สำหรับผู้ที่เคยเป็นพนักงานประจำและอยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 เมื่อถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตการทำงาน เช่น ลาออกจากงานประจำ หลายคนอาจกังวลเรื่องสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่จะขาดหายไป แต่รู้หรือไม่ว่าคุณสามารถรักษาสิทธิความคุ้มครองเหล่านั้นต่อได้ด้วยการสมัครประกันสังคม มาตรา 39 บทความนี้ JobThai จะอธิบายขั้นตอนการเปลี่ยนเอกสารที่ต้องใช้ และข้อมูลสำคัญที่คุณควรรู้
ประกันสังคม มาตรา 33 คือ ระบบประกันสังคมภาคบังคับสำหรับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการเอกชนทั่วไป โดยนายจ้างและลูกจ้างจะร่วมกันจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือน ส่วนประกันสังคม มาตรา 39 เป็นการประกันตนภาคสมัครใจ สำหรับผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามประกันสังคม มาตรา 33 มาก่อน แล้วลาออกจากงาน แต่ต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมต่อไป โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องนำส่งเงินสมทบด้วยตนเองทั้งหมด ซึ่งจะมีความแตกต่างในเรื่องสิทธิประโยชน์บางประการ
ผู้ที่มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนตามประกันสังคม มาตรา 39 จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด คือ ต้องเคยเป็นผู้ประกันตนตามประกันสังคม มาตรา 33 ที่นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน (นับรวมระยะเวลาการเป็นผู้ประกันตนทั้งหมด) และได้ลาออกจากงานหรือสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาแล้วไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน นอกจากนี้ ผู้สมัครจะต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคมในขณะที่ยื่นสมัคร

การเป็นผู้ประกันตนตามประกันสังคม มาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองที่จำเป็นหลายด้าน ช่วยสร้างความอุ่นใจในการใช้ชีวิต การทำความเข้าใจสิทธิประโยชน์เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ และคุณสามารถเช็กสิทธิประกันสังคมที่เราควรได้เพื่อตรวจสอบข้อมูลของคุณ
- คุ้มครอง 6 กรณี
ผู้ประกันตนตามประกันสังคม มาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองพื้นฐาน 6 กรณี ได้แก่ กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต (ซึ่งจะได้รับค่าทำศพและเงินสงเคราะห์) กรณีคลอดบุตร (สำหรับผู้ประกันตนหญิง) กรณีสงเคราะห์บุตร (สำหรับบุตรอายุไม่เกิน 6 ปี) และกรณีชราภาพ (บำเหน็จหรือบำนาญ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินสมทบ) นับเป็นสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญในชีวิต
- สิ่งที่ ม.39 ไม่คุ้มครอง (เทียบกับ ม.33)
ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ประกันสังคม มาตรา 39 จะไม่คุ้มครองกรณีว่างงาน ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนตามประกันสังคม มาตรา 33 ได้รับ ดังนั้น หากคุณลาออกจากงานและกำลังมองหาความช่วยเหลือด้านการว่างงาน อาจต้องศึกษา วิธีลงทะเบียนว่างงาน จากสิทธิเดิมตามมาตรา 33 (หากยังมีสิทธิ) หรือช่องทางอื่น ๆ แทน ส่วนสิทธิประโยชน์หลักอีก 6 กรณีของมาตรา 39 ยังคงได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไข
- ฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณสิทธิประโยชน์ ม.39
สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดฐานอัตราเงินสมทบไว้อยู่ที่ 4,800 บาทต่อเดือนเพื่อเป็นหลักในการคำนวณเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้ประกันตนตามประกันสังคมมาตรา 39 นั่นหมายความว่าไม่ว่าผู้ประกันตนจะเคยมีรายได้เท่าไรเมื่อตอนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เมื่อเปลี่ยนมาเป็นมาตรา 39 ฐานที่ใช้ในการคำนวณสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จะยึดตามตัวเลขนี้
การเปลี่ยนสถานะจากผู้ประกันตนตามประกันสังคม มาตรา 33 ไปสู่ประกันสังคม มาตรา 39 มีวิธีการสมัครและเอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อม เพื่อให้การสมัครเป็นไปอย่างราบรื่น ดังนี้
สมัครผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน
ปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาช่องทางการสมัครประกันสังคม มาตรา 39 ผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการสมัคร โดยสามารถดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือแอปพลิเคชัน SSO Connect โดยมีขั้นตอนการสมัครผ่านระบบออนไลน์ดังนี้
- สมัครใช้งานระบบสมาชิกผู้ประกันตนและเข้าสู่ระบบ (ต้องลงทะเบียนใหม่หากไม่เคยช้งานระบบมาก่อน)
- เลือกหัวข้อ “สมัครมาตรา 39”
- กรอกใบสมัครให้ครบถ้วน และยืนยันการสมัคร
- รอผลการอนุมัติเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ทางระบบ e-Service ภายใน 2-4 วันทำการ
ทั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องกรอกข้อมูลตามขั้นตอนและแนบเอกสารที่จำเป็นในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล และควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนยืนยันการสมัคร
สมัครที่สำนักงานประกันสังคม
สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ ยังสามารถยื่นเอกสารสมัครเป็นผู้ประกันตนตามประกันสังคม มาตรา 39 ได้ด้วยตนเอง ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่สะดวกทั่วประเทศ โดยต้องเตรียมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน ดังนี้
- แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส. 1-20)
เอกสารสำคัญที่สุด คือ แบบคำขอเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 (สปส. 1-20) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม หรือขอรับได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง ทั้งนี้ผู้สมัครต้องกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มให้ครบถ้วนและถูกต้องตามความเป็นจริง
- บัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา
ผู้สมัครต้องเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา หรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ (เช่น ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง) พร้อมสำเนา เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวตนในการยื่นสมัคร และควรลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในเอกสารสำเนาทุกฉบับ
ผู้ประกันตนตามประกันสังคม มาตรา 39 จะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยอัตราเงินสมทบปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 9 ของฐานค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณ ซึ่งกำหนดไว้ที่ 4,800 บาท ดังนั้น ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท (4,800 x 9%) การจ่ายเงินสมทบสามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น เคาน์เตอร์ธนาคาร เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือการหักผ่านบัญชีธนาคาร

ข้อดี ข้อเสีย และคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจสมัคร ม.39 มีดังนี้
ข้อดี
- รักษาสิทธิประโยชน์ประกันสังคม 6 กรณีได้อย่างต่อเนื่อง
- ยังคงนับระยะเวลาการส่งเงินสมทบเพื่อรับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ
- อัตราเงินสมทบค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการทำประกันสุขภาพเอกชน
ข้อเสีย
- ไม่คุ้มครองกรณีว่างงาน
- ต้องรับผิดชอบในการนำส่งเงินสมทบด้วยตนเองให้ตรงเวลา หากเกินกำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่ม อัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน
- ฐานคำนวณสิทธิประโยชน์อาจต่ำกว่ารายได้จริงที่เคยได้รับในขณะที่เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33
คำแนะนำเพิ่มเติม
ก่อนตัดสินใจสมัคร ประกันสังคม มาตรา 39 ควรพิจารณาสถานะทางการเงิน ความจำเป็นในการใช้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ และแผนการในอนาคตของตนเอง หากตัดสินใจสมัครแล้ว ควรนำส่งเงินสมทบอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ และอย่าลืมตรวจสอบข้อมูลและสิทธิประโยชน์ของตนเองอยู่เสมอ
การเปลี่ยนสถานะจากประกันสังคม มาตรา 33 มาเป็นประกันสังคม มาตรา 39 เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมอย่างต่อเนื่องหลังออกจากงานประจำ การทำความเข้าใจคุณสมบัติ ขั้นตอนการสมัคร เอกสารที่ต้องใช้ รวมถึงสิทธิประโยชน์และภาระเงินสมทบ จะช่วยให้คุณตัดสินใจและวางแผนได้อย่างเหมาะสม เพื่อความมั่นคงในชีวิตระยะยาว
ที่มา:
antifakenewscenter.com, sso.go.th, lb.mol.go.th, ktc.co.th, policywatch.thaipbs.or.th