รวมมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ตกงานหรือรายได้ลด จากการแพร่ระบาดของ COVID-19

14/04/20   |   5k   |  

 

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

สถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา ทำให้คนทำงานจำนวนมากต้องเจอกับปัญหาเรื่องการเงิน บางคนอาจต้องกักตัวจนไม่ได้รับค่าจ้าง บางคนทำงานในธุรกิจที่ถูกสั่งปิดชั่วคราวเพราะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส หรือบางคนก็โชคร้ายถึงขั้นตกงาน

 

อย่างไรก็ตามเพื่อช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ หน่วยงานภาครัฐก็ได้ออกมาตรการต่าง ๆ หลายมาตรการ ซึ่งเรารวบรวมมาให้ที่นี่แล้ว

 

เงินชดเชยรายได้

ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

ในกรณีที่นายจ้างไม่ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้ประกันตนที่มีนายจ้างและส่งเงินสมทบ) มาทำงาน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้กักตัว 14 วันเพื่อสังเกตอาการ หรือกรณีหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถมาทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง ลูกจ้างจะได้สิทธิ์เพิ่มเติมกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ดังนี้

  • นายจ้างไม่ให้ทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด 19 รับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 วัน
  • หน่วยงานภาครัฐสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว รับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 60 วัน

นอกจากนั้นยังเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน ดังนี้

  • ผู้ประกันตนลาออก รับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน (บังคับใช้ 2 ปี)
  • ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง รับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน (บังคับใช้ 2 ปี)

 

การขอรับสิทธิ์

ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้โดยการยื่นแบบฟอร์มออนไลน์บนหน้าเวปไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หัวข้อ “ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน online (e-form for sso benefits)” โดยที่นายจ้างจะต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อยืนยันรับรองการปิดกิจการชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัยดังกล่าวผ่านลิงก์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

 

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง) หรือ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ

 

ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ หรือผู้ที่ไม่มีประกันสังคม

สำหรับแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว คนที่ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีประกันสังคม หรือเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 คือ เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ต่อมาออกจากงาน และสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจจะคุ้มครองต่อ 6 กรณี ยกเว้นกรณีว่างงาน) และมาตรา 40 (ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือ ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีนายจ้าง สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ) ซึ่งไม่ได้รับการเยียวยาจากประกันสังคมเหมือนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา จะได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน

 

การขอรับสิทธิ์

ผู้ที่ต้องการจะขอรับสิทธิ์เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท 3 เดือน สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในการกรอกข้อมูลในเว็บไซต์จะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน และใส่รายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลการประกอบอาชีพ และข้อมูลนายจ้าง (ในกรณีที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดเล็ก ที่ไม่ได้ทำประกันสังคมให้พนักงาน)

 

หลังจากมีการตรวจสอบ จะได้รับเงินผ่านช่องทางที่เลือกไว้ ซึ่งสามารถเลือกได้ 2 ช่องทางคือ 1. บัญชีธนาคาร (ใช้ได้ทุกธนาคาร) และ 2. PromptPay ที่เป็นหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน

 

มาตรการเกี่ยวกับสินเชื่อ

โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน

โครงการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 แบบไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) สามารถรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

  • วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท
  • คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน
  • ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน

 

โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม

โครงการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชน ที่มีรายได้ประจำ แบบมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท สามารถรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

  • วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท
  • คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน
  • ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี

 

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์

โครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัส COVID-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิด ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี

 

มาตรการเกี่ยวกับภาษี

เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

 

เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ

เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากเดิม ตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นและมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลดลง

 

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากร ทางการแพทย์และสาธารณสุข

เพื่อช่วยลดภาระภาษีให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รวมถึงเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน จึงมีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทน 2 กรณี คือ

  1. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19
  2. ค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการ ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข

 

มาตรการอื่น ๆ

มาตรการเสริมความรู้

จะมีดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

 

มาตรการบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ

รัฐวิสาหกิจ กระทรวงเจ้าสังกัดที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานกำกับ (Regulator) บรรเทาภาระโดยพิจารณาถึงแนวทางการลดและเลื่อนการชำระค่าน้ำและค่าไฟ หรือแนวทางที่เหมาะสม เช่น คืนค่าประกันการใช้ไฟบางส่วนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19

 

มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง

ลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2533 จากอัตราร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 0.1 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเงินสมทบของรัฐบาลให้คงอัตราเดิมที่ร้อยละ 2.75 ของค่าจ้าง พร้อมทั้งปรับลดจำนวนเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และรัฐจ่ายเงินสมทบในจำนวนเท่าเดิม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตนในการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในช่วงที่ภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

 

มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน

โดยให้ประชาชนทั่วไปหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ทั้งนี้ เงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

 

สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ดูมาตรการดูแลและเยียวยาได้ ที่นี่

 

JobThai เปิด Official Group แล้ว

ถ้ากำลังหางาน หาคน หรืออยากพูดคุยทุกเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน มา Join กับเราเลย 

 

tags : covid-19, คนทำงาน, มาตรการช่วยเหลือคนทำงาน, โควิด-19, สิทธิประกันสังคม, jobthai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม