายใต้ความกดดันและเวลาที่จำกัดได้อย่างรวดเร็วแต่มีประสิทธิภาพ
     

 

คุณโจ้เรียนจบปริญญาตรีและปริญญาโทในสายเศรษฐศาสตร์และการเงิน และทำงานสายนี้มาตลอด ทำไมอยู่ดี ๆ ถึงคิดอยากจะผันตัวเองมาเป็นนักบิน

ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยคิดจะเป็นนักบินมาก่อน ช่วงแรก ๆ ที่ทำงานก็จะทำงานในสายเศรษฐศาสตร์ สายการเงิน ทำงานด้านวิเคราะห์วางแผนธุรกิจ และก็เคยทำงานให้การปรึกษาเรื่องการลงทุนของบริษัท แต่อยากจะลองทำอะไรใหม่ ๆ ดูบ้าง ด้วยความที่ชอบเดินทางเยอะอยู่แล้ว และเราก็อยากจะเจออะไรที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว แล้วก็วัฒนธรรมต่างชาติ เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อนก็เลยลองสมัครเป็นสจ๊วต พอได้ทำงานเป็นสจ๊วตก็รู้สึกว่ามันสนุกดีนะ ได้เดินทางไปนู่นไปนี่ก็สนุกดี เวลาได้ไฟล์ทเดินทางที่ต้องไปค้างที่ต่าง ๆ เราก็จะรู้สึกเหมือนกึ่งเที่ยวกึ่งทำงานไปพร้อม ๆ กัน ทีนี้ก็เริ่มอยากจะเติบโตมากกว่าเดิมเลยมองหาอะไรที่มันท้าทายมากกว่าเดิม สุดท้ายก็ลองสอบเป็นนักบิน

 

 

การสอบเพื่อเป็นนักบินต้องมีการเตรียมตัวอย่างไร และมีขั้นตอนการสอบยังไงบ้าง

นักบินของแต่ละสายการบินเขาจะมีเปิดสอบเป็นบางปี แล้วก็มีระยะเวลาที่แตกต่างกัน เราก็ต้องดูก่อนว่าระยะเวลาที่เขารับสมัครเนี่ยเมื่อไหร่ เพราะส่วนใหญ่จะมีเวลาเปิดรับสมัครที่สั้นมาก อาจจะแค่สองอาทิตย์หรือเดือนนึง ซึ่งก็จะมีเว็บไซต์หลาย ๆ เว็บไซต์นะครับที่เขาบอก หรือไม่ก็เข้าไปดูตามเว็บไซต์ของสายการบินนั้น ๆ ก็ได้

ส่วนขั้นตอนการจะเป็นนักบินมันมีหลายขั้นตอนมาก ไม่ว่าจะสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ สอบจิตวิทยาการบิน ตรวจร่างกาย อย่างข้อสอบข้อเขียนส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ ม.ปลาย คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ถ้าเราห่างเหินจากสายนี้มานานก็คงต้องอ่านหนังสือ ทำโจทย์ ทบทวนเยอะทีเดียว บางสายการบินจะมีกฎด้วยว่า ตอบถูกได้คะแนนนะ แต่ถ้าตอบผิดก็หักคะแนนด้วย เพราะฉะนั้นจะมามั่ว หรือพึ่งดวงอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องทำได้จริง ๆ

แล้วก็ต้องมีสอบจิตวิทยาเพื่อดูว่าคุณเป็นคนปกติไหม เขาบอกว่าบุคลิกของคนที่เหมาะสมจะเป็นนักบิน คือคนที่สามารถโฟกัส มีสมาธิและทำงานอยู่คนเดียวได้ คนแบบนี้จะควบคุมเครื่องบินได้ดี ตัดสินใจได้ไว แต่ในขณะเดียวกันถ้าคุณอยู่กับตัวเองมากไป จนเข้าสังคมกับคนอื่นไม่ได้ พูดจากับใครไม่รู้เรื่อง คุณก็จะเป็นคนผิดปกติอยู่ดี คุณต้องบาลานซ์ระหว่างการมีสมาธิในการทำงาน การโฟกัสสิ่งต่าง ๆ การตัดสินใจด้วยตัวเองได้อย่างรวดเร็ว แล้วก็ต้องสื่อสารกับคนรอบข้างได้ด้วย

 

แล้วในส่วนของการสัมภาษณ์ มีวิธีการสัมภาษณ์ หรือคำถามโหด ๆ บ้างไหม

มีครับ คือคนที่จะเป็นนักบินทุกคนต้องผ่านขั้นตอนการสอบเกี่ยวกับเรื่อง Multitasking การทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เพื่อดูว่าประสาทสัมผัสของเราสามารถแยกกันได้ไหม

 

เล่าสถานการณ์ที่เคยเจอให้ฟังได้ไหม

ที่เคยเจอก็คือ เขาจะมีกระดาษให้เราหนึ่งแผ่น ถือดินสอสองข้าง บนกระดาษจะมีวงกลมที่เชื่อมเป็นจุด ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ มีเส้นซ้าย เส้นขวา เวลาที่เขาเคาะให้สัญญาณหนึ่งครั้ง เราจะต้องลากดินสอเดินไปที่จุดถัดไปหนึ่งครั้ง ซ้ายขวาสลับกันไป และถ้าแอดวานซ์กว่านั้นคือเขาจะมีทั้งจุดที่เป็นวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม แต่ให้เราเดินเฉพาะจุดที่เป็นวงกลมอย่างเดียว

ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้ให้เราทำแค่นี้ เขาจะถามคำถามให้เราคิดด้วย เช่น เขาอาจจะถามเรื่องพื้นฐานส่วนตัวทั่วไป บางทีอาจจะมีโจทย์คณิตศาสตร์ โจทย์ฟิสิกส์ให้เราทำ หรือถามคำถามเพื่อดึงดูดความสนใจของเรา เช่น ถามว่าห้องนี้มีไฟกี่ดวง ตาเราเนี่ยนอกจากจะมองกระดาษเราเพื่อเดินตามจุดแล้ว ก็ต้องมองไฟไปด้วย บางทีคำถามอาจจะเป็นเรื่อง Sensitive เจาะไปในเรื่องส่วนตัว เช่น เขามองว่าเราเป็นคนมีบุคลิกแบบนี้ มีมุมมองด้านนี้ หรือมีปมอะไรบางอย่างที่เขาจับได้ เขาก็จะถามคำถามกระแทกปมเราเลย แล้วดูว่าเราจะเกิดอาการยังไง เราจะหลุดไหม หรือเราสามารตั้งสติควบคุมได้ไหม

การทดสอบแบบนี้เป็นพื้นฐานที่จำเป็น เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินบนเครื่องบิน เรายังจะต้องตั้งสติและควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คือเขาต้องการทดสอบว่าเราสามารถทำหลาย ๆ อย่างภายใต้ความกดดันได้ไหม

 

พอถึงเวลาที่ได้เข้ามาเรียนการบินแล้ว เขาเรียนอะไรกันบ้าง

จะมีอยู่สองส่วนด้วยกันนะครับ ส่วนแรกเราจะต้องเรียนการขับเครื่องบินพื้นฐานก่อน คือพูดง่าย ๆ ว่าถ้าเราไม่มี Auto Pilot ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ที่คอยช่วยควบคุมการบินอัตโนมัติ เราจะทำยังไงให้สามารถขับเครื่องบินให้มันบินขึ้นไปได้ และก็ลงมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งช่วงแรกเนี่ยจะเรียนกับเครื่องบินเล็กก่อน แล้วพอจบจากตรงนี้แล้วก็จะเข้าไปที่บริษัท ไปเรียนเครื่องบินใหญ่ ก็จะเป็นเครื่องบินพาณิชย์ ที่ใช้เดินทางใช้โดยสารทั่ว ๆ ไป จะเรียนเรื่องกลไกและระบบต่าง ๆ ของเครื่องบิน ซึ่งระบบจะซับซ้อนมากขึ้น และก็มีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็คงจะต้องเรียนรู้เรื่องกฎระเบียบด้านการบินด้วย เพราะว่าการจะเป็นนักบินของสายการบินได้เนี่ย มันจะถูกกำกับด้วยกฎระเบียบเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจแล้วก็ต้องมีความรู้ที่จริงจังกับเรื่องนี้

 

หลังจากที่ได้เริ่มมาสัมผัสกับงานด้านการบินแล้ว คุณโจ้คิดว่าความท้าทายของอาชีพนักบินคืออะไร

อาชีพนักบินเราทำงานอยู่บนฟ้า ถ้าเกิดเราทำอะไรผิดพลาดไป โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงมันมีสูงมากจริง ๆ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงความท้าทายเนี่ย คงจะเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหา คือถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราก็คงจะต้องมีกระบวนการตัดสินใจที่รวดเร็วและฉับไวมาก ถ้าทำงานอย่างอื่นมันอาจจะมีเวลาให้เราตัดสินใจได้เยอะอยู่ แต่ตรงนี้เนี่ยเราอาจจะมีเวลาแค่ไม่ถึงหนึ่งนาที โดยที่เรากำชีวิตของคนหลายร้อยคนบนเครื่องบินเอาไว้ ตรงนี้แหละครับที่น่าจะยาก

ถ้าเป็นรถยนต์เราอาจไม่ต้องรู้ระบบอะไรของมันเยอะมาก รู้แค่ว่าต้องขับไปยังไง ถ้ามีปัญหาอะไรขึ้นมา เราสามารถจอดข้างทางได้ เอาเข้าอู่ซ่อมได้ แต่เครื่องบินเนี่ยเราต้องรู้กลไกของมัน เพราะเราจอดเครื่องบินบนฟ้าไม่ได้ ถ้ามันเกิดปัญหาขึ้นมาเราต้องวิเคราะห์ให้ได้ก่อนว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้น พอเรารู้ปัญหาแล้ว เราก็ต้องมาคิดว่าจะแก้ไขสถานการณ์ยังไง เราจะวางแผนยังไง เราจะขอความช่วยเหลือใครได้บ้าง

อีกอย่างคือเรื่องกฎการบิน ซึ่งสำคัญมาก ทุกขั้นตอนที่คุณทำเนี่ยเขาจะมีคนคอยสอดส่องอยู่ ถ้าเราทำอะไรผิดจะมีการแจ้งรายงานและมีการสืบสวนทันที แล้วก็อาจจะถูกบทลงโทษต่าง ๆ ได้ด้วย ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังรอบคอบ และถึงแม้จะได้เป็นนักบินแล้วก็จะมีการสอบอีกทุก ๆ ครึ่งปี ทั้งสอบวัดความรู้ แล้วก็สอบจำลองสถานการณ์ ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้บนเครื่องบิน คุณจะตัดสินใจยังไง เพราะฉะนั้นคุณต้องอ่านหนังสือตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเข้าไปได้แล้วจบ

และการเป็นนักบินเนี่ย เราจะต้องเป็นคนที่อัปเดตความรู้อยู่เสมอ เพราะเครื่องบินมันก็จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอด เราก็ต้องศึกษาหาความรู้ หรือมีกฎระเบียบอะไรใหม่ ๆ ออกมา เราก็ต้องรู้และตามทัน เพราะถ้าเกิดเราปฏิบัติผิดกฎการบิน ต่อให้ไม่เกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้น เราก็ต้องรับผิดชอบอยู่ดี

 

 

รู้สึกว่างานสายนี้มันแตกต่างกับสายเศรษฐศาสตร์ สายการเงินที่เคยทำมากขนาดไหน

ในเรื่องของสายอาชีพเนี่ย มันต่างกันมาก ๆ แน่นอน เพราะว่าเดิมทีเนี่ยเราอยู่กับตัวเลข อยู่กับข้อมูล บางทีการที่เราวางแผนหรือการวิเคราะห์ธุรกิจอะไรต่าง ๆ ก็อาจจะเกิดความผิดพลาดอะไรบางอย่างได้ เพราะมันเป็นเรื่องของการประมาณการ และพื้นฐานความรู้ที่ใช้ก็เป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์การเงิน แต่พอเราต้องมาทำงานด้านการบินเนี่ย ก็ต้องไปเริ่มสตาร์ทความรู้ใหม่เลย

อย่างตอนสอบพวกคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์เราก็ค่อนข้างห่างเหิน โดยเฉพาะฟิสิกส์เราก็อาจจะต้องอ่านหนังสือทบทวน ส่วนในเรื่องของพาร์ทที่เป็นการเรียนการบิน อันนี้คือมันต้องเริ่มต้นใหม่กันแทบทุกคนเลย เพราะถ้าไม่ได้เรียนด้านการบินมาโดยตรง เช่น พวกวิศวการบิน หรือเรียนโรงเรียนที่สอนด้านการบินโดยเฉพาะ ก็น่าจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการบิน แต่เรื่องฟิสิกส์อะไรต่าง ๆ เนี่ย ถ้ามีพื้นฐานก็สามารถช่วยได้

 

แสดงว่าถ้าเรียนจบทางด้านการบินโดยตรง เราสามารถไปสมัครบริษัทได้เลยใช่ไหม

ใช่ครับ สามารถสมัครได้เลย คือจะเป็นนักบินได้ต้องมีใบอนุญาต เป็นใบอนุญาตนักเรียนพาณิชย์ตรี ถ้าจบจากมหาวิทยาลัยที่เรียนเฉพาะด้านการบิน สุดท้ายก็จะได้ใบนี้มาเหมือนกัน แต่ว่าขั้นตอนอาจจะต้องไปสมัครกับบริษัทอีกทีเพื่อที่จะสอบเป็นนักบินของเขา แล้วก็ไม่ต้องมาเรียนซ้ำเรื่องพื้นฐานตรงนี้แล้ว จะได้ไปเรียนเครื่องบินใหญ่ในบริษัทเลย

แต่อย่างเราพอบริษัทเขารับเราแล้ว เราจะต้องไปเรียนพื้นฐานก่อนหนึ่งปี แล้วค่อยมาเรียนกับบริษัท หลังจากที่เรียนที่โรงเรียนการบินพื้นฐานเสร็จแล้ว ก็จะสามารถสอบใบประกาศได้เลย

 

ในเรื่องของคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นนักบิน คุณโจ้คิดว่าควรจะเป็นคนแบบไหน

จริง ๆ แล้วเนี่ยเวลาขับเครื่องบินมันไม่ยาก แค่กดปุ่มต่าง ๆ และทำตามขั้นตอน คือถ้าเราอ่านตามขั้นตอน และรู้ว่าปุ่มไหนอยู่ตรงไหน เราก็ทำงานได้แล้ว แต่ที่เขาจ้างเรามาทำคือในกรณีที่เครื่องพวกนี้มันใช้ไม่ได้ขึ้นมา เรายังต้องสามารถควบคุมเครื่องบินได้อยู่ เพราะฉะนั้นเนี่ย คุณสมบัติของคนที่จะเป็นนักบินได้ หนึ่ง ต้องมีกระบวนการความคิดที่ชัดเจน จะต้องรู้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง เรียงลำดับความสำคัญได้

อย่างที่สองก็ต้องทำงานหลาย ๆ อย่าง ภายใต้ความกดดันได้ เพราะว่าพอถึงเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา เราจะต้องควบคุมเครื่องบิน ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องสื่อสารกับคนรอบข้างด้วยว่าเครื่องบินเรามีปัญหาอย่างไร เราจะต้องรายงานเขา เราจะต้องควบคุมเครื่องบินไปด้วย วิเคราะห์สถานการณ์ไปด้วย บางกรณีมีเวลาให้ตัดสินใจแค่ 2-3 วินาที คุณจะต้องตัดสินใจให้ได้และก็ลงมือทำ

 

อยากจะให้ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเป็นนักบินว่าเขาควรจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

อันดับแรกเลยก็คือ กำลังใจต้องมาก่อน เราต้องสู้ก่อน คนที่อยากจะเป็นนักบินมีเยอะมาก อย่างสายการบินในไทย ปี ๆ นึงจะมีนักเรียนการบินประมาณร้อยกว่าคน แต่คนสมัครเกือบหมื่น เพราะฉะนั้นขั้นตอนการต่อสู้มันเยอะมาก คู่แข่งเยอะ และสู้กับตัวเองด้วย

ส่วนที่สองคือ น่าจะเป็นเรื่องของการค้นคว้าหาความรู้ เราต้องอัปเดตตลอด อย่างที่บอกนะครับก่อนที่เราจะเข้ามาเราต้องอ่านหนังสือเก็บความรู้ไว้เยอะแล้ว แล้วก็ระหว่างที่เรียนเนี่ยมันจะมีความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก

 

แล้วสำหรับน้อง ๆ ที่อยากจะทำงานในสายอาชีพที่ไม่ได้เรียนมาแบบคุณโจ้ คุณโจ้มีคำแนะนำอะไรให้กับน้อง ๆ กลุ่มนี้บ้างไหม

อยากจะให้ค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบให้ได้ก่อน จริง ๆ สำคัญมากนะครับ อย่างช่วงแรก ๆ ที่ทำด้านสายการเงินเราก็ชอบนะ แล้วก็มีความสุขกับตรงนั้น ยิ่งตอนเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินเราก็มีโอกาสได้คุยกับ CEO หรือ CFO ของบริษัท คือเราก็เป็นแค่เด็กอายุยี่สิบกว่าคนนึง แต่เราสามารถช่วยวิเคราะห์ ช่วยให้คำแนะนำกับบริษัทใหญ่ ๆ ได้ เราก็รู้สึกว่าตรงนั้นน่ะตื่นเต้นท้าทายแล้วนะ

แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีความใฝ่ฝันว่าเราชอบท่องเที่ยว เราเลยคิดว่าลองดู ลองเปลี่ยนสายดู คือเรารู้ว่าเป้าหมายของเรามีอะไรบ้าง หนึ่งเราอยากจะได้อาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ สองเราชอบการเดินทาง ชอบการท่องเที่ยว ก็เลยลองเปลี่ยนตัวเองดู

ต่อให้เราเปลี่ยนไปแล้ว แล้วไม่ประสบความสำเร็จในทางนั้น อย่างน้อยเราก็ได้ประสบการณ์ใหม่ และก็ยังมีความรู้เก่าของเราอยู่ เราสามารถกลับมาทำในสิ่งที่เรามีพื้นฐานอยู่แล้วได้ เพราะฉะนั้นเนี่ยการที่เราทดลองอะไรใหม่ ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่สิ่งที่สำคัญคือถ้าเราคิดว่าเราจะเปลี่ยน เราก็ต้องทำตรงนั้นให้ดีที่สุด

อีกอย่างนึงคือ เราก็จะได้เห็นวัฒนธรรมขององค์กรที่แตกต่างกัน ได้ทำงานกับคนหลากหลายรูปแบบ บางคนทำงานเก่งมาก แต่เขาอาจจะสื่อสารกับคนรอบข้างได้น้อย เราก็จะได้เรียนรู้ว่าจะต้องทำยังไงเราถึงจะสามารถซึมซับเอาความเก่งของเขามาได้ และจะทำยังไงถึงจะสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ได้ ยิ่งเราได้เจอคนเยอะขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งได้เรียนรู้ แล้วก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสังคมได้มากขึ้นด้วย

 

จากเรื่องราวต่าง ๆ ที่คุณโจ้ได้บอกเล่ามา ผ่านสายตาและประสบการณ์ของนักเรียนการบิน คงจะทำให้คนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักบินอย่างคุณโจ้มีกำลังใจและมองเห็นเส้นทางในการก้าวไปสู่จุดนั้นได้ และแม้ในวันนี้คุณโจ้อาจจะยังไปไม่ถึงฝันในการได้เป็นนักบิน แต่เชื่อว่าด้วยความตั้งใจและความพยายามที่คุณโจ้มีนั้น อีกไม่นานวงการการบินของไทยก็คงจะมีชื่อ เจษฎา ศิรินิรันดร์ ปรากฎขึ้นมาฐานะนักบินอีกคนอย่างแน่นอน

 

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

tags : career focus, career & tips, นักเรียนการบิน, การทำงาน, คนทำงาน, นักบิน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม