กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: นักสังคมสงเคราะห์ (1)

กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาชีพ: นักสังคมสงเคราะห์ (1)
03/10/17   |   14.1k   |  

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงไม่เคยละเลยประชาชนของพระองค์เลย แม้ว่าพระองค์จะต้องทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย และลำบากขนาดไหนก็ตาม

 

พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าการนำความเจริญเข้าไปให้กับชุมชนโดยเฉพาะตามชนบทนั้น นอกจากจะช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้วยังจะช่วยให้ประเทศก้าวหน้าได้อีกด้วย ดังพระราชดำรัสที่พระองค์พระราชทานแก่คณะผู้บริหารสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท  ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน วันที่ 13 มิถุนายน 2512 ว่า

 

“การนำความเจริญ การพัฒนาไปสู่ชนบท หมายถึงไปสู่ประชาชนในชนบทนั้น มีเหตุผลหลายประการ เหตุผลใหญ่ที่สุดข้อแรก ก็คือมนุษยธรรม ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมประเทศกับเรา…เหตุผลที่สองที่จะต้องพัฒนาชนบทนั้นคือ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของบ้านเมือง เพื่อความก้าวหน้านอกเหนือจากมนุษยธรรม”

 

 

เวลาที่พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่างๆ พสกนิกรจำนวนมากจะมาเฝ้ารับเสด็จ บางคนต้องเดินทางไกลด้วยการเดินเท้าเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพียงเพื่อหวังจะมารับเสด็จแค่ไม่กี่นาที หากแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มิได้เพียงแค่พระราชดำเนินผ่านไป แต่ทุกครั้งพระองค์จะทรงให้เวลาและมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนของพระองค์เพื่อถามถึงชีวิตความเป็นอยู่เสมอ ซึ่งการที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับพวกเขานี่เองที่ทำให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่พระราชดำริและโครงการต่างๆ มากมาย

 

โครงการหลวงที่เปลี่ยนชีวิตชาวไทยภูเขา

ชาวไทยภูเขาที่อยู่บนดอยสูงและเดินทางไปลำบาก มักจะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ ไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือ หรือมีความเจริญเข้าไปถึงช้า แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ไกลเพียงใด แม้ว่าคนทั่วไปจะมองไม่เห็นพวกเขา แต่ความทุกข์ยาก และปัญหาของพวกเขาก็ไม่สามารถรอดพ้นสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9ไปได้

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2512 ที่พระองค์ได้เสด็จไปเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาที่บ้านดอยปุย และได้ทอดพระเนตรเห็นว่าชาวไทยภูเขาที่นี่ล้วนแต่ปลูกฝิ่นเป็นอาชีพหลัก ด้วยความที่พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา พระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขางขึ้น เป็นพื้นที่วิจัยพันธุ์พืชเมืองหนาว จนในที่สุดก็สามารถทดลอง วิจัยและแจกจ่ายพันธุ์พืชให้กับชาวไทยภูเขาได้เป็นจำนวนมาก ทั้งพืชผักเขตหนาว ไม้ผลเขตหนาว ไม้ตัดดอกและไม้ประดับ

 

กาแฟก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ชาวไทยภูเขานำมาปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น แต่กว่าที่ชาวไทยภูเขาจะสามารถปลูกกาแฟได้ผลผลิตมากมายแบบในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้แบบทุกวันนี้ หากไม่ได้รับความใส่พระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

 

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับการปลูกกาแฟของชาวไทยภูเขาไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องโครงการหลวง” ว่า พระองค์เคยเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทขึ้นไปบนดอย ใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ เพื่อทอดพระเนตรดูกาแฟเพียงแค่ 2-3 ต้นที่ชาวไทยภูเขาปลูก และพระราชทานคำแนะนำต่างๆ เพื่อทำให้เขาเห็นว่าการปลูกกาแฟนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และทำให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องการปลูกกาแฟอาราบิก้าขึ้นโดยโครงการหลวงและกรมวิชาการเกษตร จนในที่สุดจากกาแฟเพียงแค่ไม่กี่ต้นในวันนั้นก็กลายเป็นไร่กาแฟที่เต็มไปด้วยต้นกาแฟจำนวนมหาศาลที่สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชาวไทยภูเขาได้

 

รวมไปถึงพระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้มีการจัดสรรที่ดินให้กับชาวไทยภูเขาในการทำการเกษตรอีกด้วย เพราะในอดีตพวกเขามักจะทำไร่เลื่อนลอย จนทำให้ต้องย้ายที่ไปเรื่อยๆ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า เพราะพวกเขาไม่มีที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง เรียกได้ว่าพระองค์ได้ทรงพระราชทานทั้งที่ทำกินและอาชีพที่สุจริตให้กับพวกเขา

 

 

ทรงให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชน สมดั่งที่เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลที่มีความสำคัญต่อการแพทย์ไทย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลที่มีความสำคัญต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยอย่างมาก ซึ่งแม้ว่ารัชกาลที่ 9 จะไม่ได้ทรงศึกษาในด้านนี้โดยตรง แต่ทรงสนพระราชหฤทัย และทรงให้ความสำคัญกับเรื่องการแพทย์และสาธารณสุขเช่นกัน เพราะการมีสุขภาพที่ดีจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อตัวเองและบ้านเมือง ดังพระราชดำรัสที่พระองค์พระราชทานในพิธีพระราชทานรางวัลมหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2539 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อ วันที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2540 ว่า

 

“...การแพทย์และการสาธารณสุขเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ไม่มีประเทศใดในโลกจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากประชากรในประเทศนั้นๆ ยังมีสุขภาพพลานามัยไม่ดีพอ...”

 

พระราชทรัพย์และเวลาที่พระองค์ทรงพระราชทานและอุทิศให้กับการสาธารณสุขนั้นก่อให้เกิดโครงการ และสร้างความก้าวหน้าในเรื่องการแพทย์ในประเทศไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การพระราชทานทรัพย์เพื่อให้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสร้างอาคารและจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ

 

รวมไปถึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน และหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน เพื่อเข้าไปตรวจรักษาชาวบ้านที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร และอบรมให้ความรู้ด้านสาธารณสุขต่างๆ และแทบทุกครั้งที่พระองค์เสด็จเยี่ยมประชาชน และมีทีมแพทย์ตามเสด็จ ภาพที่เรามักจะเห็นกันอยู่เป็นประจำก็คือ ภาพที่พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทีมแพทย์เหล่านั้นเข้าไปตรวจอาการและรักษาชาวบ้านที่มาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งหลายครั้งชาวบ้านที่ป่วยและไม่ได้รับการสนใจ ได้รับการรักษาอย่างดีและต่อเนื่องจากทีมแพทย์ที่ตามเสด็จ

 

 

การศึกษา รากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษามาก เพราะหากประชาชนในประเทศได้รับการศึกษาที่ดี ก็จะสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาประเทศได้

 

การที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษานี่เอง ทำให้พระองค์มีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าเป็น โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนราชประชาสมาสัย โรงเรียนราชวินิต รวมไปถึงศูนย์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ที่พระองค์มีพระราชดำริให้มีการถ่ายทอดการเรียนการสอนจากโรงเรียนในเมืองไปสู่โรงเรียนตามชนบทเพื่อให้เด็กเหล่านั้นได้มีโอกาสเรียนเหมือนกับโรงเรียนในเมือง

 

นอกจากการศึกษาในระบบโรงเรียนแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้มีที่สำหรับประชาชนทั่วไปได้ศึกษาหาความรู้อีกด้วย เพราะความรู้ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียนได้เพียงอย่างเดียว เช่น การจัดตั้งศาลารวมใจไว้เป็นเหมือนห้องสมุดในแถบชนบท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นได้เข้ามาหาความรู้ หรือโรงเรียนพระดาบส เป็นโรงเรียนที่สอนวิชาชีพ ให้คนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพได้จริง

 

ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ยังทรงพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาให้กับผู้ที่ขาดแคลนและเรียนดีจำนวนมาก เพื่อให้คนที่อยากที่จะศึกษาเล่าเรียน ได้มีโอกาสเรียนให้สูงที่สุดตามความสามารถทั้งในและต่างประเทศ เช่น ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนนวฤกษ์ หรือ ทุนอานันทมหิดล ซึ่งเป็นทุนเฉพาะสำหรับนักศึกษาแพทย์ให้ไป เพื่อใช้ในการศึกษาต่อด้านการแพทย์ในต่างประเทศ

 

 

การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพระองค์นั้น ล้วนเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสิ้น เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชน พระองค์ไม่ได้ทรงนำเอาความเจริญและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาให้ประชาชนทันที หากแต่พระองค์ทรงใช้วิธีการค่อยๆ พัฒนาไปทีละขั้นละตอน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในหลักการทรงงานของพระองค์ ในการพัฒนาชีวิตประชาชน ดังพระบรมราโชวาท ที่พระองค์พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ว่า

 

"...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคง พร้อมพอควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป..."

 

บทความเทิดพระเกียรติ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในสายอาชีพต่างๆ 

 

บทความเทิดพระเกียรติ เที่ยวตามรอยที่พ่อสร้าง 

 

ที่มา:

thaimonarch.org  web.ku.ac.th  prd.go.th  chaipat.or.th  royalprojectthailand.com

tags : บทความเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9, แรงบันดาลใจ, กษัตริย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจ, นักสังคมสงเคราะห์



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม