หัวหน้าควรทำยังไงดี เมื่อมีลูกทีมที่ไม่ชอบสุงสิงกับใครเลย

17/01/24   |   8.1k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานที่ชอบได้ผ่านมือถือ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ความท้าทายอย่างนึงของคนเป็นหัวหน้าคือการดูแลลูกทีม รวมไปจนถึงการรู้จักเข้าหาและทำงานร่วมกับลูกทีม ซึ่งหนึ่งในประเภทของคนทำงานที่หัวหน้าอาจเจอในทีมคือพนักงานที่มีความเป็น “Lone Wolf” หรือแปลแบบตรงตัวว่า “หมาป่าเดียวดาย” ที่มักจะถนัดทำอะไรคนเดียว ไม่ค่อยสุงสิงกับเพื่อนร่วมทีมมากนัก มีแนวโน้มที่จะเทพลังและโฟกัสไปอยู่ที่งานของตัวเอง หรือในบางกรณีที่อาจจะไม่ชอบงานที่ต้องทำร่วมกันเป็นทีม

 

วันนี้ JobThai จะพามาดูว่า คนเป็นหัวหน้าที่มีลูกทีมเป็นคนทำงานแบบ Lone Wolf จะสามารถสื่อสารกับเขาและดึงเอาความสามารถของเขาออกมาให้เกิดเป็นประโยชน์ในการทำงานได้ยังไง

 

เปิดใจให้กว้างและพูดคุยแบบตัวต่อตัว

ในฐานะหัวหน้า เราต้องเป็นคนที่เปิดรับและใจกว้างที่สุดกับลูกทีมของตัวเอง อย่าเพิ่งด่วนตัดสินเขาว่าเขาไม่ดี หรือตัดสินไปว่าเขาเป็นคนทำงานที่แย่ เพียงเพราะว่าเขาไม่สุงสิงกับใคร ถ้ามีโอกาส เราสามารถชวนเขามานั่งคุยในฐานะคนทำงานในทีมเดียวกัน และฟังเรื่องจากในมุมของเขาก่อน ไม่แน่เราอาจพบว่าเขากำลังเผชิญอะไรบางอย่างในชีวิตอยู่ และอาจเป็นปัญหาที่ใหญ่มากจนดึงความสนใจเขาออกจากงานของทีม หรือเราอาจพบว่าที่เขาไม่ค่อยสุงสิงกับใคร เป็นเพราะลึก ๆ แล้วเขารู้สึกแปลกแยกจากคนในทีมก็ได้

 

ชี้แจงเรื่องเป้าหมายทีม และบทบาทหน้าที่ของเขา

ไม่แน่ว่าการที่พนักงานคนนี้ไม่ค่อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนอื่น ๆ อาจไม่ได้เป็นเพราะเขาไม่อยากช่วยงานทีม แต่เป็นเพราะว่าเขาได้รับมอบหมายงานไม่ละเอียดมากพอตั้งแต่แรก อาจสับสนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองต้องดูแลส่วนนั้นด้วยเช่นกัน และอาจไม่เคยได้พูดคุยอย่างละเอียดเกี่ยวกับความคาดหวังที่มีต่อเขาในฐานะคนทำงานตำแหน่งนี้

 

เมื่อเรามีโอกาสพูดคุยกับเขา เราควรย้ำเตือนเขาไปว่าเป้าหมายของทีมในตอนนี้คืออะไร เรากำลังทำอะไรกันอยู่และทำเพื่ออะไร รวมถึงทำให้เขาเห็นว่าบทบาทของเขาควรจะทำอะไร มีความสำคัญยังไงต่อทีม ช่วยให้ทีมไปถึงยังเป้าหมายได้ยังไง

 

ไม่แน่ว่าพอมาคุยกันจริง ๆ เราอาจพบว่าแนวทางการคิดและความถนัดของเขาอาจจะเหมาะกับบทบาทหน้าที่อื่นมากกว่า และเขาอาจทำงานได้ดีขึ้นเมื่อได้ทำในสิ่งที่ตรงกับความชอบมากกว่าเดิม เมื่อเราเข้าใจในความสามารถของเขา และรับรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เขาอยากทำแล้ว ถ้ามีตำแหน่งงานว่างให้ย้ายไปได้ หรือมีงานที่เกี่ยวข้องก็อาจจะให้เขาลองทำในส่วนนั้น ๆ ดู

 

อย่าลืมเขาเมื่อโอกาสดี ๆ มาถึง

คนทำงานที่เป็น Lone Wolf นั้นมีแนวโน้มที่จะพลาดโอกาสสำคัญ ๆ เช่น การเลื่อนตำแหน่ง หรือการให้ดูแลโปรเจกต์ใหญ่ เพราะอาจถูกมองว่าคุยยาก ไม่ค่อยเปิดรับ คนเป็นหัวหน้าต้องรู้จักสังเกตศักยภาพในตัวเขาเสมอ เราอาจพบว่าคนเป็น Lone Wolf อาจเป็นคนที่ทำงานเก่งมากและอาจกลายเป็นหัวหน้าที่ดีได้ในอนาคตเช่นกัน

 

เราอาจทดสอบเขาด้วยการให้ทดลองบริหารโปรเจกต์งานเล็ก ๆ แล้วดูว่าเขามีทักษะการบริหารงานได้ดีมากน้อยแค่ไหน และเมื่อโอกาสมาถึงเราจะได้รู้ว่าเขาพร้อมรับงานที่ต้องรับผิดชอบมากกว่าเดิมแล้วรึยัง

 

อย่าแทรกแซงการทำงานของเขา

ชาว Lone Wolf บางคนถนัดในการทำงานตามลำพังและใช้สมาธิจดจ่อไปกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งงานอาจออกมาดีเยี่ยมเลยก็เป็นได้ แต่ในมุมของหัวหน้า การที่เราเห็นเขาทำงานแบบห่าง ๆ ไม่มีอะไรมาปรึกษาหรืออัปเดต อาจทำให้เรารู้สึกกังวล เพราะไม่รู้ว่างานจะเสร็จไหมถ้าเขาไม่ค่อยสื่อสารกับเรา สิ่งที่หัวหน้าต้องระวังคือ เราต้องไม่เอาตัวเองเข้าไปแทรกแซงในขอบเขตความรับผิดชอบของเขา ไม่ตัดสินใจแทน ไม่ดึงงานบางส่วนของเขามาทำเอง เพราะมันเป็นการส่งสัญญาณไปยังพนักงานว่าเราไม่ไว้ใจพวกเขา

 

ทางที่ดีเราควรถามความเป็นไปของงานจากเขาแบบเป็นช่วง ๆ และเคารพพื้นที่ในการทำงานและพื้นที่ทางความคิดของเขา ถ้างานต่าง ๆ ของทีมเป็นงานที่ต้องการการติดตามงานอย่างใกล้ชิด หัวหน้าสามารถนัดประชุมทีมแบบทุกวันตอนเช้าหรือเย็น เพื่ออัปเดตสถานะงานของทุกคนในทีมก็ได้ ซึ่งก็จะไม่เป็นการถามจี้ไปที่คนใดคนหนึ่ง แต่ทำให้หัวหน้าได้เห็นภาพรวมงานทั้งหมดของทีมเลยทีเดียว หรือถ้าบริษัทไหนที่ทำงานแบบ Work from Home หรือ Hybrid Working ก็อาจนัดวิดีโอคอลทีมเพื่ออัปเดตงานกัน หรือบอกให้ลูกทีมอัปเดตงานผ่านแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อการบริหารจัดการและติดตามงาน อย่างเช่น Notion หรือ Trello

อย่าไปบังคับให้เขาต้องเข้าร่วมกิจกรรมหรือการประชุมบางอย่างที่ไม่จำเป็นขนาดนั้น

ลองกลับมามองภาพกว้าง ๆ ดูว่า ทีมเรามีการเรียกทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันกับคนในทีมบ่อยเกินความจำเป็นไหม บางครั้งการประชุมก็มีเรื่องที่ต้องคุยน้อยแบบที่สามารถจบลงได้ในรูปแบบการแจ้งเรื่องผ่านอีเมลหรือในแชทกลุ่มของทีมเลยด้วยซ้ำ หรือเราเรียกให้คนทั้งทีมเข้าไปฟังเรื่องเดียวกันโดยที่หัวข้อไม่ได้เกี่ยวกับทุกคนในทีมซะทีเดียวรึเปล่า เช่น คนในทีมบางคนกำลังทำโปรเจกต์ A อยู่ แล้วหัวหน้าดึงทุกคนในทีม รวมถึงคนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่รู้ Background ของโปรเจกต์ และช่วยออกความเห็นอะไรไม่ได้มาก เข้าไปร่วมประชุมด้วยรึเปล่า

 

ถ้ามันไม่ใช่งานที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน หรือเป็นงานที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหน้าที่ของเขาขนาดนั้น เราก็ไม่ต้องดึงให้เขาเข้าประชุมก็ได้ อาจจะให้เขาเป็น Optional ในองค์ประชุมที่จะเข้ามาฟังหรือไม่เข้าก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก เพราะการถูกเรียกให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมบางอย่างโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เขารู้สึกอึดอัดได้ และถ้าเป็นการจัดกิจกรรมสบาย ๆ ที่จัดกันในทีม เช่น ปาร์ตี้มื้อเย็น เกมบัดดี้ในแผนก เราก็ควรถามความสมัครใจเขาก่อนว่าสนใจเข้าร่วมไหม ถ้าไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร

 

สำหรับคนประเภท Lone Wolf แล้ว กิจกรรมร่วมจะเป็นไอเดียที่ดีก็ต่อเมื่อมันเป็นสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบ เป็นเรื่องที่เขาจำเป็นต้องรู้ หรือเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเขาและให้อะไรเขากลับคืนมา ซึ่งมันก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลก และไม่ได้แปลว่าเขาเห็นแก่ตัว เพราะทุกความทุ่มเทในการทำงานควรตามมาพร้อมกับผลลัพธ์ที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเขาเห็นว่ากิจกรรมนี้จะมอบอะไรบางอย่างให้กับทุกคนที่เข้าร่วม เขาเองก็จะไม่อยากเป็นคนที่ตามหลังเพื่อนร่วมทีมคนอื่น หัวหน้าอาจใช้วิธีปรับ Incentive บางอย่างให้มีผลกับงานกลุ่ม เทียบเท่ากับผลที่ได้เมื่อทำงานเดี่ยว เพื่อยกระดับความสำคัญของการทำงานเป็นทีมในสายตาของ Lone Wolf

 

อย่าลืมนึกถึงลูกทีมคนอื่น ๆ

หน้าที่ของคนเป็นหัวหน้าคือการนำทีมให้เดินหน้าไปยังเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้ Performace ของทั้งทีมออกมาดี ดังนั้นเวลาที่ต้องจะตัดสินใจเรื่องการรับมือกับ Lone Wolf หัวหน้าต้องมองในภาพที่ใหญ่ขึ้น โดยต้องดูว่าคนอื่น ๆ ในทีมรู้สึกยังไงกับพฤติกรรมของ Lone Wolf คนนี้ด้วย โดยอาจใช้วิธีประเมินแบบ 360 องศาให้เห็นมุมมองของแต่ละคน และสรุปผลเพื่อหากลยุทธ์ในการทำงานที่ตอบโจทย์ที่สุด เราอาจขอความร่วมมือจากสมาชิกในทีมให้ทำตามกลยุทธ์เพื่อช่วยให้ Lone Wolf คนนี้รู้สึกสบายใจกับการทำงานมากขึ้นด้วย

 

แนะนำขั้นตอนและตัวอย่างการทำประเมิน 360 องศาสำหรับ HR มือใหม่

 

อบรมทักษะอันสร้างสรรค์ให้กับเขา

การทำงานเป็นทีมต้องอาศัยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จำเป็นต้องสื่อสารและพูดคุยกัน เพราฉะนั้นถึงเหล่า Lone Wolf จะไม่ค่อยสุงสิงกับคนอื่น ๆ หรือไม่ชอบงานกลุ่ม แต่อย่างน้อยเขาต้องรู้จักนำเอาทักษะต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เมื่อมีงานกลุ่มที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งทักษะด้านการสื่อสาร การทำงานร่วมกับคนในทีม

 

ในฐานะหัวหน้า เราต้องเป็นคนที่คอยซัปพอร์ตให้คนในทีมทุกคน รวมถึง Lone Wolf ให้มีทักษะเหล่านี้ด้วย โดยเราอาจเสนอเทรนงานให้เป็นพิเศษ จับคู่เขากับลูกทีมคนอื่นเพื่อให้ลองทำงานบางอย่างร่วมกัน หรือให้โจทย์งานบางอย่างกับเขาไปและให้เขาทดลองรับมือกับมันดู ซึ่งถ้าเขาทำมันออกมาได้ดีก็อย่าลืมที่จะชื่นชมพวกเขาที่กล้าออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง

 

ขีดเส้นแบ่งระหว่าง “พฤติกรรมที่รับไม่ได้” กับ “พฤติกรรมส่วนตัวของเขา”

ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่ Lone Wolf ทำจะเป็นอะไรที่ผิดแปลกหรือไม่ดี หัวหน้าจะต้องดูว่าพฤติกรรมแบบไหนที่มาจากตัวตนข้างในของเขาและอยู่ภายใต้อิสระของเขา ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เช่น เขาอาจคุยกับเพื่อนร่วมงานน้อยแต่งานที่เขาทำมันออกมาดีมากตามความคาดหวังของตำแหน่งนี้ และไม่ได้ทำให้ใครรู้สึกอึดอัด แบบนี้ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ดีมาก ๆ แล้ว

 

แต่ถ้าพฤติกรรมของเขาขัดต่อกฎกติกาหรือข้อบังคับบางอย่างของบริษัท เช่น ถ้าอยู่ในเวลาทำงาน แล้วอยู่ดี ๆ เขาเดินหายไปเฉย ๆ หรือถ้าพนักงานพูดบางอย่างที่ไม่เหมาะสม หรือโพสต์ข้อความในเชิงลบลงบนโซเชียลมีเดียแบบสาธารณะ และเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร แบบนี้หัวหน้าก็จำเป็นต้องเรียกเขามาตักเตือนและชี้ให้เห็นว่าการกระทำของเขามันไม่ถูกต้อง และไม่ถูกต้องเพราะอะไร โดยหัวหน้าจะต้องพูดคุยกับเขาด้วยเหตุผลและความใจเย็น

 

นอกจากนี้แล้ว พฤติกรรมบางอย่างที่เขาทำอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อองค์กร แต่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานและการทำงาน เช่น เขาอาจได้รับบรีฟโปรเจกต์ทีมมา แต่เลือกที่จะไม่อัปเดตคนในทีมเลย หรืออาจทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกว่าคนคนนี้ทำงานด้วยยาก เช่น การทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่เปิดรับความคิดเห็นของคนในทีม บอกว่าโอเคแต่ถึงเวลาจริงไม่ทำตามที่บอก ถ้าเจอแบบนี้ คนที่ลูกทีมทุกคนจะหวังพึ่งก็คือเราที่เป็นหัวหน้านั่นเอง

 

เมื่ออยู่ในบทบาทของคนเป็นหัวหน้า เราต้องเปิดใจยอมรับความแตกต่างของลูกทีมแต่ละคน ใจกว้างและไม่อคติ เมื่อต้องเจอพนักงานที่เป็น Lone Wolf เราก็ต้องบอกตัวเองอยู่เสมอว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เลวร้าย ให้โอกาสเขาเท่า ๆ กับคนในทีมคนอื่น ๆ เพราะคนเหล่านี้อาจกลายเป็นคนทำงานที่มีศักยภาพสูงมากคนนึงเมื่ออยู่ในสภาวะที่ถูกต้อง

 

ที่มา:

lsaglobal.com

truity.com

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : งาน, หางาน, สมัครงาน, หัวหน้า, ลูกน้อง, เทคนิคดูแลทีม, ลูกทีมไม่ชอบสุงสิงกับใคร, หัวหน้ามือใหม่, lone wolf, career & tips



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม