ชั่งน้ำหนักงานใหม่ยังไงให้ชีวิตการทำงานไปได้สวย

20/04/22   |   7.3k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

งานใหม่จะดีมั้ยแล้วถ้าไม่ดีควรทำยังไง? คนทำงานหลายคนที่ได้ข้อเสนอจากบริษัทใหม่ ไม่ว่าจะเป็นที่เพิ่งส่งใบสมัครไปหรือฝากเรซูเม่ไว้แล้วบริษัทติดต่อมาเอง และกำลังชั่งใจว่าที่ใหม่จะเป็นยังไง ถ้าไปแล้วไม่ดีก็อาจเสียดายโอกาสที่ทำอยู่ปัจจุบัน ซึ่งไม่มีอะไรการันตีได้เลยจนกว่าจะได้เข้าไปทำในองค์กรนั้นจริง ๆ ในกรณีนี้สิ่งที่เรายังพอทำได้โดยไม่ต้องตัดสินใจทันทีก็คือ ‘การชั่งน้ำหนัก’ ระหว่างงานปัจจุบันและงานที่ใหม่ 

 

JobThai เลยอยากชวนคนทำงานที่กำลังจะตอบตกลงกับข้อเสนอที่ได้มา ให้มาชั่งน้ำหนักและจัดลำดับความสำคัญ ก่อนตอบรับงานที่ใหม่กัน

 

5 ประสบการณ์เข้าไปทำงานจริงแล้ว ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา

 

เหตุผลที่ทำให้คนทำงานอยากย้ายงาน

คงไม่มีคนทำงานคนไหนอยากย้ายงานโดยที่ไม่มีเหตุผล แต่ก็อยากให้ลองทบทวนให้ดีอีกครั้งก่อน ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้อยากย้ายงาน และปัจจัยเหล่านี้เพียงพอหรือยังต่อความเสี่ยงที่เราอาจต้องเจอในอนาคต

  • สังคมการทำงานไม่ดีหรือมีปัญหาภายในบริษัท ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว

  • งานที่เดิมอิ่มตัวและไม่ได้รับมอบหมายงานใหม่ ๆ ให้ทำ แม้เราจะพิสูจน์ตัวเองเต็มที่แล้ว

  • รู้ตัวว่าไม่สามารถเติบโตในองค์กรไปมากกว่านี้หรือ Career Path ในองค์กรนี้ไม่ตอบโจทย์เป้าหมายที่วางไว้

  • งานที่เดิมยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคต เช่น ระยะเวลาในการทำงานหรือเวลาในการเดินทางต่อวันมากเกินไปจนส่งผลต่อแผนการต่าง ๆ ที่ต้องการทำ

  • รูปแบบการทำงานที่ไม่เข้ากับตัวเอง ทั้งเรื่องของเวลาการทำงาน สไตล์การทำงาน หรือเพื่อนร่วมงานที่มีระยะห่างระหว่างอายุมาก

หากรู้สึกว่าตัวเองควรจะต้องย้ายงานแล้ว งั้นลองมาดูรายละเอียดต่าง ๆ ของที่ทำงานใหม่ที่เราควรชั่งน้ำหนักให้ดีอีกครั้งกัน

 

หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบหรือ Job Description เป็นสิ่งที่เราควรพิจารณาเป็นอย่างแรก ว่าหน้าที่ที่เราต้องทำเป็นสิ่งที่เราต้องการมากน้อยแค่ไหน เพราะการทำงานในแต่ละบริษัทแม้จะเป็นตำแหน่งเดียวกันก็อาจมีขอบเขตงานที่ไม่เหมือนกัน งานที่ดูเรียบง่ายและเคยผ่านมาแล้ว อาจเป็นงานที่ท้าทายมากขึ้น เราอาจได้ทำงานน้อยหรือมากกว่าเดิมก็ได้ ซึ่งสิ่งที่เราควรจะดูเมื่อจะย้ายไปบริษัทใหม่คือ

  • เราได้ทำงานที่มีรายละเอียดงานตรงกับที่เรามองหาและได้พัฒนาทักษะของตัวเองมากขึ้นมั้ย เช่น จากที่เคยทำคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียอย่างเดียว ก็ขยับมาเป็นสาย Digital Marketing มากขึ้นอย่างการใช้เครื่องมือดู Data ต่าง ๆ มีโอกาสในการซื้อโฆษณา หรือทำคอนเทนต์ที่เติบโตได้มากกว่าในโซเชียลมีเดีย

  • ได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสายอาชีพของตัวเองมากขึ้น คนทำงานมีวิธีเรียนรู้การทำงานที่แตกต่างกัน ถึงเราจะเคยลองผิดลองถูกด้วยตัวเองและได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก่อน แต่ถ้าเราย้ายงานมาในองค์กรที่ใหญ่ขึ้น และมีคนในแผนกที่สามารถแลกเปลี่ยนความรู้เฉพาะทางกับเราได้ สิ่งนี้ก็อาจสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อการทำงานในอนาคตมากกว่าเดิมก็ได้

  • หากการย้ายงานของเรามีปัจจัยมาจากการอิ่มตัวในงานเดิม แล้วงานใหม่นี้มีอะไรที่แตกต่างและเข้ามาแก้ปัญหานั้นของเราได้จริง ๆ มั้ย อย่างโอกาสที่เราจะได้จับโปรเจกต์ใหม่ ๆ ที่งานเดิมไม่สามารถตอบโจทย์เราได้ หรือการได้รับมอบหมายงานใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยได้โอกาสมาก่อน 

 

รูปแบบของการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร

รูปแบบของการทำงาน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนทำงานปวดหัวไม่แพ้รายละเอียดในการทำงานเลย คนทำงานบางคนขอแค่ได้ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดก็พอ ชอบทำงานในบริษัทที่มีความยืดหยุ่น และมีเวลาใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างเต็มที่ แต่พอรูปแบบของบริษัท วัฒนธรรมองค์กร หรือรูปแบบของการทำงานไม่ตอบโจทย์อย่าง ต้องสแกนนิ้วเข้า-ออกบริษัททุกครั้งตามเวลาเป๊ะ ๆ ต้องพร้อมสำหรับการทำงานในวันหยุด หรือกรณีทั่วไปอย่างเพื่อนร่วมงานมีช่วงอายุที่ห่างจากเรามากเกินไป ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพแย่ลง ซึ่งรูปแบบของการทำงานที่เราควรจะดูเมื่อจะย้ายไปบริษัทใหม่คือ

  • เราสามารถใช้เวลาไปกับการทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องได้หรือเปล่า เช่น รูปแบบการทำงานที่อิงประสิทธิภาพและผลงานเป็นหลัก

  • ได้ทำงานแบบที่ตัวเองชอบ อย่างการทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือไม่กำหนดว่าต้องเข้า-ออกงานกี่โมง เพราะอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนทำงานหลายคนอยากลาออกในปัจจุบันก็คือ ที่ทำงานยังให้เดินทางเข้าออฟฟิศอยู่ แม้จะมีสภาวะที่ไวรัส COVID-19 ระบาดก็ตาม

  • ในองค์กรมีเพื่อนร่วมงานในช่วงอายุที่ใกล้เคียง ทำให้สื่อสารกันง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องชีวิตประจำวันก็ตาม

 

ความก้าวหน้าของตำแหน่ง

ความก้าวหน้าเป็นเรื่องที่คนทำงานต้องการอยู่แล้ว เพื่อความภูมิใจในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในแง่ไหนก็ตาม ทั้งการได้ปรับเงินเดือน ได้รับผิดชอบงานที่ท้าทายขึ้น หรือได้ทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นแรงผลักดันในการทำงานของหลาย ๆ คน แต่การทำงานก็ไม่ใช่แค่ว่าทำงานเก่งหรือมีประสิทธิภาพ ก็เพียงพอต่อการเลื่อนตำแหน่ง เพราะยังมีปัจจัยอยู่มากมายที่ทำให้องค์กรไม่สามารถยื่นข้อเสนอนี้ให้เราได้ อย่างตำแหน่งที่เราต้องการยังไม่มีที่ว่าง เป็นต้น แล้วถ้าต้องการความก้าวหน้าในสายอาชีพในองค์กรใหม่ ต้องพิจารณายังไง 

  • ตำแหน่งในองค์กรใหม่พัฒนาขึ้นจากตำแหน่งงานปัจจุบันที่ทำอยู่มั้ย บางองค์กรอาจมีคำนำหน้าชื่ออย่าง Junior หรือ Senior ซึ่งเราก็จะได้รู้เบื้องต้นว่าตำแหน่งที่เราเข้าไปทำเป็นตำแหน่งที่โตขึ้น หรือถ้าไม่มีคำนำหน้าชื่อเราก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดการทำงานของตำแหน่งนั้น ๆ แทน ว่าเราจะได้รับผิดชอบในงานที่สูงขึ้นหรือเปล่า

  • หลาย ๆ องค์กรมักจะมี Organization Chart หรือแผนผังองค์กรที่มีรายละเอียดของแต่ละแผนกอยู่ โดยข้อมูลจะบอกถึงตำแหน่งงานและระดับต่าง ๆ เช่น Junior – Senior - Assistant ไปจนถึง Manager และผู้บริหาร ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นได้ชัดขึ้นว่ามีโอกาสให้เราเติบโตไปทางไหนบ้างและสามารถวางแผนการเติบโตในสายอาชีพได้

รายได้และสวัสดิการ

รายได้และสวัสดิการ ก็เป็นปัจจัยหลักในการเลือกบริษัทของคนทำงานหลาย ๆ คน แม้งานหรือสายอาชีพนั้นจะเป็นสิ่งที่เรารักจริง ๆ แต่ก็ต้องสัมพันธ์กับรายได้เพื่อเลี้ยงชีพตัวเองด้วย ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ที่คนทำงานต้องการย้ายงานคือการที่บริษัทปรับเงินเดือนประจำปีไม่ตรงกับความต้องการของตัวเอง มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้บริษัทไม่สามารถปรับเงินเดือนให้ได้ ทำให้การย้ายงานถือเป็นวิธีหนึ่งที่คนทำงานเลือก หรือบางคนก็ย้ายงานเพื่ออัปฐานเงินเดือนให้ตัวเอง เพราะการย้ายงานอาจทำให้เงินเดือนกระโดดสูงขึ้นกว่าเดิมได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอปรับเงินเดือนทีละปี นอกจากนี้เรื่องของสวัสดิการก็เป็นอีกเรื่องที่มีปัญหาเช่นกัน ยกตัวอย่างวันลาพักร้อนที่ได้น้อย หรือค่าคอมมิชชันในบางตำแหน่งไม่สมเหตุสมผล เป็นต้น โดยสิ่งที่เราต้องพิจารณาในบริษัทใหม่ก็คือ

  • รายได้ในระยะยาวจะดีกว่าเดิมแค่ไหนเป็นเรื่องที่เราต้องคำนวณดูให้ดี เพราะบริษัทเดิมเราอาจจะได้เงินเดือนน้อยกว่าแต่ปรับเงินเดือนใหม่ทุกปี ในขณะที่บริษัทใหม่อาจให้เงินเดือนเราเยอะกว่าที่เดิมก็จริง แต่อาจปรับเงินเดือนได้น้อยกว่าที่เดิม เป็นต้น 

  • รายได้สัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือเปล่า เพราะบางครั้งรายได้ที่มากขึ้นก็อาจต้องแลกมากับการที่เราต้องเดินทางเข้ามาทำงานกลางเมืองที่จะมีค่าครองชีพสูงขึ้นเช่นกัน

  • สวัสดิการสัมพันธ์กับ Lifestyle ของเรามากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นวันลา เบี้ยขยัน ค่าที่พัก หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่บริษัทมีให้ ถ้าเกิดว่าได้น้อยกว่าบริษัทเก่า เราก็ต้องมาดูอีกทีว่าสวัสดิการที่ลดลง แลกมากับประโยชน์อื่น ๆ อะไรบ้าง

  • สวัสดิการที่เกี่ยวกับการทำงาน อย่างอุปกรณ์หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โอเคมั้ย เช่น ถ้าเราเป็นเซลล์ที่ต้องใช้รถในการเดินทางไปหาลูกค้า แต่ค่าสึกหรอและค่าน้ำมันที่บริษัทมีให้กลับไม่สัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเรา ก็อาจต้องทบทวนใหม่อีกครั้ง

 

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือค่าที่พัก

การเดินทางไปทำงาน หรือค่าที่พักในกรณีที่อยากอยู่ใกล้ ๆ บริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่ เป็นเรื่องที่คนทำงานหลายคนไม่ได้นึกถึง บางครั้งการย้ายงานเพื่อเพิ่มเงินเดือนของตัวเองเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เราอาจต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างค่าเดินทางหรือค่าที่พักด้วย เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็เป็นภาระหลักที่แบ่งรายรับของเราไปเยอะเหมือนกัน หากงานใหม่มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่มากเกินไป ก็อาจทำให้เรารู้สึกเหมือนไม่ได้เพิ่มเงินเดือน

  • การเดินทางที่ไกลขึ้นไม่ว่าจะด้วยขนส่งสาธารณะหรือรถส่วนตัว อาจทำให้เรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้การเดินทางที่ไกลและใช้เวลานานบนท้องถนน ก็อาจทำให้เราเหนื่อยล้ามากกว่าเดิมก็ได้

  • ค่าที่พักสัมพันธ์กับรายรับที่เราได้แค่ไหน การบาลานซ์ค่าที่พักกับรายได้เป็นเรื่องที่คนทำงานหลายคนตัดสินใจได้ยาก เพราะถึงแม้ที่พักดี ๆ จะมีอยู่มากมาย แต่ก็ต้องแลกมากับค่าเช่าที่สูงกว่าเดิม ซึ่งถ้ารายได้ไม่สัมพันธ์กับค่าที่พัก เงินเก็บของเราต่อเดือนก็อาจน้อยลงกว่าการทำงานที่เดิมก็ได้

 

ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและเป้าหมายในอนาคต

แต่ละคนก็มีเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างกัน เราอาจเห็นเพื่อนร่วมงานเติบโตขึ้นในขณะที่เรายังอยู่ที่เดิมหรือเห็นเพื่อนสนิทย้ายงานแล้วดีกว่า เลยคิดอยากเปลี่ยนงานบ้างแต่กลับไม่ได้ถามตัวเองจริง ๆ ว่าเราต้องการสิ่งนั้นมั้ย จริงอยู่ว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น งานใหม่อาจจะได้เงินเดือนเยอะกว่า หรือตำแหน่งสูงขึ้น แต่เงินหรือตำแหน่งงานเหล่านั้นมันอาจไม่ตอบโจทย์กับชีวิตเราจริง ๆ ก็ได้ ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจอย่าลืมถามตัวเองก่อนว่า “ทำไมถึงอยากเปลี่ยนงาน” และเป้าหมายที่เราต้องการคืออะไร เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงมีผลลัพธ์ตามมาเสมอ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เราอาจจะเปลี่ยนงานแล้วไปเจออะไรที่แย่ลง แต่อย่างน้อยเราก็จะได้ไม่เสียใจว่าเราย้ายงานโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบก่อน

 

Comfort Zone อาจไม่ใช่ศัตรูของคนทำงานอย่างที่หลายคนคิด

แจกเช็กลิสต์ง่าย ๆ ให้ชัวร์ ว่าเราควรเลือกบริษัทไหนดี?

ตารางนี้เป็นเพียงเช็กลิสต์ง่าย ๆ ในการชั่งน้ำหนักเบื้องต้นระหว่างองค์กรปัจจุบันที่เรากำลังทำงานอยู่และองค์กรใหม่ที่เรากำลังตัดสินใจ ว่าแต่ละแห่งมีจุดเด่นในเรื่องไหนบ้าง อาจยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่จะทำให้ชีวิตการทำงานของเราไปได้สวย ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของแต่ละคน ซึ่งต้องพิจารณาและตัดสินใจให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้ง

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสในการได้งาน แม้ไม่ได้ส่งใบสมัคร

 

 
JobThai Official Group
Public group · 350,000 members
Join Group
 

 

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 3 มีนาคม 2022 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

 

Source:

thepractical.co

moneyhub.in.th

blog.ausiris.co.th

moneyduck.com/th

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, ชั่งน้ำหนักงาน, ได้งานใหม่, งานใหม่, ย้ายบริษัท, เปลี่ยนงาน, ย้ายงาน, career & tips, คนหางาน, เคล็ดลับสำหรับการหางาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม