ทำงานยังไงให้ได้ทั้ง Passion และ Profit แรงบันดาลใจจาก 3 ธุรกิจญี่ปุ่น

ทำงานยังไงให้ได้ทั้ง Passion และ Profit แรงบันดาลใจจาก 3 ธุรกิจญี่ปุ่น
29/08/23   |   1.6k   |  

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ในแต่ละวันมนุษย์เราต้องรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต คนเราต่างก็มีเป้าหมายส่วนตัวแตกต่างกันไป บางคนได้โอกาสในการทำงานที่รักโดยมองเรื่องเงินเป็นเรื่องรอง ในขณะที่บางคนต้องการทำงานที่มีรายได้ดีไว้ก่อนและค่อยใช้เงินนั้นซื้อความสุขในภายหลัง หรือบางคนอาจรู้จักตัวเองเป็นอย่างดีและมองเห็นโอกาสในการหางานที่มีองค์ประกอบทั้งสองอย่างและมีความสุขได้ในทุกวัน จะดีแค่ไหนถ้าเราได้ทำงานที่ตอบโจทย์ทั้ง Passion และได้เงินดีด้วย สำหรับใครที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะทำอย่างไร วันนี้ JobThai มีตัวอย่างมาฝากกัน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการค้นหางานที่ใช่สำหรับคุณ

 

วันนี้คุณเจอ Passion ของตัวเองแล้วหรือยัง

หลายคนขับเคลื่อนชีวิตด้วย Passion และมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานมาตั้งแต่การเริ่มเข้าสู่โลกของการทำงาน บางคนโชคดีค้นพบสิ่งที่อยากทำเร็วกว่าคนอื่น รู้จักหาโอกาสในการทำตามความฝันและหาเลี้ยงตัวเองได้ด้วยการทำสิ่งที่รัก แต่ก็ยังมีคนทำงานอีกหลายคนที่ทำอาชีพที่ตัวเองก็ไม่ได้ชอบ แม้จะพอใจกับรายได้แต่ก็ไม่ได้มีความสุขมากเท่าที่ควร สำหรับคนที่มองว่าการทำงานที่ไม่ได้รักนั้นเป็นปัญหา เราอยากให้คุณลองถอยหลังกลับมาตั้งหลัก ใช้เวลาประเมินตัวเองว่าที่ไม่ Happy กับงานปัจจุบันนั้นสาเหตุเกิดจากอะไร เกิดจากคน สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมองค์กร หรือ ตัวเนื้องานกันแน่ ถ้าเป็นที่ตัวเนื้องาน การแก้ไขปัญหาด้วยการย้ายสายงานจะตอบโจทย์หรือเปล่า หรือเราอยากเปลี่ยนจากพนักงานออฟฟิศไปทำธุรกิจด้วยตัวเอง และถ้าต้องเอา Passion มาทำงานจริง ๆ จะไปรอดไหม มีความรู้และทักษะพอหรือยัง ยิ่งไปกว่านั้นถ้า Passion นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับสายที่เราใช้เวลาร่ำเรียนมา เรามีความพร้อมและแรงผลักดันในการเปลี่ยนแปลงตัวเองมากขนาดไหน 

 

ถ้าคุณเริ่มมีความคิดประมาณนี้เข้ามาในสมอง ลองตอบตัวเองให้ได้ว่าเรารู้จักตัวเองดีแค่ไหน ความถนัดของเราคืออะไร และมีสิ่งไหนที่อยากจะทำและจะนึกเสียดายถ้าชีวิตนี้ไม่ได้ทำบ้าง ถ้าคุณมั่นใจแล้วว่า Passion ของเราสามารถตอบโจทย์เป้าหมายส่วนตัวและเติมเต็มชีวิตให้มีความสุขกว่าปัจจุบันได้ การเปลี่ยนแปลงสายงานหรือการลงมือทำธุรกิจของตัวเองที่เกี่ยวข้องกับ Passion ก็น่าลองดูสักตั้ง

 

รู้สึกหมด Passion จนไม่อยากตื่นไปทำงาน เป็นเพราะอะไร? ทำยังไงดี?

 

มองหา Passion ในงานที่ทำอยู่สำหรับคนที่ทำงานประจำ

มนุษย์เงินเดือนหลายคนอาจยุ่งเรื่องหน้าที่ประจำในแต่ละวัน และงานปัจจุบันที่ทำอยู่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ Passion ของตัวเองสักเท่าไร ถ้าคุณอยากเปลี่ยนแปลงขึ้นมาแล้วล่ะก็ คำแนะนำสำหรับคนทำงานทั่วไปที่ทำงานให้องค์กร คือการลองทำสิ่งใหม่ ๆ ให้บริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงานของเราโดยตรง หรือเรื่องที่เราไม่เคยทำแต่พอจะมีไอเดียคร่าว ๆ อยู่ก็ได้ เช่น คุณอาจเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าคุณชอบเก็บตัว แต่ลึก ๆ แล้วกับเพื่อนฝูงคุณเป็นคนที่เฮฮาและพูดเก่ง ถ้าบริษัทมีกิจกรรมภายในเราอาจจะขออาสาไปเป็นพิธีกรดูก็ได้ ถ้าคุณเป็น HR ที่ชอบวาดการ์ตูน อาจจะลองทำสื่อสอนพนักงานใหม่ในรูปแบบการ์ตูนช่องที่สนุกและเข้าใจง่าย ไม่หน้าเบื่อเหมือนเอกสารแบบเดิม ๆ หรือคุณอาจเป็นนักการตลาดที่อยู่ในชมรมคนรักการวิ่ง ถ้ามีโอกาสลองเสนอไอเดียจัดงานวิ่งเพื่อสุขภาพและสร้างความสามัคคีของพนักงานในองค์กร ตัวคุณเองก็จะได้ทักษะการบริหาร Project และประสานงานเรื่องคนไปในตัวด้วย ไม่แน่ว่า Passion ส่วนตัวที่เรามีความคิดริเริ่มอยากทำอาจกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่คุณทำให้กับบริษัท หรืออาจต่อยอดกลายเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำส่งผลให้คุณได้รับการยอมรับจากคนในทีม แผนกและองค์กร เป็นเส้นทางไปสู่ความก้าวหน้าในองค์กรก็เป็นได้ 

 

เทคนิคเพิ่มพลังสร้างสรรค์งาน สำหรับคนทำงานสาย Creative จาก Taika Waititi ผู้กำกับ Thor: Love and Thunder

 

สำหรับใครที่อยากรู้ว่า คนที่เขามี Passion เขาทำงานกันยังไง เริ่มต้นจากจุดไหนกันบ้าง วันนี้เรามีตัวอย่างของ 3 ธุรกิจญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จจากการเริ่มต้นทำสิ่งดี ๆ ให้สังคมและต่อยอดทำกำไรได้ด้วยมาฝากกัน โดยเนื้อหาต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งจากการบรรยายในงาน CTC 2023 หัวข้อ Finding Business Harmony: Balancing Profitability and Passion ของ ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือ อาจารย์เกดของภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่หลายคนรู้จักในฐานะนักเขียนเจ้าของนามปากกา เกตุวดี Marumura นั่นเอง

 

อัปเดตเทรนด์ที่คนทำงานต้องรู้จากงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2023 FESTIVAL

 

เคสที่ 1 ธุรกิจที่ปรึกษาในการจัดงานเทศกาลท้องถิ่น Matsuri Japan

Matsuri Japan เป็นธุรกิจที่ปรึกษาในการจัดงานเทศกาลท้องถิ่นที่มีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการที่ Yuko Kato หญิงสาวญี่ปุ่นที่เรียนจบด้านการออกแบบได้รับการไหว้วานจากพ่อของเพื่อนสนิทให้ช่วยทำโปสเตอร์โปรโมตงานเทศกาลท้องถิ่นของเมือง Aomori ด้วยทักษะที่เธอมีอยู่แล้วเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเคสนี้คือ เธอเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเทศกาลท้องถิ่นถึงไม่ค่อยได้รับความสนใจ จนได้ลองค้นหาคำตอบก็พบว่าปัญหาหลัก ๆ คือ กิจกรรมในงานมีแต่รูปแบบเดิม ๆ การขาดเงินทุนสนับสนุน และกลุ่มคนจัดงานมีแต่ผู้สูงอายุ จากข้อสรุปนี้ทำให้เธออยากช่วยโปรโมตเทศกาลท้องถิ่นให้กลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำไฟล์ Template โปสเตอร์ให้แต่ละเมืองดาวน์โหลดได้ฟรีเพื่อไปใช้กับเทศกาลของตัวเอง ลงทุนลงขันกับเพื่อน ๆ ที่มีความคิดอยากช่วยเหลือคนอื่นเหมือนกันเปิดให้บริการเช่าอุปกรณ์สำหรับคนที่ต้องการออกร้านในเทศกาลซึ่งประหยัดกว่าการซื้ออุปกรณ์เอง รวมถึงขอความร่วมมือกับธุรกิจที่อยากทดสอบตลาดและโฆษณาสินค้าใหม่ให้ช่วยมาสนับสนุนการจัดเทศกาล จนกลายเป็นตัวกลางให้กับชุมชนแต่ละท้องถิ่นในการจัดเทศกาลทำให้เกิดการต่อยอดกลายเป็นธุรกิจที่ปรึกษารับวางแผนจัดงานเทศกาลแบบครบวงจร จนในปัจจุบันก็มีการพัฒนา Application ช่วยนักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางที่สามารถค้นหาได้ว่าในเดือนนี้มีเทศกาลอะไรจัดที่เมืองไหนบ้าง ถือเป็นการช่วยเหลือเทศกาลในเมืองเล็ก ๆ ที่คนไม่ค่อยรู้จัก ตลอดจนกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศไปในตัว 

 

เคสที่ 2 ธุรกิจร้านขายเครื่องแต่งกายของพระและซามูไร Nakagawa Masashichi

ต่อมาเป็นเคสของ Nakagawa Masashichi ร้านขายเครื่องแต่งกายของพระและซามูไรที่สืบทอดกิจการกันมากว่า 300 ปี จนมาถึงยุคของ Jun Nakagawa ทายาทรุ่นล่าสุดที่อยากปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เขากับยุคสมัยด้วยการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ร้านของตัวเองไม่เคยทำ อย่างผ้าเช็ดหน้าปักลายสวยงามเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะใช้ความถนัดเดิมของร้านที่เก่งเรื่องการสรรหาวัสดุผ้าชั้นเยี่ยมอยู่แล้วมาต่อยอด สิ่งที่เขาทำไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะวันหนึ่งเมื่อเขาเบื่อหน่ายกับธุรกิจเดิมและกำลังมองหาอะไรใหม่ ๆ ทำ เขาก็คิดได้ว่าตัวเองมี Passion ในเครื่องปั้นและงานฝีมือ ทำให้เกิดไอเดียที่อยากจะสนับสนุนช่างฝีมือท้องถิ่นในการทำธุรกิจเพื่อให้งานฝีมือเหล่านั้นไม่สูญหายไปตามกาลเวลา ถ้าหากผลิตออกมาแล้วหาตลาดไม่ได้ เขาก็อาสารับขายงานเหล่านั้นในร้านของตัวเอง ทำให้เกิดการขยายธุรกิจเล็ก ๆ จากร้านขายของสินค้าประเภทเดิม เปลี่ยน Concept ใหม่ที่มีจุดขายคือการรวบรวมสินค้าที่มีอัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งสร้างความแตกต่างในตลาดและได้รับความนิยมจากลูกค้าคนรุ่นใหม่ ตัวอย่างนี้จึงเป็นการสร้างรายได้ให้ตัวเองและเป็นการกระตุ้นให้วงการสินค้างานฝีมือของญี่ปุ่นคึกคัก ฟื้นคืนชีพให้กับงานศิลปะที่สืบทอดภูมิปัญญาคนญี่ปุ่นจากยุคโบราณด้วย 

 

เคสที่ 3 ธุรกิจร้านเสื้อผ้า ZOZOTOWN

สุดท้ายเป็นเรื่องราวของ ZOZOTOWN แบรนด์เสื้อผ้าของญี่ปุ่นที่อยากให้ลูกค้ามีความสุขกับการสวมใส่เสื้อผ้าผ่านแนวคิดของ Yusaku Maezawa ผู้ก่อตั้งบริษัทที่อยากให้คนญี่ปุ่นเท่ และมีรอยยิ้มกับการแต่งตัว โดยในอดีตเขาก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่ชอบทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการตั้งวงร็อกกับเพื่อน ๆ การหลงใหลในเสียงดนตรีของเขานั้นไม่ธรรมดา เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของความบันเทิงส่วนตัวแล้ว เขายังมองมันเป็นอาชีพและเห็นว่า Passion นี้นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจได้ ในยุคปี 2000 เขาจึงเริ่มนำเข้าแผ่นเสียงและแผ่นซีดีจนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำและแตกไลน์ธุรกิจ ขยายกิจการเปิดร้านขายเสื้อผ้าในเวลาต่อมา

 

เช่นเดียวกับความรักในดนตรี ความรักในการแต่งตัวของเขาก็ได้ถูกส่งต่อให้กับลูกค้าเช่นกัน แบรนด์เสื้อผ้านี้ได้เข้าไปอยู่ในใจลูกค้าเพราะ ZOZOTOWN เป็น Solution ทางไลฟ์สไตล์ให้กับลูกค้าทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นคนที่แต่งตัวเก่งอยู่แล้ว หรือ คนที่แต่งตัวไม่เป็นก็สนุกกับการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เหมาะกับตัวเองได้ นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของร้าน ZOZOTOWN ก็คือการใช้ประโยชน์จากการขายแบบออนไลน์ ทำให้บริษัทประหยัดต้นทุนหน้าร้าน บวกกับการมีนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Application ที่ครบวงจรทั้งการซื้อขายเสื้อผ้าและรีวิวสินค้าจากการใช้งานจริง ตลอดจนเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า เช่น การส่งชุด ZOZOSUIT หรือชุด Body Suit ให้ลองสวมใส่วัดขนาดตัวได้ที่บ้านทำให้สามารถสั่งตัดชุดที่พอดีตัวได้โดยไม่ต้องเดินทางมาที่ร้าน หรือ คนที่นึกไม่ออกว่าจะใส่เสื้อผ้าสไตล์ไหนดี ทางร้านก็จะเลือกคอลเล็กชันเสื้อผ้าให้ไม่ต่างอะไรกับการทานอาหารแบบโอมากาเสะ เมื่อการเลือกซื้อเสื้อผ้ากลายเป็นเรื่องง่ายและสนุกขนาดนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจที่จะได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จ

 

ถ้ายังคิดไม่ออกลองมองหา Passion จากรอบตัวคุณ

จากเคสธุรกิจทั้ง 3 ตัวอย่างนี้ เราได้เห็นเบื้องหลังแนวความคิดในการงานและการทำธุรกิจแสดงให้เห็นกระบวนการทำงานด้วย Passion ที่อยากจะแก้ปัญหาให้สังคม จนทำให้เรามีเป้าหมาย (Purpose) ในการลงมือทำบางอย่างเพื่อคนอื่น เมื่อเราคิดถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง เราจะพยายามเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากช่วย คิดหาวิธีการต่าง ๆ ลองทำจนสามารถต่อยอดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์แต่ละปัญหานั้นได้ แล้วเรื่องรายได้หรือกำไร (Profit) ก็จะตามมาเอง 

 

สำหรับคนที่ยังหาแรงบันดาลใจไม่เจอ ก็อย่าเพิ่งกดดันตัวเองเพราะบางครั้ง Passion ของคนเราก็ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก แต่เกิดจากได้ลองทำงานหลาย ๆ อย่าง โอกาสที่เราเคยทำงาน Project ต่าง ๆ อาจเกิดเป็นแรงบันดาลใจ เมื่อตกตะกอนทางความคิดได้ บวกกับจังหวะชีวิตที่ใช่ สุดท้ายก็จะมีเป้าหมายที่อยากจะทำบางสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตส่วนตัว ได้ช่วยเหลือคน และอาจต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับเราไปพร้อม ๆ กันได้

 

บทเรียนของคนทำงานจากการเปลี่ยนสายงานของ "หมอแปลก" Doctor Strange

 

สุดท้ายแล้วการเลือกทำในสิ่งที่รักและได้รายได้ดีด้วยอาจไม่ได้เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน แต่การสั่งสมประสบการณ์และการไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ จะทำให้เราสามารถหล่อเลี้ยง Passion เอาไว้ เมื่อโอกาสและเวลาที่เหมาะสมมาถึง เราจะสามารถประยุกต์ใช้ทักษะความสามารถของเราทำตามเป้าหมายที่เราวางเอาไว้ ก่อเกิดเป็นรายได้ ความสุข และยังได้ความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกันด้วย 

างานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

ที่มา:

blog.soucy-group.com, entrepreneur.com, hbr.or, jstor.org, knowledgecity.com, singaporecompanyincorporation.sg, strategyblocks.com, theglobeandmail.com, thematter.co

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, passion, คนทำงาน, ธุรกิจ, career & tips, การทำงาน, ctc, creative talk, creative talk conference, creative talk conference 2023, ctc2023 festival, marketing, creative, creativity, people, innovation, business, entrepreneur, การตลาด, เคล็ดลับการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม